Jul 16, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ที่มาที่ไปของ 1Q84 เล่ม ๓


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)


สำนวนช่วยค้ำจุน


--- คุณเคยบอกว่า ได้ปล่อยสำนวนที่เรียกว่าสลับซับซ้อนออกไปจนหมดใน ‘Sputnik Sweetheart’ (1999 - ชื่อภาษาไทย “รักเร้นในโลกคู่ขนาน กำมะหยี่กำลังจะจัดพิมพ์) สำนวนของคุณหลังจากนั้นยิ่งวันยิ่งเหมือนน้ำที่ปลอดสิ่งแปลกปลอม เวลาดื่มไม่รู้ตัวเลยว่าน้ำนั้นเป็นน้ำกระด้างหรือน้ำอ่อน มีแร่ธาตุปนอยู่หรือเปล่า  กำลังดื่มแต่รู้สึกเหมือนไม่ได้ดื่ม ผมรู้สึกว่าสำนวนของคุณเปลี่ยนไปอย่างนั้น

มุราคามิ ผมคิดมาตั้งนานแล้วว่า ไม่เห็นมีใครพูดถึงเทคนิคการเล่นดนตรีของชาร์ลี ปาร์คเกอร์ http://en.wikipedia.org/wiki/Charlie_Parker เลย ถ้าพูดถึง ออสการ์ ปีเตอร์สัน http://en.wikipedia.org/wiki/Oscar_Peterson ล่ะก็ จะพูดกันว่าเทคนิคของปีเตอร์สันนี่สุดยอด ถ้าพูดถึงเธโลเนียส มองค์ http://en.wikipedia.org/wiki/Thelonious_Monk เขาไม่ได้มีเทคนิคอะไรนัก ก็จะพูดกันว่าความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร กับความเป็นดนตรีที่ล้ำลึกทำให้คนฟังลืมเรื่องเทคนิคไปเลย ก็เป็นการพูดเรื่องเทคนิคอยู่ดี แต่เรื่องเทคนิคของชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ไม่มีใครพูดถึง ว่าไหม

 --- จริงด้วย เป็นอย่างนั้นจริงๆ
มุราคามิ  นี่เป็นเรื่องแปลกนะ เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะที่จริงแล้วเขามีเทคนิคสุดยอด บางครั้งก็เป่าท่อนซับซ้อนได้ดูเหมือนง่ายและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าตั้งใจฟังก็จะทึ่งในเทคนิคสุดยอดที่ว่านี้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครพูดถึง
สำนวนในอุดมคติของผม คือสำนวนอย่างนั้น เรื่องที่จะว่าดีหรือเยี่ยมมากผมไม่สนใจ สำนวนมีไว้แสดงความคิดบางอย่างที่เหนือไปกว่านั้น สำนวนมีไว้เพื่อค้ำจุนความหมายของประโยคและสารที่ต้องการสื่อ คิดว่าไม่ควรให้มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งจากภายนอก 

--- สำนวนที่ทำให้ไม่รู้สึกถึงสำนวน สำนวนที่ไม่รู้สึกแม้แต่ตอนที่มันผ่านลงคอไป คิดว่านี่คงเป็นพลังยิ่งใหญ่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานของคุณมีผู้อ่านมากมายขนาดนี้
มุราคามิ  พอเขียน BOOK 1 และ BOOK 2 จบ ก็ตั้งใจจริงๆ ว่าจะให้จบแค่นั้น ตอน ‘The Wind-up Bird Chronicle’ หลังจากที่เล่ม 1 และ 2 ตีพิมพ์ได้สักพัก ผมก็เกิดอยากเขียนเล่ม 3 แต่ครั้งนี้รู้สึกอยากเขียนตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ แต่พอเริ่มคิดเพื่อจะเขียนเล่ม 3 จริงๆ ก็เผชิญหน้ากับปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะแต่เดิมไม่ได้ตั้งใจเขียนตอนต่อ ซึ่งจะว่าเป็นธรรมดาที่ต้องเผชิญปัญหา มันก็ธรรมดาจริงๆ 

ถ้าเขียนเล่ม 3 คงเป็นเรื่องที่แทบไม่เคลื่อนไหวเลย ผมรู้อย่างนี้ตั้งแต่แรก เรื่องที่อาโอมาเมะตั้งครรภ์ในตอนนั้นก็รู้สึกอยู่รางๆ พอเป็นอย่างนั้นเธอก็จำเป็นต้องซ่อนตัวอยู่ที่แมนชั่นนั้นต่อไป เท็งโกะก็มีนิสัยอย่างที่รู้ๆกัน ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวแค่ไหนความเคลื่อนไหวนั้นก็จำกัด ความเป็นไปได้ในฐานะเรื่องเล่าต้องลดลงแน่ ถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้ก็เริ่มลงมือเขียนเล่ม 3 ไม่ได้

