Oct 6, 2012

หนทางสัญจรระหว่างจิตวิญญาณ - ฮารูกิ มูราคามิ พูดถึงกรณีขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้าน

คุณมุทิตา พานิช แปลบทความที่ฮารูกิ มูราคามิเขียนถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องเกาะ  Senkaku / Diaoyu ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนที่ลุกลามใหญ่โต ที่ลงตีพิมพ์หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ของญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 55 มาฝากค่ะ  ต้องขอบคุณมากที่ช่วยให้เราได้อ่านสิ่งที่เฮียพูดถึงโดยตรงจากภาษาญี่ปุ่นนะคะ




(คำเตือน: บทความนี้เฮียมูเขียนให้เพื่อนร่วมชาติอ่าน << คำเตือนจากผู้แปล  แต่เราคิดว่าบทความนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกประเทศ  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังจะเปิดพรมแดนความร่วมมือกันอย่างในเอเชียอาคเนย์)

หนทางสัญจรระหว่างจิตวิญญาณ

ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะเซ็งกากุที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน ผมได้ข่าวว่าหนังสือของนักเขียนญี่ปุ่นหายไปจากร้านหนังสือหลายแห่งในประเทศจีน ในฐานะนักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ผมรู้สึกช็อคไม่น้อย นั่นเป็นการบอยคอตเชิงระบบที่รัฐบาลเป็นผู้นำหรือฝ่ายร้านหนังสือเก็บหนังสือเอง ผมยังไม่รู้ในรายละเอียด จึงยังไม่อยากแสดงความเห็นด้วยหรือคัดค้านในตอนนี้

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จที่น่ายินดีที่สุดอย่างหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือการก่อเกิด เขตวัฒนธรรมเฉพาะตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอย่างนี้ได้ น่าจะเป็นเพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งของจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน พอระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีรากฐานมั่นคง การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมก็เป็นไปได้ขึ้นมา ผลผลิตทางวัฒนธรรม (ทรัพย์สินทางปัญญา) หลายอย่างไปมาหาสู่ข้ามพรมแดนกันได้ มีการตั้งกฎร่วมกัน หนังสือแปลผีไม่ขอลิขสิทธิ์ที่เคยแพร่ระบาดในภูมิภาคนี้ค่อยๆ หายไป (หรือลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว) ค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้าและค่าลิขสิทธิ์ส่วนมากก็มีการจ่ายกันอย่างถูกต้อง


ตัวผมเองหากพูดจากประสบการณ์ก็ต้องบอกว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้หนทางช่างยาวไกลสภาพในสมัยก่อนมันแย่ถึงขนาดนั้น แย่ขนาดไหนคงไม่พูดถึงเป็นเรื่องเป็นราวตรงนี้ (เพราะไม่อยากให้ปัญหายิ่งยุ่งเหยิงกว่าที่เป็นอยู่) ช่วงหลังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นมาก เขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเติบโตในฐานะตลาดที่มั่นคงจนใกล้โตเต็มที่ แม้จะยังมีปัญหาปลีกย่อยเหลืออยู่บ้าง แต่ปัจจุบันในตลาดนั้นมีดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ แลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียมและเสรี ผู้คนจำนวนมากสามารถจับต้องและสนุกสนานกับสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นผลงานที่เยี่ยมยอดจริงๆ

ตัวอย่างเช่น พอละครทีวีเกาหลีฮิตขึ้นมา คนญี่ปุ่นก็รู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก คนเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  และจะเรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนก็คงได้ ตอนที่ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา ก็มีนักเรียนต่างชาติชาวเกาหลีใต้ ชาวจีนเข้ามาหาที่ออฟฟิศหลายคน พวกเขาตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือของผมอย่างน่าประหลาดใจ  เรามีเรื่องพูดคุยกันมากมาย

การจะทำให้เกิดสภาพน่าพึงพอใจดังกล่าว  ผู้คนมากมายทุ่มเททั้งกายใจมาเป็นเวลายาวนาน ผมเองซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคนหนึ่ง ถึงจะมีกำลังเพียงน้อยนิดแต่ก็พยายามมาโดยตลอด ผมหวังไว้ว่า หากการแลกเปลี่ยนอย่างมั่นคงอย่างนี้ดำเนินต่อเนื่องไป ปัญหาหลายอย่างที่ค้างคาระหว่างเรากับประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกจะค่อยๆ มุ่งไปสู่การคลี่คลายแน่ แม้อาจจะต้องใช้เวลานาน  การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมีจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือการทำให้เกิดความตระหนักรู้ที่ว่าแม้พูดกันคนละภาษา แต่พวกเราล้วนเป็นมนุษย์ที่แบ่งปันความรู้สึกและความประทับใจกันได้ว่าไปแล้วนี่คือหนทางให้จิตวิญญาณไปมาหาสู่กันโดยก้าวข้ามเรื่องพรมแดน

ในฐานะนักเขียนเอเชียคนหนึ่ง และคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ผมกลัวว่าปัญหาหมู่เกาะเซ็งกากุในครั้งนี้ หรือปัญหาหมู่เกาะทาเคชิมะ จะทำลายความสำเร็จที่ค่อยๆ สั่งสมมาทีละน้อยจนพังทลาย

ตราบใดที่เส้นแบ่งพรมแดนยังคงมีอยู่ ปัญหาเรื่องดินแดนก็จะยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถเดินหลีกผ่าน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่น่าจะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติ และคิดว่าต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขในทางปฏิบัติได้ หากปัญหาดินแดนก้าวล้ำเกินกว่าการเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ล่วงเข้ามาในเขตแดน ความรู้สึกของประชาชนแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดสภาวะอันตรายที่ไม่มีทางออกขึ้นบ่อยๆ เหมือนกับการเมาเหล้าสาเกราคาถูก  เหล้าราคาถูกดื่มแค่ไม่กี่แก้วก็เมา เลือดขึ้นหัว ส่งเสียงดังโวยวาย กิริยาหยาบคาย ตรรกะถูกย่นย่อ ทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา แต่หลังจากโวยวายเสียงดัง พอเช้าวันใหม่สิ่งที่เหลือก็มีแต่อาการปวดหัว

เราต้องระวังพวกนักการเมืองหรือนักปลุกระดมประเภทใจกว้างชอบแจกเหล้าถูกๆ ชอบกระพือเรื่องวุ่นวายเอาไว้ให้มาก ในยุคทศวรรษที่ 1930 การที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สร้างรากฐานอำนาจการเมืองได้อย่างเข้มแข็ง เป็นเพราะเขาวางนโยบายเอาคืนดินแดนที่เสียไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นหลัก สิ่งนั้นก่อให้เกิดผลเช่นไร พวกเราล้วนรู้ดี ปัญหาหมู่เกาะเซ็งกากุในครั้งนี้ คงต้องมีการตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้เรื่องล่วงเลยมาจนถึงขั้นรุนแรงในสภาพนี้กันอย่างสุขุมในภายหลังทั้งสองฝ่าย นักการเมืองและนักปลุกระดมแค่โหมกระพือผู้คนด้วยคำพูดทรงพลังแล้วก็จบหน้าที่แค่นั้น แต่คนที่ถูกทำร้ายได้บาดแผลจริงๆ คือมนุษย์แต่ละคนที่ต้องยืนอยู่ในที่เกิดเหตุ

ในนิยายเรื่อง “The Wind-up Bird Chronicle” ได้พูดถึง การสู้รบ Nomonhan” ระหว่างแมนจูกับมองโกลในปี 1939 เป็นการสู้รบสั้นๆ แต่ดุเดือดที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องเส้นแบ่งพรมแดน มีการต่อสู้รุนแรงระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารพันธมิตรมองโกล-โซเวียต สูญเสียชีวิตทหารทั้งสองฝ่ายรวมกันเกือบสองหมื่นนาย หลังเขียนจบผมไปเยี่ยมที่นั่น ยืนอยู่กลางทุ่งหญ้าเวิ้งว้าง ปลอกกระสุนและข้าวของของผู้เสียชีวิตยังกระจัดกระจาย ความสิ้นไร้พลังอย่างรุนแรงถาโถม ทำไมผู้คนต้องฆ่ากันอย่างไร้เหตุผลเพื่อผืนดินร้างแค่หยิบมืออย่างนี้

อย่างที่กล่าวในตอนต้น เรื่องที่หนังสือของนักเขียนญี่ปุ่นถูกเก็บออกจากร้านในประเทศจีน ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็น มันเป็นปัญหาภายในประเทศจีน ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งรู้สึกเสียดายเป็นที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมพูดได้อย่างชัดเจนที่นี่ตรงนี้มีเพียงว่า ขอความกรุณาอย่าทำอะไรเป็นการล้างแค้นการกระทำของทางจีนเลย ถ้าทำอย่างนั้นมันก็จะเป็นปัญหาของพวกเรา สะท้อนกลับเข้ามาสู่ตัวเราเอง ในทางกลับกัน หากเราสามารถแสดงท่าทีเยือกเย็น ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรก็ตาม พวกเราจะไม่สูญเสียความเคารพต่อวัฒนธรรมของชาติอื่นได้ล่ะก็ จะเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราเอง ซึ่งเป็นจุดยืนฝ่ายตรงข้ามกับการเมาเหล้าราคาถูกอย่างแท้จริง

การเมาเหล้าราคาถูกสักวันก็จะสร่าง แต่ต้องไม่ปิดกั้นหนทางไปมาหาสู่กันของจิตวิญญาณเป็นอันขาด หนทางนั้นสร้างมาด้วยการสั่งสมความพยายามสุดกำลังของคนจำนวนมากมาช้านาน และเป็นหนทางสำคัญที่ต้องรักษาให้สืบเนื่องต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น


----- 

ข่าวที่แปลจากบทความของ The Wall Street Journal ที่กล่าวถึงบทความนี้  http://gammemagie.blogspot.hk/2012/10/blog-post.html


Oct 2, 2012

ฮารูกิ มูราคามิ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่น

บอกกล่าวกันสักนิด : เหตุที่นำข่าวนี้มาแปล เพราะมีสื่อที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเขียนพาดหัวข่าวว่า "นักเขียนชื่อดัง “ฮารุกิ มุราคามิ” โดดร่วมวงพิพาทหมู่เกาะ-เตือนจีนอย่าสุมไฟ “ชาตินิยม” นำมาซึ่งความคิดเห็นก้าวร้าวรุนแรงจากผู้ที่อ่านข่าวไม่แตก เข้าใจผิดคิดง่ายๆ ว่าเฮียมูเป็นคนญี่ปุ่น ย่อมจะเข้าข้างญี่ปุ่น  

