Oct 6, 2012

หนทางสัญจรระหว่างจิตวิญญาณ - ฮารูกิ มูราคามิ พูดถึงกรณีขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้าน

คุณมุทิตา พานิช แปลบทความที่ฮารูกิ มูราคามิเขียนถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องเกาะ  Senkaku / Diaoyu ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนที่ลุกลามใหญ่โต ที่ลงตีพิมพ์หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ของญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 55 มาฝากค่ะ  ต้องขอบคุณมากที่ช่วยให้เราได้อ่านสิ่งที่เฮียพูดถึงโดยตรงจากภาษาญี่ปุ่นนะคะ




(คำเตือน: บทความนี้เฮียมูเขียนให้เพื่อนร่วมชาติอ่าน << คำเตือนจากผู้แปล  แต่เราคิดว่าบทความนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกประเทศ  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังจะเปิดพรมแดนความร่วมมือกันอย่างในเอเชียอาคเนย์)

หนทางสัญจรระหว่างจิตวิญญาณ

ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะเซ็งกากุที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน ผมได้ข่าวว่าหนังสือของนักเขียนญี่ปุ่นหายไปจากร้านหนังสือหลายแห่งในประเทศจีน ในฐานะนักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ผมรู้สึกช็อคไม่น้อย นั่นเป็นการบอยคอตเชิงระบบที่รัฐบาลเป็นผู้นำหรือฝ่ายร้านหนังสือเก็บหนังสือเอง ผมยังไม่รู้ในรายละเอียด จึงยังไม่อยากแสดงความเห็นด้วยหรือคัดค้านในตอนนี้

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จที่น่ายินดีที่สุดอย่างหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือการก่อเกิด เขตวัฒนธรรมเฉพาะตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอย่างนี้ได้ น่าจะเป็นเพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งของจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน พอระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีรากฐานมั่นคง การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมก็เป็นไปได้ขึ้นมา ผลผลิตทางวัฒนธรรม (ทรัพย์สินทางปัญญา) หลายอย่างไปมาหาสู่ข้ามพรมแดนกันได้ มีการตั้งกฎร่วมกัน หนังสือแปลผีไม่ขอลิขสิทธิ์ที่เคยแพร่ระบาดในภูมิภาคนี้ค่อยๆ หายไป (หรือลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว) ค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้าและค่าลิขสิทธิ์ส่วนมากก็มีการจ่ายกันอย่างถูกต้อง


ตัวผมเองหากพูดจากประสบการณ์ก็ต้องบอกว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้หนทางช่างยาวไกลสภาพในสมัยก่อนมันแย่ถึงขนาดนั้น แย่ขนาดไหนคงไม่พูดถึงเป็นเรื่องเป็นราวตรงนี้ (เพราะไม่อยากให้ปัญหายิ่งยุ่งเหยิงกว่าที่เป็นอยู่) ช่วงหลังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นมาก เขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเติบโตในฐานะตลาดที่มั่นคงจนใกล้โตเต็มที่ แม้จะยังมีปัญหาปลีกย่อยเหลืออยู่บ้าง แต่ปัจจุบันในตลาดนั้นมีดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ แลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียมและเสรี ผู้คนจำนวนมากสามารถจับต้องและสนุกสนานกับสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นผลงานที่เยี่ยมยอดจริงๆ

ตัวอย่างเช่น พอละครทีวีเกาหลีฮิตขึ้นมา คนญี่ปุ่นก็รู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก คนเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  และจะเรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนก็คงได้ ตอนที่ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา ก็มีนักเรียนต่างชาติชาวเกาหลีใต้ ชาวจีนเข้ามาหาที่ออฟฟิศหลายคน พวกเขาตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือของผมอย่างน่าประหลาดใจ  เรามีเรื่องพูดคุยกันมากมาย

การจะทำให้เกิดสภาพน่าพึงพอใจดังกล่าว  ผู้คนมากมายทุ่มเททั้งกายใจมาเป็นเวลายาวนาน ผมเองซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคนหนึ่ง ถึงจะมีกำลังเพียงน้อยนิดแต่ก็พยายามมาโดยตลอด ผมหวังไว้ว่า หากการแลกเปลี่ยนอย่างมั่นคงอย่างนี้ดำเนินต่อเนื่องไป ปัญหาหลายอย่างที่ค้างคาระหว่างเรากับประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกจะค่อยๆ มุ่งไปสู่การคลี่คลายแน่ แม้อาจจะต้องใช้เวลานาน  การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมีจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือการทำให้เกิดความตระหนักรู้ที่ว่าแม้พูดกันคนละภาษา แต่พวกเราล้วนเป็นมนุษย์ที่แบ่งปันความรู้สึกและความประทับใจกันได้ว่าไปแล้วนี่คือหนทางให้จิตวิญญาณไปมาหาสู่กันโดยก้าวข้ามเรื่องพรมแดน

ในฐานะนักเขียนเอเชียคนหนึ่ง และคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ผมกลัวว่าปัญหาหมู่เกาะเซ็งกากุในครั้งนี้ หรือปัญหาหมู่เกาะทาเคชิมะ จะทำลายความสำเร็จที่ค่อยๆ สั่งสมมาทีละน้อยจนพังทลาย

