Dec 5, 2009

'ผมรู้ว่าผมจะเขียนนิยาย' บทสัมภาษณ์ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนนักวิ่ง ๒ (ตอนจบ)

มาแล้วค่ะ

บทสัมภาษณ์ฮารูกิ มูราคามิ ที่พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่จัดแปลมาฝากแฟนๆ ในโอกาสที่เพิ่งออกหนังสือ "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" ที่คุณนพดล เวชสวัสดิ์ แปลจาก What I talk about when I talk about running จาก เว็บไซต์ www.spiegel.de บทสัมภาษณ์มีทั้งหมดสองตอน

ถ้าใครสนใจอ่านบทสัมภาษณ์ในภาษาอังกฤษ คลิกไปได้เลยนะคะ >> ที่นี่

ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ ๑
'เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ'
คลิกกลับไปอ่านก่อนได้ >>
ที่นี่

“ผมรู้ว่าผมจะเขียนนิยาย”

- แล้วคุณสังเกตเห็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่หมดตอนไหนครับ

ในเดือนเมษายน 1978 ตอนที่ผมกำลังดูการแข่งเบสบอลที่สนามจิงกุในโตเกียว แสงแดดส่องจ้า ผมดื่มเบียร์อยู่ และตอนที่เดฟ ฮิลตัน จากทีมยาคุลต์ สวอลโลวส์ตีลูกได้อย่างเยี่ยมยอด ตอนนั้นเองผมก็รู้ว่าผมจะเขียนนิยาย เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นดี ผมยังรู้สึกได้ในใจถึงปัจจุบัน ตอนนี้ผมชดเชยชีวิตเดิมๆ ที่เปิดตัว ด้วยชีวิตใหม่ที่ปิดตัว ผมไม่เคยออกโทรทัศน์ ไม่เคยออกอากาศรายการวิทยุ ไม่ค่อยจะไปงานกิจกรรมอ่านหนังสือของตัวเองให้ใครฟัง ผมไม่ค่อยเต็มใจอยากให้ใครถ่ายรูป ผมให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมาก ผมเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยอยากเจอใคร

- คุณรู้จักนิยายเรื่อง “ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งทางไกล” (The Loneliness of the Long Distance Runner) ของ อลัน ซิลลีโท หรือเปล่าครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : ผมไม่ค่อยประทับใจหนังสือเล่มนี้สักเท่าไหร่ เป็นหนังสือที่น่าเบื่อ บอกได้เลยว่าตัวซิลลิโทไม่ได้เเป็นนักวิ่ง แต่ผมคิดว่าความคิดของหนังสือเล่มนี้เข้าที คือ การวิ่งช่วยให้ตัวเอกสามารถเข้าถึงตัวตนของตัวเองได้ ขณะที่วิ่งเขาได้ค้นพบภาวะที่เขารู้สึกเป็นอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเช่นกัน

- แล้วการวิ่งสอนอะไรคุณบ้างครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : ความมั่นใจว่าผมจะวิ่งจนถึงเส้นชัย การวิ่งสอนให้ผมมีความเชื่อมั่นในทักษะความสามารถในการเป็นนักเขียนของผม ผมได้เรียนรู้ว่าผมเรียกร้องจากตัวเองมากขนาดไหน เวลาที่ผมอยากหยุดพัก และเมื่อการหยุดพักชักจะยาวนานเกินไป ผมรู้ว่าผมสามารถผลักดันตัวเองได้มากแค่ไหน

- คุณเป็นนักเขียนที่ดีกว่าเดิมเพราะคุณวิ่งอย่างนั้นหรือครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : ใช่แล้วครับ ยิ่งกล้ามเนื้อของผมแข็งแกร่ง จิตใจของผมก็ยิ่งปลอดโปร่ง ผมเชื่อว่าศิลปินที่ใช้ชีวิตแบบทำลายสุขภาพจะเผาผลาญชีวิตของตัวเองอย่างรวดเร็ว จีมี เฮนดริกซ์, จิม มอร์ริสัน, จานิส โจปลิน เป็นวีรบุรุษในดวงใจของผมตอนวัยรุ่น พวกเขาล้วนตายตั้งแต่ยังหนุ่ม ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ควรจะตายเร็วขนาดนั้น มีแต่พวกอัจฉริยะอย่างโมซาร์ทหรือพุชกินส์เท่านั้นที่สมควรจะตายเร็วก่อน การณ์ จีมี เฮนดริกซ์ เป็นคนเก่งแต่ไม่ค่อยฉลาดเพราะเขาเสพยา การทำงานศิลปะเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพ การวิ่งช่วยให้ผมหลีกเลี่ยงอันตรายนั้น

- ช่วยอธิบายหน่อยสิครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : เวลาที่นักเขียนพัฒนาเรื่องราวขึ้นมาสักเรื่อง เขาจะเจอยาพิษที่อยู่ในตัวเอง ถ้าคุณไม่มียาพิษนั่น เรื่องราวของคุณจะน่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ มันก็เหมือนกับปลาปักเป้า เนื้อของมันอร่อยมาก แต่ไข่ ตับและหัวใจอาจจะมีพิษถึงชีวิต เรื่องที่ผมเขียนเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกส่วนที่มืดมนและอันตราย ผมรู้สึกถึงยาพิษนั้นในจิตใจของตัวเอง แต่ผมสามารถเลี่ยงปริมาณพิษที่สูงได้เพราะผมมีร่างกายที่แข็งแรง เวลาที่คุณยังหนุ่มสาว คุณแข็งแรง ดังนั้นปกติแล้วคุณจะเอาชนะยาพิษได้แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านการฝึกกรำ แต่เมื่ออายุสี่สิบขึ้นไปแล้ว ความแข็งแรงจะลดน้อยถอยลง และไม่สามารถทานทนกับยาพิษนั้นเวลาที่คุณมีชีวิตที่ไมดีต่อสุขภาพ

- เจ. ดี. ซาลิงเจอร์เขียนนิยายเรื่องเดียวของเขาคือ “แคชเชอร์อินเดอะไรย์” (Catcher in the Rye) เขาเองก็อ่อนแอเกินกว่าจะทานรับยาพิษนั้นด้วยหรือครับ เขาเพิ่งอายุ 32 ปีเอง

ฮารูกิ มูราคามิ : ผมแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่ดีทีเดียวล่ะแต่ไม่สมบูรณ์ เรื่องราวเริ่มมืดดำขึ้นเรื่อยๆ และตัวละครเอก โฮลเดน โคลฟิลด์ หาทางออกจากโลกดำมืดนั่นไม่ได้ ผมคิดว่าซาลิงเจอร์เองก็หาทางออกนั่นไม่เจอเหมือนกัน กีฬาจะช่วยเขาเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกััน

- การวิ่งให้แรงบันดาลใจในเรื่องราวที่คุณเขียนหรือเปล่าครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : เปล่าครับ เพราะผมไม่ได้เป็นนักเขียนประเภทที่เข้าสู่แหล่งที่มาของเรื่องราวแบบสบายๆ ผมต้องขุดหาแหล่งที่มานั้น ผมต้องขุดลงไปลึกมากเพื่อจะได้เข้าถึงจุดดำมืดในจิตวิญญาณของผมที่มีเรื่องราวแอบซ่อนตัวอยู่ เรื่องนี้ก็เช่นกัน คุณต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่ง ผมต้องมีใจจดจ่อยาวนานขึ้น และผมต้องจดจ่อเป็นเวลาหลายชั่วโมงในช่วงที่ผมมุ่งหน้าเข้าสู่ความมืดมน ในระหว่างทาง คูณจะเจอทุกอย่าง ภาพต่างๆ ตัวละครต่างๆ การเปรียบเทียบเปรียบเปรยต่างๆ ถ้าร่างกายของคุณอ่อนแอเกินไป คุณจะพลาดสิ่งเหล่านี้ คุณจะไม่มีกำลังพอที่จะจับและนำพวกมันกลับขึ้นสู่พื้นผิวของจิตสำนึก เวลาที่คุณเขียนงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การขุดลงไปหาแหล่งที่มา แต่เป็นเส้นทางการดึงมันออกมาจากความมืด มันก็เหมือนกับการวิ่ง มีเส้นชัยให้คุณวิ่งเข้า ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม

- ตอนที่คุณวิ่ง คุณอยู่ในสถานทีที่มืดดำแบบเดียวกันนั้นหรือเปล่าครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : มีบางสิ่งที่ผมคุ้นเคยมากเกี่ยวกับการวิ่ง เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ

- คุณอยู่สหรัฐอเมริกามาหลายปี มีความแตกต่างระหว่างนักวิ่งอเมริกันกับนักวิ่งญี่ปุ่นหรือไม่ครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : ไม่มีครับ แต่ตอนที่ผมอยู่ที่เคมบริดจ์ (ในฐานะนักเขียนพำนัก) ผมเริ่มเห็นชัดเจนว่าพวกคนที่เป็นหัวกะทิแตกต่างจากมนุษย์เดินดินคนอื่นๆ

- หมายความว่าอย่างไรครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : เส้นทางที่ผมวิ่งจะทอดเลียบไปข้างแม่น้ำชาร์ลส์ และผมมักจะเห็นเหล่านักศึกษาหญิง พวกเด็กปีหนึ่งของฮาร์วาร์ด พวกเธอวิ่งก้าวขายาวๆ เสียบหูฟังไอพ็อด เส้นผมที่รวบมัดเป็นพวงโบกไหวอยู่ที่หลัง ทั่วทั้งร่างสวยกระจ่างตา พวกเธอรู้ตัวว่าเป็นคนพิเศษไม่เหมือนคนอื่นๆ การรู้ตัวของพวกเธอประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นนักวิ่งที่ดีกว่า แต่มีบางอย่างในแง่บวกอยู่ในตัวพวกเธอแบบชวนสะท้านใจ พวกเธอช่างแตกต่างจากผม ผมไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นนำระดับหัวกะทิ

- คุณสามารถแยกระหว่างนักวิ่งมือใหม่กับนักวิ่งที่วิ่งมาอย่างโชกโชนแล้วหรือ เปล่าครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : นักวิ่งมือใหม่จะวิ่งเร็วเกินไป ลมหายใจของพวกเขาจะหอบกระชั้น ส่วนพวกที่วิ่งมานักต่อนักแล้วจะวิ่งไปเรื่อยๆ นักวิ่งรุ่นเก๋าจะรู้ว่าใครวิ่งมานานแล้ว เหมือนกับที่นักเขียนจะรู้จักสไตล์และภาษาของนักเขียนอีกคน

- หนังสือของคุณเขียนแบบเมจิคอลเรียลิสม์ ที่ความจริงปะปนกับความมหัศจรรย์ การวิ่งมีมิติที่เหนือจริงหรืออภิปรัชญา ที่ค่อนข้างจะแยกจากการประสบความสำเร็จทางร่ายกายภายนอกล้วนๆ หรือไม่

ฮารูกิ มูราคามิ : กิจกรรมทุกอย่างจะก่อให้บางอย่างที่ทำให้เกิดจินตปัญญา ถ้าคุณทำกิจกรรมนั้นนานพอ ในปี 1995 ผมเข้าร่วมการแข่งขันที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ผมใช้เวลา 11 ชั่วโมง 42 นาที และในตอนท้าย มันแทบจะเป็นประสบการณ์ทางศาสนาเลยล่ะ

- อย่างนั้นเชียว

ฮารูกิ มูราคามิ : หลังจากวิ่งไป 55 กิโลเมตร ผมก็หมดแรง ขาของผมไม่เชื่อฟังผมอีกต่อไป ผมรู้สึกเหมือนมีม้าสองตัวกำลังดึงฉีกร่างของผมออกเป็นชิ้นๆ หลังจากวิ่งไป 75 กิโลเมตร จู่ๆ ผมก็กลับมาวิ่งตามปกติได้อีก ความเจ็บปวดสลายหายไป ผมก้าวล่วงไปยังอีกฝากหนึ่งแล้ว ความสุขวิ่งพล่านทั่วร่าง ผมวิ่งเข้าเส้นชัยอย่างเต็มเปี่ยมด้วยความสุขสม จะให้วิ่งต่ออีกก็ยังได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผมจะไม่วิ่งอัลตรามาราธอนอีกแล้ว


- ทำไมล่ะ

ฮารูกิ มูราคามิ : หลังจากประสบการณ์สุดขั้วครั้งนั้น ผมเข้าสู่สภาวะที่ผมเรีกว่า “รันเนอร์ บลู” (ความรู้สึกตันของนักวิ่ง)

- เป็นยังไงครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : เป็นความรู้สึกเซ็งๆ ผมเหนื่อยหน่ายไม่อยากวิ่ง การวิ่ง 100 กิโลเมตรนั้นน่าเบื่อเป็นที่สุด คุณอยู่กับตัวเองตามลำพังนานกว่าสิบเอ็ดชั่วโมง และความเบื่อหน่ายนี้กัดกินผม ดูดกินแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของผม ทัศนคติในแง่บวกหายไป ผมเกลียดการวิ่งอยู่หลายสัปดาห์

- แล้วคุณฟื้นความสุขในการวิ่งกลับคืนมาอย่างไร

ฮารูกิ มูราคามิ : ผมพยายามฝืนวิ่ง แต่ไม่สำเร็จ มันหมดสนุกแล้ว ผมเลยตัดสินใจลองเล่นกีฬาอื่นๆ ผมอยากลองสิ่งที่เร้าใจอื่นๆ เลยเริ่มไตรกรีฑา มันช่วยได้ ไม่นานผมก็กลับมาอยากวิ่งอีก

- คุณอายุ 59 (ในปี 2008) คุณตั้งใจจะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนอีกนานแค่ไหน

ฮารูกิ มูราคามิ : ฮารูกิ มูราคามิ : ผมจะวิ่งตราบที่ผมยังเดินได้ รู้มั้ยว่าผมอยากเขียนอะไรบนหินปักหลุมศพของผม

- อะไรครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : "At least he never walked." (อย่างน้อย เขาก็ไม่เคยเดิน)

- มิสเตอร์มูราคามิ ขอบคุณที่ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ



ติดตามรายละเอียด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่ฮารูกิ มูราคามิ ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้ใน “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง” ( << คลิกไปดูรายละเอียดของหนังสือและตัวอย่าง) แล้วพบกันใหม่ เมื่อโอกาสอำนวยนะคะ

Oct 30, 2009

'เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ' บทสัมภาษณ์ฮารูกิ มูราคามิ นักวิ่งนักเขียน