ตอนแรกเรามองเรื่องนี้ขำๆ นะคะ แต่คิดไปคิดมา   การบิดเบือนชักจูงให้เข้าใจผิดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  จึงต้องขอคัดค้านอย่างสงบ ด้วยการแปลข่าวนี้มาฝากให้พิจารณากันเองว่ามีการ "เตือนจีน" ตรงไหน 


ที่มา : http://blogs.wsj.com/japanrealtime/2012/09/28/novelist-murakami-weighs-in-on-japan-territorial-rows/


ฮารูกิ มูราคามิ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่น 


แม้ว่าความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่มีปัญหามากมายจะร้อนฉ่าขึ้นทุกขณะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้มีชื่อเสียงนอกวงการเมืองน้อยคนจะออกมาแสดงจุดยืนของตนในปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่ได้ก่อปัญหาลามข้ามไปถึงวงการอื่น  ไม่ว่าจะเป็นกีฬาและแวดวงวัฒนธรรม  แต่เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.ย. 55) นักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังที่ยังคงมีชีวิตอยู่เข้าร่วมสงครามคำพูดในครั้งนี้

ฮารุกิ มูราคามิ เขียนบทความแสดงความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบทางวัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะเป็นผลจากความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่เพิ่มขึ้นมากมายหลายกรณี  เขาบรรยายความรู้สึกของตนถึงปัญหานี้อย่างไม่ยั้งว่า เป็นเหมือนการมึนเมาจากเหล้าสาเกราคาถูก  ความคิดเห็นของเขาได้รับการตีพิมพ์โดดเด่นขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย. 55) “ในฐานะนักเขียนเอเชียและนักเขียนญี่ปุ่น ผมกลัวว่าความสำเร็จที่มั่นคงที่เราได้ทำ (ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้าใจอันดีกับประเทศเอเชียเพื่อนบ้าน) จะถูกบั่นทอนจากปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาะเซนกากุและหมู่เกาะทาเกชิมาในครั้งนี้” 


เกาะเซนกากุและเกาะทาเกชิมา อยู่ใจกลางความตึงเครียดระดับทวิภาคีที่คุกรุ่นมาตลอด โดยเกาะแรกมีปัญหากับจีน ส่วนหมู่เกาะที่สองมีปัญหากับเกาหลีใต้   เกาะที่อยู่ใต้อาณัติของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้ทั้งสองเกาะนี้  เกาะแรกเป็นที่รู้จักในนามเกาะเซนกากุในญี่ปุ่น แต่ทั้งจีนและไต้หวันก็ประกาศความเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองประเทศเรียกเกาะนี้ว่าเกาะเตียวหยู  ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ถูกทดสอบในช่วงเดือนหลังๆ จากกรณีหมู่เกาะที่ชื่อว่าทาเกชิมาในภาษาญี่ปุ่น  ดกโดในภาษาเกาหลี และเลียนคอร์ท สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงทะเลาะวิวาท

การเก็บหนังสือญี่ปุ่นในร้านหนังสือทั่วประเทศจีนสร้างความ “ตื่นตกใจ” ให้กับนักเขียนวัย 63 ปีผู้นี้  เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งเรื่องดินแดนเหล่านี้ได้ลุกลามใหญ่โต และอาจตัดสายสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคที่ต้องต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการสร้างขึ้นมา  มูราคามิกล่าวว่าเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะวิพากย์วิจารณ์เรื่องที่ประเทศจีนได้ระงับการขายหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนญี่ปุ่น “เพราะมันเป็นปัญหาภายในของประเทศจีน” “แต่สิ่งที่ผมอยากกล่าว ณ ที่นี้ดังๆ ชัดเจน  คือ “กรุณาอย่าแก้เผ็ดโต้ประเทศจีนที่ทำอย่างนี้ หากเราทำ มันจะกลายเป็นปัญหาของเรา และมันจะย้อนกลับมาทำร้ายคุณ” 

มูราคามิ ผู้มีชื่อเสียงจากหนังสือที่โดดเด่นระดับคลาสสิกอย่างเช่น “Kafka on the Shore” และหนังสือไตรภาคเล่มยักษ์  “1Q84” กล่าวต่อว่า พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างประเทศ  ปัญหาต่างๆ ก็เป็นผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ความเลือดร้อนได้เข้ามาแทนที่ความเป็นไปได้ของทางออกที่ได้ผล 


“มันเหมือนการเมาเหล้าสาเกราคาถูก  เมื่อดื่มเหล้าสาเกราคาถูกที่ว่านี้ไปแค่จอกเล็กๆ เลือดจะพุ่งขึ้นหัว  เสียงของประชาชนจะดังขึ้นและกระทำสิ่งต่างๆ อย่างรุนแรง” เขาเขียน  “แต่หลังจากได้ก่อเหตุวุ่นวายในเรื่องนี้ไปแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น สิ่งที่เหลือทิ้งไว้คืออาการปวดหัว”  เขาแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังให้ดี เพราะเรื่องนี้มีนักการเมืองและพวกนักปั่นหัวเป็นผู้ชักนำ 


ขณะที่กระแสการต่อต้านนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นหัวข้อทางการเมืองที่มีการโต้แย้งกันอยู่อีกเรื่องหนึ่ง มีการสนับสนุนจากเสียงผู้ทรงอำนาจระดับนักเขียนรางวัลโนเบล เคนซาบุโร โอเอะ ความขัดแย้งเรื่องดินแดนยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการแตะต้องในวงกว้าง เหตุจากการเชื่อมโยงกับความภาคภูมิใจในชาติ ไม่มีใครลุกขึ้นมากล่าวถึงปัญหาที่เต็มไปด้วยขวากหนามนี้  บทความของมูราคามิและการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันระดับประเทศแบบเห็นเด่นชัดกินพื้นที่หน้าหนึ่งและมีต่อด้านในฉบับ เป็นก้าวที่สำคัญในการเคลื่อนย้ายการโต้เถียงจากคำสั่งสอนจากกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาสู่ผู้อ่านในวงกว้างขึ้น  ในบทความของเขา มูราคามิได้กล่าวถึงนิยายเรื่อง “The Wind-Up Bird Chronicle.” (บันทึกนกไขลาน) ที่มีเนื้อเรื่องที่เจาะเน้นเรื่องสงครามนองเลือดระหว่างทหารญี่ปุ่นกับกองทัพมองโกเลียและรัสเซียเพื่อแย่งชิงพื้นที่แห้งแล้งในทะเลทรายของมองโกเลีย  เขากล่าวว่าเขาได้เดินทางไปดูพื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบหลังจากเขียนนิยายเรื่องนี้จบ “ตอนที่ผมยืนอยู่กลางพื้นที่ว่างเปล่าแห้งแล้งที่ยังมีเศษซากระเบิดและอุปกรณ์การทำสงครามกระจายไปทั่ว ผมรู้สึกอย่างหดหู่ว่าทำไมหลายต่อหลายชีวิตต้องมาสูญสิ้นเพื่อผืนดินที่ว่างเปล่าผืนนี้ด้วย” 



ที่ผ่านมา มูราคามิผู้ที่มักจะได้การกล่าวถึงว่าเป็นว่าที่นักเขียนรางวัลโนเบล ได้วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ หลายๆ เรื่อง  เขาไม่ได้พูดเจาะถึงเรื่องที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วอย่างละเอียด กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเหตุที่เกิดกับโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ฟุกุุชิมาเมื่อปีที่แล้วเป็นเรื่องของการหาเรื่องเอง โดยเรียกว่ามันเป็น “ความผิดพลาดที่ก่อด้วยมือของเราเอง” ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรับรางวัลที่กรุงบาร์เซโลนาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว  หนังสือเล่มต่างๆ ของเขาไม่ได้ปิดบังเรื่องราวที่ญี่ปุ่นกระทำระหว่างสงครามในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๒๐  ในหนังสือเรื่อง “The Wind-Up Bird Chronicle”  มีฉากที่น่าสะเทือนใจจากการครอบครองมันจูเรียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นจุดระเบิดทางประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น 

ความเห็นเรื่องความขัดแย้งในเกาะดังกล่าวออกมาไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะมีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม รางวัลเกียรติยศที่มูราคามิมักจะได้รับการเอ่ยชื่อในฐานะผู้น่าจะได้รับรางวัล  ในปีนี้ก็เช่นกัน  นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้นี้ได้เข้าเป็นนักเขียนอันดับต้นๆ ที่น่าได้รับรางวัลนี้  เขาได้รับการวางเดิมพันในอัตรา 5 ต่อ 1 ในการจัดอันดับของลอร์ดโบรก บริษัทรับพนันที่สหภาพอังกฤษ 

-----


อ่านบทความต้นทางที่เฮียเขียนยาวเหยียดในหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน แปลเป็นภาษาไทยอยู่ในลิงก์นี้ http://gammemagie.blogspot.hk/2012/10/blog-post_6.html

Aug 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : โลกที่เรียกว่า 1Q84 อุปมาและความจริงในนิยาย


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

โลกที่เรียกว่า “1Q84”


--- ฉากบรรยายเรื่องเซ็กซ์ที่อยากถามอีกฉากหนึ่ง คือเซ็กซ์ในกรอบที่เรียกว่าศาสนา มีฉากเซ็กซ์เชิงพิธีกรรมชนิดหนึ่งบรรยายไว้ ซึ่งอาจมีความหมายลึกลงไปถึงด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ( cultural anthropology) และอาจเชื่อมไปถึงการที่อาโอมาเมะตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศโดยตรงกับเท็งโกะ คุณคิดว่าถ้าไม่จ้องมองไปถึงการนำเอาเรื่องทางเพศแบบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง จะไม่สามารถบรรยายภาพศาสนาได้อย่างนั้นหรือ

มุราคามิ  ไม่ใช่  เป็นในทางตรงข้ามกันเลย   โลก “1Q84” ที่อาโอมาเมะมุดเข้ามา เป็นโลกที่มีสิ่งดึกดำบรรพ์บางอย่างซึมขึ้นมาจากพื้นดิน เมืองโตเกียวในปี 1984 พื้นเป็นคอนกรีตแข็ง เป็นโลกที่ไม่มีอะไรซึมขึ้นมา แต่สถานที่ที่อาโอมาเมะลงบันไดฉุกเฉินไปเป็นโลกที่มีสิ่งที่ว่าค่อยๆ ซึมออกมา เพราะฉะนั้นศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความดึกดำบรรพ์นั้น

โลกของ  “1Q84” เรียกได้ว่าเป็นโลกที่ลิตเทิลพีเพิลคืบคลานออกมาจากใต้ดิน ส่วนลิตเทิลพีเพิลคืออะไร ผมเองก็อธิบายไม่ถูก ถ้าคิดแบบคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ส่งสารจากโลกใต้ดินก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้น

