May 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : หลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง และการส่องสะท้อนตัวเอง

ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ขุดเรื่องราวออกมา   

มุราคามิ  ต่างจากตัวละครในเรื่อง 1Q84  ตัวผมเอง สมัยเป็นเด็ก ไม่มีความทรงจำว่ามีบาดแผลถูกทำร้ายจิตใจเลย ผมโตมาในย่านที่อยู่อาศัยสงบเงียบที่ชุกุงาวะและอะชิยะ เป็นเด็กในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นลูกคนเดียวเลยไม่มีการแก่งแย่ง ไม่มีปัญหาครอบครัว ผลการเรียนแค่ธรรมดาๆ ไม่ได้ดีนัก อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกับแมว  ใช้ชีวิตเรียบๆ สามัญทั่วไป โรงเรียนก็ไปโรงเรียนรัฐบาลธรรมดา มีเพื่อนพอสมควร ออกเดตกับแฟน เที่ยวเล่นนอกบ้านบ่อยๆ  ชีวิตปลอดโปร่งราบรื่นมาตลอด สรุปได้ว่าไม่มีเรื่องที่อยากเขียนเป็นนิยายสักเรื่องเดียว

    ผมอ่านหนังสือมากมายมหาศาล อ่านมากขนาดนั้น โดยทั่วไปคงอยากเขียนอะไรขึ้นมาเองบ้าง แต่ไม่รู้ทำไมไม่รู้สึกอยากเขียนนิยายเลยจนอายุยี่สิบเก้า ทำไมหรือ เพราะไม่มีเรื่องที่ควรเขียนน่ะสิ ในตัวผมไม่มีอะไรที่เป็น drama เลยสักนิด

    ยุคก่อนหน้านั้น มีสงคราม มีความยากจน สิ่งที่ควรเขียนมีอยู่ทุกหนแห่ง ในเชิงอุดมการณ์ก็มีการเขียนเรื่องอย่าง ‘Kanikosen’ ( http://en.wikipedia.org/wiki/Kanik%C5%8Dsen ) ออกมา แต่เรื่องที่ผมอยากเขียนหรือที่ผมควรเขียนไม่มีเลย เพราะอย่างนั้นพอออกจากมหาวิทยาลัย เปิดร้าน มีหนี้ ก็ทำงานงกๆ ไม่ลืมหูลืมตาทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งตอนอายุยี่สิบเก้า เกิดคิดขึ้นมาว่า “อ๊ะ อาจจะเขียนได้” แค่คิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ เริ่มแรกไม่รู้จะเขียนอะไรดี ก็เลยเริ่มจากการเขียนสิ่งที่นึกได้ลงไป

    ทีนี้ ระหว่างเขียนก็มีสิ่งที่ค่อยๆ ตระหนักรู้ขึ้นมา รู้ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าสมัยเป็นเด็กตัวเองไม่เคยมีบาดแผลเลย   คนเรา ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหน ในขั้นตอนการเติบโตแต่ละคนก็สร้างบาดแผลให้ตัวเอง ทำตัวเองบาดเจ็บ เพียงแต่เราอาจไม่รู้ตัว




 --- เพิ่งรู้ตัวเมื่อเริ่มเขียนนิยายตอนอายุยี่สิบเก้าหรือ
มุราคามิ  อาจรู้จากการแต่งงาน พอยืนได้ด้วยตัวเอง ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ว่อกแว่กไปทางอื่น รู้ว่าตัวเรา ในความหมายหนึ่งก็สูญเสีย มีบาดแผล บาดเจ็บมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นผมคิดว่าตัวเองโตมาตามสบายในสภาพแวดล้อมสงบสุขไร้ปัญหา มีวัยเด็กที่มีความสุขพอสมควร แต่ก็อาจพูดไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้นเพียงอย่างเดียว

    ผมไม่ได้จะตำหนิพ่อแม่หรอกนะ พ่อแม่ก็แค่ทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ไม่ว่าสัตว์ชนิดไหนก็เหมือนกัน ส่งมอบทักษะวิธีดำรงชีวิตอยู่ต่อไปให้กับลูก แต่มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่น เรามีชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมที่ซับซ้อนมาก วิธีการก็เลยยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่การส่งมอบวิธีการที่ว่านี้ ในความหมายหนึ่งก็คือการปิด circuit ให้แคบลงเรื่อยๆ เข้าใจใช่ไหม

--- เข้าใจดีเลยครับ

มุราคามิ  พอผมยืนได้ด้วยตัวเอง เป็นอิสระ ทำงานด้วยตัวเอง สร้างระบบการดำรงชีวิตของตัวเอง ก็ค่อยๆ รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองมีบาดแผลมามากแค่ไหน อาจดูเหมือนย้ำ แต่ไม่ใช่จะติหนิพ่อแม่หรอกนะ วิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตของเราแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ก็ช่วยไม่ได้ จากตรงนั้น จากความเจ็บปวดนั้น จากความรู้สึกแปลกแยก เรื่องราวจากภายในของตัวเองก็เกิดออกมา

    ผู้คนมีบาดแผลทางใจที่ออกมาใน ‘1Q84’ ถูกขยายขึ้นจนสุดขั้ว เป็นการขยายจนเกินจริง แต่ก็เป็นภาพสะท้อนตัวของผมเองเหมือนกัน ผมรู้สึกอย่างนั้นระหว่างเขียน เพราะฉะนั้นจึงเขียนเรื่องราวได้สมจริง หรือว่าเราอาจเคยเป็นอย่างนั้น สามารถเอาตัวเองลงไปวางในสถานการณ์ของคนอื่นแล้วเขียนออกมาเป็นเรื่องราวได้ พอทำอย่างนั้นแล้ว ตัวละครก็จะลุกขึ้นมา เคลื่อนไหวไปด้วยตัวเอง