คล้ายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ที่ชาวพลพรรคจะเสาะหาข้อมูลต่างๆ และบทสัมภาษณ์ของนักเขียนที่ไว้วางใจให้เราเป็นผู้จัดแปลและจัดพิมพ์หนังสือของเธอและเขาสู่ชาวไทย มาแปลเพื่อกำนัลแด่ผู้ที่สนใจ เนื่องในโอกาสที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่ได้ออกหนังสือ “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง” ที่แปลจาก What I Talk About When I Talk About Running โดย ฮารูกิ มูราคามิ ไปสดๆ ร้อน พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ก็สอดส่ายสายตาค้นหาบทสัมภาษณ์นักเขียนใหญ่ผู้นี้ มาฝากแฟนหนังสือเช่นเคยค่ะ บทสัมภาษณ์นี้นำมาแปลจากเว็บไซต์ www.spiegel.de มีทั้งหมดสองตอน ในตอนแรกนี้ ถ้าใครสนใจอ่านบทสัมภาษณ์ในภาษาอังกฤษ คลิกไปได้เลยนะคะ >> ที่นี่

'เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ'

ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้ออกหนังสือบันทึกเกี่ยวกับการวิ่งเล่าให้สปีเกลฟัง เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวของการเป็นนักเขียนและนักวิ่ง
- มิสเตอร์มูราคามิ ไม่ทราบว่าอันไหนที่ยากกว่ากัน ระหว่างการเขียนนิยายกับการวิ่งมาราธอน

ฮารูกิ มูราคามิ : การเขียนนั้นสนุก - อย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ ผมเขียนหนังสือวันละสี่ชั่วโมง หลังจากนั้นผมออกวิ่ง ตามกฎที่วางไว้ก็คือ 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่าย แต่การวิ่ง 42.195 กิโลเมตรรวดเดียวเลยนั้นเป็นเรื่องยาก แต่มันเป็นความยากที่ผมมองหา เป็นการทรมานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผมทนรับไว้โดยคิดมาอย่างดีแล้ว สำหรับผม สิ่งนี้เป็นมุมมองที่สำคัญที่สุดของการวิ่งมาราธอน

- แล้วอย่างไหนที่รื่นรมย์กว่า ระหว่างการเขียนหนังสือจบหนึ่งเล่ม กับการวิ่งเข้าเส้นชัยในการแข่งวิ่งมาราธอน

ฮารูกิ มูราคามิ : การใส่จุดฟูลสต็อบลงในตอนท้ายของเรื่องเป็นเหมือนกับการให้กำเนิดเด็กคนหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่หาใดเปรียบไม่ได้ นักเขียนที่โชคดีคนหนึ่งอาจจะเขียนนิยายได้สิบสองเล่มในชั่วชีวิตหนึ่ง ผมไม่รู้ว่ายังเหลือหนังสือดีๆ อีกกี่เล่มในตัวผม ผมหวังว่าจะมีสักสี่หรือห้าเล่ม เวลาที่ผมวิ่งผมไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดทำนองนั้น ผมออกหนังสือเล่มหนาสี่ปีครั้ง แต่ผมวิ่งแข่งระยะทาง 10 กิโลเมตร มินิมาราธอนและมาราธอนทุกปี ตอนนี้ผมเข้าร่วมการแข่งขันมาราธอนรวมทั้งหมด 27 ครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม และครั้งที่ 28 29 และ 30 จะตามมาอย่างแน่นอน

- ในหนังสือ “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง” คุณบรรยายถึงอาชีพของคุณในฐานะนักวิ่ง และกล่าวถึงความสำคัญของการวิ่งต่องานของคุณในฐานะนักเขียน ทำไมคุณถึงเขียนงานอัตชีวประวัติเล่มนี้ขึ้นมาครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่งเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีก่อน ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1982 ผมถามตัวเองว่าทำไมผมถึงตัดสินใจเลือกกีฬานี้ ทำไมผมไม่เล่นฟุตบอล ทำไมการเป็นนักเขียนที่จริงจังแบบของจริงของผมจึงเริ่มในวันที่ผมออกวิ่ง ผมเป็นคนประเภทที่จะสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ก็ต่อเมื่อผมเขียนบันทึกความคิดของผมเท่านั้น ผมได้พบว่าเวลาที่ผมเขียนถึงการวิ่ง ผมเขียนถึงตัวผมเอง

- ทำไมคุณถึงเริ่มวิ่ง

ฮารูกิ มูราคามิ : ตอนนั้นผมอยากลดน้ำหนัก ช่วงปีแรกๆ ของการเป็นนักเขียน ผมสูบบุหรี่จัด ประมาณวันละ 60 มวน เพื่อจะได้มีสมาธิดีขึ้น ฟันผมเหลือง นิ้วผมเหลือง ตอนที่ผมตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่เมื่ออายุ 33 ผมมีห่วงยางไขมันรอบสะโพก ผมเลยวิ่ง สำหรับผม การวิ่งดูเหมือนจะเหมือนจะเป็นสิ่งที่พอจะทำได้มากที่สุด

- ทำไมครับ

ฮารูกิ มูราคามิ : กีฬาแบบเล่นเป็นทีมไม่เหมาะกับผม ผมรู้สึกว่าผมจะเลือกอะไรสักอย่างได้ง่ายกว่าถ้าผมได้ทำในจังหวะความเร็วของผมเอง และเราไม่ต้องมีคู่เล่นเวลาวิ่ง ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่พิเศษเฉพาะเหมือนเทนนิส แค่รองเท้าวิ่งคู่นึงก็พอ ยูโดก็ไม่เหมาะกับผมเหมือนกัน ผมไม่ได้เป็นนักสู้ การวิ่งระยะยาวไม่ได้เป็นเรื่องของการเอาชนะคนอื่นๆ คุณแข่งกับตัวคุณเอง ไม่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องแต่คุณจะเข้าสู่ความขัดแย้งภายใน ฉันทำได้ดีกว่าครั้งที่แล้วหรือเปล่านะ การบีบบังคับตัวเองให้ไปถึงขีดจำกัดครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นสิ่งสำคัญของการวิ่ง การวิ่งเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดไม่เคยจากผมไปไหน ผมสามารถดูแลมันได้ เรื่องนี้พ้องต้องกันกับสิ่งที่ผมคิด

- ในตอนนั้นฟอร์มของคุณเป็นยังไง

ฮารูกิ มูราคามิ : หลังจากวิ่งไปได้ 20 นาที ผมหอบแฮ่ก ขาสั่น ตอนแรกๆ ผมรู้สึกไม่สะดวกใจเวลาคนอื่นๆ มองผมวิ่ง แต่ผมใส่การวิ่งเข้ามาในชีวิตประจำวันของผมเหมือนๆ กับการแปรงฟัน ดังนั้น ผมก็เลยก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ถึงปี ผมก็วิ่งมาราธอน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการก็ตาม

- คุณวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปเมืองมาราธอนคนเดียว มีอะไรดึงดูดใจให้ทำอย่างนั้น

ฮารูกิ มูราคามิ : เอ่อ มันเป็นการวิ่งมาราธอนของแท้ เป็นเส้นทางในประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะเป็นการวิ่งย้อนเส้นทางก็ตาม เป็นเพราะผมไม่อยากไปถึงกรุงเอเธนส์ในช่วงเวลาเร่งรีบ ก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยวิ่งไกลเกิน 35 กิโลเมตรมาก่อน ขาและร่างกายช่วงบนของผมยังไม่แข็งแรงดี ผมไม่รู้หรอกว่าจะเจออะไร มันเหมือนวิ่งในดินแดนที่เราไม่รู้จัก

- แล้วคุณทำสำเร็จได้ยังไง

ฮารูกิ มูราคามิ : ตอนนั้นเป็นเดือนมิถุนายน อากาศร้อนมากแม้แต่ในตอนเช้าตรู่ ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยไปกรีซมาก่อน หลังจากวิ่งไปครึ่งชั่วโมง ผมถอดเสื้อ หลังจากนั้น ผมฝันถึงเบียร์เย็นๆ และนับซากหมาแมวที่นอนตายริมทาง ผมโมโหพระอาทิตย์ มันส่องแสงมาแผดเผาผมอย่างกราดเกรี้ยว ผิวของผมเริ่มมีจุดพองเล็กๆ ผมใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง 51 นาที ก็พอใช้ได้อยู่ เมื่อผมไปถึงจุดหมาย ผมเอาสายยางฉีดน้ำรดตัวที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งและดื่มเบียร์ในฝัน เมื่อเด็กปั๊มได้ยินว่าผมเพิ่งทำอะไร เขาเอาดอกไม้มาให้ผมกำนึง

- เวลาที่ดีที่สุดของคุณในการวิ่งมาราธอนคือเท่าไหร่

ฮารูกิ มูราคามิ : 3 ชั่วโมง 27 นาที จากนาฬิกาที่ผมจับเอง ในนิวยอร์กปี 1991 หมายถึงวิ่งได้ห้านาทีต่อหนึ่งกิโลเมตร ผมภูมิใจมากเพราะตอนช่วงสุดท้ายของการวิ่ง ตอนที่วิ่งผ่านเซ็นทรัลพาร์ค เป็นช่วงเวลาที่หนักหนามาก ผมพยายามทำเวลาให้ดีกว่านั้นสองสามครั้งแต่ผมแก่ตัวลง ในระหว่างนั้น ผมเลิกสนใจเวลาส่วนตัวของผมไปเลย สำหรับผมมันเป็นเรื่องของความพอใจในตัวเองมากกว่า

- คุณมีมนตราอะไรให้ท่องเวลาวิ่งหรือเปล่าครับ

ฮารูกิ มูราคามิ: ไม่มีครับ ผมแค่บอกตัวเองนานๆ ครั้งว่า ฮารูกิ นายทำได้น่า แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดถึงอะไรเลยตอนวิ่ง

- เป็นไปได้หรือครับที่จะไม่คิดถึงอะไรเลย

ฮารูกิ มูราคามิ: เวลาวิ่ง จิตใจของล้างตัวเองจนว่างเปล่า ทุกอย่างที่ผมคิดตอนวิ่งเข้าสู่ขั้นตอนการล้างนั้นด้วย ความคิดต่างๆ ที่เข้ามาในหัวผมขณะวิ่งเหมือนกับลมที่พัดเข้ามาเบาๆ เข้ามาวูบนึงแล้วหายไป และไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น

- คุณชอบฟังเพลงตอนวิ่งหรือเปล่า

ฮารูกิ มูราคามิ : เฉพาะตอนที่ผมซ้อมวิ่งเท่านั้นครับ แล้วก็เป็นเพลงร็อก ตอนนี้วงโปรดของผมคือ มานิค สตรีท พรีเชอร์ส์ เวลาผมออกวิ่งในตอนเช้าซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ผมจะโหลดครีดเดนซ์ เคลียร์ วอเตอร รีวีวอล ใส่เครื่องเล่นมินิดิสก์ เพลงของพวกเขามีจังหวะง่ายๆ และเป็นธรรมชาติ

- คุณสามารถชักจูงใจตัวเองทุกวันได้ยังไง

ฮารูกิ มูราคามิ : บางครั้งผมรู้สึกว่าอากาศร้อนเกินไปที่จะวิ่ง บางครั้งเย็นเกินไป หรือเมฆเยอะเกินไป แต่ผมก็ยังออกไปวิ่ง ผมรู้ว่าถ้าผมไม่ออกไปวิ่ง วันต่อมาผมก็จะไม่ได้ออกไปอีก การมอบหมายภาระหน้าที่ที่ไม่จำเป็นให้กับตัวเองไม่ได้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นร่างกายของคนจะเลิกภาวะเคยชินอย่างรวดเร็ว เราไม่ควรทำอย่างนั้น ก็เหมือนกับการเขียนล่ะครับ ผมเขียนทุกวัน จิตใจของผมจะได้ไม่เลิกเคยชิน ดังนี้ ผมจึงค่อยๆ วางมาตรฐานในทางวรรณกรรมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ เช่นเดียวกับที่การวิ่งอย่างสม่ำเสมอทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ

- คุณโตมาแบบลูกคนเดียว การเขียนเป็นสิ่งที่ต้องทำคนเดียว และคุณมักจะวิ่งคนเดียว ไม่ทราบว่าสามสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า

ฮารูกิ มูราคามิ : แน่นอนครับ ผมเคยชินที่จะอยู่คนเดียว ไม่เหมือนภรรยาของผม ผมไม่ชอบมีใครอยู่ด้วย ผมแต่งงานมา 37 ปี และมันยังเป็นศึกที่ผมจะต้องต่อสู้ด้วยอยู่ ในงานที่ผมทำก่อนหน้านี้ ผมมักจะทำงานจนถึงฟ้าสาง ตอนนี้ผมเข้านอนประมาณสามหรือสี่ทุ่ม

- ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักวิ่ง คุณเป็นเจ้าของแจ๊ซคลับในโตเกียว การเปลี่ยนแปลงในชีวิตคงจะถึงรากถึงโคนยากลำบากมาก

ฮารูกิ มูราคามิ : ตอนที่ผมมีคลับ ผมยืนหลังเคาน์เตอร์บาร์และการชวนคุยเป็นงานของผม ผมทำอย่างนั้นมาเจ็ดปี แต่ผมไม่ได้เป็นคนช่างคุย ผมสัญญากับตัวเองว่า ถ้าวันไหนผมเลิกทำงานนี้ ผมจะคุยแต่กับคนที่ผมอยากคุยด้วยจริงๆ เท่านั้น

- แล้วคุณสังเกตเห็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่หมดตอนไหนครับ

(ติดตามคำถาม-คำตอบ ในภาค 2 >> 'ผมรู้ว่าผมจะเขียนนิยาย')




Sep 14, 2009

Photos from Gay Vinci Code launching

มาแล้วค่ะ ภาพบรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ "รหัสลับ เกเก้วินชี" วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ที่ร้าน Patio สีลม ซอย 2

กำมะหยี่ขอบคุณสื่อมวลชนและมิตรสหายทุกท่านที่สนใจให้เกียรติมาร่วมงานในคืนนั้นมา ณ ที่นี้นะคะ


Aug 19, 2009

Gay Vinci Code Launching Party


กำมะหยี่ขอเชิญทุกท่าน ทุกเพศ ทั้งชาย-หญิง และเพศทางเลือกเข้าร่วมงานเปิดตัว "รหัสลับ เกเก้วินชี" ฝีมือการเขียนของ Pascal Fioretto แปลโดย ”ทุรมาลี” คืนวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552 ตั้งแต่เวลา 19:30 เป็นต้นไป ณ ร้าน PATIO สีลม ซอย 2

เชิญทำความรู้จักกับหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเรา สัมผัสกับบรรยากาศบาร์เกย์แบบฝรั่งเศส ชมโชว์และการแสดงน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย

19.30 น. ลงทะเบียนทักทายทำความรู้จัก

20.00 น. เวทีเปิด เข้าสู่บรรยากาศเกเก้ด้วยเพลงประจำชาติเกย์ (พอจะเดากันออกหรือเปล่าคะ) -- พูดคุยกับสำนักพิมพ์และผู้แปลถึงที่มาที่ไป -- เกย์ "ตัวแม่" ชวนคุย รับรองความแสบสันต์ เอ้ย สุขสันต์ -- ละครสั้นจากหนังสือ เพื่อปรับบรรยากาศ เสริมรสชาติในการอ่านต่อไป -- การแสดงลิปซิงค์ สุดตระการตาแบบอลังการเกย์สร้าง

22.00 น. จบงานอย่างเป็นทางการ เชิญสำเริงสำราญตามอัธยาศัย


สื่อมวลชนท่านใดต้องการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ โปรดส่ง >> ใบตอบรับ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด ในนั้นมีแผนที่ของสถานที่จัดงานด้วยค่ะ) มายังสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่โทรสารหมายเลข 02-270-3942 หรือติดต่อ คุณพัฒวดี ไพเราะ โทร 085-245-0526 (patwadee@gammemagie.com) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 เพื่อการสำรองที่นั่งและจัดเตรียมของที่ระลึก

หวังว่าจะได้พบกับทุกท่านในงานและสนุกสนานร่วมกันอีกครั้งนะคะ

:::: ข้อมูลเรียกน้ำย่อย ::::

“รหัสลับ เกเก้วินชี”
เรื่อง ปาสกาล ฟิออเรตโต
แปล ทุรมาลี
กำหนดวางแผง 3 กันยายน 2552

ขบขัน-คมคาย-ชวนหัว-ยั่วล้อ
เชิญหัวร่องอหายในนิยายล้อเลียนหนังสือดังกับเรื่องราวสนุกสุขสันต์ในโลกเพศทางเลือก


จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งคุณประกาศตัวกลางงานเลี้ยงชุมนุมญาติมิตรว่า “ฉันเป็นเกย์” ท่ามกลางความตื่นตะลึงของญาติ พ่อคงตาค้างส่วนแม่เป็นลมล้มพับ... โลกใน รหัสลับ เกเก้วินชี ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่สลับบทบาทเมื่อลูกชายสารภาพกับแม่ทอมดี้ว่า “ผมรักผู้หญิง”

รหัสลับ เกเก้วินชี จะนำท่านไปพบกับตัวละคร ‘สีม่วง’ สารพัดเฉด เรื่องราวหยอกล้อจิกหยิกกัด รหัสลับดาวินชี นวนิยายติดอันดับขายดีของ แดน บราวน์ แบบถึงพริกถึงขิง เมื่อ ชารฺลุส แกลงดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัส (เชี่ยวขนาดถอดรหัสกล่องเคเบิลทีวีลักดูหนังโป๊ฟรีจนเกือบติดตะราง) บินมาปารีสตามคำเชิญของภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์เพศทางเลือกผู้เป็นสหายเก่า ขณะที่องค์กรลับส่งกะเทยถึกชาตินักสู้ออกปฏิบัติการค้นหาความลับแห่งศตวรรษและลงมือสังหารท่านภัณฑารักษ์ แกลงดอนและหลานชายถูกยัดข้อหาฆาตกรรมจึงต้องไล่ล่าหาตัวคนร้ายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พร้อมคลี่คลายปริศนาที่สหายเก่าทิ้งไว้ให้

แม้เปลือกนอกจะฉาบเคลือบด้วยความบันเทิงสีสันบาดตาและสำนวนแปลฮาขาดบาดใจ หากสำนักพิมพ์กำมะหยี่ยังหวังด้วยว่าเนื้อหาแก่นแท้ของหนังสือเล่มนี้จะสร้างอัศจรรย์ให้ปรากฏ เพราะการที่เราเลือกพิมพ์และการที่คุณเลือกอ่าน รหัสลับ เกเก้วินชี เล่มนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรของการลดช่องว่างระหว่างเพศเชื่อมประสานอย่างสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น เรามีความภูมิใจเป็นอย่างสูงที่จะประกาศตัวเป็น สำนักพิมพ์ มิตรเกย์ อย่างออกหน้าออกตา โดยตั้งใจจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ผู้เลือกจะรักเพศเดียวกันในทุกๆ ปี นำร่องด้วย รหัสลับ เกเก้วินชี เล่มนี้ เพื่อสร้างความสมานฉันท์กลมเกลียว และความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันในมนุษย์ทุกผู้ และทุกเพศ


>>รายละเอียดเพิ่มเติม และบททดลองอ่าน

Aug 6, 2009

วิดีโองานเปิดตัว "เจ้าชายน้อย ฉบับการ์ตูน"

หลังจากดูภาพนิ่งงานเปิดตัวกันไปแล้ว วันนี้นำภาพเคลื่อนไหวมาฝากค่ะ







Jul 13, 2009

"Le Petit Prince, La BD" thai version launching

พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ขอขอคุณมิตรสหายและสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้เกียรติสละเวลามาร่วมงานเปิดตัว

"เจ้าชายน้อย ฉบับการ์ตูน"

วันนี้นำภาพในวันงานมาฝากกันค่ะ

Jun 23, 2009

กำมะหยี่เรียนเชิญ

กำมะหยี่เรียนเชิญ

คลิกเพื่อดูรายละเอียดของงาน

Le Petit Prince, La BD Launching


สำนักพิมพ์กำมะหยี่และบีทูเอสขอเชิญนักอ่านและสื่อมวลชนทุกท่านร่วมงานเปิดตัว

"เจ้าชายน้อย ฉบับการ์ตูน"

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
เวลา 14.00-16.30 น.
ที่ร้านบีทูเอส เซ็นทรัลเวิร์ล

พบกับกิจกรรมมากมาย ดังต่อไปนี้ค่ะ


เวลา
13.30 - 14.00 น. “ยินดีต้อนรับ”
- แขกรับเชิญ , สื่อมวลชน ลงทะเบียนและรับของที่ระลึก
- รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม

14.00 - 14.15 น. - พิธีกรกล่าวเปิดงาน
- วิดีโอ “มิตรภาพของเจ้าชายน้อย”
- เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยหรือผู้แทนกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน

14.15 - 14.45 น. “สนทนาว่าด้วย เจ้าชายน้อย”
- สนทนาถึงประวัติความเป็นมาวรรณกรรมเจ้าชายน้อย โดย พิธีกร ผู้แปลและแฟนหนังสือ
- เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์เจ้าชายน้อย “น้องแฮรี่” และคุณแม่นักจิตวิทยา ในหัวข้อ “การพัฒนา EQ ของเด็ก ด้วยหนังสือเจ้าชายน้อย”

14.45 - 15.00 น. “ได้เวลา ประมูล”
- เปิดประมูลหนังสือการ์ตูนเจ้าชายน้อยในภาษาไทย ฉบับพิเศษ
(เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยขึ้นเวทีมอบรายได้แก่องค์กรการกุศล)

15.00 - 15.15 น. “ขึ้นเวที”
- ละครจากตัวอย่างบางตอนในหนังสือการ์ตูนเจ้าชายน้อย
- นักร้องรับเชิญร้องสดปิดการแสดง ด้วยบทเพลงของเจ้าชายน้อย

15.15 - 15.30 น. - พิธีกรกล่าวปิดงานและขอบคุณท่านทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยหรือผู้แทน แขกผู้มีเกียรติ ผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆ

- ถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน

+++





พิเศษสุด! สำหรับผู้สั่งซื้อหนังสือปกแข็งผ่านเว็บไซต์ www.gammemagie.com และไปรับหนังสือในวันงาน

รับฟรีทันที เสื้อยืดเจ้าชายน้อย มีให้เลือก 2 สี 2 แบบ หลายขนาด ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่

Mar 24, 2009

๑๐ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ

เนื่องในโอกาสได้ฤกษ์งามยามดี ฤกษ์สะดวกออกเมื่อพิมพ์เสร็จ ของหนังสือลำดับที่ ๑๑ ของสำนักพิมพ์  “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” รวมเรื่องสั้นชุด “แฟนมูราคามิรวมหัว” อันดับ ๑/๓ ชาวกำมะหยี่จึงนำบทความที่เขียนโดยคุณสตีเฟน อาร์มสตรอง ในเว็บไซต์ ไทม์ ออนไลน์มาแปลฝากทั้งผู้อ่านและไม่อ่านมูราคามิค่ะ

ข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับนักเขียนที่เจ๋งที่สุดในโลกปัจจุบัน

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ฮารูกิ มูราคามิ เป็นนักเขียนยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลสูงสุดในโลกปัจจุบัน ชายวัย ๖๐ ผู้นี้มียอดขายหนังสือเป็นล้านๆ เล่มในญี่ปุ่น นิยายเล่มที่ ๕ นอร์วีเจียน วูด (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) ขายได้มากกว่า ๓ ล้าน ๕ แสนเล่มในปีแรกที่วางแผง และผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ๔๐ ภาษา และขายดิบขายดีเช่นเดียวกัน  อาฟเตอร์ ดาร์ก (ราตรีมหัศจรรย์) นิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ขายได้ ๑ แสนเล่มในช่วงสามเดือนแรก

หนังสือของเขาเป็นเหมือนอาหารญี่ปุ่น คือมีส่วนผสมของความละเอียดอ่อน สุขุมนุ่มละมุน พร้อมกับความแปลกตาน่าพิศวง ความฝันกับความจริงสลับที่ทาง ทุกสิ่งอันหมักบ่มด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้าย อาจารย์เจย์ รูบิน ผู้แปลงานของมูราคามิกล่าวว่า การอ่านหนังสือของมูราคามิเปลี่ยนสมองผู้อ่าน วิธีการมองโลกของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ โซเฟีย คอปโปลา ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียน เดวิด มิทเชลล์ และวงดนตรีอเมริกันมากมาย เช่น เฟลมิง ลิปส์

เขาได้รับรางวัล ฟรานซ์ คาฟกา รางวัลเยรูซาเล็ม และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม


๑. มูราคามิสร้างความแตกแยก
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๐ คณะกรรมการในรายการโทรทัศน์ด้านการวิจารณ์วรรณกรรมของเยอรมันรายการหนึ่ง มีความเห็นแตกคอกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ จนสมาชิกคนหนึ่งถึงกับลาออกหลังจากทำงานกับรายการนี้มานาน ๑๒ ปี ในญี่ปุ่นเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ขณะที่นักอ่านหนุ่มสาวชื่นชอบเขาและถึงกับเลือกไปเรียนที่เดียวกับเขา คือ มหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยหวังว่าจะได้พักอยู่ในหอพักที่เขาบรรยายไว้ในเรื่องนอร์วีเจียน วูด  หากบรรดาคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นกลับมองว่างานของเขาเป็นงานตลาด งานขยะ และมีความเป็นตะวันตกมากเกินไป โดยคนเหล่านี้จะชอบงานเขียนแบบตามขนบของมิชิมา ทานิซากิ หรือคาวาบาตะมากกว่า

มูราคามิเกิดที่เมืองเกียวโต ในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ เรียนด้านศิลปะการละครที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ กระนั้นเขาก็ไม่ได้สนใจวิชาที่เรียนมากนัก และใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านบทภาพยนตร์ในห้องสมุด เขาได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากการลุกฮือของนักศึกษาในปี ค.ศ.๑๙๖๘ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียน สรุปแล้วก็คือ เขาเป็นคนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” (เด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ของแท้ ผู้วิจารณ์ความหมกมุ่นในระบบทุนนิยมของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เขาเห็นว่าประเพณีของญี่ปุ่นน่าเบื่อ อันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับด้วยดีเท่าใดนัก

๒. มูราคามิมีอิทธิพลไปทั่ว
เช่นเดียวกับงานของนักเขียนญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน โครงเรื่องและสไตล์ของภาพยนตร์เรื่อง ลอสต์ อิน ทรานสเลชัน ของโซเฟีย คอปโฟลา ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายของมูราคามิ เดวิด มิทเชลล์ นักเขียนผู้ได้รับการเสนอผลงานเข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์สองครั้ง ก็ได้อิทธิพลของมูราคามิหลังจากอ่านงานของเขาตอนที่สอนหนังสืออยู่ในญี่ปุ่น ดังนี้ ชื่อหนังสือนิยายของมิทเชลล์เล่มที่สอง “นัมเบอร์ นายน์ ดรีม” จึงเป็นการให้เกียรติกับนอร์วีเจียน วูด เพราะเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีคณะละครคอมพลิซิตดัดแปลง เรื่องสั้นชื่อ “เดอะ เอเลเฟน วานิชส์” เป็นละครเวที ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓  ส่วนโรเบิร์ต วัตต์ นักดนตรีชาวอังกฤษ อ่านหนังสือของมูราคามิบันทึกลงในอัลบั้ม ซองส์ ฟรอม บีฟอร์ ของ แม็กซ์ ริชเตอร์ ที่ออกในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ และ ซาวด์ ไทร์บ เซ็คเตอร์ นายน์ วงดนตรีแจมแบนด์แบบวง เกรตฟุล เดด ก็ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมูราคามิเรื่อง ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ ใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๗

๓. หนังสือของมูราคามินำไปทำหนังสูตรสำเร็จจ๋าขายง่ายๆ ไม่ได้
ลองนึกภาพ เจดี ซาลิงเจอร์ (ผู้เขียนเดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร หนังสือดังสำหรับเยาวชนอเมริกัน) กับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (ผู้เขียน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. ๑๙๘๒) ร่วมมือกันทำหนังสือการ์ตูนจากหนังสือสืบสวนสอบสวนเรื่องมัลเตส ฟัลกอน ก็แล้วกัน นอร์วีเจียน วูด เป็นหนังสือญี่ปุ่นที่เทียบได้กับ เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร ที่วัยรุ่นผู้ว้าวุ่นทุกคนควรจะอ่าน แต่ก็แปลกที่มูราคามิซึ่งแปล เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร เป็นภาษาญี่ปุ่น เห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีแต่ไม่สมบูรณ์ “เรื่องราวดำมืดขึ้นเรื่อยๆ และโฮเดน โคฟิลด์ หาทางออกจากโลกมืดนั้นไม่ได้” เขาว่า “ผมคิดว่าตัวซาลิงเจอร์เองก็คงหาทางออกไม่เจอเหมือนกัน”  มูราคามิจัดความสมดุลระหว่างชีวิตสามัญกับโลกประหลาดในจินตนาการ มีการบรรยายวิธีการเตรียมและกินอาหารง่ายๆ ปรากฏในงานของเขาอย่างสม่ำเสมอ

ตัวละครเอกของเขามักจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่พยายามเอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ จนกระทั่งมีคนนำทางจากสวรรค์ชี้เส้นทางใหม่ให้ และบางครั้งนำทางให้เดินตามกันจริงๆ ตามความหมายตรงๆ เช่น ในเรื่องสั้นชื่อ ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ โยชิยะ ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์ ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเมาค้างปวดตัวแทบแตก แล้วออกจากบ้านไปที่ทำงานสายกว่าปกติหลายชั่วโมง บนรถไฟที่เขาขึ้นกลับบ้านคืนนั้น เขาเจอชายแก่คนหนึ่งที่ดูเหมือนพ่อที่หายสาบสูญไปของตน โยชิยะตามชายผู้นั้นตั้งแต่บนรถไฟ ต่อด้วยถนนเปลี่ยวมืด ก่อนจะไปอยู่ในสนามเบสบอลว่างเปล่ายามราตรี ชายแก่ผู้นั้นหายตัวไป และโยชิยะยืนอยู่บนจุดขว้างในสายลมหนาวและเต้นกันดื้อๆ ตรงนั้นนั่นเอง

๔.มูราคามิสับสน ไม่รู้จะเอายังไงกับบ้านเกิดของตน
ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นครูสอนวรรณคดีญี่ปุ่น แต่เขากลับชอบอ่านหนังสือนิยายราคาถูกมือสองที่หาได้ที่ท่าเรือประจำเมืองโกเบมากกว่า เขาเป็นแฟนตัวจริงของดนตรีตะวันตกและเกลียดวิธีการเขียนตามขนบของมิชิมา ในปี ค.ศ.๑๙๘๗ ความสำเร็จครั้งใหญ่ของนอร์วีเจียน วูด ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาในชั่วข้ามคืน ทำให้เขาตกใจและรำคาญ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๘๘ เขาออกจากประเทศ ไปเป็นผู้บรรยายด้านการเขียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งรายงานการออกจากประเทศของเขา โดยพาดหัวว่า “ฮารูกิ มูราคามิ หนีออกจากญี่ปุ่นแล้ว”

เดอะ ไวนด์-อัพ เบิร์ด โครนิเคิล (บันทึกนกไขลาน) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ วิเคราะห์เจาะลึกวัฒนธรรมพวกมากลากไปที่นำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นแก่นเรื่องที่เขาพูดถึงอีกครั้งในหนังสือความเรียงเล่มแรกชื่อ อันเดอร์กราวน์ด์ (ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗) เกี่ยวกับการโจมตีรถไฟใต้ดินของลัทธิโอม ชินริเกียว เขาเป็นห่วงที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะลืมความโหดร้ายในช่วงเวลาสงคราม กระนั้น เขาก็กล่าวว่า “เมื่อก่อน ผมอยากเป็นนักเขียนที่อยู่ต่างประเทศ แต่ผมเป็นนักเขียนญี่ปุ่น ที่นี่เป็นพื้นดินของผมและเหล่านั้นเป็นรากของผม ยังไงคุณก็หนีจากประเทศของตนเองไม่พ้นหรอก

๕.มูราคามิเคยเปิดแจ๊ซคลับ
เขาเป็นเจ้าของคลับแจ๊ซแห่งนั้นหลังจากจบมหาวิทยาลัยจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือ เและอาจจะป็นประสบการณ์ที่ทำให้การดื่มเหล้าเป็นเรื่องลบในหนังสือของเขา เขาใช้เหล้าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความชั่วร้าย เรื่องไม่ดีและปีศาจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลิกดื่มอย่างเด็ดขาด เขาชอบดื่มเบียร์ โดยใช้เบียร์เย็นๆ เป็นรางวัลให้ตัวเองเวลาที่เขียนหรือออกแรงเล่นกีฬาได้สำเร็จ  บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการถูกบีบคั้น การเข้าสังคมที่มีเหล้าและผู้คนทำให้มูราคามิอึดอัด ครั้งหนึ่่งเขาเคยพูดว่า “ตอนที่ผมเปิดคลับ ผมยืนอยู่หลังบาร์ และงานของผมคือการชวนคุย ผมทำอย่างนั้นมาเจ็ดปี แต่ผมไม่ใช่คนช่างคุย ผมสัญญากับตัวเองว่า เมื่อผมเลิกทำบาร์ ผมจะพูดเฉพาะกับคนที่ผมอยากคุยด้วยจริงๆและเพราะเหตุนั้น เขาจึงปฏิเสธไม่ไปออกวิทยุและโทรทัศน์

๖. มูราคามิได้ดีมีทุกวันนี้เพราะเบสบอล
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศง ๑๙๗๘ วันที่อากาศอบอุ่น แดดจ้าตามประสาหน้าร้อน ขณะชมการแข่งขันเบสบอลระหว่างทีมยาคูลต์สวอลโลว์กับฮิโรชิมาคาร์ปที่สนามจิงงุในกรุงโตเกียว ในวินาทีที่เดฟ ฮิลตัน นักเล่นชาวอเมริกันของทีมสวอลโลว์ออกมาตีลูกโฮมรัน มูราคามิก็รู้ทันทีว่าเขาจะต้องเขียนนวนิยาย “เป็นความรู้สึกอบอุ่น ผมยังจดจำความรู้สึกนั้นได้อยู่ในใจ” เขาบอก เดอร์ ชปีเกลในการสัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว มูราคามิลงมือเขียน “ สดับลมขับขาน” (Hear the Wind Sing) นวนิยายเรื่องแรกในคืนนั้น นิยายเรื่องนี้แนวความคิดหลักของมูราคามิปรากฏให้เห็นหลายประการ ได้แก่ มีสัตว์ มีตัวเอกเป็นหนุ่มน้อยมัธยมปลายที่ค่อนข้างปลีกวิเวก พูดน้อย ล่องลอยและไม่มีงานทำ แฟนสาวของเขามีฝาแฝด (มูราคามิชอบการให้มี “ร่างเงาคู่ขนาน” ในงานของตน) มีฉากการทำอาหาร กิน ดื่ม และฟังเพลงตะวันตกบ่อยครั้งอย่างละเอียด และโครงเรื่องก็มีทั้งเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อและซับซ้อนวกวนจนสับสน

หากการเขียนหนังสือขณะทำบาร์แจ๊ซไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังทำให้เรื่องไม่ปะติดปะต่อและกระโดดไปมา ต้นฉบับที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ได้รางวัลที่หนึ่งในการประกวดของนิตยสารวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลอย่าง กุนโซ แต่มูราคามิไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไรและไม่อยากให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

๗. มูราคามิชอบแมว
บาร์แจ๊ซของเขาชื่อปีเตอร์แคต และมีแมวปรากฏอยู่ในเรื่องราวของเขาหลายเรื่อง โดยปกติแล้ว การปรากฏตัวของแมวมักเป็นลางบอกว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์ประหลาดเหลือแสนขึ้น เช่น เหตุการณ์แมวหายเป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่ของสารพัดเหตุการณ์เหนือจริงใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ขณะที่เรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) พูดถึงชายชราผู้สับสนและอาจมีสติฟั่นเฟือนชื่อนาคาตะ ซึ่งหลังเกิดเหตุลึกลับบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวัตถุลึกลับสีเงินกลางท้องฟ้าช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เขามีอาการโคม่าและตื่นขึ้นมาพบว่าตนสามารถพูดกับแมวรู้เรื่อง และนั่นก็กลับกลายเป็นโชคดีไป เพราะบทสนทนากับแมวที่ฉลาดเฉลียวผิดปกติตัวหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหลบหนีคนจับแมวที่ชื่อจอ์นนี วอล์กเกอร์ ทำให้นาคาตะหยุดยั้งปีศาจที่ซ่อนในร่างของเขาไม่ให้หลุดออกมาทำลายโลกนี้ได้

เป็นเรื่องพิลึกกึกกือมาก อย่างที่ผมบอกใช่มั้ยล่ะครับ

๘. มูราคามิชอบดนตรีเอามากๆ
ชื่อหนังสือหลายเล่มของเขาโยงใยกับดนตรี เรื่อง Norwegian Wood (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) มาจากเพลงของเดอะบีตเทิลส์ เรื่อง South of the Border, West of the Sun (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) มาจากเพลงของแน็ต คิง โคล และเรื่อง Dance, Dance, Dance (เริงระบำแดนสนทยา) มาจากเพลงของบีชบอยส์

หนังสือสามเล่มใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle ) ตั้งชื่อตามเพลงโหมโรงของรอสซินี เพลงดนตรีของชูมานน์ และตัวละครตัวหนึ่งในโอเปร่าเรื่องแมจิกฟลู้ตของโมซาร์ต ตามลำดับ

ใน คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore)การพยายามติดต่อกับวิญญาณของหญิงที่ตายไปแล้วคนหนึ่งที่ตัวเอกพยายามมาตลอดเรื่องทำได้สำเร็จเมื่อเขาพบลังใส่แผ่นเสียงในห้องสมุดที่ถูกทิ้งร้างในชานเมือง และเล่นเพลง อาร์คดุ๊กทรีโอ ของบีโธเฟน

ในเรื่อง พินบอล (Pinball, 1973) นักศึกษาที่ก่อการประท้วงยึดอาคารมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1973 ไปพบห้องสมุดเพลงคลาสสิกเข้า และใช้เวลาทุกเย็นฟังดนตรีที่เจอ และในบ่ายที่ฟ้ากระจ่างในเดือนพฤศจิกายน ตำรวจปราบจลาจลก็บุกเข้าไปในตึกขณะที่เพลงเอสโตรอาร์โมนิโกของวิวาลดีดังกึกก้อง

นักสัมภาษณ์คนหนึ่งไปพบมูราคามิที่ห้องพักและพบว่าห้องของเขาเรียงรายไปด้วยแผ่นเสียงกว่า ๗ พันแผ่น

9. มูราคามิชอบวิ่งสุดๆ
หนังสือเล่มล่าสุดของเขา What I Talk About When I Talk About Running (อันมีชื่อเล่นย่อๆ ในหมูพลพรรคกำมะหยี่ว่า เรื่องวิ่ง หรือ วิ่งไปบ่นไป ซึ่งเรากำลังดำเนินการจัดแปลอย่างขะมักเขม้นเพื่อออกวางแผงให้สำเร็จภายในปีนี้) ถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงอัตชีวประวัติที่สุดที่เขาเคยเขียน (แม้ว่าสาวกบางคนจะแอบคิดว่า ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย มีโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของเขามากกว่าก็ตามที) ในบทรำพึงขนาดยาวเล่มนี้ มูราคามิหวนรำลึกถึงชีวิตของเขาเหมือนดังมองผ่านแง่มุมต่างๆ ของกีฬาชนิดนี้

มูราคามิเริ่มต้นวิ่งเมื่ออายุ ๓๓ เพื่อลดน้ำหนักหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ภายในหนึ่งปีเขาก็เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรก นอกจากนั้นยังเคยวิ่งมาราธอนของแท้ (อันได้แก่การวิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อและระยะทางในการวิ่งไกลประเภทนี้) เพื่อนำประสบการณ์ไปเขียนบทความ ถึงแม้เขาจะวิ่งสลับต้นทางกับปลายทาง โดยเริ่มว่ิงจากเอเธนส์ไปมาราธอนจุดหมายปลายทาง เพราะไม่อยากไปถึงเอเธนส์ในชั่วโมงเร่งด่วน

สถิติการวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดของเขาคือ ๓ ชั่วโมง ๒๗ นาทีในนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๑ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เขาวิ่งอัลตรามาราธอนระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร และใช้วิ่งเวลากว่า 11 ชั่วโมง เหน็ดเหนื่อยถึงกับเกือบเป็นลมล้มพับเมื่อไปได้ครึ่งทาง เขาบรรยายว่าแรงฮึดของเขาเเป็นสมือนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ แต่ตัดสินใจว่าจะไม่วิ่งระยะยาวเหยียดอย่างนี้อีก มูราคามิเชื่อว่า “นักเขียนที่โชคดีอาจเขียนนวนิยายได้สักสิบสองเรื่องในชีวิต ผมไม่รู้ว่าผมยังเหลือเรื่องดีๆ อยู่ในตัวอีกกี่เรื่อง ผมหวังว่าจะมีอีกสักสี่หรือห้าเรื่อง แต่ตอนวิ่ง ผมไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดนั้น ผมพิมพ์นวนิยายเล่มหนาหนึ่งเล่มทุกสี่ปี แต่ผมวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอนทุกปี” เขาตื่นนอนตีสี่ เขียนหนังสือสี่ชั่วโมง จากนั้นวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร

บนหลุมศพของเขา เขาอยากให้เขียนว่า “อย่างน้อยเขาก็ไม่เคยเดิน”

๑๐. มูราคามิเป็นคนโรแมนติก
ตัวเอกของเขามักเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากมีสัมพันธภาพอันอ่อนโยนอย่างประหลาดกับหญิงสาวสวย พิลึกพิลั่น ผู้มักจะสับสนหรือไม่ก็ลึกลับ เขาบรรยายความรักอย่างละเอียดอ่อนน่าอัศจรรย์ใจ ตัวเอกของเขามักจะขับเคลื่อนด้วยความเสน่หาที่เคยได้รับจากผู้หญิงในชีวิตของตน “ผมต้องคุยกับคุณ” โทรุ วาตานาเบ จาก ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย บอกนาโอโกะ สาวผู้มีจิตใจสับสน “ผมมีเรื่องราวเป็นล้านเรื่องที่อยากคุยกับคุณ ทั้งหมดที่ผมต้องการในโลกนี้คือคุณ ผมอยากพบคุณและพูดคุยกัน ผมอยากให้เราสองคนเริ่มต้นทุกอย่างจากจุดเริ่มต้น”

กระนั้น มันก็มักไม่ได้ผล ผู้หญิงของมูราคามิมักจะหลุดโลกหรือไม่ก็บอบบางอย่างที่สุด พวกเธอจะเขียนจดหมายพร่ำรำพันยืดยาวถึงพระเอกส่งมาจากแดนไกล และถ้าไม่พยายามฆ่าตัวตายก็มักฆ่าตัวตายได้สำเร็จในเรื่อง ในเรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ความรักของพระเอกกลับกลายเป็นวิญญาณของแม่ที่ถูกจับตอนเธอเป็นวัยรุ่น

ตัวมูราคามิเองแต่งานกับโยโกะตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๑ หากเขาเองก็นึกสงสัยออกมาดังๆในบทสัมภาษณ์ว่า ตนเองทำถูกหรือเปล่าที่แต่งงาน “ผมไม่เหมือนภรรยาครับ ผมไม่ชอบมีเพื่อน ผมแต่งงานมา ๓๗ ปีแล้ว และบ่อยครั้งมันเหมือนการสู้รบ” เขาบอกเดอร์ ชปีเกล “ผมเคยชินกับการอยู่คนเดียว และชอบอยู่คนเดียว”


ขอขอบคุณคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ที่ช่วยแนะนำการออกเสียงชื่อในภาษาญี่ปุ่นและเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยตรวจทานเรื่องราวของหนังสือเล่มต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างบนให้ถูกต้อง เพื่อพวกเราชาวกำมะหยี่จะได้ไม่ปล่อยไก่ให้แฟนๆ พี่มุต้องลำบากจับมาส่งคืนค่ะ



ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง


แฟนฮารูกิ มูราคามิ ตัวยง - พี่แป๊ดให้เกียรติร่วมงานกับกำมะหยี่ในฐานะแม่งานและบรรณาธิการของหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “แฟนมูราคามิรวมหัว”

เธอทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือมาตลอด นับตั้งแต่เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการนิตยสาร กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ เคยดำรงตำแหน่งฝ่ายวิชาการของนิตยสารสารคดีและกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดีในยุคก่อตั้งสำนักพิมพ์ เป็นประสบการณ์ที่ให้ความเข้มข้นทั้งการทำงานนิตยสารและทำงานสำนักพิมพ์ ทำงานบรรณาธิการสำนักพิมพ์ครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ Gender Press

ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อระหว่างบรรทัด สำนักพิมพ์เล็กๆนี้ดำเนินการสู่ปีที่เก้าแล้ว

เหตุผลที่เราได้บรรณาธิการมืออาชีพผู้นี้มาร่วมงาน เป็นเพราะความรักในผลงานของฮารูกิ มูราคามิอย่างแท้จริง พี่แป๊ดกล่าวถึงนักเขียนในดวงใจของเธอไว้ว่า “หลงรักตัวหนังสือของมูราคามิอย่างถอนตัวไม่ขึ้น มานับตั้งแต่ได้อ่าน “รักเร้นในโลกคู่ขนาน” ตั้งแต่นั้นมาก็ตาม หาหนังสือของมูราคามิทุกเล่มที่มีวางขายในประเทศไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถามตัวเองหลายครั้งถึงสาเหตุของการถอนตัวไม่ขึ้นจากตัวหนังสือของเขา ได้คำตอบว่ามูราคามิอธิบายถึงสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ที่ตกค้างในใจมาเนิ่นน่าน นับตั้งแต่การรำลึกถึงอดีตที่ไม่สามารถกลับไปได้ มูราคามิสั่นคลอนสิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นในปัจจุบัน รวมไปถึงการตั้งคำถามต่ออนาคตที่ไม่สามารถมองเห็นได้ คุณูปการอันสำคัญยิ่งของมูราคามิคือการบอกว่าเราจะยืนอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางซากปรักหักพังเหล่านี้”

แฟนมูราคามิรวมหัว ลำดับ ๑/๓

เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน (Firefly, Barn Burning and other stories)


ปาลิดา พิมพะกร 


จบการศึกษาจากคณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นทำงานตำแหน่งกองบรรณาธิการที่นิตยสาร mars จากนั้นออกมาร่วมก่อตั้งสำนักหนังสือไต้ฝุ่น (www.typhoonbooks.com) เพราะสนใจใน วัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2545 ทำงานไปเรียนไปจนถึงปัจจุบัน เขียนหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นออกมาสองเล่มคือ “เกียวโต ไดอารี่” และ “คิวชู ยู แอนด์ มี”


>> ติดตามเรื่องราวของเธอต่อ




วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา


 หรือชื่อที่เป็นที่รู้จักของบรรดาบล็อกเกอร์คือ FILMSICK จบการศึกษาเภสัชศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบัน รับราชการ / บล็อกเกอร์ คอลัมน์นิสต์ นิตยสาร BIOSCOPE / FUSE / VOTE เคยมีหนังสือมาแล้ว 3 เล่มคือ มองโลกในแง่เหงา (นามปากกา เจ้าชายน้อย) นักเปลี่ยนแปลงโลกกับกาแฟ (นามปากกา เจ้าชายน้อย) และคิโยชิคุโรซาวะ : หนังผีไซไฟ และเมืองใหญ่ชื่อโตเกียวเคยร่วมเขียน ในหนังสือ FILMVIRUS มาแล้วหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นฉบับ 3 อีสาวกายสิทธิ์ สางสำแดง THE 8 MASTER และ สัตว์วิกาล


>> สนทนากับ FILMSICK





ธนรรถวร จตุรงควาณิช


อดีตเคยทำงานหนังสือพิมพ์ แปลตั้งแต่เอกสารราชการยันนิยายนักสืบ เขียนหนังสือนำเที่ยว


ปัจจุบันสอนวรรณคดีอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


>>เยือน  Facebook ของเธอ






นฆ ปักษนาวิน


มีบทกวีตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี 2539 ขณะเป็นนักศึกษา


ต่อมา เริ่มเขียนเรื่องสั้นอย่างจริงจังเมื่อเรียนจบ ร่วมกับเพื่อนๆ เปิดร้านหนังสือชื่อ หนัง(สือ)๒๕๒๑ ที่ภูเก็ต


>> Blog ของเขา





โตมร ศุขปรีชา


ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร GM และเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารชั้นนำอีกหลายฉบับ เขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า “กาแฟ ชา หมา แมว”ชอบการเดินทาง ทำอาหาร เล่นเปียโน ฯลฯ เคยแปลนวนิยายของมูราคามิมีชื่อภาษาไทยว่า “การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก” เป็นนวนิยายของมูราคามิเล่มหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาคนอ่านชาวไทย

++ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน


ผู้แต่ง: ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล: ปาลิดา พิมพะกร, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา,ธนรรถวร จตุรงควาณิช, นฆ ปักษนาวิน, โตมร ศุขปรีชา
จัดพิมพ์ครั้งที่: 1 (มีนาคม 52)
จำนวนหน้า: 176 หน้า
ราคา: 175 บาท

รวมเรื่องสั้น “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน " เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า มูราคามิยังคงสั่นสะเทือนคนอ่านให้สั่นไหว เยียบเย็น และนิ่งอึ้ง รวมทั้งทิ้งปริศนาท้าทายให้คนอ่านขบคิดได้อย่างไม่รู้จบ ตัวหนังสือของเขายังคงคว้านหลุมอันเว้าแหว่งในจิตใจของเราให้ลึกลงไป ลึกลงไป เพื่อที่จะพบว่าความมืดมิดในก้นบึ้งของจิตใจเรานั้น ปลอบโยนและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเราเสมอมา


จากใจกำมะหยี่

เรื่องสั้นเป็นเรื่องสนุก

หลังจากถอนใจเฮือกด้วยความโล่งอกออกหนังสือนิยายแปลของฮารูกิ มูราคามิ สามเล่มรวดเสร็จไป พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ก็ชักติดใจ อาจหาญสอดส่ายสายตาหาหนังสือเล่มใหม่ของนักเขียนใหญ่ผู้นี้ต่อในทันทีโดยไม่มีรีรอขอเวลาเช็คยอดขายเล่มเดิมๆ ก่อน และแล้วความคิดเรื่องการจัดแปล-จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น 3 เล่มเล็กๆ ที่ยังไม่มีภาคภาษาไทยวาบเข้ามา

แค่เริ่มต้นคิดดังๆ ก็มีคำเตือนที่เรามักจะถือเป็นเสมือนคำท้าทายเข้ามาว่า งานเรื่องสั้นขายไม่ได้ ถึงจะเป็นเรื่องสั้นของนักเขียนดังแค่ไหน แต่มูราคามิเขียนเรื่องยาวสนุกกว่า

ถ้าไม่ใช่ความดื้อรั้นก็คงจะเป็นความดื้อด้าน จากนั้น เราก็เริ่มอุตริคิดหาวิธีการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกด้วยการกวาดต้อนแฟนๆ ของมูราคามิมารวมหัว จัดสรรแบ่งงานกันเพื่อรวบรวมทยอยออกเป็น 3 เล่ม คือ Firefly, Barn Burning and other stories หรือในชื่อภาษาไทยที่ตั้งได้เหงาเจียนจะขาดใจว่า “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” เล่มนี้ ต่อด้วย The Second Bakery Attack และ Lexington Ghosts โดยได้พี่แป๊ด - ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด พี่สาวคนดีมาช่วยเป็นแม่งาน ติดต่อล่อหลอกนักแปลมาร่วมลงเรือลำเดียวกัน และนอกจากต้องคอยออกแรงจับปูใส่กระด้งติดตามต้นฉบับแล้ว ยังกรุณานั่งแท่นบรรณาธิการให้ด้วย

กำมะหยี่ขอขอบคุณนักแปลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่มาช่วยกันทำความคิดสนุกๆ ของสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเราให้เป็นความจริงอย่างสวยงามจับเหมาะมือเช่นนี้ หวังว่าเราจะได้มีโอกาสสร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือไทยร่วมกันอีกครั้งในวันข้างหน้า และหวังว่าผู้อ่านจะสนุกไปกับเรื่องสนุกๆ ของเราด้วยเช่นกัน



แม่งานแถลงไข

มูราคามิเคยบอกว่า การเขียนนวนิยายสร้างความท้าทายกับเขา แต่การเขียนเรื่องสั้นให้ความสนุกสนาน ถ้าจะเปรียบไปแล้ว นวนิยายเป็นความพยายามในการปลูกป่าแต่เรื่องสั้นเหมือนการเพาะปลูกสวนอันรื่นรมย์ เรื่องสั้นบางเรื่องก็เป็นต้นเรื่องของนวนิยายของเขาด้วย ตัวอย่างอันดีคือ “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” คือต้นเรื่องนวนิยาย “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย”(ซึ่งตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทยมาแล้วสองครั้ง) นักอ่านที่ต้องการศึกษาพัฒนาการงานเขียนของมูราคามิสามารถศึกษาการขยายงานเขียนของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษนี้ได้เป็นอย่างดี

การมาเป็นแม่งานและบรรณาธิการของหนังสือชุดเรื่องสั้นมูราคามิ นำทั้งความสุขและความทุกข์มาให้ดิฉัน(แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว ความสุขย่อมมีมากกว่าแน่นอน) สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคือการรวบรวมผู้ที่หลงใหลในงานมูราคามิ บางท่านก็เคยแปลงานของมูราคามิมาแล้ว บางท่านก็เป็นแฟนคลับตัวยงของมูราคามิ สิ่งหนึ่งที่ดิฉันพบคือการได้พูดคุยกับผู้ที่หลงรักมูราคามิด้วยกัน นั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
บรรณาธิการเล่ม
http://a-wild-sheep-chase.bloggang.com

>> ลองอ่านตัวอย่าง

>> คลิกไปติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือชุด "แฟนมูราคามิรวมหัว"

Mar 6, 2009

อยู่ข้าง "ไข่" เสมอมาและเสมอไป (Always on the side of the egg)


โดย ฮารูกิ มูราคามิ

ผมมาที่กรุงเยรูซาเล็มวันนี้ในฐานะนักประพันธ์ หรือจะเรียกว่านักปั้นน้ำเป็นตัวมืออาชีพก็ว่าได้

จริงอยู่ที่ว่านักประพันธ์ไม่ได้เป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่แต่งเรื่องต่างๆ นักการเมืองก็ทำอย่างนั้นเช่นกันอย่างที่เรารู้ๆ กันนั่นแหละครับ นักการทูตและนายทหารต่างก็สร้างเรื่องในบางโอกาสเหมือนๆ กับเซลล์แมนขายรถยนต์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดและผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่การโกหกของนักประพันธ์แตกต่างจากการโกหกของคนกลุ่มอื่นๆ เพราะไม่มีใครค่อนแคะว่านักประพันธ์ทำผิดศีลธรรมที่สร้างเรื่องเหล่านั้น อันที่จริงแล้ว ยิ่งเขาแต่งเรื่องโกหกได้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ไร้สาระและแนบเนียนเพียงใด เขาก็ยิ่งได้รับคำชมจากประชาชนและนักวิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น แล้วทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ

คำตอบของผมก็คือ ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่าการโกหกอย่างมีทักษะ –หรือจะเรียกว่าการแต่งนวนิยายที่สมจริงนั้น- นักประพันธ์ต้องสามารถดึงความจริงมาจำลองในสถานการณ์ใหม่และส่องแสงไป ณ จุดนั้น ในหลายๆ กรณี มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดึงความจริงออกมาและโยงไปยังต้นเรื่องเดิมได้อย่างถูกต้อง นั่นคือสาเหตุที่เราพยายามดึงบางส่วนโดยอำพรางความจริงที่ซ่อนอยู่ แปรเรื่องจริงไปยังสถานการณ์สมมุติ และแทนที่ด้วยรูปแบบในจินตนาการ แต่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องรู้กระจ่างในความจริงนั้นซะก่อน และนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการสร้างเรื่องโกหกชั้นดี

แต่วันนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะแต่งเรื่องนะครับ ผมพยายามจะซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีไม่กี่วันในหนึ่งปีที่ผมไม่ต้องเล่าเรื่องโกหก และวันนี้ก็เป็นหนึ่งในวันเหล่านั้น

งั้นก็ให้ผมเล่าความจริงเถอะครับ คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่แนะนำไม่ให้ผมมารับรางวัลเยรูซาเล็ม บางคนถึงกับเตือนผมว่าอาจมีคนจุดชนวนให้มีการต่อต้านหนังสือของผมถ้าผมมาที่นี่

แน่นอนว่าเหตุของเรื่องนี้ก็คือสงครามดุเดือดที่ทวีความรุนแรงในกาซ่า องค์การสหประชาชาติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่าพันคนที่ฉนวนกาซ่า คนจำนวนมากที่เสียชีวิตเป็นคนที่ไร้อาวุธ –เด็กและคนแก่

ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่ผมได้รับแจ้งเกี่ยวกับรางวัลนี้ ผมถามตัวเองว่าการเดินทางมาอิสราเอลในช่วงเวลาเช่นนี้และการมารับรางวัลด้านวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ว่ามันจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ว่าผมสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ ว่าผมยอมรับนโยบายของประเทศที่ใช้กำลังอันเหลือล้นทางการทหาร และนี่เป็นภาพที่ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม ผมไม่สนับสนุนชาติใดๆ และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่าผมไม่ต้องการพบว่ามีการต่อต้านหนังสือของผม