--- ผมรู้สึกว่าลิตเทิลพีเพิลไม่เกี่ยวกับทั้งศาสนาคริสต์ และก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เป็นอะไรที่คล้ายจะเป็นรากเหง้ากว่านั้น ในงานชิ้นก่อนๆ ของคุณว่าไปแล้วจะว่าไม่เคยมีก็ไม่ใช่ อย่างเช่น “ยามิคุโร” ใน แดนฝันปลายขอบฟ้า (Hardboiled Wonderland)

มุราคามิ  ใช่แล้ว  “ยามิคุโร” เป็นอย่างนั้นจริงๆ  ยังมี “ปีศาจเขียว” ที่อยู่ในเล่ม ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน (Lexington Ghosts)  ด้วย สิ่งที่คืบคลานออกมาจากใต้ดินพวกนี้  พอผมขุดหลุมเพื่อสร้างเรื่องราว มันก็ออกมาเองตามธรรมชาติ 

--- ใน ‘1Q84’ มีอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่ชื่อเอบิสุโนะ และมีการกล่าวถึงหนังสือเรื่อง “The Golden Bough” ของ Frazer รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งในอะไรต่อมิอะไรที่คุณโยนเข้าไปหลังเปิดปากทางเรื่องราวให้กว้างขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

มุราคามิ  งานของ Frazer เล่มนั้นผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว ที่จริงจำไม่ค่อยได้ แต่อ่าน “Myths to Live By” ของ Joseph Campbell บ่อย ไม่เกี่ยวกับว่ามีประโยชน์กับการเขียนนิยายหรือไม่ อ่านเพราะน่าสนใจดีแค่นั้น

สำหรับผม ที่ว่าน่าสนใจก็คือ สิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือพวกนี้เป็นสิ่งที่เอื้อมมือไปจับต้องได้ ถ้าใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ tangible  ทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมจัดสิ่งเหล่านั้นเป็นการเปรียบเทียบ (analogy) สัญลักษณ์ หรืออุปมาอุปไมย (metaphor) ชนิดหนึ่ง แต่สำหรับนักเขียนนิยาย มันไม่ใช่สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย หรือการเปรียบเทียบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  หากโยนสิ่งนั้นลงไปในเรื่องราว มันก็จะเกิดขึ้นจริงในฐานะความเป็นจริง มันจะนำไปสู่ผลอย่างไร ผลที่ถูกนำพาให้เกิดขึ้นก็เป็นความเป็นจริง หน้าที่ของนักเขียนนิยายคือส่งสายตามองตามไป เพราะฉะนั้นถ้าแค่อ่าน “The Golden Bough” ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ต้องจับมันโยนลงหลุมให้ทำงาน สิ่งที่ผมว่าสนุกที่สุดในการเป็นนักเขียนนิยายก็คือการที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โยนการเปรียบเทียบ สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย พวกนี้ลงหลุมไปเรื่อยๆ ทำให้มันเป็นความจริงเสียเลย

--- ไม่ใช่จากเหตุไปสู่ผล เป็นตรงข้ามสินะครับ ผลทำให้เกิดเหตุ

มุราคามิ  ใช่ นี่เป็นการทำงานที่เป็นส่วนตัวอย่างที่สุด ทำแล้วก่อให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่าง พอนำไปสู่ผลอย่างหนึ่ง vector (ทิศทางการเคลื่อนที่) ตรงนี้ต้องเป็นสากล ถ้าเขียนเรื่องตามใจชอบแบบตามใจชอบมันก็ไม่เป็นนิยาย ต้องมี vector ที่เป็นสากลจึงจะกลายเป็นผลงานที่มีความหมายได้ แน่นอนว่าการไปถึงตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเขียนได้ดีขนาดไหน หรือเขียนได้สนุกขนาดไหน ถ้า vector ยังตอบไม่ตรงใจ ก็แสดงว่ามันยังไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะเรื่องราวที่ดี นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ได้มาแต่กำเนิดในระดับหนึ่ง

--- อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากการเพียรฝึกฝน

มุราคามิ  แน่นอนว่าอาจมีบ้างที่ได้จากการเพียรฝึกฝน แต่การกำหนดแกนหลักสำหรับประเมิน vector นั้นยากมาก สุดท้ายแล้วก็ต้องใช้ความรู้สึกวัด หลายครั้งที่เป็นอย่างนั้น นั่นเป็น vector ที่มีแก่นหรือเปล่า หรือว่าแค่ถากผิวๆ อาจพูดอีกอย่างได้ว่าเรื่องราวนั้นมีชีวิตหรือไม่ เป็นเรื่องที่อธิบายเป็นคำพูดได้ไม่ง่าย แต่คนอ่านเขารู้ 

รู้ได้ยังไง หนังสือที่คนนี้เขียน ถ้าออกมาอีกก็อยากซื้ออ่านอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าเรื่องนั้น – อย่างน้อยก็ในความหมายหนึ่ง – มีชีวิต นั่นอาจเป็นแกนประเมินอย่างหนึ่ง แต่การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อยู่บนบริบทแบบมีผลประโยชน์จริงอย่างการยอมควักเนื้อ  นักวิจารณ์ที่มั่นคงซื่อตรงก็มีบ้าง วิจารณ์ได้เยี่ยมยอดก็มี แต่ถ้าพูดกันตามหลักการ สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่สามารถเอ่ยออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ อธิบายกันไม่ได้ เพราะอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ พวกผมถึงได้เขียนเป็นเรื่องราวออกมา

เพราะฉะนั้นผมจึงยึดเอาการที่ผู้อ่านซื้อผลงานชิ้นถัดไปเป็นหลัก ผู้อ่านเฝ้ารองานของผมออกมา แล้วซื้อต่อไปเรื่อยๆ คิดว่านี่เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้ามีหลักฐานอย่างนั้น ไม่ว่าหนังสือกระดาษจะคงอยู่ต่อไปหรือหนังสืออิเลคทรอนิคส์จะเข้ามาเป็นหลักแทนก็คงไม่เกี่ยวเท่าไหร่ เรื่องเล่าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นและอยู่มาหลายพันปี มีลมหายใจยาวนานและพลังแข็งแกร่ง ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเพียงเพราะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเปลี่ยนหรอก

Somerset Maugham เขียนไว้ว่า “ผมไม่เคยเจอนักเขียนคนไหนพูดว่าหนังสือของตัวเองขายไม่ออกเพราะมันไม่น่าสนใจ” (หัวเราะ) เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกี่ยวกับตัวอุปกรณ์

ลินคอร์นบอกว่า “คุณอาจหลอกคนทั้งหมดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ คุณอาจหลอกคนไม่กี่คนไปตลอดกาลก็ได้ แต่จะหลอกคนทุกคนไปตลอดกาลไม่ได้” ซึ่งคิดว่าจริงสำหรับหนังสือเหมือนกัน ผมเขียนหนังสือต่อเนื่องมาสามสิบปี ซึ่งก็เป็นเวลาที่นานพอดู มีช่วงหนึ่งถึงกับโดนว่า “ทำเป็นจะแต่งงานด้วยเพื่อหลอกเอาเงิน” ยังถูกหลอกกันอยู่หรือเปล่า คนอ่านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ชื่นชมผลงานด้วย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่แพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่แทบจะเหลือเชื่อ






Aug 27, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : เซ็กซ์ของผู้หญิง เซ็กซ์ในหนังสือ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)



--- พูดถึงเรื่องของระบบ ยุคปี 80, 90 มีการบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมด้านโอกาสในการจ้างงานของชายและหญิง เกิดคำว่า งานก้าวหน้า (งานที่มีโอกาสเลื่อนขั้นถึงระดับสูง-ผู้แปล) เป็นขั้นตอนการขจัดความเหลื่อมล้ำของชายหญิง แต่อีกทางหนึ่ง ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสได้สิ่งที่เหมือนกับผู้ชาย พวกเธอก็ต้องเก็บกดบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ คิดว่าใน ‘1Q84’  ได้เขียนถึงความไม่สบายใจที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่สามารถตระหนักได้ด้วยตนเองไว้ได้ดีทีเดียว

มุราคามิ คิดว่ามีความเก็บกดที่ว่านั้นแน่ๆ  แต่ความโดดเด่นสะดุดตาในเรื่องการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสินค้าทางเพศที่เคยมีมากมายไม่รู้เท่าไหร่ค่อยๆ ลดไปแล้ว  พูดอีกอย่างได้ว่าเซ็กซ์ของผู้หญิงไม่ได้พุ่งออกมาในด้านการเป็นสินค้า แต่กลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น  ดังนั้นใน ‘1Q84’ จึงเขียนถึงเซ็กซ์ของผู้หญิงได้ง่ายขึ้น ที่ไม่มีเสียงคัดค้านก็คงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ไปตามกาลเวลาอย่างที่ว่าด้วย


--- ตอน ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (Norwegian Wood) มีคนพูดถึงฉากเซ็กซ์มากทีเดียว

มุราคามิ  ตอนนี้เรื่องแบบนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา ถึงจะอ่านฉากเซ็กซ์ใน ‘Norwegian Wood’ ก็คงไม่มีใครตื่นเต้นตกใจ  แต่ตอนนั้นผมถูกตำหนิแม้แต่จากคนใกล้ตัวอย่างรุนแรง มีคนที่อ่านเล่มนี้แล้วโกรธอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะโกรธได้ขนาดนั้น เขาบอกว่า “อย่าเขียนนิยายที่ให้เด็กอ่านไม่ได้” ตอนนี้ผมเขียนความเรียงลงในนิตยสาร “an an” (นิตยสารสำหรับผู้หญิง-ผู้แปล) เห็นมีรูปนู้ดผู้ชายลงทุกอาทิตย์ (หัวเราะ) คิดว่าเป็นกึ่งของแถม โลกที่เอาเซ็กซ์ของผู้หญิงออกมาขายเพียงด้านเดียวได้เปลี่ยนไปมากแล้ว


 --- ที่มองข้ามไม่ได้อีกอย่าง คือการข่มเหงทางเพศที่อายูมิประสบเมื่อยังเด็ก ตัวเธอในปัจจุบันไม่สามารถแยกออกจากสิ่งนั้นได้ นี่ก็สอดประสานกับหัวข้อเรื่องการสูญเสียในวัยเด็ก

มุราคามิ  ซึ่งก็คือประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เรื่องอย่างนี้คิดว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อน เหมือนกับ “การล่วงละเมิด (harassment)” สมัยยังไม่มีคำบัญญัติ ที่ถูกเก็บกดลงไปในที่มืดอย่างคลุมเครือทั้งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ พอมีการบัญญัติคำเฉพาะขึ้น มันก็โผล่ออกมาให้เห็นเบื้องหน้า เรื่องแบบนี้มีแน่นอน