--- ระหว่างที่เขียนนิยาย คุณรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเองอาจเคยมีบาดแผล เคยบาดเจ็บ ความตระหนักรู้ที่ว่านั้น จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ในตอนนี้สิ่งที่เป็นบาดแผลก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า การเขียนนิยายมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนตัวเองลงไปในเรื่องแต่ง คุณมองเห็นหนทางคลี่คลายตามแบบของคุณหรือยัง

มุราคามิ  ตั้งแต่ผมขุดหลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง ให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น ระดับของการตรวจสอบตัวเองก็ลึกขึ้นด้วย ผมทำต่อเนื่องมากว่าสามสิบปีแล้ว ยิ่งขุดลึกลงไปก็มองเห็นเรื่องราวจากมุมอื่นได้มากขึ้น มองได้หลายชั้นขึ้น ทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าขุดหลุมให้ลึกลงไปอีกไม่ได้ก็ไม่มีความหมายที่จะเขียนนิยายอีกแล้ว

    อย่างที่พูดเมื่อกี้ ตอนแรกคิดว่าในตัวเองไม่มี drama ไม่มีความเป็นเรื่องแต่ง ก็เลยเลือกสถานที่ที่น่าจะมีอะไรสักอย่าง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดลงไป ขุดอย่างเดียว ระหว่างที่ทำ ขาและสะโพกก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ดึงเอาเรื่องราวออกมาได้มากขึ้น ยาวขึ้น เรื่องราวที่ว่านี้สุดท้ายแล้วก็ออกมาจากรากของตัวเอง การดึงเอารากนั้นออกมาสู่สายตา บางกรณีเป็นเรื่องโหดร้ายอย่างยิ่งกับตัวผมเอง บางครั้งต้องมองสิ่งที่ไม่อยากมอง การจะทนต่องานเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำสำนวนการเขียนให้หนักแน่น

 
(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ที่มาที่ไปของ 1Q84 เล่ม ๓)

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น)

May 28, 2012

วิถีฮารุกิ มูราคามิ : ตัวตนของตัวละคร สัมผัสจากการจับมือ

ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)


จับมือกันไว้ แล้วไปด้วยกัน

--- ผู้คนที่ออกมาใน ‘1Q84’  นอกจากเท็งโกะและอาโอมาเมะแล้ว แม้แต่ทามารุ อุชิคาวะ มาดามแห่งคฤหาสน์ยานางิ ทุกคนต่างถูกบังคับให้มีชีวิตอย่างอดกลั้นในวัยเด็ก และมีบาดแผลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผู้คนที่ถ้ายังคงเป็นอย่างนั้นอาจพังทลายไป พวกเขาต่างหลุดรอดออกมาด้วยกำลังของตนเอง สร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาได้ท่ามกลางความโดดเดี่ยว คิดว่าในเรื่องนี้ค่อนข้างบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัจเจกผู้ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าระบบต้องสร้างตัวตนท่ามกลางความโดดเดี่ยว

มุราคามิ     การสร้างตัวตนของตนเองนั้น สำหรับปัจเจกแต่ละคนบางคนก็ประสบผลสำเร็จ แต่ที่ไม่สำเร็จก็มี กรณีอาโอมาเมะกับเท็งโกะมีประเด็นสำคัญคือความรัก แต่สำหรับทามารุหรืออุชิคาวะ ความรักไม่ได้มีพลังที่ทำให้เกิดผลขนาดนั้น ทามารุทั้งแข็งแกร่งและเยือกเย็น เป็นคนที่มีเสน่ห์มาก แต่ว่าไปแล้วเขาตกลงใจลงเอยอยู่ในสถานที่ที่กำลังอยู่ในตอนนี้ เขาไม่ใช่คนที่ต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ ทำไมน่ะหรือ เพราะถ้ามองเรื่องการเรียกร้องต้องการความรัก จากกรณีของอาโอมาเมะก็จะเข้าใจว่าการเรียกร้องต้องการความรักนั้นในขณะเดียวกันก็เป็นการต้อนตัวเองเข้าสู่ภาวะอันตราย อุชิคาวะเองสุดท้ายก็มุ่งไปสู่จุดจบเช่นนั้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง

--- ใน ‘1Q84’ สิ่งที่ลืมเลือนได้ยากคือฉากการจับมือกัน พออ่านจบแล้ว สัมผัสความรู้สึกทางกายที่ติดมายังคงอยู่และซึมลึก ฉากที่อาโอมาเมะอายุสิบขวบจับมือเท็งโกะเป็นฉากยิ่งใหญ่ที่สุด มีเขียนบรรยายรายละเอียดไว้หลายครั้ง นอกจากนั้นแล้ว ตอนที่อาโอมาเมะไปคฤหาสน์ยานางิหลังงานฆาตกรรมที่ชิบุยะ ทามารุก็ยื่นมือขวามาให้จับ มาดามแห่งคฤหาสน์ยานางิก็จับมืออาโอมาเมะด้วย ฟุคาเอริจับมือเท็งโกะไว้ตลอดในรถไฟ คิดว่านิยาย ‘1Q84’ แสดงให้เห็นซ้ำหลายครั้ง ว่ากิริยาการจับมือกันช่างสดใหม่และลึกซึ้งยิ่งนัก ทุกๆ ครั้งคุณเขียนพรรณาไว้อย่างประณีต 

มุราคามิ  พอคุณว่าอย่างนั้น ก็รู้สึกว่าจริงที่ในหนังสือเรื่องนี้มีฉากจับมือกันมากทีเดียว มีวิธีการจับมือต่างๆ นานา ไม่เคยคิดมาก่อนเลย

--- คงเป็นเพราะแก่นของนิยายเรื่อง ‘1Q84’ นี้ พูดถึงวิธีคิดถึงความรัก วิธีปลุกพลังความรัก อย่างนั้นใช่ไหม