ระหว่างที่คิดอย่างนั้น ก็เกิดไอเดียผุดขึ้นมาในหัวว่า ถ้าให้เริ่มเรื่องด้วยอุชิคาวะล่ะจะเป็นอย่างไร ในการ์ตูนของอเมริกามีฉากที่จู่ๆ หลอดไฟก็วาบขึ้นเหนือหัว เป็นอย่างนั้นเลย นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า อ๊ะ ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะได้ ตอนที่เขียนเล่ม 1 และ 2  ไม่ได้คิดเลยว่าต่อไปอุชิคาวะจะมามีบทบาท แค่ดึงเขาออกมาตามน้ำไปอย่างนั้นเอง แล้วก็จบไว้แค่นั้น แต่นั่นเป็นตัวชี้ให้เห็นลูกศรบอกทาง การ “ทำไปอย่างนั้นเอง” ก็มีความหมาย

พอเป็นอย่างนั้น ก็มั่นใจว่า “เขียนได้” แต่อาโอมาเมะก็จะอยู่ในห้องต่อไปเรื่อยๆ เท็งโกะก็อย่างที่เห็น เขาไม่ใช่คนที่จะเรียกได้ว่ากระตือรือร้น จะเดินเรื่องมุ่งไปข้างหน้าด้วยวิธีการอย่างเล่ม 1 และ 2 ไม่ได้ คิดว่าจะเขียนเล่ม 3 ต้องดึงไปด้วยลีลาการเขียนเท่านั้น ใช้สำนวนที่ต่างไปจาก 1,2 อย่างสิ้นเชิง ต้องทั้งบีบทั้งคั้นลีลาออกมา เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง  พอได้เป้าหมาย ความทะยานอยากก็เกิดทันควัน นิสัยผมเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ในเล่ม 3 ผมจึงคำนึงถึงสำนวนมาก ในเล่ม 1 และ 2 ไม่ได้คำนึงถึงเท่าไรนัก ตั้งใจให้สำนวนเป็นธรรมชาติ ไม่ไปกีดขวางเรื่องราวที่ดำเนินไปข้างหน้า แต่คิดว่าเล่ม 3 ต้องก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้น ไม่อย่างนั้นจะไปต่อไม่ได้ เล่ม 3 นี่ผมทรมานกับการเขียนนะ แก้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้ง 

--- ที่จริงก่อนจะมาสัมภาษณ์ ผมคิดจะอ่านแบบผ่านรวดเดียวสักครั้ง เริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่เล่มแรก BOOK 1 กับ BOOK 2 พออ่านผ่านๆ ได้ แต่ BOOK 3 ถึงจะเป็นรอบที่ 3 ก็อ่านแบบผ่านๆ ไม่ได้เลย BOOK 3 ต้องใช้เวลาอ่านอย่างใคร่ครวญถึงระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถฟื้นสิ่งที่โลกใบนั้นมอบให้ขึ้นมาในตัวเองอีกครั้ง รู้สึกว่าโลกของ BOOK 1 และ BOOK 2 กับโลกของ BOOK 3 แตกต่างกันสิ้นเชิง  
มุราคามิ  ในนิยายขนาดยาว ถ้าขันน็อตแน่นเกินไปก็จะอึดอัด กะยากว่าจะขันแน่นขนาดไหน ไม่เหมือนในเรื่องสั้น เรื่องยาวส่วนที่ควรขันให้แน่นก็ต้องขันเต็มที่ ส่วนที่ไม่ขันก็ต้องคุมไว้ให้ดีไม่ให้หลวม ต้องมีจังหวะแบบนั้น ส่วนที่ขันแน่นก็ต้องขันด้วยวิธีที่ไม่ให้รู้สึกว่าขันแล้ว มีรูปแบบวิธีการขันอยู่หลายอย่าง ในจุดเหล่านั้นผมใช้เวลาลงรายละเอียดอย่างระมัดระวัง

ในส่วนที่ไม่มีอะไร ก็ขันจนแน่นเยอะเหมือนกัน อย่างเช่น อืม... อุชิคาวะไปสืบตามโรงเรียนประถมในจังหวัดจิบะใช่ไหม ตรงนั้นค่อนข้างใช้เวลาขันน็อตตัวเล็กไปทีละตัวทีละตัว ทั้งที่ไม่ได้เป็นจุดที่มีความหมายอะไรนัก (หัวเราะ)

--- ครูอาจารย์ที่ออกมาตรงนั้น ถึงจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมายอะไรในเรื่องราว แต่เพราะมีส่วนนั้นจึงมีการรับประกันความลึกของเท็งโกะกับอาโอมาเมะเมื่อตอนอายุสิบขวบ การมีอยู่ของครูอาจารย์เหล่านั้นยิ่งใหญ่ทีเดียว
มุราคามิ  การวาดจินตนาการตัวประกอบสนุกมาก เป็นความสุขยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งในการเขียนนิยาย ตอนแรกให้เป็นตัวประกอบ แต่หมุนออกมาอยู่หน้าเวทีก็มี อย่างเช่นกรณีของอุชิคาวะ