อีกประเด็นหนึ่ง ทำไมเรื่องความรุนแรงในครอบครัวถึงมีคนหยิบยกขึ้นมามากขนาดนี้ ผมคิดว่านี่เป็นอุปมาเปรียบเทียบชนิดหนึ่ง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม อย่างเช่นลองคิดถึงอินเตอร์เน็ต บล็อก อีเมล์ พวกนั้น จะเข้าใจง่าย เกิดมีเจตนาร้ายหรือการกลั่นแกล้งที่แพร่กระจายไปได้ทั่วทั้งสังคม ไม่รู้ว่าตนเองจะถูกใครทำร้ายเอาเมื่อไร หรือว่าตนเองจะไปทำร้ายใครเข้าเมื่อไร กระแสตรงหน้าในตอนนี้จะเอนเอียงหรือพลิกคว่ำไปอย่างไรเมื่อไร ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดน่าจะลอยขึ้นมาในฐานะอุปมาของความกลัวและความเครียดในบรรยากาศที่ความมืดมัวไม่สงบสุขลอยค้างกลางอากาศ ผมคิดอย่างนั้น ถ้าคำว่าอุปมาฟังดูไม่เหมาะ จะเรียกว่าการสอดประสานกันของความรุนแรงเชิงสังคมที่มัวๆ กว้างๆ มองเห็นลำบาก กับความรุนแรงเล็กๆ อย่างจำกัดที่ยืนยันได้ด้วยสายตา ก็น่าจะได้

--- นิยายของคุณมีผู้อ่านทั่วโลก คิดว่ามีฉากที่ในบริบทของสังคมที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการบังคับให้ระงับการเขียนถึงเซ็กซ์และความรุนแรง  เป็นหลักศีลธรรมชนิดหนึ่ง ตอนที่เรื่องสั้นของคุณลงใน “New Yorker” เคยมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขสำนวนบรรยายเรื่องเซ็กซ์และความรุนแรง  แต่พออ่าน ‘1Q84’ แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าคุณไม่ได้ปรับสำนวนเขียนเพื่อระวังหลักทางศีลธรรมอย่างที่ว่านั้นเลย  ในตอนนี้คุณคิดเรื่องความแตกต่างของแนวยึดถือปฏิบัติในวัฒนธรรมต่างๆ อย่างไร

มุราคามิ  ช่วงประมาณสิบปีมานี้ ความแตกต่างที่ว่าน่าจะหายไปแทบจะหมดแล้ว  ในโลกอิสลามไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่การที่อินเตอร์เน็ตแพร่หลาย เรื่องเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับความรุนแรง ก็แพร่กระจายในวงกว้างไปทั่วโลก ก่อนหน้าความมากมายท่วมท้นที่ว่า เซ็กซ์และความรุนแรงที่เขียนไว้ในนิยาย แม้จะไม่ถึงกับเป็นการชำระล้างบาป แต่ก็คิดว่าเป็นการปลุกให้เกิดพลังในการรับมือกับมันชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงแทบไม่กังวลในประเด็นที่ว่าเลย  ผมคิดว่าไม่มีแรงกดดันแบบที่ว่า อย่างน้อยสำหรับนิยายที่เป็นเรื่องแต่ง







Aug 4, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ความเป็นหญิงในนิยาย และความเป็นหญิงในผู้เขียน


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ผู้หญิงกับเซ็กซ์


--- ในผลงานของคุณ ตั้งแต่ “Norwegian Wood” จนถึงปัจจุบัน ตัวตนของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คิดว่าคุณได้ขุดลึกลงไปในคำถามที่ว่าความเป็นหญิงในเรื่องเล่าคืออะไร แต่เท่าที่ผ่านมา ‘1Q84’ แทบจะเป็นเรื่องแรกที่ตัวตนของผู้หญิงออกมายืนอยู่ด้านหน้าอย่างแท้จริง

พลังขับเคลื่อนเรื่องราวของ ‘1Q84’ ก็มีความรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ที่ความเป็นชาย แต่อยู่ที่ความเป็นหญิง ทำไมคุณจึงคิดนำเอาผู้หญิงออกมาด้านหน้า พยายามวาดภาพ “หญิงผู้มุ่งมั่น”  

มุราคามิ อย่างแรก เป็นเพราะผมค่อยๆ เข้าใจเรื่องของผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าสั่งสมประสบการณ์มา แต่เข้าใจในเรื่องที่สมัยก่อนไม่เข้าใจ อย่างเช่นผู้หญิงจะคิดเรื่องอะไรอย่างไร รู้สึกอย่างไร สมัยเป็นหนุ่มยังเข้าใจไม่มากพอ แต่ตอนนี้ลองมาหวนคิดดูก็เข้าใจว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ตอนนั้นคนนั้นเขารู้สึกอย่างนี้ ตอนนั้นคนนั้นเขาต้องการอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ในตอนนั้นก็จะดี คิดไปอย่างนั้น แต่ถึงคิดได้ก็สายไปแล้ว (หัวเราะ)

สิ่งที่ตอนหนุ่มๆ ไม่เข้าใจ อย่างเช่นความต้องการทางเพศของผู้หญิง พอรู้บ้างว่าผู้หญิงมีความต้องการทางเพศ แต่มันเป็นยังไง รุนแรงแค่ไหน ปลดปล่อยออกมายังไง ชายหนุ่มไม่มีทางรู้ ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วถึงเข้าใจ แต่พออายุมากขึ้นก็จะเข้าใจเรื่องแบบนั้นมากขึ้นเอง สามารถจำลองภาพในขอบเขตของจินตนาการได้หลากหลาย เวลาเขียนนิยาย การมีลิ้นชักแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

--- ใน ‘1Q84’ คุณเขียนถึงอะไรบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในก้นบึ้งของสิ่งที่เรียกว่าเซ็กซ์อย่างถึงแก่นทีเดียว เหนือไปกว่าการที่อาโอมาเมะอยากมีเซ็กซ์อย่างเหลือล้นในบางครั้ง หรืออายูมิที่ถูกฆาตกรรม มองในแง่หนึ่งก็ต้องการผู้ชายเพื่อความสำราญ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราถึงจะมองก็ไม่สะดุดใจ หรือไม่ได้พยายามมอง ได้ถูกเขียนไว้อย่างสมจริงมาก


มุราคามิ ก่อนอื่น คนเราจะมี anima กับ animus ใช่ไหม ในจิตใต้สำนึกของผู้ชายมีความเป็นหญิงที่เรียกว่า anima และในผู้หญิงก็มีความเป็นชายที่เรียกว่า animus ถึงจะบอกอย่างนี้แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอเขียนนิยายก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น  คิดว่าความเป็นหญิงในตัวเองเป็น “อย่างนี้มั้ง” แล้วลองตามหาลึกลงไป ก็มีอะไรๆ ที่น่าสนใจโผล่ออกมา นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเขียนผู้หญิงออกมาได้มีชีวิตชีวากว่าเมื่อก่อน พอขุดเรื่องราวลึกลงไป สิ่งเหล่านั้นก็โผล่ออกมาเองตามธรรมชาติ เริ่มเคลื่อนไหว ความรู้สึกคล้ายๆ ตั้งใจแยกตัวเองออกเป็นหลายส่วน


สมัยก่อน ผู้หญิงที่ออกมาในนิยายของผม นอกจากข้อยกเว้นพิเศษแล้ว ไม่สูญสลายไปก็จะเป็นผู้นำทางในเชิงหญิงรับใช้พระเจ้า ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น  ใน  ‘1Q84’ เอง ฟุคาเอริ หรือคุมิ อาดาจิ ก็มีบทบาทเชิง “ผู้นำทาง” ค่อนข้างมาก เพื่อนสาวอายุมากกว่าสาบสูญไป วิธีเขียนอย่างนี้คิดว่าซับซ้อนหลายชั้นกว่าเมื่อก่อนเล็กน้อย ตัวละครอย่างนี้ก่อนหน้าก็เคยมีออกมาพอสมควร ในเชิงนิยายมีหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงอย่างอาโอมาเมะก็ออกมาด้านหน้า เธอมีความมุ่งมั่นแจ่มชัด เป็นผู้หญิงที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระบนลำแข้งของตัวเอง ผมคิดว่าทำได้เป็นครั้งแรกหลังจากใช้การเขียนแบบบุคคลที่สาม ตัวผมเองสนุกที่ได้เขียนภาพอิมเมจผู้หญิงแบบนี้ รู้สึกสดใหม่ด้วย ถ้าผู้อ่านหญิงมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครที่ชื่ออาโอมาเมะ ผมก็จะยินดีมาก


แล้วก็แน่นนอนว่า สมัยนี้เขียนผู้หญิงง่ายกว่าผู้ชาย ตอนเขียนก็สนุกน่าสนใจ นึกถึงสภาพเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ความแตกต่างทางสถานภาพของผู้หญิงมีมากกว่านี้มาก







Jul 16, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ที่มาที่ไปของ 1Q84 เล่ม ๓


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)


สำนวนช่วยค้ำจุน


--- คุณเคยบอกว่า ได้ปล่อยสำนวนที่เรียกว่าสลับซับซ้อนออกไปจนหมดใน ‘Sputnik Sweetheart’ (1999 - ชื่อภาษาไทย “รักเร้นในโลกคู่ขนาน กำมะหยี่กำลังจะจัดพิมพ์) สำนวนของคุณหลังจากนั้นยิ่งวันยิ่งเหมือนน้ำที่ปลอดสิ่งแปลกปลอม เวลาดื่มไม่รู้ตัวเลยว่าน้ำนั้นเป็นน้ำกระด้างหรือน้ำอ่อน มีแร่ธาตุปนอยู่หรือเปล่า  กำลังดื่มแต่รู้สึกเหมือนไม่ได้ดื่ม ผมรู้สึกว่าสำนวนของคุณเปลี่ยนไปอย่างนั้น

มุราคามิ ผมคิดมาตั้งนานแล้วว่า ไม่เห็นมีใครพูดถึงเทคนิคการเล่นดนตรีของชาร์ลี ปาร์คเกอร์ http://en.wikipedia.org/wiki/Charlie_Parker เลย ถ้าพูดถึง ออสการ์ ปีเตอร์สัน http://en.wikipedia.org/wiki/Oscar_Peterson ล่ะก็ จะพูดกันว่าเทคนิคของปีเตอร์สันนี่สุดยอด ถ้าพูดถึงเธโลเนียส มองค์ http://en.wikipedia.org/wiki/Thelonious_Monk เขาไม่ได้มีเทคนิคอะไรนัก ก็จะพูดกันว่าความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร กับความเป็นดนตรีที่ล้ำลึกทำให้คนฟังลืมเรื่องเทคนิคไปเลย ก็เป็นการพูดเรื่องเทคนิคอยู่ดี แต่เรื่องเทคนิคของชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ไม่มีใครพูดถึง ว่าไหม