มุราคามิ  แก่นกลางของร่างกายมีความอบอุ่นที่มั่นคงแน่นอนไม่ชืดชาไปง่ายๆ เรามีสัมผัสความรู้สึกทางกายนี้ติดตัวอยู่ คิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ ตัวละครต่างๆ อาจกำลังยืนยันความรู้สึกทางกายนี้ผ่านการจับมือ อาจกำลังค้นหาว่าหินถ่วงน้ำหนักซ่อนอยู่ที่ไหน ผมไม่รู้สึกถึงสิ่งที่เหมือนกับหินถ่วงน้ำหนักที่ว่านี้ในสาวกของโอมฯที่ผมไปสัมภาษณ์มา คำพูดของพวกเขาลื่นไหล มีตรรกะแม่นยำ ฟังเข้าใจ แต่สิ่งที่สื่อออกมาจากแก่นกลางของร่างกายเบาบางมาก

    แต่สำหรับผู้เสียหายที่ผมได้พบ พวกเขามีสิ่งนี้อยู่ เป็นความรู้สึกทางกายที่ซึมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันสร้างขึ้นมา เหมือนน้ำซึมผ่านชั้นของดินลงไป อาจเป็นสิ่งเล็กน้อยแสนธรรมดาสามัญ สิ่งที่ปรากฏออกมาอาจไม่ได้ดูดีนักสำหรับบางคน  แต่มีความรู้สึกทางกายที่ยื่นมือออกไปก็สัมผัสได้ สิ่งนั้นบอกว่าคนคนนี้เป็นคนอย่างไร สิ่งนั้นสร้างบุคลิกลักษณะของคนนั้นขึ้นมา จะประเมินค่าบุคลิกลักษณะของคนนั้นหรือจะไม่ทำ จะชอบเขาหรือไม่ชอบ  จะอย่างไรสิ่งนี้ก็มีอยู่

    ทั้งเท็งโกะและอาโอมาเมะ สามารถรับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าความอบอุ่นจากแกนกลางของร่างกายมาเป็นเจ้าของได้จากการจับมือกันแน่นเมื่อตอนอายุสิบขวบ เป็นความทรงจำทางกายที่ชัดเจนมาก ผลที่เกิดขึ้นคือความทรงจำแห่งความอบอุ่นนั้นได้ช่วยพวกเขาสองคนไว้ แต่ทั้งอุชิคาวะและทามารุคงไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนั้น

(ตอนต่อไป  :  >> วิถีฮารูกิ มูราคามิ : หลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง และการส่องสะท้อนตัวเอง)

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น)

May 25, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : อาโอมาเมะ เท็งโกะ กับวงจรที่ปิดตาย


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ

วงจรที่ปิดตาย (จบ) 

---   หมายความว่า ไม่ต้องคิดไปถึงการกระทำอย่างการฆ่าคน ก็มีเรื่องที่เราถูกระบบบังคับควบคุมในรูปแบบที่มองไม่เห็น และเราก็คิดว่าเราเลือกสิ่งนั้นด้วยความตั้งใจของเราเอง ใช่ไหม

มุราคามิ ใช่แล้ว เรื่องอย่างที่ว่าเกิดขึ้นได้ง่ายดายกว่าที่พวกเราคิดมาก อาโอมาเมะเป็นผู้หญิงที่ตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะไม่ยอมปิดโลกรอบตนเอง สมัยยังเด็ก เธอถูกพ่อแม่ปิดไว้ในโลกขององค์การศาสนาที่ชื่อว่า “โชนินไค” ถูกบังคับให้ศรัทธา แต่การจับมือกับเท็งโกะตอนอายุได้สิบขวบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เธอตัดสินใจหนีออกมาจากที่นั่น ในตอนนั้น circuit ได้เปิดออก เธอเป็นคนที่ยังคงพกเอาความรู้สึกของการ “เปิดแล้วออกไป” อย่างชัดเจนอยู่เสมอ คิดด้วยสมองของตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของเธอ

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างนั้นเป็นเรื่องที่บีบคั้นจิตใจอย่างใหญ่หลวง บางครั้งทำให้โกรธอย่างรุนแรงจนเธอทำการฆาตรกรรมต่อเนื่องอย่างมั่นใจ และถูกดึงไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่เป็นคล้ายการจัดงานรับรองทางเพศ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ สร้างตัวตนของตนเองได้ ก็เพราะเธอยังคงเชื่อมั่นมาตลอด ในความอบอุ่นและความล้ำลึกของการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่เธอรู้สึกได้เมื่อจับมือกับเท็งโกะ

สำหรับเท็งโกะ เขาไม่ได้มีความโกรธแค้นหรือสับสนขนาดนั้น แต่ก็มีความคิดอย่างมั่นคงว่าจะต้องเปิดตนเองออกไป ดังนั้นเขาจึงพยายามออกห่างจากพ่อที่ทำท่าจะขังเขาไว้ในโลกแคบๆ และเคลื่อนจากโลกที่สงบเงียบอย่างสมบูรณ์ของคณิตศาสตร์ไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยความสับสนของเรื่องแต่ง แต่เขาไม่ใช่คนประเภทที่กระตือรือร้น รุกราน หรือในบ้างครั้งก็ใช้กำลังทำลายระบบที่มีอยู่แล้วอย่างอาโอมาเมะ พร้อมๆกับที่เขาพยายามเปิดตัวเอง ก็มีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะหยุดยั้งเงียบๆอยู่ในโลกที่สงบของเขากับแฟนสาวอายุมากกว่า