ตราบใดที่เส้นแบ่งพรมแดนยังคงมีอยู่ ปัญหาเรื่องดินแดนก็จะยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถเดินหลีกผ่าน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่น่าจะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติ และคิดว่าต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขในทางปฏิบัติได้ หากปัญหาดินแดนก้าวล้ำเกินกว่าการเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ล่วงเข้ามาในเขตแดน ความรู้สึกของประชาชนแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดสภาวะอันตรายที่ไม่มีทางออกขึ้นบ่อยๆ เหมือนกับการเมาเหล้าสาเกราคาถูก  เหล้าราคาถูกดื่มแค่ไม่กี่แก้วก็เมา เลือดขึ้นหัว ส่งเสียงดังโวยวาย กิริยาหยาบคาย ตรรกะถูกย่นย่อ ทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา แต่หลังจากโวยวายเสียงดัง พอเช้าวันใหม่สิ่งที่เหลือก็มีแต่อาการปวดหัว

เราต้องระวังพวกนักการเมืองหรือนักปลุกระดมประเภทใจกว้างชอบแจกเหล้าถูกๆ ชอบกระพือเรื่องวุ่นวายเอาไว้ให้มาก ในยุคทศวรรษที่ 1930 การที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สร้างรากฐานอำนาจการเมืองได้อย่างเข้มแข็ง เป็นเพราะเขาวางนโยบายเอาคืนดินแดนที่เสียไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นหลัก สิ่งนั้นก่อให้เกิดผลเช่นไร พวกเราล้วนรู้ดี ปัญหาหมู่เกาะเซ็งกากุในครั้งนี้ คงต้องมีการตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้เรื่องล่วงเลยมาจนถึงขั้นรุนแรงในสภาพนี้กันอย่างสุขุมในภายหลังทั้งสองฝ่าย นักการเมืองและนักปลุกระดมแค่โหมกระพือผู้คนด้วยคำพูดทรงพลังแล้วก็จบหน้าที่แค่นั้น แต่คนที่ถูกทำร้ายได้บาดแผลจริงๆ คือมนุษย์แต่ละคนที่ต้องยืนอยู่ในที่เกิดเหตุ

ในนิยายเรื่อง “The Wind-up Bird Chronicle” ได้พูดถึง การสู้รบ Nomonhan” ระหว่างแมนจูกับมองโกลในปี 1939 เป็นการสู้รบสั้นๆ แต่ดุเดือดที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องเส้นแบ่งพรมแดน มีการต่อสู้รุนแรงระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารพันธมิตรมองโกล-โซเวียต สูญเสียชีวิตทหารทั้งสองฝ่ายรวมกันเกือบสองหมื่นนาย หลังเขียนจบผมไปเยี่ยมที่นั่น ยืนอยู่กลางทุ่งหญ้าเวิ้งว้าง ปลอกกระสุนและข้าวของของผู้เสียชีวิตยังกระจัดกระจาย ความสิ้นไร้พลังอย่างรุนแรงถาโถม ทำไมผู้คนต้องฆ่ากันอย่างไร้เหตุผลเพื่อผืนดินร้างแค่หยิบมืออย่างนี้

อย่างที่กล่าวในตอนต้น เรื่องที่หนังสือของนักเขียนญี่ปุ่นถูกเก็บออกจากร้านในประเทศจีน ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็น มันเป็นปัญหาภายในประเทศจีน ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งรู้สึกเสียดายเป็นที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมพูดได้อย่างชัดเจนที่นี่ตรงนี้มีเพียงว่า ขอความกรุณาอย่าทำอะไรเป็นการล้างแค้นการกระทำของทางจีนเลย ถ้าทำอย่างนั้นมันก็จะเป็นปัญหาของพวกเรา สะท้อนกลับเข้ามาสู่ตัวเราเอง ในทางกลับกัน หากเราสามารถแสดงท่าทีเยือกเย็น ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรก็ตาม พวกเราจะไม่สูญเสียความเคารพต่อวัฒนธรรมของชาติอื่นได้ล่ะก็ จะเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราเอง ซึ่งเป็นจุดยืนฝ่ายตรงข้ามกับการเมาเหล้าราคาถูกอย่างแท้จริง

การเมาเหล้าราคาถูกสักวันก็จะสร่าง แต่ต้องไม่ปิดกั้นหนทางไปมาหาสู่กันของจิตวิญญาณเป็นอันขาด หนทางนั้นสร้างมาด้วยการสั่งสมความพยายามสุดกำลังของคนจำนวนมากมาช้านาน และเป็นหนทางสำคัญที่ต้องรักษาให้สืบเนื่องต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น


----- 

ข่าวที่แปลจากบทความของ The Wall Street Journal ที่กล่าวถึงบทความนี้  http://gammemagie.blogspot.hk/2012/10/blog-post.html