อย่างไรก็ดีหลังจากที่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจมาที่นี่ เหตุผลหนึ่งของการตัดสินใจนี้ก็เพราะมีคนมากเหลือเกินแนะนำไม่ให้ผมมา บางทีอาจเป็นเพราะผมซึ่งก็เหมือนกับนักประพันธ์คนอื่นๆ ที่จะทำอะไรตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนบอกให้ทำ ถ้ามีคนบอกผม –และยิ่งถ้าเตือนผม – “อย่าไปที่นั่น”, “อย่างทำอย่างนั้น” ผมก็จะ “ไปที่นั่น”, “ทำอย่างนั้น” นั่นคือตัวตนของผมหรือคุณจะพูดว่าในฐานะของนักประพันธ์ก็ได้ นักประพันธ์เป็นคนสายพันธุ์พิเศษ พวกเขาไม่สามารถเชื่ออะไรจริงๆ ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองหรือได้สัมผัสด้วยมือทั้งสองข้าง

และนั่นคือเหตุผลที่ผมอยู่ที่นี่ ผมเลือกมาที่นี่แทนที่จะอยู่ที่อื่น ผมเลือกที่จะมาดูเพื่อตัวผมเองแทนที่จะไม่ดู ผมเลือกที่จะพูดกับท่านทั้งหลายแทนที่จะไม่พูดอะไรเลย

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าผมอยู่ตรงนี้เพื่อนำเสนอสารทางการเมืองนะครับ การตัดสินความถูกผิดเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของนักประพันธ์อยู่แล้ว

มันแล้วแต่วิธีการของนักเขียนแต่ละคนที่จะใช้รูปแบบใดในการส่งผ่านการตัดสินเหล่านั้นให้คนอื่นๆ ตัวผมเองพอใจที่จะปรับแปลงมันเป็นเรื่องราว –เรื่องที่ค่อนไปทางเรื่องกึ่งฝันแปลกพิสดาร และนี่ก็เป็นเหตุที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะเสนอสารทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ดี ได้โปรดอนุญาตให้ผมได้ส่งสารที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ข้อความหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผมเก็บไว้ในใจตลอดเวลาที่กำลังเขียนนวนิยาย ผมไม่เคยไปไกลขนาดเขียนลงกระดาษและติดที่กำแพง แต่กลับสลักไว้ที่กำแพงในใจผม ข้อความอะไรทำนองนี้นะครับ

“ระหว่างกำแพงสูงแกร่งกับไข่ที่แตกเมื่อตกกระทบ ผมจะขอยืนหยัดอยู่ข้างเดียวกับไข่ใบนั้นเสมอมาและเสมอไป”

ถูกต้องแล้วครับ ไม่ว่ากำแพงจะถูกและไข่จะผิดอย่างไร ผมจะอยู่ข้างเดียวกับไข่ บางคนอาจจะต้องตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด บางครั้งเวลาหรือประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้ามีนักประพันธ์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเขียนงานที่อยู่ข้างเดียวกันกับกำแพง งานเหล่านั้นจะมีคุณค่ารึ

ถ้อยความเปรียบเทียบนี้หมายถึงอะไร บางกรณีมันก็ง่ายและชัดเจนจนเกินไปด้วยซ้ำ คนวางระเบิด รถถัง จรวด ระเบิดฟอสฟอรัสขาว*คือ กำแพงสูง แกร่ง ไข่ คือ พลเรือนไร้อาวุธที่พวกนั้นบดขยี้ เผาและยิงทิ้ง นี่เป็นความหมายหนึ่งของคำเปรียบเทียบนี้

แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้นนะครับ มันมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่ว่าไว้ ลองคิดในแง่นี้ดู พวกเราแต่ละคนก็คือไข่ดีๆ นี่เอง เรามีลักษณะเฉพาะตัว มีจิตวิญญาณที่ไม่สามารถแทนที่ได้ใต้เปลือกอันบอบบาง มันเป็นเรื่องจริงสำหรับผมและท่านทั้งหลาย และเราก็กำลังเผชิญหน้ากับกำแพงสูงแกร่งไม่มากก็น้อย กำแพงนี้มีชื่อว่า “ระบบ” “ระบบ” ควรจะปกป้องพวกเรา แต่บางครั้งมันก็มีชีวิตของมันเองและเริ่มสังหารพวกเราและทำให้เราสังหารคนอื่นๆ อย่างเยือกเย็น อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นระบบ

ผมมีเหตุผลข้อเดียวที่เขียนนวนิยาย และนั่นคือการยกศักดิ์ศรีของแต่ละจิตวิญญาณขึ้นมาและส่องแสงไปยังจิตเหล่านั้น จุดมุ่งหมายของนวนิยายเรื่องหนึ่งก็เพื่อปลุก เพื่อฉายแสงไปที่ “ระบบ” เพื่อป้องกันเครือข่ายของมันมาบิดเบือนจิตวิญญาณของพวกเราและทำให้จิตเหล่านั้นต่ำลง ผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า หน้าที่ของนักประพันธ์คือต้องพยายามอธิบายความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละดวงจิตโดยการแต่งเรื่อง –เรื่องความเป็นความตาย เรื่องรักใคร่ เรื่องที่ทำให้คนร้องไห้ สั่นสะท้านด้วยความกลัวและสั่นโยกด้วยเสียงหัวเราะ นี่คือเหตุที่พวกเราปรุงแต่งนิยายวันแล้ววันเล่าด้วยความจริงจังเต็มเปี่ยม

พ่อของผมเสียชีวิตตอนอายุ 90 เมื่อปีที่แล้ว พ่อเคยเป็นครูและเป็นนักเทศน์ของศาสนาพุทธแบบไม่เต็มเวลา เขาโดนเกณฑ์ทหารและถูกส่งไปรบที่เมืองจีนช่วงที่เรียนปริญญาโท การที่ผมเป็นลูกที่เกิดหลังสงครามทำให้ผมเห็นภาพพ่อสวดมนต์ยืดยาวหลังอาหารทุกเช้าด้วยศรัทธาอย่างลึกซึ้งที่โต๊ะหมู่บูชาในบ้าน ผมเคยถามพ่อครั้งนึงว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น พ่อตอบผมว่าพ่อสวดให้คนที่ตายในสงคราม

พ่อบอกว่าสวดให้ทุกๆ ชีวิตที่เสียไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายศัตรู เวลาที่จ้องหลังพ่อขณะสวดมนต์หน้าพระพุทธรูป ผมรู้สึกถึงเงามรณะที่ลอยละล่องรอบๆ ตัวพ่อของผม

พ่อของผมตายและเขาก็นำพาความทรงจำเหล่านั้นไปด้วย ความทรงจำที่ผมไม่เคยล่วงรู้ แต่บรรยากาศของความตายที่หลอนหลอกเกี่ยวกับพ่อยังคงตราตรึงในความทรงจำของผม นั่นเป็นสิ่งเดียวในไม่กี่สิ่งที่ผมได้รับจากพ่อและมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผมมีเพียงสิ่งเดียวที่อยากจะส่งผ่านให้ท่านทั้งหลายในวันนี้ พวกเราเป็นมนุษย์ เป็นปัจเจกบุคคลข้ามผ่านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และศาสนา เป็นไข่อันบอบบางที่กำลังเผชิญกับกำแพงแกร่งที่ชื่อว่า “ระบบ” อย่างที่ปรากฎอยู่นี้เราไม่มีความหวังใดๆ เลยสำหรับชัยชนะ กำแพงทั้งสูง แข็งแกร่ง – และเยือกเย็นจนเกินไป ถ้าเราจะมีความหวังใดๆ สำหรับชัยชนะ มันคงต้องมาจากความเชื่อของพวกเราในจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถทดแทนได้อย่างที่สุดของเราและจิตวิญญาณดวงอื่นๆ รวมไปถึงจากอุ่นไอที่เราได้รับจากการเชื่อมประสานจิตวิญญาณหลายๆ ดวงเข้าด้วยกัน

ลองใช้เวลาสักนิดพิจารณาเรื่องนี้เถอะครับ พวกเราแต่ละคนมีจิตที่มีชีวิตและสัมผัสได้ “ระบบ” ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราต้องไม่ยอมให้ “ระบบ” หลอกใช้เรา เราต้องไม่ยอมให้ “ระบบ” มีชีวิตของมันเอง “ระบบ” ไม่ได้สร้างเราขึ้นมา เราต่างหากที่เป็นผู้สร้างมัน

นี่คือทั้งหมดที่ผมต้องการพูดกับทุกท่าน

ผมยินดีที่ได้รับรางวัลเยรูซาเล็ม ผมยินดีที่หนังสือของผมได้รับการอ่านโดยคนจากแหล่งต่างๆ มากมายทั่วโลก และผมดีใจที่มีโอกาสได้พูดกับทุกท่านที่นี่ วันนี้

+++
*white phosphorus shells กองทัพอิสราเอลเรียกว่า ควันระเบิด exploding smoke เป็นอาวุธใหม่ล่าสุดที่คิดค้นขึ้นโดยชาวอิสราเอล
+++
** แปลจากสุนทรพจน์ของฮารูกิ มูราคามิ ตอนที่รับรางวัลเยรูซาเล็ม ดังปรากฏใน http://www.haaretz.com/hasen/spages/1064909.html (17/02/2009)

** รูปฮารูกิ มูราคามิและประธานาธิบดีอิสราเอล จาก http://www.guardian.co.uk/books/2009/feb/16/haruki-murakami-jerusalem-prize

Mar 3, 2009

สัมภาษณ์มาร์จอเน่ ซาทราพิ ผู้เขียน "เย็บถากปากร้าย"

การ์ตูนเรื่อง "Broderies" (Embroideries ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และ "เย็บถากปากร้าย" ในภาคภาษาไทย)ผลงานของมาร์จอเน่ ซาทราพิ เป็นจดหมายรักที่ตลกลามก เป็นงานที่มีขอบข่ายเล็กกว่า เป็นส่วนตัวมากกว่า แพร์ซโพลิส ๑ และ ๒

ย้อนกลับสู่ประเทศอิหร่านบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เรื่องราวเกิดขึ้นในยามบ่ายอันยาวนานวันหนึ่ง ซึ่งญาติๆ ฝ่ายหญิงของเธอกับเพื่อนๆ มาล้อมวงดื่มชาและพูดคุยกันในหัวข้อโปรด - เซ็กซ์

"เย็บถากปากร้าย" เป็นหนังสือการ์ตูนติดเรทที่มีคุณยาย คุณแม่และหลานๆ มาพูดคุยกันเกี่ยวกับการทำสาว ข้อดีของการเป็นเมียน้อยและคำถามเรื่องคุณค่าด้านความงามของอวัยวะเพศชาย ซาทราพิเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการตอบโต้ของบรรดาหญิงผู้มีจิตใจมุ่งมั่น ทั้งที่แอบกระทำอยู่ลับๆ และทั้งการขบถอย่างเปิดเผย เพื่อต้านประเพณีและชายกักฬละ

Noy Thrupkaew สัมภาษณ์ผู้เขียนผ่านโทรศัพท์ และถอดความไว้ที่เว็บ www.nerve.com เนื่องในโอกาสที่เราเพิ่งออกหนังสือเล่มนี้มาสดๆ ร้อนๆ กำมะหยี่จึงนำแปลมาฝากแฟนๆ นักอ่านชาวไทย เพื่อจะได้รู้จักกับความรู้สึกของผู้เขียนเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ และเรื่องพรรณนั้นในความคิดของเธอมากขึ้นค่ะ

ที่มาที่ไปของ "เย็บถากปากร้าย" เป็นอย่างไร

เย็บถากปากร้าย ออกวางแผงที่อเมริกา (และที่เมืองไทย) หลัง แพร์ซโพลิส ๑ และ ๒ แต่ฉันออกการ์ตูนเล่มนี้ที่ฝรั่งเศสคั่นระหว่างสองเล่มนั้น แพร์ซโพลิส เป็นเรื่องราวหนักๆ ฉันต้องทบทวนความทรงจำที่ไม่ค่อยจะน่าพิสมัยต่างๆ และมีความตั้งใจจะเล่าถึงประเทศของฉัน เพราะมีความเข้าใจผิดมากมาย ดังนั้นฉันจึงต้องการช่วงเวลาสำราญ เพื่อความสำราญล้วนๆ เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับยามบ่ายที่ฉันเคยใช้ร่วมกับผู้หญิงต่างรุ่นออกมา ฉันชอบเรื่องที่ผู้หญิงเหล่านั้นเล่าให้ฟังมาก ไม่รู้หรอกว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ได้สำคัญอะไร พวกเธอทำให้ฉันหัวเราะสนุกสนานเสียจนอยากจะเล่าต่อ

การที่ผู้หญิงใช้ประโยชน์จากการกีดกันทางเพศในอิหร่าน ซึ่งจริงๆ แล้วมักจะกดขี่ผู้หญิง ในการสร้างพื้นที่ที่ทรงอำนาจและเป็นส่วนตัวสำหรับตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

มันเป็นอย่างนั้นมาตลอดล่ะค่ะ แม้แต่ก่อนการปฏิวัติอิสลาม เราเป็นประเทศที่อนุรักษ์นิยมมากมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาที่มีประเพณีที่เคร่งครัดขนาดนั้น การมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างสุดขั้นเป็นเรื่องธรรมดา ในสังคมแบบนั้น การพูดคุยระหว่างผู้หญิงเป็นพื้นที่แห่งอิสระเสรีภาพ เรื่องราวที่คุยกันไม่ได้นำเสนอมุมที่ใครๆ ชอบคิดกับเกี่ยวกับผู้หญิง เช่นว่า โอพระเจ้าช่วย พวกเธอต้องทนทรมานกันเหลือเกิน พวกเธอไม่ได้เป็นเหยื่อหรอกค่ะ และฉันคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ฉันเกลียดภาพแบบนั้น แม้แต่ในวันที่เลวร้ายที่สุดในช่วงปฏิวัติอิสลาม ฉันไม่เคยมองตัวเองเป็นเหยื่อ เรามีืทางเลือกที่จะทำอย่างอื่น สามารถทำอะไรอย่างอื่นในชีวิตควบคู่กันไปได้เสมอ

ชีวิตคู่ขนานที่ว่าดูเหมือนจะเป็นการพูดคุยช่วงเวลาน้ำชาเช่นนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลก ผู้หญิงจะจับกลุ่มกันคุยเรื่องเซ็กซ์

ถูกต้องค่ะ ผู้ชายก็เหมือนกัน แต่ผู้หญิงจะลงลึกถึงรายละเอียดมากกว่า ผู้หญิงจะเล่าในทุกแง่ทุกมุม ทุกกระเบียดนิ้ว

จริงด้วย อย่างในหนังสือของคุณ พวกเธอพูดกันกระทั่งว่าอวัยวะเพศชายนั้นน่าเกลียด แล้วคุณล่ะคิดยังไงเกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย ในฐานะที่เป็นศิลปิน