อาโอมาเมะกับเท็งโกะ สองคนนี้แต่ละคนจะมีชีวิตรอดอยู่ในโลก ‘1Q84’ ได้อย่างไร การรักษาความเป็นตัวเองทั้งที่อยู่ภายในระบบ เป็นงานลำบากยากเข็ญและโดดเดี่ยวหาที่สิ้นสุดมิได้ ผมคิดว่า ‘1Q84’ เป็นเรื่องของการอดทนทำงานนั้น พร้อมไปกับการเสาะหาหนทางในการรวมใจเข้าด้วยกันอีกสักครั้ง แต่ตอนที่กำลังเขียนอยู่ไม่ได้คิดถึงเรื่องแบบนี้เลย

(ตอนหน้า หวานกว่านี้ :  จับมือฉันไว้ แล้วไปด้วยกัน) 
(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น) 


May 23, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ


วงจรที่ปิดตาย (ต่อ) 

--- มีบางคนมองว่า ‘1Q84’  ประสบความสำเร็จบนพื้นฐานของ ‘underground’ และ ‘ณ สถานที่นัดพบ’ (1998)  ซึ่งเป็นงานของคุณ คุณคิดอย่างไร


มุราคามิ “ซาคิงาเขะ” ซึ่งเป็นลัทธิศาสนาใหม่ เป็นแกนกลางในฉากของเรื่องในระดับหนึ่ง จึงช่วยไม่ได้ที่ทางสื่อจะนำไปเปรียบว่าเขียนโดยมีโอมฯเป็นแบบ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญนักในนิยาย

สิ่งที่ผมหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเป็นเรื่องภายในมากกว่านั้น เรื่องของสภาพทางจิตใจที่คดีโอมฯทำให้เกิดขึ้น หรือที่คดีโอมฯเป็นตัวนำพามา สภาพจิตใจแบบ pre-โอม post-โอม สิ่งที่เป็นเหมือนความมืดมัวที่หลบซ่อนอยู่ในพวกเราแต่ละคน สิ่งที่ผมอยากหยิบยกเป็นประเด็นคือสิ่งนี้

--- หากมองคดีโอมฯในโลกของสื่อ มีการวาดแผนภาพเพียงว่าโอมฯเป็นสิ่งชั่วร้าย คนดีๆถูกฆ่าตายโดยไร้เหตุผล คิดว่าบทบาทของสื่อก็เป็นอย่างนั้น แต่พอลงลึกเข้าไปในความชั่วร้าย ก็จะมองเห็นว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นใช่ไหม

มุราคามิ นั่นสิ ความดีเลวไม่ใช่มโนคติแบบสัมบูรณ์ เป็นแค่มโนคติแบบสัมพัทธ์ บางกรณีสลับสับเปลี่ยนกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็มี เพราะฉะนั้นแทนที่จะมายืนยันกันว่าอะไรคือความดีอะไรคือความเลว ปัจเจกแต่ละคนต้องยืนยันให้ได้ว่าในแต่ละกรณี สิ่งที่ “บังคับควบคุม” พวกเราอยู่ในตอนนี้ เป็นสิ่งที่ดีหรือเลวกันแน่ การทำอย่างนั้นจะโดดเดี่ยวมาก และบีบคั้นจิตใจมากทีเดียว ก่อนอื่นต้องรู้ให้ได้ว่าตนกำลังถูกบังคับควบคุมในเรื่องอะไร

อีกประเด็นหนึ่ง ระบบนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน แทบทุกกรณีจะไม่ยอมรับการตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจกโดยปัจเจก ตัวอย่างกรณีนายอะซาฮาระ (เจ้าลัทธิโอมชินริเคียว) เวลาเขาจะบังคับควบคุมคนในองค์การสักอย่าง ก่อนอื่นจะต้องฝึกให้ปัจเจกแต่ละคนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าความศรัทธาอย่างสมบูรณ์  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “closed circuit”  ปิด circuit เสียไม่ให้ออกไป แล้วให้วิ่งไปตามการตัดสินจากเบื้องบนเหมือนกับหนู พอเจอแบบนั้นคนเราก็จะสูญเสียความรู้สึกเรื่องทิศทาง ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในสภาพที่ตัดสินไม่ได้แม้กระทั่งว่า พลังที่บังคับควบคุมตนอยู่เป็นสิ่งดีหรือเลวกันแน่

ถ้าเป็น open circuit การตัดสินโดยปัจเจกจะสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าปิดไปเสียครั้งหนึ่งแล้วก็จะไม่สามารถทำได้อีก มีคนพูดว่า ตอนที่ถูกสั่งให้ปล่อยแก๊สพิษซารินตอบว่า ไม่ เสียก็สิ้นเรื่อง หรือหอบถุงใส่สารซารินหนีไปก็ได้ แต่ถ้าเข้าไปใน closed circuit เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทำอะไรอย่างนั้นไม่ได้ แต่ในทางกฎหมายเรื่องก็ต้องพิจารณาไปตามตรงในฐานะอาชญากรรม และเมื่อพิจารณาแล้วก็มีความผิด เมื่อมีความผิดตามน้ำหนักของความผิดก็หนีการพิพากษาโทษประหารชีวิตไปไม่ได้ ความน่ากลัวที่ว่านี้ ผมสัมผัสได้อย่างรุนแรงในศาล

นายอะซาฮาระไปเรียนรู้เรื่องระบบอย่างนั้นมาจากไหน เขาเรียนรู้จากอำนาจรัฐ นาซีใช้การศึกษาทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ทำให้ circuit กลายเป็นระบบปิด แล้วยัดเยียดคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวลงมาจากเบื้องบน 