 --- จริงด้วย เป็นอย่างนั้นจริงๆ
มุราคามิ  นี่เป็นเรื่องแปลกนะ เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะที่จริงแล้วเขามีเทคนิคสุดยอด บางครั้งก็เป่าท่อนซับซ้อนได้ดูเหมือนง่ายและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าตั้งใจฟังก็จะทึ่งในเทคนิคสุดยอดที่ว่านี้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครพูดถึง
สำนวนในอุดมคติของผม คือสำนวนอย่างนั้น เรื่องที่จะว่าดีหรือเยี่ยมมากผมไม่สนใจ สำนวนมีไว้แสดงความคิดบางอย่างที่เหนือไปกว่านั้น สำนวนมีไว้เพื่อค้ำจุนความหมายของประโยคและสารที่ต้องการสื่อ คิดว่าไม่ควรให้มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งจากภายนอก 

--- สำนวนที่ทำให้ไม่รู้สึกถึงสำนวน สำนวนที่ไม่รู้สึกแม้แต่ตอนที่มันผ่านลงคอไป คิดว่านี่คงเป็นพลังยิ่งใหญ่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานของคุณมีผู้อ่านมากมายขนาดนี้
มุราคามิ  พอเขียน BOOK 1 และ BOOK 2 จบ ก็ตั้งใจจริงๆ ว่าจะให้จบแค่นั้น ตอน ‘The Wind-up Bird Chronicle’ หลังจากที่เล่ม 1 และ 2 ตีพิมพ์ได้สักพัก ผมก็เกิดอยากเขียนเล่ม 3 แต่ครั้งนี้รู้สึกอยากเขียนตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ แต่พอเริ่มคิดเพื่อจะเขียนเล่ม 3 จริงๆ ก็เผชิญหน้ากับปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะแต่เดิมไม่ได้ตั้งใจเขียนตอนต่อ ซึ่งจะว่าเป็นธรรมดาที่ต้องเผชิญปัญหา มันก็ธรรมดาจริงๆ 

ถ้าเขียนเล่ม 3 คงเป็นเรื่องที่แทบไม่เคลื่อนไหวเลย ผมรู้อย่างนี้ตั้งแต่แรก เรื่องที่อาโอมาเมะตั้งครรภ์ในตอนนั้นก็รู้สึกอยู่รางๆ พอเป็นอย่างนั้นเธอก็จำเป็นต้องซ่อนตัวอยู่ที่แมนชั่นนั้นต่อไป เท็งโกะก็มีนิสัยอย่างที่รู้ๆกัน ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวแค่ไหนความเคลื่อนไหวนั้นก็จำกัด ความเป็นไปได้ในฐานะเรื่องเล่าต้องลดลงแน่ ถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้ก็เริ่มลงมือเขียนเล่ม 3 ไม่ได้

ระหว่างที่คิดอย่างนั้น ก็เกิดไอเดียผุดขึ้นมาในหัวว่า ถ้าให้เริ่มเรื่องด้วยอุชิคาวะล่ะจะเป็นอย่างไร ในการ์ตูนของอเมริกามีฉากที่จู่ๆ หลอดไฟก็วาบขึ้นเหนือหัว เป็นอย่างนั้นเลย นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า อ๊ะ ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะได้ ตอนที่เขียนเล่ม 1 และ 2  ไม่ได้คิดเลยว่าต่อไปอุชิคาวะจะมามีบทบาท แค่ดึงเขาออกมาตามน้ำไปอย่างนั้นเอง แล้วก็จบไว้แค่นั้น แต่นั่นเป็นตัวชี้ให้เห็นลูกศรบอกทาง การ “ทำไปอย่างนั้นเอง” ก็มีความหมาย

พอเป็นอย่างนั้น ก็มั่นใจว่า “เขียนได้” แต่อาโอมาเมะก็จะอยู่ในห้องต่อไปเรื่อยๆ เท็งโกะก็อย่างที่เห็น เขาไม่ใช่คนที่จะเรียกได้ว่ากระตือรือร้น จะเดินเรื่องมุ่งไปข้างหน้าด้วยวิธีการอย่างเล่ม 1 และ 2 ไม่ได้ คิดว่าจะเขียนเล่ม 3 ต้องดึงไปด้วยลีลาการเขียนเท่านั้น ใช้สำนวนที่ต่างไปจาก 1,2 อย่างสิ้นเชิง ต้องทั้งบีบทั้งคั้นลีลาออกมา เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง  พอได้เป้าหมาย ความทะยานอยากก็เกิดทันควัน นิสัยผมเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ในเล่ม 3 ผมจึงคำนึงถึงสำนวนมาก ในเล่ม 1 และ 2 ไม่ได้คำนึงถึงเท่าไรนัก ตั้งใจให้สำนวนเป็นธรรมชาติ ไม่ไปกีดขวางเรื่องราวที่ดำเนินไปข้างหน้า แต่คิดว่าเล่ม 3 ต้องก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้น ไม่อย่างนั้นจะไปต่อไม่ได้ เล่ม 3 นี่ผมทรมานกับการเขียนนะ แก้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้ง 

--- ที่จริงก่อนจะมาสัมภาษณ์ ผมคิดจะอ่านแบบผ่านรวดเดียวสักครั้ง เริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่เล่มแรก BOOK 1 กับ BOOK 2 พออ่านผ่านๆ ได้ แต่ BOOK 3 ถึงจะเป็นรอบที่ 3 ก็อ่านแบบผ่านๆ ไม่ได้เลย BOOK 3 ต้องใช้เวลาอ่านอย่างใคร่ครวญถึงระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถฟื้นสิ่งที่โลกใบนั้นมอบให้ขึ้นมาในตัวเองอีกครั้ง รู้สึกว่าโลกของ BOOK 1 และ BOOK 2 กับโลกของ BOOK 3 แตกต่างกันสิ้นเชิง  
มุราคามิ  ในนิยายขนาดยาว ถ้าขันน็อตแน่นเกินไปก็จะอึดอัด กะยากว่าจะขันแน่นขนาดไหน ไม่เหมือนในเรื่องสั้น เรื่องยาวส่วนที่ควรขันให้แน่นก็ต้องขันเต็มที่ ส่วนที่ไม่ขันก็ต้องคุมไว้ให้ดีไม่ให้หลวม ต้องมีจังหวะแบบนั้น ส่วนที่ขันแน่นก็ต้องขันด้วยวิธีที่ไม่ให้รู้สึกว่าขันแล้ว มีรูปแบบวิธีการขันอยู่หลายอย่าง ในจุดเหล่านั้นผมใช้เวลาลงรายละเอียดอย่างระมัดระวัง

ในส่วนที่ไม่มีอะไร ก็ขันจนแน่นเยอะเหมือนกัน อย่างเช่น อืม... อุชิคาวะไปสืบตามโรงเรียนประถมในจังหวัดจิบะใช่ไหม ตรงนั้นค่อนข้างใช้เวลาขันน็อตตัวเล็กไปทีละตัวทีละตัว ทั้งที่ไม่ได้เป็นจุดที่มีความหมายอะไรนัก (หัวเราะ)

--- ครูอาจารย์ที่ออกมาตรงนั้น ถึงจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมายอะไรในเรื่องราว แต่เพราะมีส่วนนั้นจึงมีการรับประกันความลึกของเท็งโกะกับอาโอมาเมะเมื่อตอนอายุสิบขวบ การมีอยู่ของครูอาจารย์เหล่านั้นยิ่งใหญ่ทีเดียว
มุราคามิ  การวาดจินตนาการตัวประกอบสนุกมาก เป็นความสุขยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งในการเขียนนิยาย ตอนแรกให้เป็นตัวประกอบ แต่หมุนออกมาอยู่หน้าเวทีก็มี อย่างเช่นกรณีของอุชิคาวะ

May 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : หลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง และการส่องสะท้อนตัวเอง

ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ขุดเรื่องราวออกมา   

มุราคามิ  ต่างจากตัวละครในเรื่อง 1Q84  ตัวผมเอง สมัยเป็นเด็ก ไม่มีความทรงจำว่ามีบาดแผลถูกทำร้ายจิตใจเลย ผมโตมาในย่านที่อยู่อาศัยสงบเงียบที่ชุกุงาวะและอะชิยะ เป็นเด็กในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นลูกคนเดียวเลยไม่มีการแก่งแย่ง ไม่มีปัญหาครอบครัว ผลการเรียนแค่ธรรมดาๆ ไม่ได้ดีนัก อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกับแมว  ใช้ชีวิตเรียบๆ สามัญทั่วไป โรงเรียนก็ไปโรงเรียนรัฐบาลธรรมดา มีเพื่อนพอสมควร ออกเดตกับแฟน เที่ยวเล่นนอกบ้านบ่อยๆ  ชีวิตปลอดโปร่งราบรื่นมาตลอด สรุปได้ว่าไม่มีเรื่องที่อยากเขียนเป็นนิยายสักเรื่องเดียว

    ผมอ่านหนังสือมากมายมหาศาล อ่านมากขนาดนั้น โดยทั่วไปคงอยากเขียนอะไรขึ้นมาเองบ้าง แต่ไม่รู้ทำไมไม่รู้สึกอยากเขียนนิยายเลยจนอายุยี่สิบเก้า ทำไมหรือ เพราะไม่มีเรื่องที่ควรเขียนน่ะสิ ในตัวผมไม่มีอะไรที่เป็น drama เลยสักนิด

    ยุคก่อนหน้านั้น มีสงคราม มีความยากจน สิ่งที่ควรเขียนมีอยู่ทุกหนแห่ง ในเชิงอุดมการณ์ก็มีการเขียนเรื่องอย่าง ‘Kanikosen’ ( http://en.wikipedia.org/wiki/Kanik%C5%8Dsen ) ออกมา แต่เรื่องที่ผมอยากเขียนหรือที่ผมควรเขียนไม่มีเลย เพราะอย่างนั้นพอออกจากมหาวิทยาลัย เปิดร้าน มีหนี้ ก็ทำงานงกๆ ไม่ลืมหูลืมตาทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งตอนอายุยี่สิบเก้า เกิดคิดขึ้นมาว่า “อ๊ะ อาจจะเขียนได้” แค่คิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ เริ่มแรกไม่รู้จะเขียนอะไรดี ก็เลยเริ่มจากการเขียนสิ่งที่นึกได้ลงไป