มันก็ไม่เห็นจะพิเศษตรงไหน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายน่าวาดมากกว่า อวัยวะเพศชายไม่ขึ้นกล้อง ฉันว่า (หัวเราะ)

แล้วส่วนไหนของร่างกายที่ขึ้นกล้องกว่า

ฉันชอบหน้าอก ไหล่ คอ ส่วนที่ต่อขึ้นไปถึงหัว จริงๆ แล้วก้นสวยๆ ก็ไม่เลว แล้วก็ความต่อเนื่องของขา ความต่อเนื่องของลูกอัณฑะก็ไม่เท่าไหร่ หลังจากนั้นมีรูๆ นึง แล้วก็ไอ้ส่วนที่ห้อยๆ นั่น (หัวเราะ)

คุณเคยวาดก้นสวยๆ ที่โรงเรียนมั้ย

เคยสิคะ ที่โรงเรียนมีก้นเยอะเลย แต่ไม่ใช่โรงเรียนในอิหร่านหรอก ตอนที่ฉันไปโรงเรียนที่ฝรั่งเศส เราได้วาดรูปเปลือย แต่เวลาวาดรูป เราจะกลายเป็นเหมือนกับหมอ เรื่องพวกนี้ไม่มีนัยยะทางเพศหลงเหลืออีกต่อไป สิ่งที่อยู่ในหัวคือเรื่องของรูปร่างและอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย

ถ้าคุณมีความรู้สึกเหมือนการตัดขาดแบบนั้น แล้วคุณจะวาดรูปที่มีความเย้ายวนเร้าอารมณ์ทางเพศได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว ฉันไม่เคยวาดอะไรที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ยกเว้นรูปๆ หนึ่งที่ฉันวาดในหนังสือเล่มล่าสุด ฉันออกจะเป็นคนขี้อายในเรื่องแบบนี้ สำหรับฉัน คำพูดก็เหมือนกับอากาศธาตุ ฉันพูด จู๋จู๋จู๋ ได้โดยไม่กระดากปาก แต่เวลาวาดรูป มันจะเกิดเป็นตัวตนจับต้องได้มากกว่า การพูดเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฉันเติบโตมากับการเลี้ยงดูของยายที่คำพวกนี้เป็นคำธรรมดาสามัญเหมือนสวัสดี - ลาก่อน ถึงแม้ท่านจะไม่เคยอ่านทฤษฎีของฟรอยด์ แต่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เพราะอย่างนี้ ยายของฉันจึงเป็นตัวละครศูนย์กลางของเรื่อง ท่านเป็นคนที่ชอบเรื่องพรรณนี้ที่สุด ตอนนั้นท่านอายุประมาณเจ็ดสิบแปด และเป็นคนที่หัวเราะมากที่สุด ฉันต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงทุกวัยสนใจเรื่องเซ็กซ์ ต่างจากในยุโรปที่ผู้คนสนใจเรื่องเพศแค่เพียงถึงอายุสี่สิบห้า หลังจากนั้นการพูดเรื่องเพศกับคนแก่แทบจะเป็นเหมือนการทำบาป

ทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น

ในสังคมตะวันตก ผู้คนไม่ต้องการเผชิญหน้ากับเรื่องการตาย สังคมนั้นไฮเทคมาก - เราจึงไม่ควรตาย แต่เราก็ยังตายกัน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องการเห็นกระบวนการที่นำไปสู่การตายและความเจ็บปวดก่อนจะถึงจุดนั้น พวกเขาส่งคนแก่ไปอยู่บ้านคนชรา พอเข้าไปแล้วก็หายสาบสูญไปเลย ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมตะวันตก ไหนจะเรื่องการผ่าตัดเสริมความงามทั้งหลายแหล่ ทุกคนอยากจะดูหนุ่มสาว ฉันล่ะสะอิดสะเอียนจริงๆ การไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังแก่เป็นการไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังจะตาย ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมนุษย์

ส่วนพวกคนหนุ่มสาว ตามรายงานข่าวต่างๆ มักจะพูดถึงวัยรุ่นที่ก่ออาชญากรรม สังคมที่กลัววัยรุ่นและทอดทิ้งคนแก่เป็นสังคมที่ไม่ต้องการมองย้อนกลับไปดูอดีตและกลัวอนาคต ทุกๆ สองวินาที เราจะได้ยินว่า ถ้าเราไม่ร่วมรักกับสามีหรือแฟนห้าครั้งต่ออาทิตย์ ถือว่าจบเห่ แต่พออายุมากในระดับหนึ่ง มันกลายเป็นเรื่องวิตถาร คนเรามีความต้องการทางเพศกันทั้งนั้นล่ะ แน่ล่ะว่าคุณไม่สามารถร่วมรักได้เหมือนเมื่อก่อนเวลาที่คุณอายุหกสิบหรือเจ็ดสิบ แต่คุณก็ยังไม่ได้ตายเสียหน่อย


การร่วมเพศในหมู่คนแก่เป็นที่่ยอมรับมากกว่าในอิหร่านอย่างนั้นหรือ

ในอิหร่าน เซ็กซ์ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเลวร้าย ผู้หญิงสามารถบ่นได้ถ้าผู้ชายไม่ทำให้เธอมีความสุข ถ้าคุณได้อ่านพันหนึ่งราตรีฉบับดั้งเดิม คุณจะเห็นว่ามีการเอากันทั้งเล่ม ฉันหมายถึงมันก็ยังมีหัวขโมยกับพรมเหาะและอะไรอื่นๆ อยู่นั่นแหละ แต่โดยพื้นฐานแล้วมันมีเซ็กซ์อยู่เต็มไปหมด

ผู้คนคงแปลกใจที่ได้ยินว่าอิหร่านอาจจะเป็นประเทศที่มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ในอิหร่าน คุณไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์เพื่อซื้อยาคุม และมันราคาถูกมาก ความคิดเรื่องการทำแท้งไม่ได้เป็นความรู้สึกผิดเสียเท่าไหร่ แม้ว่ากฎหมายจะไม่อนุญาตให้ทำ เพื่อนของแม่ฉันทุกคนเคยทำแท้ง เพื่อนฉันหลายคนก็เคยทำ

จะอย่างไรก็เห็นได้ชัดในหนังสือของคุณว่าทางเลือกและความสุขสมของผู้หญิงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการควบคุมเรื่องเพศของรัฐบาล

ใช่แล้วค่ะ วันที่เราพูดได้ว่าเราเป็นชาติศิวิไลคือวันที่ผู้หญิงสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศเหมือนพวกพวกผู้ชาย หากคนเราสามารถได้รับความพึงพอใจดุจเดียวกัน เราจะสามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดในระดับเดียวกันได้เช่นกัน

หนังสือของคุณมีลักษณะเป็นสากล แต่ก็มีการผสานพื้นฐานสังคมของอิหร่านกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศในประเทศเอาไว้ด้วย ไม่ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในอุดมคติของอิหร่านเป็นอย่างไร

มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วค่ะ เมื่อยี่สิบปีก่อน ไม่เคยมีใครคิดว่าหญิงสาวจะอยู่ตัวคนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่หรือแฟนได้ แต่ตอนนี้ ฉันรู้จักคนที่ทำอย่างนั้น สองในสามของนักศึกษาอิหร่านเป็นผู้หญิง นั่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อก่อนผู้หญิงจะไม่ได้รับการศึกษา ผู้หญิงมีสิทธิทุกอย่าง แต่คุณจะใช้สิทธิได้ยังไงถ้าคุณต้องอยู่กับผู้ชายคนเดิมสิบห้าปีและไม่มีการศึกษา ไม่มีงานทำ ต้องอยู่กับคนที่ไม่อยากอยู่ด้วยเพราะต้องใช้เงินของเขา แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงมีการศึกษาและมีงานทำ และภายในยี่สิบปี เมื่อกฎหมายเปลี่ยน ไม่เพียงแต่เราจะมีกฎหมายใหม่แต่เราจะสามารถใช้มันได้ เพราะเรามีทุกอย่างที่เราต้องมีไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพหรือการศึกษา สำหรับฉันการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญทั้งในเรื่องเซ็กซ์ เรื่องความคิดความอ่านและด้านอาชีพการงาน

แต่ดูเหมือนผู้หญิงในหนังสือของคุณก็ให้ความสำคัญเรื่องความสวยความงามเพื่อดึงดูดใจเหมือนกัน

แน่ล่ะค่ะ ฉันก็ด้วย พระเจ้ามอบหน้าอกสวยๆ ให้ฉันโชว์ ฉันจึงเด่นสะดุดตา ไม่อย่างนั้นพระเจ้าจะให้ฉันมาทำไม ผู้ชายทุกคนชอบมอง และส่วนตัวฉันเอง ฉันก็ชอบมองก้นสวยๆ ขอผู้ชาย ก้นงามๆ ดูแล้วน่ารักดีจะตายไม่ใช่เหรอ พระเจ้าสร้างมันขึ้นมา และพระเจ้ามอบดวงตาให้ฉัน ฉันก็มองสิ (หัวเราะ) ดีออก


เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขอบคุณนะมาร์จอเน่

ขอบคุณเช่นกันค่ะ รู้มั้ย การพูดคุยเกี่ยวกับเซ็กซ์และน้องจิ๋มน่ะเป็นความสำราญของฉันเสมอ

เย็บถากปากร้าย


ผู้แต่ง: มาร์จอเน่ ซาทราพิ
ผู้แปล: ณัฐพัดชา
จัดพิมพ์ครั้งที่: 1 (กุมภาพันธ์ 52)
จำนวนหน้า: 136 หน้า
ราคา: 155 บาท

มาร์จอเน่ ซาทราพิ เจ้าของผลงานการ์ตูนเลื่องชื่อ "แพร์ซโพลิส" ถ่ายทอดเรื่องราวความหลังของคนคุ้นเคยที่มาคลายความอัดอั้นตันใจต่อความ สัมพันธ์กับผู้ชายในชีวิต ทั้งเรื่องเร้นลับ ขำทะลึ่ง จนถึงสลดเศร้า

จากบทสนทนายามบ่ายของสาวต่างวัยชาวอิหร่านผู้ ล้อมวงนั่งจิบชา "พูดคุย" กัน อันเป็นความสุขแสนหฤหรรย์ดั่งที่คุณยายของเธอกล่าวไว้ว่า "การพูดคุยลับหลังคนอื่นเป็นการระบายอากาศให้หัวใจ"



จากใจกำมะหยี่ :


เหตุผลที่พลพรรคสำนักพิมพ์ กำมะหยี่ตัดสินใจตีพิมพ์ “เย็บถากปากร้าย” สานต่อผลงานของมาร์จอเน่ ซาทราพิ หลังจากออก แพร์ซโพลิส การ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกให้กับเธอ คือ ความแตกต่าง

เหตุผลข้อนี้เคยใช้มาแล้วในแพร์ซโพลิส ๑ ใครที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่สามารถหยิบมาเปิดดูได้เลย

แต่ความแตกต่างของหนังสือเล่มนี้ไม่ เหมือนกับความแตกต่างของสังคมไทยกับสังคมอิหร่าน หรือความแตกต่างของสาวน้อยมาร์จี้ผู้ไม่เหมือนใคร ที่เราชื่นชอบและภูมิใจนำเสนอในแพร์ซโพลิส ความแตกต่างของ “เย็บถากปากร้าย” เป็นความแตกต่างที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่านั้น เป็นความแตกต่างที่ดูเผินๆ คล้ายจะแตกต่าง แต่พิจารณาดีๆ แล้วกลับคลับคล้ายอย่างแยบยล


เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่อง ชีวิตครอบครัว เรื่องรัก-ใคร่ เรื่องเล่าลับหลัง เรื่องสารภาพ ในวง “สนทนินทา” ของผู้หญิงอิหร่านกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ นิสัยและบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่ออ่านจบและทบทวนสักนิด ท่านจะเห็นได้ว่าชีวิตลูกผู้หญิงชาวอิหร่านที่ต้องสวมฮิญาบออกจากบ้านและถูก ห้ามวิ่งบนถนนเนื่องจากบั้นท้ายจะส่ายเป็นการยั่วยุทางเพศนั้น ถึงแม้จะมีการถ่ายทอดอย่างชาญฉลาด เฉียบคม แสบสันต์ สนุกสนาน เคลือบอยู่บนผิวหน้า แต่เนื้อหาลึกๆ ลงไปเป็นชีวิตที่ไม่ห่างไกลจากชะตากรรมของผู้หญิงไทยในบ้านเราสักเท่าไหร่ เลย


เขาว่ากันว่า:

"ตลกและลามก . . . ภาพชวนหัวของกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ชีวิตมุ่งไปข้างหน้า —เดอะ วิลเลจ วอยซ์

"สนุก ดื้อด้าน ดันดึงและน่าทึ่ง อย่างเช่นการ์ตูนที่เดินเรื่องด้วยบทสนทนาดีๆ ควรจะเป็น — ไทม์.คอม

>>> ลองอ่านตัวอย่าง

Feb 24, 2009

10เดซิเบล เผยตัว

ชายผู้ได้ยินเสียงใบไม้ร่วง
เรื่อง: วิภว์ บูรพาเดชะ
ตีพิมพ์ในนิตยสาร Happening! ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552

มองจากภายนอก เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะระบุอาชีพของหนุ่มคนนี้ ด้วยท่วงทีที่คล้ายศิลปินแต่บางขณะก็ดูคล้ายนักธุรกิจ และด้วยท่าทางที่เปิดเผยเป็นกันเองแต่บางขณะก็ดูลึกลับซับซ้อน

เขาคือนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า 10 เดซิเบล ...เขาอนุญาตให้เราแนะนำชื่อได้เท่านี้ ชื่อจริง นามสกุลจริงขอสงวนเอาไว้ก่อน แถมยังไม่ยอมให้เราถ่ายภาพแบบเห็นชัดๆ อีกต่างหาก

แต่ถ้าให้แนะนำมากกว่านี้สักหน่อย ต้องบอกว่าเขาเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ไฟแรงที่สุดของยุคนี้ เพราะในเวลาปีกว่าๆ เขาออกหนังสือรวมเรื่องสั้นมาแล้ว 4 เล่ม คือ คณิตศาสตร์ รส., เด็กหญิงมุกประดับ, 18+, รักหมายเลข 0 และเขายังเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ สำนักพิมพ์หนึ่ง ร่วมกับ กิตติพล สรัคคานนท์ ซึ่งมีหนังสือรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนไทยร่วมสมัยชื่อปกว่า เสียงเล่าเรื่องจากเครื่องฉาย ออกมาให้เราอ่านกันด้วย