คนที่ชื่อไอชมันน์(คลิกไปดูรายละเอียด)คงไม่ได้ดีและไม่ได้เลว เพียงแต่เขาเป็นข้าราชการที่มีความสามารถ ทำงานที่ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียบร้อย สำหรับเขา เขาไม่มีมาตรฐานในการตัดสินว่าเนื้อหาของคำสั่งเป็นสิ่งดีหรือเลว และไม่คิดจะทำเช่นนั้นด้วย ดังนั้น หลังสงคราม เมื่อเขาถูกจับและถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตที่อิสราเอล เขาจึงไม่สามารถทำความเข้าใจความหมายนั้นได้เลย ผมดูภาพยนตร์ที่บันทึกเรื่องราวนี้ไว้หลายเรื่อง ตัวเขาเองไม่เข้าใจเลยว่าทำไมตนจึงต้องรับโทษประหารชีวิต

การปิดกั้นทางความคิดเช่นนี้ ลองคิดดูแล้วน่ากลัวจริงๆ โดยเฉพาะในสังคมอินเตอร์เน็ตที่ข้อมูลมีมากจนล้นอย่างในปัจจุบัน เรายิ่งไม่รู้มากขึ้นเรื่อยๆว่าตอนนี้เรากำลังถูกบังคับควบคุมโดยอะไร แม้กระทั่งเรื่องที่เราคิดว่าเราทำด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่ที่จริงแล้วอาจถูกบังคับควบคุมโดยข้อมูลบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น) 

May 21, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : จากชื่อเรื่อง สู่ตัวละคร สู่ "ซาคิงาเขะ" โครงสร้างฉากหลัง


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ

วงจรที่ปิดตาย


--- ในช่วงแรกไม่มีเศษเสี้ยวของ สิ่งที่เป็นคล้ายๆ “ซาคิงาเขะ”  หรือตัวตนของท่านผู้นำบ้างเลยหรือ

มุราคามิ ผมไปฟังการพิจารณาคดีโอมชินริเคียว (คลิกเพื่อดูรายละเอียด) ในศาล ไปทั้งศาลจังหวัดโตเกียวและศาลสูง จดบันทึกการพิจารณาในสมุดโน้ตไว้หลายเล่ม รู้สึกว่าน่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นไม่อยากเขียนเรื่องบนความจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีโอมชินริเคียวอีก แล้วก็ไม่อยากทำเป็นเรื่องแต่งด้วย ส่วนมากผมจะไปฟังการพิจารณาแบบที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าฟังได้ในคดีของนายยาสุโอะ ฮายาชิ พอได้เห็นคนตัวเป็นๆอยู่ต่อหน้าตลอดเวลา ก็รู้สึกว่าความเป็นจริงนั้นหนักหน่วงเหลือเกิน ไม่ใช่เรื่องที่จะโยกเอาไปเป็นวัตถุดิบของเรื่องแต่งง่ายๆ ได้ 

แล้วถ้าอย่างนั้นจะเขียนอะไร คิดว่าต้องเอาความรู้สึก ภาพที่ประทับอยู่ในใจ ความสับสน เหล่านี้ที่ได้รู้สึกได้สัมผัสมาด้วยตัวเองในตอนนั้น มาแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง คดีโอมชินริเคียวที่เกี่ยวข้องกับคดีปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดิน การพิจารณาของศาล สิ่งเหล่านี้สะสมอยู่ในตัวผม อยากเก็บเอาไว้ในรูปแบบใดสักอย่างที่ต่างออกไป นั่นคงเป็นแรงจูงใจสำคัญในตอนนั้น 

ใน ‘After Dark’ ก็มีความรู้สึกและความเห็นที่มัวหม่นของผมแทรกซึมกระจัดกระจายอยู่ มันออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่จะเสนอสิ่งนั้นออกมาในเรื่องราวขนาดยาวและใหญ่อย่าง ‘1Q84’ อย่างไร เป็นปัญหาที่ยาก เรื่องขนาดกลางกับเรื่องขนาดยาว น้ำหนักของวัตถุดิบก็จะต่างกันอยู่แล้ว แต่ในกรณี ‘1Q84’ คิดว่าสาระสำคัญถูกนำเข้าไปไว้ในตัวโครงสร้างของเรื่อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง

คนที่รับคำสั่งจากนายอะซาฮาระให้ปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดินจนถูกพิพากษาประหารชีวิต พวกเขาคงยังไม่รับรู้คำพิพากษาในฐานะความเป็นจริง พวกเขาเข้าไปใกล้โอมฯด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น ไปเรียนโยคะอยู่ดีๆ ก็ก้าวเข้าไปในขอบข่ายเรื่องทางศาสนา ถูกดึงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งทั้งที่ยังไม่เข้าใจ น่าจะรู้สึกแบบนั้นอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่พวกเขาทำในความเป็นจริงบนโลกใบนี้ ตามน้ำหนักของความผิดก็ต้องรับโทษประหารชีวิตสถานเดียว สำหรับพวกเขาแล้วจะรู้สึกกับเรื่องนี้ในฐานะความเป็นจริงเสมือนหรือเปล่า มีคนพูดกันมากว่าหากไม่มีเรื่องเช่นนั้น พวกเขาส่วนมากคงมีชีวิตอยู่ไปได้อย่างธรรมดาๆในฐานะหนุ่มสาวที่เอาการเอางาน แม้อาจจะเอาการเอางานมากเกินไปสักหน่อย

--- หลังจากที่คุณสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ก็ไปเก็บข้อมูลทางฝ่ายโอมฯมาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นจริงจากทั้งสองด้านไม่ทำสร้างความรู้สึกขัดแย้งบ้างหรือ

มุราคามิ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหาย ที่คิดว่าตัดสินประหารชีวิตผู้ลงมือกระทำผิดเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้ว ผมได้ไปนั่งอยู่ตรงหน้าพวกเขา ไม่สามารถแย้งความรู้สึกที่ว่านั้น และก็ไม่คิดจะพูดด้วย แต่ถ้าถูกวางอยู่ในสถานะของฝ่ายผู้กระทำ ก็เข้าใจได้ว่า คงไม่สามารถรับรู้ถึงโลกที่ตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในตอนนี้ในฐานะความเป็นจริงได้