    ทีนี้ ระหว่างเขียนก็มีสิ่งที่ค่อยๆ ตระหนักรู้ขึ้นมา รู้ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าสมัยเป็นเด็กตัวเองไม่เคยมีบาดแผลเลย   คนเรา ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหน ในขั้นตอนการเติบโตแต่ละคนก็สร้างบาดแผลให้ตัวเอง ทำตัวเองบาดเจ็บ เพียงแต่เราอาจไม่รู้ตัว




 --- เพิ่งรู้ตัวเมื่อเริ่มเขียนนิยายตอนอายุยี่สิบเก้าหรือ
มุราคามิ  อาจรู้จากการแต่งงาน พอยืนได้ด้วยตัวเอง ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ว่อกแว่กไปทางอื่น รู้ว่าตัวเรา ในความหมายหนึ่งก็สูญเสีย มีบาดแผล บาดเจ็บมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นผมคิดว่าตัวเองโตมาตามสบายในสภาพแวดล้อมสงบสุขไร้ปัญหา มีวัยเด็กที่มีความสุขพอสมควร แต่ก็อาจพูดไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้นเพียงอย่างเดียว

    ผมไม่ได้จะตำหนิพ่อแม่หรอกนะ พ่อแม่ก็แค่ทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ไม่ว่าสัตว์ชนิดไหนก็เหมือนกัน ส่งมอบทักษะวิธีดำรงชีวิตอยู่ต่อไปให้กับลูก แต่มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่น เรามีชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมที่ซับซ้อนมาก วิธีการก็เลยยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่การส่งมอบวิธีการที่ว่านี้ ในความหมายหนึ่งก็คือการปิด circuit ให้แคบลงเรื่อยๆ เข้าใจใช่ไหม

--- เข้าใจดีเลยครับ

มุราคามิ  พอผมยืนได้ด้วยตัวเอง เป็นอิสระ ทำงานด้วยตัวเอง สร้างระบบการดำรงชีวิตของตัวเอง ก็ค่อยๆ รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองมีบาดแผลมามากแค่ไหน อาจดูเหมือนย้ำ แต่ไม่ใช่จะติหนิพ่อแม่หรอกนะ วิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตของเราแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ก็ช่วยไม่ได้ จากตรงนั้น จากความเจ็บปวดนั้น จากความรู้สึกแปลกแยก เรื่องราวจากภายในของตัวเองก็เกิดออกมา

    ผู้คนมีบาดแผลทางใจที่ออกมาใน ‘1Q84’ ถูกขยายขึ้นจนสุดขั้ว เป็นการขยายจนเกินจริง แต่ก็เป็นภาพสะท้อนตัวของผมเองเหมือนกัน ผมรู้สึกอย่างนั้นระหว่างเขียน เพราะฉะนั้นจึงเขียนเรื่องราวได้สมจริง หรือว่าเราอาจเคยเป็นอย่างนั้น สามารถเอาตัวเองลงไปวางในสถานการณ์ของคนอื่นแล้วเขียนออกมาเป็นเรื่องราวได้ พอทำอย่างนั้นแล้ว ตัวละครก็จะลุกขึ้นมา เคลื่อนไหวไปด้วยตัวเอง

--- ระหว่างที่เขียนนิยาย คุณรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเองอาจเคยมีบาดแผล เคยบาดเจ็บ ความตระหนักรู้ที่ว่านั้น จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ในตอนนี้สิ่งที่เป็นบาดแผลก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า การเขียนนิยายมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนตัวเองลงไปในเรื่องแต่ง คุณมองเห็นหนทางคลี่คลายตามแบบของคุณหรือยัง

มุราคามิ  ตั้งแต่ผมขุดหลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง ให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น ระดับของการตรวจสอบตัวเองก็ลึกขึ้นด้วย ผมทำต่อเนื่องมากว่าสามสิบปีแล้ว ยิ่งขุดลึกลงไปก็มองเห็นเรื่องราวจากมุมอื่นได้มากขึ้น มองได้หลายชั้นขึ้น ทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าขุดหลุมให้ลึกลงไปอีกไม่ได้ก็ไม่มีความหมายที่จะเขียนนิยายอีกแล้ว

    อย่างที่พูดเมื่อกี้ ตอนแรกคิดว่าในตัวเองไม่มี drama ไม่มีความเป็นเรื่องแต่ง ก็เลยเลือกสถานที่ที่น่าจะมีอะไรสักอย่าง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดลงไป ขุดอย่างเดียว ระหว่างที่ทำ ขาและสะโพกก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ดึงเอาเรื่องราวออกมาได้มากขึ้น ยาวขึ้น เรื่องราวที่ว่านี้สุดท้ายแล้วก็ออกมาจากรากของตัวเอง การดึงเอารากนั้นออกมาสู่สายตา บางกรณีเป็นเรื่องโหดร้ายอย่างยิ่งกับตัวผมเอง บางครั้งต้องมองสิ่งที่ไม่อยากมอง การจะทนต่องานเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำสำนวนการเขียนให้หนักแน่น

 
(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ที่มาที่ไปของ 1Q84 เล่ม ๓)

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น)

May 28, 2012

วิถีฮารุกิ มูราคามิ : ตัวตนของตัวละคร สัมผัสจากการจับมือ

ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)


จับมือกันไว้ แล้วไปด้วยกัน

--- ผู้คนที่ออกมาใน ‘1Q84’  นอกจากเท็งโกะและอาโอมาเมะแล้ว แม้แต่ทามารุ อุชิคาวะ มาดามแห่งคฤหาสน์ยานางิ ทุกคนต่างถูกบังคับให้มีชีวิตอย่างอดกลั้นในวัยเด็ก และมีบาดแผลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผู้คนที่ถ้ายังคงเป็นอย่างนั้นอาจพังทลายไป พวกเขาต่างหลุดรอดออกมาด้วยกำลังของตนเอง สร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาได้ท่ามกลางความโดดเดี่ยว คิดว่าในเรื่องนี้ค่อนข้างบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัจเจกผู้ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าระบบต้องสร้างตัวตนท่ามกลางความโดดเดี่ยว

มุราคามิ     การสร้างตัวตนของตนเองนั้น สำหรับปัจเจกแต่ละคนบางคนก็ประสบผลสำเร็จ แต่ที่ไม่สำเร็จก็มี กรณีอาโอมาเมะกับเท็งโกะมีประเด็นสำคัญคือความรัก แต่สำหรับทามารุหรืออุชิคาวะ ความรักไม่ได้มีพลังที่ทำให้เกิดผลขนาดนั้น ทามารุทั้งแข็งแกร่งและเยือกเย็น เป็นคนที่มีเสน่ห์มาก แต่ว่าไปแล้วเขาตกลงใจลงเอยอยู่ในสถานที่ที่กำลังอยู่ในตอนนี้ เขาไม่ใช่คนที่ต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ ทำไมน่ะหรือ เพราะถ้ามองเรื่องการเรียกร้องต้องการความรัก จากกรณีของอาโอมาเมะก็จะเข้าใจว่าการเรียกร้องต้องการความรักนั้นในขณะเดียวกันก็เป็นการต้อนตัวเองเข้าสู่ภาวะอันตราย อุชิคาวะเองสุดท้ายก็มุ่งไปสู่จุดจบเช่นนั้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง

--- ใน ‘1Q84’ สิ่งที่ลืมเลือนได้ยากคือฉากการจับมือกัน พออ่านจบแล้ว สัมผัสความรู้สึกทางกายที่ติดมายังคงอยู่และซึมลึก ฉากที่อาโอมาเมะอายุสิบขวบจับมือเท็งโกะเป็นฉากยิ่งใหญ่ที่สุด มีเขียนบรรยายรายละเอียดไว้หลายครั้ง นอกจากนั้นแล้ว ตอนที่อาโอมาเมะไปคฤหาสน์ยานางิหลังงานฆาตกรรมที่ชิบุยะ ทามารุก็ยื่นมือขวามาให้จับ มาดามแห่งคฤหาสน์ยานางิก็จับมืออาโอมาเมะด้วย ฟุคาเอริจับมือเท็งโกะไว้ตลอดในรถไฟ คิดว่านิยาย ‘1Q84’ แสดงให้เห็นซ้ำหลายครั้ง ว่ากิริยาการจับมือกันช่างสดใหม่และลึกซึ้งยิ่งนัก ทุกๆ ครั้งคุณเขียนพรรณาไว้อย่างประณีต 

มุราคามิ  พอคุณว่าอย่างนั้น ก็รู้สึกว่าจริงที่ในหนังสือเรื่องนี้มีฉากจับมือกันมากทีเดียว มีวิธีการจับมือต่างๆ นานา ไม่เคยคิดมาก่อนเลย

--- คงเป็นเพราะแก่นของนิยายเรื่อง ‘1Q84’ นี้ พูดถึงวิธีคิดถึงความรัก วิธีปลุกพลังความรัก อย่างนั้นใช่ไหม

มุราคามิ  แก่นกลางของร่างกายมีความอบอุ่นที่มั่นคงแน่นอนไม่ชืดชาไปง่ายๆ เรามีสัมผัสความรู้สึกทางกายนี้ติดตัวอยู่ คิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ ตัวละครต่างๆ อาจกำลังยืนยันความรู้สึกทางกายนี้ผ่านการจับมือ อาจกำลังค้นหาว่าหินถ่วงน้ำหนักซ่อนอยู่ที่ไหน ผมไม่รู้สึกถึงสิ่งที่เหมือนกับหินถ่วงน้ำหนักที่ว่านี้ในสาวกของโอมฯที่ผมไปสัมภาษณ์มา คำพูดของพวกเขาลื่นไหล มีตรรกะแม่นยำ ฟังเข้าใจ แต่สิ่งที่สื่อออกมาจากแก่นกลางของร่างกายเบาบางมาก

    แต่สำหรับผู้เสียหายที่ผมได้พบ พวกเขามีสิ่งนี้อยู่ เป็นความรู้สึกทางกายที่ซึมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันสร้างขึ้นมา เหมือนน้ำซึมผ่านชั้นของดินลงไป อาจเป็นสิ่งเล็กน้อยแสนธรรมดาสามัญ สิ่งที่ปรากฏออกมาอาจไม่ได้ดูดีนักสำหรับบางคน  แต่มีความรู้สึกทางกายที่ยื่นมือออกไปก็สัมผัสได้ สิ่งนั้นบอกว่าคนคนนี้เป็นคนอย่างไร สิ่งนั้นสร้างบุคลิกลักษณะของคนนั้นขึ้นมา จะประเมินค่าบุคลิกลักษณะของคนนั้นหรือจะไม่ทำ จะชอบเขาหรือไม่ชอบ  จะอย่างไรสิ่งนี้ก็มีอยู่