“คือเมื่อก่อนบ้านผมไม่ค่อยมีตังค์ ผมเลยมาคิดว่า ทำยังไงให้เรามี ก็คือต้องเรียนหนังสือให้เก่ง การเรียนหนังสือให้เก่งอันดับแรกก็ต้องเอาชนะคณิตศาสตร์ให้ได้ก่อน ถ้าอ่านตำราคณิตศาสตร์แล้วเข้าใจได้ อย่างอื่นผมจะชนะได้หมด” เขาเล่าที่มาของการเป็นคนรักการอ่าน ซึ่งฟังดูแปลกๆ สักหน่อย แต่เขาก็เอาจริงด้านคณิตศาสตร์ถึงขนาดที่สามารถเป็นติวเตอร์สอนวิชานี้ได้เลยทีเดียว
พอเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ เขาเลือกทำอาชีพติวเตอร์ต่อเพราะรายได้ที่ดีมากๆ และช่วงนี้เองที่เขาเริ่มหันมาสนใจวรรณกรรมอย่างจริงจัง

“ที่อ่านแรกๆ รู้สึกจะเป็น เหยี่ยวเดือนเก้า ของโกวเล้ง ตอนนั้นอกหัก พออ่านไปสองเล่มแล้วโห น้ำตาไหลเลย เฮ้ย มันขนาดนั้นเลยเหรอวะ แล้วมีรุ่นพี่แนะนำให้อ่าน ฤทธิ์มีดสั้น กับ จอมดาบหิมะแดง แล้วก็มาอ่าน เดียวดายใต้เงาจันทร์ ผมก็เริ่มๆ อ่านวรรณกรรมอื่นๆ มาเรื่อย” นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายเป็นนักอ่านตัวยง และหันมาซื้อหนังสือไว้จนบ้านแทบจะกลายเป็นห้องสมุด


ชีวิตติวเตอร์ของเขาทำรายได้ไม่น้อย แต่ก็ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคงเท่าไหร่ ชายหนุ่มจึงหันไปทำธุรกิจอย่างอื่นต่ออีกหลายต่อหลายอย่าง แล้วชีวิตก็มักจะเป็นอย่างที่มันเป็น คือไม่มีใครคาดเดาได้ ในที่สุดธุรกิจชิ้นหลังสุดของเขาก็ถูกโกงเพราะความไว้ใจคนจนเกินไป เป็นผลให้เขาต้องรับหนี้มหาศาล และเป็นผลให้เขาตัดสินใจหนี!


“ตอนนั้นผมต้องอยู่ไม่เป็นที่ ผมก็เลยต้องการงานที่อยู่ที่ไหนก็ได้ นั่งอยู่ในห้องส้วม อยู่ในมุมมืด หรืออยู่กลางบึงหรือบนเรือในทะเลก็ทำได้ สามารถเลี้ยงตัวได้ ก็คิดง่ายๆ อย่างนี้ ผมก็เลยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าเขียนหนังสือนี่ล่ะ มันน่าจะเป็นคำตอบ” เขาเล่าแล้วหัวเราะขำ

ชายหนุ่มเริ่มเขียนงานแบบรหัสคดีโดยได้แรงบันดาลใจจากงานของ ฮาลาล โคเบน เพราะคิดว่าตัวเองก็น่าจะเขียนแบบนี้ได้ พอเขียนได้หนึ่งเล่มก็เอาไปเสนอสำนักพิมพ์ ปรากฏว่ายังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ได้รับชวนไปเขียนในนิตยสาร Free Form แทน เป็นการเริ่มเผยแพร่ตัวหนังสือของตัวเองออกสู่สาธารณะ จนเมื่อเขาได้รู้จักกับ อธิชา มัญชุนากร (กาบูล็อง) ที่เขียนในเล่มเดียวกัน เลยมีโอกาสได้ตีพิมพ์งานเรื่องสั้นชุด คณิตศาสตร์ รส.

“วันหนึ่งผมก็ไปอ่านเรื่องที่อาจารย์คนหนึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องคณิตศาสตร์ เอาทฤษฏีของ จอห์น แนช มาเขียนสรุป ผมก็คิดว่าผมเขียนได้วะ ผมบอกว่าผมจะเขียนเป็นเรื่องสั้นเลย จะอธิบายโดยไม่ใช้ภาษาวิชาการ จะมาใช้เรื่องสั้นในการอธิบาย ผมคงโชคดีเพราะเป็นตอนที่มิว (อธิชา) กำลังเบลอๆ อยู่มั้ง” เขาอำตัวเองแล้วหัวเราะ “เป็นช่วงที่มิวเขาเพิ่งเริ่มทำสำนักพิมพ์กำมะหยี่แล้วกำลังจะแต่งงานด้วย เขาเลยบอกว่าทำๆ ไปเลย” เขาหัวเราะขำ “ผมเขียนหนึ่งเดือนเสร็จ ก็ทำขาย แล้วเป็นหนังสือที่ไม่ขาดทุนนะ คงเป็นเพราะมีคนสนใจไอเดียเรื่องเอาคณิตศาสตร์มาเขียนเรื่องสั้น แล้วอีกส่วนอาจจะซื้อเพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นหนังสือเล่มใหม่ของ ปราบดา หยุ่น ที่มาออกแบบปกให้” เขาหัวเราะเสียงดัง


10 เดซิเบลบอกว่า ที่เขามีหนังสือได้ตีพิมพ์ออกมาหลายเล่มในเวลาไม่นาน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขามีโชคมากกว่า ไม่ใช่ว่าเก่งกาจอะไรหรอก แต่ถึงจะมีหนังสือออกมาหลายเล่มและขายได้ไม่ขาดทุนสักเล่ม เขาก็พบว่าความคิดที่จะหวังรวยจากการเขียนตั้งแต่แรกนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก

“ตอนแรกๆ ผมคิดไปไกลเลย เล่มหนึ่งขายสองร้อย ได้กำไรเล่มละยี่สิบกว่า พิมพ์สามพัน ได้เงินหกหมื่น คือตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องหนังสือเลย คิดอย่างเดียวว่าได้เงิน เห็นเรื่อง ผู้ชายเลวกว่าหมาฯ เขาขายดี” เขาหัวเราะอีก “เราก็เผื่อฟลุ้กไง คือไม่รู้หรอกว่าตลาดหนังสือจริงๆ มันโหดขนาดนี้” ชายหนุ่มหัวเราะปลงๆ แต่ก็พูดต่อถึงสิ่งที่เขาได้จากการเขียนหนังสือด้วยความภูมิใจ “ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นการบำบัดตัวเอง คือถ้าเราฟุ้งซ่านก็มาเขียนหนังสือ เหมือนคนทั่วไปถ้าฟุ้งซ่านก็มาเขียนสมุดบันทึก อย่างน้อยก็คุยกับตัวเอง คุยกับตัวเองนี่ดีกว่าคุยกับคนอื่นนะ ถามเองตอบเองก็จริง แต่ก็เป็นการทบทวนตัวเองด้วย ก็เอาความฟุ้งซ่านมาเป็นงาน”

กลับมาที่ประเด็นเรื่องความไฟแรงของเขาอีกที นอกจากจะเพิ่งเปิดร้านหนังสือของตัวเองที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ไปแล้ว เร็วๆ นี้เขายังจะมีรวมเรื่องสั้นออกมาอีก 2 เล่ม แล้วสำนักพิมพ์หนึ่งก็กำลังจะเปิดตัวหนังสือเรื่องสั้นอีก 3 เล่มเล็กๆ พร้อมกัน เห็นออกงานถี่อย่างนี้ เขาก็ยังยืนยันว่าตัวเองไม่ได้เขียนหนังสือทุกวัน



“คือเวลาผมเขียนผมจะเขียนทีละเล่มให้มันจบเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือทุกเล่มผมเขียนประมาณ 7 วันหมด ยังไม่มีงานชิ้นไหนที่ใช้เวลาเขียนยาวนาน เพียงแต่การเขียนหนังสือสำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าเราใช้ชีวิตอยู่ปีหนึ่งนี่ เพื่อที่จะเอามาเขียนหนังสือได้ยี่สิบหน้าเอสี่นะ บางทีประสบการณ์การรับรู้ที่ไปไหนมาไหนทั้งปี มันอาจได้กลับมาแค่ยี่สิบเอสี่ที่ผมนั่งเขียนอยู่ไม่กี่วันนี่เองก็ได้” ชายหนุ่มกล่าวสบายๆ

ห่างหายจากการทำธุรกิจไปนาน กลายเป็นนักเขียนที่ใช้ชีวิตไปๆ มาๆ อยู่ต่างจังหวัดหลายปี พอกลับมาในโลกธุรกิจอีกทีด้วยการเป็นเจ้าของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ วิธีคิดของชายหนุ่มคนนี้ในการมองโลกก็เปลี่ยนไปไม่น้อย

“ตอนแรกที่ทำหนังสือออกมา คิดว่าเท่าทุนก็โอเค แต่ตอนนี้หนักกว่านั้น ผมคุยกับเพื่อนที่ทำสำนักพิมพ์อยู่ด้วยกันว่า พิมพ์เล่มไหนผมถือว่าเล่มนั้นเจ๊งแล้ว” เขาหัวเราะ “จริงๆ นะ คือทำแล้วไม่ต้องไปคิดแล้ว เราจะไม่วางแผนว่าจะต้องไปโปรโมตที่ตรงนั้นตรงนี้ คือทำไป ถ้างานมันดีจริง วันหนึ่งมันก็มาเอง ถ้าไม่มาก็ช่างมัน คือสิ้นสุดตอนที่เราทำเสร็จ เรามีความสุข เรื่องหนี้สินอะไรพวกนี้ก็ต้องไปจัดการกัน อันนี้คือกรรม” เขาหัวเราะสนุก




ชีวิตพลิกผัน ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งกลายเป็นนักเขียน และเปลี่ยนความคิดที่มีต่อโลกไปมากมาย
อีกสิ่งหนึ่งที่เราบอกเกี่ยวกับตัวเขาได้ ก็คือวันนี้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไปจากสมัยที่เคยร่ำรวยมีเงินล้นกระเป๋าและทำงานโดยไม่มีวันหยุดแล้ว วันนี้ชีวิตของเขานิ่งขึ้น และมีเวลาคิด มองดู และฟังอะไรต่ออะไรมากขึ้น


ชายหนุ่มคนนี้มีเวลาได้ยินอะไรต่ออะไรที่เป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติของชีวิตมากขึ้น ขนาดที่ว่า นามปากกา ‘10 เดซิเบล’ ก็มีที่มาจากระดับความดังของเสียงใบไม้ร่วงนั่นไง

หลับฝันดี


ผู้แต่ง: 10เดซิเบล
จัดพิมพ์ครั้งที่: 1 (กุมภาพันธ์ 2552)
จำนวนหน้า: 168 หน้า
ราคา: 135 บาท


เรื่องราวความฝันอัน ‘ดิบ-ดี’
ปราศจากน้ำตาล ไม่ใส่สี ไม่ปรุงกลิ่น
คลุกเคล้าและบอกเล่าด้วยความสุข
ด้วยปรารถนาจะให้ผู้อ่าน
ฝันดีด้วยความรู้สึกเดียวกัน



บางถ้อยคำจากผู้เขียน

“หลับฝันดี” รวมเรื่องสั้นชุดนี้ไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้อ่านฉงนใจว่า ทำไมต้องตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ ไม่มีการซับซ้อนถึงที่มาของชื่อเรื่อง เพราะว่าผู้เขียนตั้งใจให้ผู้อ่านมีความสุขในขณะที่ได้อ่านงานชุดนี้ งานที่ควรอ่านก่อนนอนเพื่อที่จะมีหลับฝันดี นั่นคือประเด็นหลัก ส่วนประเด็นรองคือการที่ผู้เขียนให้เกียรติสถานที่ๆให้อารมณ์เขียนงานที่ดีแก่ผู้เขียน ผู้เขียนได้รับน้ำใจชั้นดีจากคุณปานเจ้าของเกสเฮาส์ที่ไม่คิดค่าบริการที่พัก แถมทำอาหารให้ทานอยู่บ่อยๆ อยู่เป็นเพื่อนดื่มเป็นนิจราวกับเป็นหน้าที่ และเรื่องบางเรื่องที่อยู่ในเรื่องสั้นชุดนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้มาจากการที่ผู้เขียนได้ร่วมวงดื่มกับคนแปลกหน้าผู้หนึ่งที่มากซึ่งไมตรี(เรื่องบริกรจากไอโอวา...ผู้เขียนนำมาปรับปรุงใหม่ตามแนวทางของผู้เขียน) เช่นนั้นผู้เขียนจึงขอตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ให้ตรงกับสถานที่พักที่ผู้เขียนได้อยู่อาศัย นั่นคือชื่อเกสต์เฮาส์ในเมืองปายที่ชื่อ “หลับฝันดี”



จากใจกำมะหยี่ :

กำมะหยี่ชวนฝัน

โลกแห่งความจริงมีปัจจัยหลายอย่างกำหนดไม่ให้เรา “ได้ เป็น และมี”อย่างใจปรารถนา ทำให้หลายคนอยากหลบลี้เข้าไปในโลกแห่งความฝันถึง แม้ฝันจะไม่ได้ทำให้เราสมใจไปทุกอย่าง บางค่ำคืน เราอาจเป็นได้แค่คนโชคร้ายที่ถูกมนุษย์ต่างดาวที่พกอาวุธรูปร่างคล้ายกล้วยจับไปรีดความลับ ตกอับอยู่ในภัตตาคารที่ไม่มีแม้แต่ไส้กรอกให้กิน เดินทางข้ามกาลเวลาสู่การตัดสินคดีแห่งอนาคตเมื่อผองสัตว์กลายเป็นมนุษย์ ขึ้นสังเวียนมวยเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของนักต่อสู้ และปฏิเสธความรักที่ลอยมาตรงหน้าเพราะความรู้สึกผิดที่กัดกินใจ

แต่ใครบอกล่ะว่าฝันที่ “ดี” ต้อง “สุข” และ “สมใจ” เพียงอย่างเดียว

หลับฝันดี เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นใหม่ล่าสุดของ 10เดซิเบลที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับฝีไม้ลายมือมาแล้วจากงานเขียนเรื่องสั้นขนาดยาวหลายเรื่องก่อนหน้านี้ ด้วยมุมมอง ลีลา และน้ำเสียงที่แตกต่างไปจากเรื่องราวที่ผ่านมา เราเชื่อว่าตัวละครสารพัดสีสันที่โลดเต้นอยู่ในหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้จักเขาในแง่มุมใหม่ผ่านตัวอักษรที่ร้อยเรียงขึ้นด้วยความหวัง การต่อสู้ ความดีงาม และรอยยิ้ม ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่ดี

ไม่ว่ายามตื่นหรือยามหลับ


>> คลิกไปอ่านตัวอย่าง