สภาวะที่แค่ลงบันไดฉุกเฉินแล้วกลายเป็นหลงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งอย่างใน “1Q84” ซ้อนทับอย่างมีนัยสำคัญกับการรับรู้ที่ว่านั้น แต่ไม่เหมือนโลกคู่ขนานที่สร้างขึ้นมาเล่นๆ หรืออยู่ในนิยาย ที่นั่นมีความน่ากลัวอย่างน่าขนลุกของความเป็นจริง เทียบ “ซาคิงาเขะ” กับโอมฯแล้ว ความคล้ายคลึงในด้านข้อเท็จจริงเป็นเพียงระดับผิวเผิน ผมคิดว่าความน่ากลัวในตัวโครงสร้างสิที่เป็นจริงกว่า จริงจังกว่า

(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ)
(ภาพประกอบสัมภาษณ์ในนิตยสาร Thinker)

May 20, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : 1Q84 จากชื่อเรื่องสู่ตัวละครและพล็อต


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน)  ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(ใครยังไม่ได้อ่านความเดิมตอนที่แล้ว คลิกไปอ่านก่อนได้ >>ที่นี่ค่ะ)

‘1Q84’ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
--- หลังจากได้ชื่อเรื่อง  ‘1Q84’  พล็อตนิยายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มุราคามิ พล็อตนิยายไม่มีเลย

--- ถ้าอย่างนั้นนึกออกเมื่อไร ว่าการที่ BOOK1 และ BOOK2 จะมีเล่มละ 24 บทตามรวมผลงาน Das Wohltemperierte Klavier เล่ม 1 และ 2 ของบาค

มุราคามิ พอนึกออกว่าจะเขียนถึงอาโอมาเมะกับเท็งโกะสลับกันไป ก็ตัดสินใจว่าจะทำตามรูปแบบของ Das Wohltemperierte Klavier เพราะผมชอบ “การผูกมัด” แต่ตอนที่เริ่มเขียนในหัวยังไม่มีพล็อตเลยว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร

--- ลักษณะเฉพาะของอาโอมาเมะ ลักษณะเฉพาะของเท็งโกะ การสร้างตัวละครไม่มีโผล่ขึ้นมารางๆตั้งแต่แรกบ้างหรือ

มุราคามิ  ไม่มีการสร้างตัวละครเลย เริ่มจากการกำหนดชื่อก่อน พอคิดชื่ออาโอมาเมะออก ก็คิดว่า เออ ชื่อนี้ใช้ได้ ต่อไปคิดชื่อเท็งโกะ แล้วก็รู้ว่านิยายเรื่องนี้ต้องสนุกแน่ เรื่องแบบนี้แค่ชื่อก็รู้แล้ว ขอนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ที่เมืองทาคายามะเขตฮิดะดูเหมือนจะมีครอบครัวนามสกุลอาโอมาเมะอยู่จริงๆ ได้ยินว่าเขาส่งอีเมล์มาที่สำนักพิมพ์

พอได้ชื่อเรื่อง 1Q84’ ได้ชื่อ อาโอมาเมะ เท็งโกะ ระหว่างที่เขียนไปรายละเอียดของตัวละครคงออกมาเอง ทีนี้ก็มาถึงการเริ่มเรื่อง ฉากที่อาโอมาเมะลงบันไดฉุกเฉินของทางด่วนโผล่ออกมาได้อย่างไร ผมเคยได้ยินข่าวที่ว่า ตอนรถติดบนทางด่วน มีคนจอดรถแล้วปีนบันไดฉุกเฉินลงมา

---  มีเรื่องอย่างนั้นเกิดขึ้นจริงหรือ

มุราคามิ  นึกสถานที่หรือเหตุการณ์ในรายละเอียดไม่ออกแล้ว แต่ข่าวนั้นมันหลงค้างอยู่ในหัวอย่างแปลกๆ ตั้งแต่นั้นมาพอขับรถบนทางด่วนทีไรก็มองหาบันไดฉุกเฉินทุกที (หัวเราะ) ตอนขับรถอยู่บนทางด่วนมหานครหมายเลขสามแล้วรถติด ก็นึกขึ้นมาว่า ถ้าลงบันไดฉุกเฉินแถวซังเกนจายะแล้วกลายเป็นโลกอีกใบจะเป็นอย่างไร ถ้านั่นเป็นโลกของ ‘1Q84’ ล่ะจะเป็นอย่างไร

--- คิดว่าถ้าลงบันไดฉุกเฉินไปแล้ว เรื่องราวก็จะเคลื่อนไป

มุราคามิ  ใช่ ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่าอะไรจะเปลี่ยนอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ไม่รู้เลยจริงๆ แต่ทั้งที่ไม่รู้ก็วางอาโอมาเมะลงไปในสถานการณ์รถติด ให้เธอลองปีนบันไดฉุกเฉินลงมาดีกว่า ทำไมเธอถึงรีบขนาดนั้น มีธุระแบบไหนกัน มีภารกิจอะไรติดตัวอยู่หรือ พอเขียนต่อไปเรื่องก็ค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เขียนจบบทแรก ขึ้นบทที่สองเป็นบทของเท็งโกะ เอาละ ลองคิดว่าผู้ชายที่ชื่อเท็งโกะจะเป็นคนอย่างไร กำลังทำอะไร ดูเหมือนเขาจะมีปัญหาส่วนตัวบางอย่างอยู่ และเรื่องนั้นจะมาเชื่อมโยงกับอาโอมาเมะในจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเช่นสองคนนี้ยังคงต้องการกันและกันอย่างลึกซึ้งและรุนแรง หลังแยกจากกันเมื่อนานมาแล้ว อาจเป็นเช่นนั้น


(ภาพประกอบ Reality is changing - 1Q84, by Marina Federova) 


(คลิกอ่านตอนต่อไป  >> จากชื่อเรื่อง สู่ตัวละคร สู่ "ซาคิงาเขะ" โครงสร้างฉากหลัง)

May 18, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : จาก 1984 สู่ 1985 ถึง 1Q84 นิยายที่เริ่มจากชื่อ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”
คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน)  ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!

ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

--- พูดถึงปี 1984 ‘The Wind-up Bird Chronicle’ (บันทึกนกไขลาน)  ก็เป็นเรื่องของปี 1984 เหมือนกัน

มุราคามิ  เป็นเรื่องบังเอิญ  ใน ‘The Wind-up Bird Chronicle’ มีนายอุชิคาวะโผล่ออกมาด้วย แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นช่วงเวลาเดียวกัน  ที่กำหนดให้เป็นปี 1984 แน่นอนว่าเป็นเพราะ ‘1984’ ของจอร์จ ออร์เวลล์ ตอนแรกผมคิดจะเขียนนิยายชื่อ ‘1985’ อยากเขียนเรื่องของปีถัดจาก ‘1984’ ให้ต่างไปจากจอร์จ ออร์เวลล์ไปเลย

ทีนี้ตอนที่ผู้กำกับไมเคิล ราดฟอร์ด (Michael Radford) ที่กำกับหนัง ‘Il Postino’ และสร้างหนัง ‘1984’ ที่จอห์น เฮิร์ต แสดงนำ มาญี่ปุ่น  เราไปกินข้าวที่ร้านซูชิกัน พอผมบอกว่าคิดจะเขียนนิยายเรื่อง ‘1985’ เขาพูดว่า “ฮารูกิ ทำอย่างนั้นแย่แน่ แอนโทนี เบอร์เจสส์ (Antony Burgess) เขียนไว้แล้ว” (หัวเราะ) 

ผมไม่ค่อยสนใจแอนโทนี เบอร์เจสส์เท่าไหร่เลยลืมไปเลย เขาเขียนนิยาย ‘1985’ ไว้แล้วจริงๆ เลยคิดว่าไม่ดีแน่ ระหว่างที่คิดโน่นคิดนี่อยู่ก็นึกชื่อเรื่อง ‘1Q84’ ได้ นิยายของผมมีทั้งนิยายที่เริ่มจากชื่อและนิยายที่ต้องเหนื่อยกับการมาตั้งชื่อทีหลัง เรื่องนี้เป็นนิยายที่เริ่มจากชื่อเต็มตัว ถ้าจะเขียนนิยายชื่อ ‘1Q84’ จะเขียนเป็นนิยายแบบไหนได้ เริ่มต้นจากตรงนั้น ตอนแรกมีแต่ชื่อเรื่องอย่างเดียว 

(ตอนต่อไป ... พัฒนาการจากชื่อ จนได้เรื่อง  >> 1Q84 จากชื่อเรื่องสู่ตัวละครและพล็อต)

(ภาพประกอบจาก http://j-appleby.tumblr.com/) 

May 16, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : บุรุษที่สาม โลกดิจิตอล โลกอะนาล็อก



ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”
คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน)  ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!

ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


‘After Dark’ กับ  ‘1Q84’

--- กลับไปที่เรื่องตอนเริ่มคุยกันวันนี้ ‘The Wind-up Bird Chronicle’ ยังเป็นเรื่องที่สร้างโลกของบุรุษที่หนึ่งกับบุรุษที่สามผสมกันไป 

มุราคามิ  ใน ‘After the Quake’(2000) เป็นครั้งแรกที่กลายเป็นโลกของบุคคลที่สามเต็มตัว ได้เขียนเรื่องนี้แล้วทำให้มั่นใจว่าถ้าเป็นเรื่องสั้นๆ ก็เขียนด้วยสรรพนามบุคคลที่สามได้ ประเด็นต่อไปคือการเอาไปใช้ในเรื่องยาว

‘After Dark’(ราตรีมหัศจรรย์) ที่เขียนหลัง ‘After the Quake’ ก็ใช้บุรุษที่สาม  จะว่าไปแล้ว ‘1Q84’ เป็นการทำ digital process กับปี 1984 ที่ยังเป็นยุคอะนาล็อก  ส่วน ‘After Dark’ ตอนนั้นอยากจัดการแบบดิจิตอลกับสังคมดิจิตอลที่เรียกว่ายุคปัจจุบัน เลยเขียนด้วยวิธีที่แตกต่างจากที่ผ่านมามากพอสมควร มีความรู้สึกเหมือนการถ่ายภาพหยาบๆ ด้วยกล้องดิจิตอลพกพาไปพร้อมๆกัน โดยตอนแรกเขียนแต่บทสนทนาก่อนแล้วค่อยมาเติมประโยคบรรยายทีหลังให้เป็นนิยาย ทำอย่างนั้นแล้วก็ได้จังหวะและชุดคำที่แตกต่างไปสิ้นเชิง สนุกและน่าสนใจมาก

การเขียนด้วยวิธีนี้ให้รสชาติเฉียบคมน่าสนใจสำหรับงานความยาวขนาดกลาง แต่จะออกแบบเป็นเรื่องยาวขนาดใหญ่ได้ถึงแค่ไหน คิดว่ายาก เพียงแค่นี้ไม่พอสำหรับเรื่องยาว ที่ไม่พอเพราะไม่มีความรู้สึกถึงการหักมุมใหญ่ๆ ในเรื่องราว    