    ทั้งเท็งโกะและอาโอมาเมะ สามารถรับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าความอบอุ่นจากแกนกลางของร่างกายมาเป็นเจ้าของได้จากการจับมือกันแน่นเมื่อตอนอายุสิบขวบ เป็นความทรงจำทางกายที่ชัดเจนมาก ผลที่เกิดขึ้นคือความทรงจำแห่งความอบอุ่นนั้นได้ช่วยพวกเขาสองคนไว้ แต่ทั้งอุชิคาวะและทามารุคงไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนั้น

(ตอนต่อไป  :  >> วิถีฮารูกิ มูราคามิ : หลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง และการส่องสะท้อนตัวเอง)

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น)

May 25, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : อาโอมาเมะ เท็งโกะ กับวงจรที่ปิดตาย


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ

วงจรที่ปิดตาย (จบ) 

---   หมายความว่า ไม่ต้องคิดไปถึงการกระทำอย่างการฆ่าคน ก็มีเรื่องที่เราถูกระบบบังคับควบคุมในรูปแบบที่มองไม่เห็น และเราก็คิดว่าเราเลือกสิ่งนั้นด้วยความตั้งใจของเราเอง ใช่ไหม

มุราคามิ ใช่แล้ว เรื่องอย่างที่ว่าเกิดขึ้นได้ง่ายดายกว่าที่พวกเราคิดมาก อาโอมาเมะเป็นผู้หญิงที่ตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะไม่ยอมปิดโลกรอบตนเอง สมัยยังเด็ก เธอถูกพ่อแม่ปิดไว้ในโลกขององค์การศาสนาที่ชื่อว่า “โชนินไค” ถูกบังคับให้ศรัทธา แต่การจับมือกับเท็งโกะตอนอายุได้สิบขวบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เธอตัดสินใจหนีออกมาจากที่นั่น ในตอนนั้น circuit ได้เปิดออก เธอเป็นคนที่ยังคงพกเอาความรู้สึกของการ “เปิดแล้วออกไป” อย่างชัดเจนอยู่เสมอ คิดด้วยสมองของตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของเธอ

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างนั้นเป็นเรื่องที่บีบคั้นจิตใจอย่างใหญ่หลวง บางครั้งทำให้โกรธอย่างรุนแรงจนเธอทำการฆาตรกรรมต่อเนื่องอย่างมั่นใจ และถูกดึงไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่เป็นคล้ายการจัดงานรับรองทางเพศ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ สร้างตัวตนของตนเองได้ ก็เพราะเธอยังคงเชื่อมั่นมาตลอด ในความอบอุ่นและความล้ำลึกของการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่เธอรู้สึกได้เมื่อจับมือกับเท็งโกะ

สำหรับเท็งโกะ เขาไม่ได้มีความโกรธแค้นหรือสับสนขนาดนั้น แต่ก็มีความคิดอย่างมั่นคงว่าจะต้องเปิดตนเองออกไป ดังนั้นเขาจึงพยายามออกห่างจากพ่อที่ทำท่าจะขังเขาไว้ในโลกแคบๆ และเคลื่อนจากโลกที่สงบเงียบอย่างสมบูรณ์ของคณิตศาสตร์ไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยความสับสนของเรื่องแต่ง แต่เขาไม่ใช่คนประเภทที่กระตือรือร้น รุกราน หรือในบ้างครั้งก็ใช้กำลังทำลายระบบที่มีอยู่แล้วอย่างอาโอมาเมะ พร้อมๆกับที่เขาพยายามเปิดตัวเอง ก็มีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะหยุดยั้งเงียบๆอยู่ในโลกที่สงบของเขากับแฟนสาวอายุมากกว่า

อาโอมาเมะกับเท็งโกะ สองคนนี้แต่ละคนจะมีชีวิตรอดอยู่ในโลก ‘1Q84’ ได้อย่างไร การรักษาความเป็นตัวเองทั้งที่อยู่ภายในระบบ เป็นงานลำบากยากเข็ญและโดดเดี่ยวหาที่สิ้นสุดมิได้ ผมคิดว่า ‘1Q84’ เป็นเรื่องของการอดทนทำงานนั้น พร้อมไปกับการเสาะหาหนทางในการรวมใจเข้าด้วยกันอีกสักครั้ง แต่ตอนที่กำลังเขียนอยู่ไม่ได้คิดถึงเรื่องแบบนี้เลย

(ตอนหน้า หวานกว่านี้ :  จับมือฉันไว้ แล้วไปด้วยกัน) 
(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น) 


May 23, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ


วงจรที่ปิดตาย (ต่อ) 

--- มีบางคนมองว่า ‘1Q84’  ประสบความสำเร็จบนพื้นฐานของ ‘underground’ และ ‘ณ สถานที่นัดพบ’ (1998)  ซึ่งเป็นงานของคุณ คุณคิดอย่างไร


มุราคามิ “ซาคิงาเขะ” ซึ่งเป็นลัทธิศาสนาใหม่ เป็นแกนกลางในฉากของเรื่องในระดับหนึ่ง จึงช่วยไม่ได้ที่ทางสื่อจะนำไปเปรียบว่าเขียนโดยมีโอมฯเป็นแบบ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญนักในนิยาย

สิ่งที่ผมหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเป็นเรื่องภายในมากกว่านั้น เรื่องของสภาพทางจิตใจที่คดีโอมฯทำให้เกิดขึ้น หรือที่คดีโอมฯเป็นตัวนำพามา สภาพจิตใจแบบ pre-โอม post-โอม สิ่งที่เป็นเหมือนความมืดมัวที่หลบซ่อนอยู่ในพวกเราแต่ละคน สิ่งที่ผมอยากหยิบยกเป็นประเด็นคือสิ่งนี้

--- หากมองคดีโอมฯในโลกของสื่อ มีการวาดแผนภาพเพียงว่าโอมฯเป็นสิ่งชั่วร้าย คนดีๆถูกฆ่าตายโดยไร้เหตุผล คิดว่าบทบาทของสื่อก็เป็นอย่างนั้น แต่พอลงลึกเข้าไปในความชั่วร้าย ก็จะมองเห็นว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นใช่ไหม

มุราคามิ นั่นสิ ความดีเลวไม่ใช่มโนคติแบบสัมบูรณ์ เป็นแค่มโนคติแบบสัมพัทธ์ บางกรณีสลับสับเปลี่ยนกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็มี เพราะฉะนั้นแทนที่จะมายืนยันกันว่าอะไรคือความดีอะไรคือความเลว ปัจเจกแต่ละคนต้องยืนยันให้ได้ว่าในแต่ละกรณี สิ่งที่ “บังคับควบคุม” พวกเราอยู่ในตอนนี้ เป็นสิ่งที่ดีหรือเลวกันแน่ การทำอย่างนั้นจะโดดเดี่ยวมาก และบีบคั้นจิตใจมากทีเดียว ก่อนอื่นต้องรู้ให้ได้ว่าตนกำลังถูกบังคับควบคุมในเรื่องอะไร

อีกประเด็นหนึ่ง ระบบนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน แทบทุกกรณีจะไม่ยอมรับการตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจกโดยปัจเจก ตัวอย่างกรณีนายอะซาฮาระ (เจ้าลัทธิโอมชินริเคียว) เวลาเขาจะบังคับควบคุมคนในองค์การสักอย่าง ก่อนอื่นจะต้องฝึกให้ปัจเจกแต่ละคนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าความศรัทธาอย่างสมบูรณ์  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “closed circuit”  ปิด circuit เสียไม่ให้ออกไป แล้วให้วิ่งไปตามการตัดสินจากเบื้องบนเหมือนกับหนู พอเจอแบบนั้นคนเราก็จะสูญเสียความรู้สึกเรื่องทิศทาง ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในสภาพที่ตัดสินไม่ได้แม้กระทั่งว่า พลังที่บังคับควบคุมตนอยู่เป็นสิ่งดีหรือเลวกันแน่

ถ้าเป็น open circuit การตัดสินโดยปัจเจกจะสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าปิดไปเสียครั้งหนึ่งแล้วก็จะไม่สามารถทำได้อีก มีคนพูดว่า ตอนที่ถูกสั่งให้ปล่อยแก๊สพิษซารินตอบว่า ไม่ เสียก็สิ้นเรื่อง หรือหอบถุงใส่สารซารินหนีไปก็ได้ แต่ถ้าเข้าไปใน closed circuit เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทำอะไรอย่างนั้นไม่ได้ แต่ในทางกฎหมายเรื่องก็ต้องพิจารณาไปตามตรงในฐานะอาชญากรรม และเมื่อพิจารณาแล้วก็มีความผิด เมื่อมีความผิดตามน้ำหนักของความผิดก็หนีการพิพากษาโทษประหารชีวิตไปไม่ได้ ความน่ากลัวที่ว่านี้ ผมสัมผัสได้อย่างรุนแรงในศาล

นายอะซาฮาระไปเรียนรู้เรื่องระบบอย่างนั้นมาจากไหน เขาเรียนรู้จากอำนาจรัฐ นาซีใช้การศึกษาทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ทำให้ circuit กลายเป็นระบบปิด แล้วยัดเยียดคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวลงมาจากเบื้องบน 

คนที่ชื่อไอชมันน์(คลิกไปดูรายละเอียด)คงไม่ได้ดีและไม่ได้เลว เพียงแต่เขาเป็นข้าราชการที่มีความสามารถ ทำงานที่ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียบร้อย สำหรับเขา เขาไม่มีมาตรฐานในการตัดสินว่าเนื้อหาของคำสั่งเป็นสิ่งดีหรือเลว และไม่คิดจะทำเช่นนั้นด้วย ดังนั้น หลังสงคราม เมื่อเขาถูกจับและถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตที่อิสราเอล เขาจึงไม่สามารถทำความเข้าใจความหมายนั้นได้เลย ผมดูภาพยนตร์ที่บันทึกเรื่องราวนี้ไว้หลายเรื่อง ตัวเขาเองไม่เข้าใจเลยว่าทำไมตนจึงต้องรับโทษประหารชีวิต

การปิดกั้นทางความคิดเช่นนี้ ลองคิดดูแล้วน่ากลัวจริงๆ โดยเฉพาะในสังคมอินเตอร์เน็ตที่ข้อมูลมีมากจนล้นอย่างในปัจจุบัน เรายิ่งไม่รู้มากขึ้นเรื่อยๆว่าตอนนี้เรากำลังถูกบังคับควบคุมโดยอะไร แม้กระทั่งเรื่องที่เราคิดว่าเราทำด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่ที่จริงแล้วอาจถูกบังคับควบคุมโดยข้อมูลบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น) 