‘After Dark’ เป็นนิยายแปลก บางตอนไม่มีเหตุผล แต่กระแสการไหลสอดคล้องไปได้อย่างประหลาด มีกล้องที่อยู่ด้านบนกวาดตามองโลกตลอดเวลา ความมุ่งมั่นนั้นได้เข้ามาครอบงำโลกในเชิงนามธรรม ว่าไปแล้วนี่ก็คือวิถีของโลกอินเตอร์เน็ต ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลเป็นมาตรวัดลำดับความสำคัญยิ่งกว่าความดีเลวของเรื่องต่างๆ  มุมมองและความรู้สึกนี้น่าสนใจมาก คิดว่าอยากเติมการหักมุมที่ต่างออกไปอีกเข้าไปตรงนี้

ตอนที่เขียน ‘1Q84’ รู้สึกอยู่เรื่อยๆ ว่าไม่สะดวก ยุคของปี 1984 ในชีวิตประจำวันยังไม่มีทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ  มักจะมีความคิดว่า ตรงนี้ถ้ามีอินเตอร์เน็ต ตรงนี้ถ้ามีมือถือ จะเดินเรื่องได้ง่าย  แต่ก็ไม่มี (หัวเราะ) จะโทรศัพท์ก็ต้องเดินไปใช้โทรศัพท์สาธารณะ จะค้นหาอะไรก็ต้องไปห้องสมุด แน่นอนว่าต้องยุ่งยาก เรื่องก็ยืดยาวออกไป ถ้าเป็นยุคนี้ล่ะก็เรื่องคงก้าวไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นเรื่องราวก็ไม่มีความหมายอะไร เลยจำเป็นต้องใช้การจัดการแบบดิจิตอลกับข้อมูลอานาล็อก “การหักมุม” ที่ผมพูดหมายถึงเรื่องแบบนี้ด้วย


(ภาพจาก http://lectork.wordpress.com/2012/04/24/after-dark-haruki-murakami/) 

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : บทแรก ตัวละคร และฉากเซ็กซ์


นักอ่านและนักเขียนหลายคนคงสงสัยว่าเฮียมูเริ่มต้นเขียนนิยายอย่างไร ตัวละครที่ดูเพี้ยนพิลึกเหล่านั้นมาจากที่ใด ไหนจะฉากเซ็กซ์เหล่านั้นอีกเล่า 

วันนี้มีคำเฉลย โดยตัดตอนมาจากบทสัมภาษณ์เฮียมูที่ลงใน GQ เกาหลี โดย Jin Young Lee ค่ะ 



L : มาฮาวายครั้งนี้ มีวางโครงการล่วงหน้าจะเขียนนิยายหรือเปล่าคะ 

M : ผมเริ่มเขียนหนังสือด้วยหัวสมองโล่งๆ เสมอ ถ้าผมคิดกับตัวเองว่า "ฉันจะต้องเขียนเรื่องไปทางนี้ๆ" มันจะกลายเป็นอุปสรรคกั้นขวาง ทั้งหมดที่ผมต้องการคือฉากแรก แต่ฉากนั้นต้องหนักแน่น มีชีวิตชีวา และชัดเจน ผมไม่วางตัวละครและเรื่องราวล่วงหน้า เมื่อผมเริ่มมั่นใจในฉากที่ลงหลักปักแหล่งนั้นแล้ว ผมถึงจะเขียนนิยายต่อจนจบถึงบทสรุปสุดท้ายได้

L: ตัวละครทุกตัวของคุณมีลักษณะเฉพาะตัวที่เด่นชัดมาก คุณสร้างตัวละครที่ไม่เหมือนใครเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร โดยที่ไม่คิดถึงโครงเรื่องหรือบทสรุป

M: ผมไม่สร้างตัวละครของผมขึ้นมา แต่ผมใช้วิธีสังเกตผู้คนแทน ในหัวของผมมีสิ่งที่คุณอาจจะเรียกว่า "ลิ้นชักเก็บตัวละคร" ที่เอาไว้ใช้เก็บภาพลักษณ์ที่จำเป็นของผู้คนที่ผมสังเกต คนหนึ่งคนเป็นความลึกลับ ถ้าทำได้ ผมก็อยากตามคนไปที่บ้านของเขาหรือเธอ ไปสังเกตว่าอ่านหนังสือประเภทไหน ใส่เสื้อผ้าอย่างไร พูดคุยกับใคร พอใช้วิธีนี้ เมื่อตัวละครเริ่มสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง ผมก็เก็บเอาไว้ใน "ลิ้นชักเก็บตัวละคร" ในหัวของผม แล้วดึงตัวละครนั้นออกมาเมื่อจำเป็นต้องใช้ ดังนี้ เวลาที่ผมต้องการตัวละครสำหรับนิยายของผม ผมจะรู้แน่ชัดว่าจะต้องดึงลิ้นชักไหนออกมา

L: เวลาที่ฉันนึกถึงฉากเซ็กซ์ใน "การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก" (South of the Border, West of the Sun) หรือใน "ราตรีมหัศจรรย์" (After Dark) ฉันรู้สึกว่าคุณรู้จักวิธีการใช้คำพูดบรรยายเซ็กซ์อย่างเชี่ยวชาญ ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้

M: ฮ่าๆ เป็นอย่างนั้นเหรอ คนอ่านหลายคนเข้าใจว่าผมชอบเขียนฉากเซ็กซ์พรรค์นั้นมาก แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เวลาที่เขียนฉากพวกนั้น ผมจะรู้สึกเขินอายและละอายใจที่ตัวเองทำอะไรไม่ถูก แต่ทุกครั้ง ผมจะบอกตัวเองว่า ฮารูกิ นี่เป็นหน้าที่ของนาย! ห้ามหยุดเด็ดขาด!

ภาพและแปลจากบทแปลสัมภาษณ์ในลิงก์นี้
http://noxrpm.com/post/1471463007/murakami-gq-korea-interview-part-1