May 21, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : จากชื่อเรื่อง สู่ตัวละคร สู่ "ซาคิงาเขะ" โครงสร้างฉากหลัง


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ

วงจรที่ปิดตาย


--- ในช่วงแรกไม่มีเศษเสี้ยวของ สิ่งที่เป็นคล้ายๆ “ซาคิงาเขะ”  หรือตัวตนของท่านผู้นำบ้างเลยหรือ

มุราคามิ ผมไปฟังการพิจารณาคดีโอมชินริเคียว (คลิกเพื่อดูรายละเอียด) ในศาล ไปทั้งศาลจังหวัดโตเกียวและศาลสูง จดบันทึกการพิจารณาในสมุดโน้ตไว้หลายเล่ม รู้สึกว่าน่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นไม่อยากเขียนเรื่องบนความจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีโอมชินริเคียวอีก แล้วก็ไม่อยากทำเป็นเรื่องแต่งด้วย ส่วนมากผมจะไปฟังการพิจารณาแบบที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าฟังได้ในคดีของนายยาสุโอะ ฮายาชิ พอได้เห็นคนตัวเป็นๆอยู่ต่อหน้าตลอดเวลา ก็รู้สึกว่าความเป็นจริงนั้นหนักหน่วงเหลือเกิน ไม่ใช่เรื่องที่จะโยกเอาไปเป็นวัตถุดิบของเรื่องแต่งง่ายๆ ได้ 

แล้วถ้าอย่างนั้นจะเขียนอะไร คิดว่าต้องเอาความรู้สึก ภาพที่ประทับอยู่ในใจ ความสับสน เหล่านี้ที่ได้รู้สึกได้สัมผัสมาด้วยตัวเองในตอนนั้น มาแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง คดีโอมชินริเคียวที่เกี่ยวข้องกับคดีปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดิน การพิจารณาของศาล สิ่งเหล่านี้สะสมอยู่ในตัวผม อยากเก็บเอาไว้ในรูปแบบใดสักอย่างที่ต่างออกไป นั่นคงเป็นแรงจูงใจสำคัญในตอนนั้น 

ใน ‘After Dark’ ก็มีความรู้สึกและความเห็นที่มัวหม่นของผมแทรกซึมกระจัดกระจายอยู่ มันออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่จะเสนอสิ่งนั้นออกมาในเรื่องราวขนาดยาวและใหญ่อย่าง ‘1Q84’ อย่างไร เป็นปัญหาที่ยาก เรื่องขนาดกลางกับเรื่องขนาดยาว น้ำหนักของวัตถุดิบก็จะต่างกันอยู่แล้ว แต่ในกรณี ‘1Q84’ คิดว่าสาระสำคัญถูกนำเข้าไปไว้ในตัวโครงสร้างของเรื่อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง

คนที่รับคำสั่งจากนายอะซาฮาระให้ปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดินจนถูกพิพากษาประหารชีวิต พวกเขาคงยังไม่รับรู้คำพิพากษาในฐานะความเป็นจริง พวกเขาเข้าไปใกล้โอมฯด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น ไปเรียนโยคะอยู่ดีๆ ก็ก้าวเข้าไปในขอบข่ายเรื่องทางศาสนา ถูกดึงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งทั้งที่ยังไม่เข้าใจ น่าจะรู้สึกแบบนั้นอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่พวกเขาทำในความเป็นจริงบนโลกใบนี้ ตามน้ำหนักของความผิดก็ต้องรับโทษประหารชีวิตสถานเดียว สำหรับพวกเขาแล้วจะรู้สึกกับเรื่องนี้ในฐานะความเป็นจริงเสมือนหรือเปล่า มีคนพูดกันมากว่าหากไม่มีเรื่องเช่นนั้น พวกเขาส่วนมากคงมีชีวิตอยู่ไปได้อย่างธรรมดาๆในฐานะหนุ่มสาวที่เอาการเอางาน แม้อาจจะเอาการเอางานมากเกินไปสักหน่อย

--- หลังจากที่คุณสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ก็ไปเก็บข้อมูลทางฝ่ายโอมฯมาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นจริงจากทั้งสองด้านไม่ทำสร้างความรู้สึกขัดแย้งบ้างหรือ

มุราคามิ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหาย ที่คิดว่าตัดสินประหารชีวิตผู้ลงมือกระทำผิดเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้ว ผมได้ไปนั่งอยู่ตรงหน้าพวกเขา ไม่สามารถแย้งความรู้สึกที่ว่านั้น และก็ไม่คิดจะพูดด้วย แต่ถ้าถูกวางอยู่ในสถานะของฝ่ายผู้กระทำ ก็เข้าใจได้ว่า คงไม่สามารถรับรู้ถึงโลกที่ตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในตอนนี้ในฐานะความเป็นจริงได้

สภาวะที่แค่ลงบันไดฉุกเฉินแล้วกลายเป็นหลงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งอย่างใน “1Q84” ซ้อนทับอย่างมีนัยสำคัญกับการรับรู้ที่ว่านั้น แต่ไม่เหมือนโลกคู่ขนานที่สร้างขึ้นมาเล่นๆ หรืออยู่ในนิยาย ที่นั่นมีความน่ากลัวอย่างน่าขนลุกของความเป็นจริง เทียบ “ซาคิงาเขะ” กับโอมฯแล้ว ความคล้ายคลึงในด้านข้อเท็จจริงเป็นเพียงระดับผิวเผิน ผมคิดว่าความน่ากลัวในตัวโครงสร้างสิที่เป็นจริงกว่า จริงจังกว่า

(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ)
(ภาพประกอบสัมภาษณ์ในนิตยสาร Thinker)

May 20, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : 1Q84 จากชื่อเรื่องสู่ตัวละครและพล็อต


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน)  ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(ใครยังไม่ได้อ่านความเดิมตอนที่แล้ว คลิกไปอ่านก่อนได้ >>ที่นี่ค่ะ)

‘1Q84’ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
--- หลังจากได้ชื่อเรื่อง  ‘1Q84’  พล็อตนิยายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มุราคามิ พล็อตนิยายไม่มีเลย

--- ถ้าอย่างนั้นนึกออกเมื่อไร ว่าการที่ BOOK1 และ BOOK2 จะมีเล่มละ 24 บทตามรวมผลงาน Das Wohltemperierte Klavier เล่ม 1 และ 2 ของบาค

มุราคามิ พอนึกออกว่าจะเขียนถึงอาโอมาเมะกับเท็งโกะสลับกันไป ก็ตัดสินใจว่าจะทำตามรูปแบบของ Das Wohltemperierte Klavier เพราะผมชอบ “การผูกมัด” แต่ตอนที่เริ่มเขียนในหัวยังไม่มีพล็อตเลยว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร

--- ลักษณะเฉพาะของอาโอมาเมะ ลักษณะเฉพาะของเท็งโกะ การสร้างตัวละครไม่มีโผล่ขึ้นมารางๆตั้งแต่แรกบ้างหรือ

มุราคามิ  ไม่มีการสร้างตัวละครเลย เริ่มจากการกำหนดชื่อก่อน พอคิดชื่ออาโอมาเมะออก ก็คิดว่า เออ ชื่อนี้ใช้ได้ ต่อไปคิดชื่อเท็งโกะ แล้วก็รู้ว่านิยายเรื่องนี้ต้องสนุกแน่ เรื่องแบบนี้แค่ชื่อก็รู้แล้ว ขอนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ที่เมืองทาคายามะเขตฮิดะดูเหมือนจะมีครอบครัวนามสกุลอาโอมาเมะอยู่จริงๆ ได้ยินว่าเขาส่งอีเมล์มาที่สำนักพิมพ์

พอได้ชื่อเรื่อง 1Q84’ ได้ชื่อ อาโอมาเมะ เท็งโกะ ระหว่างที่เขียนไปรายละเอียดของตัวละครคงออกมาเอง ทีนี้ก็มาถึงการเริ่มเรื่อง ฉากที่อาโอมาเมะลงบันไดฉุกเฉินของทางด่วนโผล่ออกมาได้อย่างไร ผมเคยได้ยินข่าวที่ว่า ตอนรถติดบนทางด่วน มีคนจอดรถแล้วปีนบันไดฉุกเฉินลงมา

---  มีเรื่องอย่างนั้นเกิดขึ้นจริงหรือ

มุราคามิ  นึกสถานที่หรือเหตุการณ์ในรายละเอียดไม่ออกแล้ว แต่ข่าวนั้นมันหลงค้างอยู่ในหัวอย่างแปลกๆ ตั้งแต่นั้นมาพอขับรถบนทางด่วนทีไรก็มองหาบันไดฉุกเฉินทุกที (หัวเราะ) ตอนขับรถอยู่บนทางด่วนมหานครหมายเลขสามแล้วรถติด ก็นึกขึ้นมาว่า ถ้าลงบันไดฉุกเฉินแถวซังเกนจายะแล้วกลายเป็นโลกอีกใบจะเป็นอย่างไร ถ้านั่นเป็นโลกของ ‘1Q84’ ล่ะจะเป็นอย่างไร

--- คิดว่าถ้าลงบันไดฉุกเฉินไปแล้ว เรื่องราวก็จะเคลื่อนไป

มุราคามิ  ใช่ ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่าอะไรจะเปลี่ยนอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ไม่รู้เลยจริงๆ แต่ทั้งที่ไม่รู้ก็วางอาโอมาเมะลงไปในสถานการณ์รถติด ให้เธอลองปีนบันไดฉุกเฉินลงมาดีกว่า ทำไมเธอถึงรีบขนาดนั้น มีธุระแบบไหนกัน มีภารกิจอะไรติดตัวอยู่หรือ พอเขียนต่อไปเรื่องก็ค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เขียนจบบทแรก ขึ้นบทที่สองเป็นบทของเท็งโกะ เอาละ ลองคิดว่าผู้ชายที่ชื่อเท็งโกะจะเป็นคนอย่างไร กำลังทำอะไร ดูเหมือนเขาจะมีปัญหาส่วนตัวบางอย่างอยู่ และเรื่องนั้นจะมาเชื่อมโยงกับอาโอมาเมะในจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเช่นสองคนนี้ยังคงต้องการกันและกันอย่างลึกซึ้งและรุนแรง หลังแยกจากกันเมื่อนานมาแล้ว อาจเป็นเช่นนั้น


(ภาพประกอบ Reality is changing - 1Q84, by Marina Federova) 


(คลิกอ่านตอนต่อไป  >> จากชื่อเรื่อง สู่ตัวละคร สู่ "ซาคิงาเขะ" โครงสร้างฉากหลัง)