Oct 2, 2012

ฮารูกิ มูราคามิ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่น

บอกกล่าวกันสักนิด : เหตุที่นำข่าวนี้มาแปล เพราะมีสื่อที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเขียนพาดหัวข่าวว่า "นักเขียนชื่อดัง “ฮารุกิ มุราคามิ” โดดร่วมวงพิพาทหมู่เกาะ-เตือนจีนอย่าสุมไฟ “ชาตินิยม” นำมาซึ่งความคิดเห็นก้าวร้าวรุนแรงจากผู้ที่อ่านข่าวไม่แตก เข้าใจผิดคิดง่ายๆ ว่าเฮียมูเป็นคนญี่ปุ่น ย่อมจะเข้าข้างญี่ปุ่น  

ตอนแรกเรามองเรื่องนี้ขำๆ นะคะ แต่คิดไปคิดมา   การบิดเบือนชักจูงให้เข้าใจผิดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  จึงต้องขอคัดค้านอย่างสงบ ด้วยการแปลข่าวนี้มาฝากให้พิจารณากันเองว่ามีการ "เตือนจีน" ตรงไหน 


ที่มา : http://blogs.wsj.com/japanrealtime/2012/09/28/novelist-murakami-weighs-in-on-japan-territorial-rows/


ฮารูกิ มูราคามิ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนของญี่ปุ่น 


แม้ว่าความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่มีปัญหามากมายจะร้อนฉ่าขึ้นทุกขณะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้มีชื่อเสียงนอกวงการเมืองน้อยคนจะออกมาแสดงจุดยืนของตนในปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่ได้ก่อปัญหาลามข้ามไปถึงวงการอื่น  ไม่ว่าจะเป็นกีฬาและแวดวงวัฒนธรรม  แต่เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.ย. 55) นักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังที่ยังคงมีชีวิตอยู่เข้าร่วมสงครามคำพูดในครั้งนี้

ฮารุกิ มูราคามิ เขียนบทความแสดงความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบทางวัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะเป็นผลจากความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่เพิ่มขึ้นมากมายหลายกรณี  เขาบรรยายความรู้สึกของตนถึงปัญหานี้อย่างไม่ยั้งว่า เป็นเหมือนการมึนเมาจากเหล้าสาเกราคาถูก  ความคิดเห็นของเขาได้รับการตีพิมพ์โดดเด่นขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย. 55) “ในฐานะนักเขียนเอเชียและนักเขียนญี่ปุ่น ผมกลัวว่าความสำเร็จที่มั่นคงที่เราได้ทำ (ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้าใจอันดีกับประเทศเอเชียเพื่อนบ้าน) จะถูกบั่นทอนจากปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาะเซนกากุและหมู่เกาะทาเกชิมาในครั้งนี้” 


เกาะเซนกากุและเกาะทาเกชิมา อยู่ใจกลางความตึงเครียดระดับทวิภาคีที่คุกรุ่นมาตลอด โดยเกาะแรกมีปัญหากับจีน ส่วนหมู่เกาะที่สองมีปัญหากับเกาหลีใต้   เกาะที่อยู่ใต้อาณัติของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้ทั้งสองเกาะนี้  เกาะแรกเป็นที่รู้จักในนามเกาะเซนกากุในญี่ปุ่น แต่ทั้งจีนและไต้หวันก็ประกาศความเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองประเทศเรียกเกาะนี้ว่าเกาะเตียวหยู  ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ถูกทดสอบในช่วงเดือนหลังๆ จากกรณีหมู่เกาะที่ชื่อว่าทาเกชิมาในภาษาญี่ปุ่น  ดกโดในภาษาเกาหลี และเลียนคอร์ท สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงทะเลาะวิวาท

การเก็บหนังสือญี่ปุ่นในร้านหนังสือทั่วประเทศจีนสร้างความ “ตื่นตกใจ” ให้กับนักเขียนวัย 63 ปีผู้นี้  เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งเรื่องดินแดนเหล่านี้ได้ลุกลามใหญ่โต และอาจตัดสายสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคที่ต้องต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการสร้างขึ้นมา  มูราคามิกล่าวว่าเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะวิพากย์วิจารณ์เรื่องที่ประเทศจีนได้ระงับการขายหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนญี่ปุ่น “เพราะมันเป็นปัญหาภายในของประเทศจีน” “แต่สิ่งที่ผมอยากกล่าว ณ ที่นี้ดังๆ ชัดเจน  คือ “กรุณาอย่าแก้เผ็ดโต้ประเทศจีนที่ทำอย่างนี้ หากเราทำ มันจะกลายเป็นปัญหาของเรา และมันจะย้อนกลับมาทำร้ายคุณ” 

มูราคามิ ผู้มีชื่อเสียงจากหนังสือที่โดดเด่นระดับคลาสสิกอย่างเช่น “Kafka on the Shore” และหนังสือไตรภาคเล่มยักษ์  “1Q84” กล่าวต่อว่า พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างประเทศ  ปัญหาต่างๆ ก็เป็นผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ความเลือดร้อนได้เข้ามาแทนที่ความเป็นไปได้ของทางออกที่ได้ผล 


“มันเหมือนการเมาเหล้าสาเกราคาถูก  เมื่อดื่มเหล้าสาเกราคาถูกที่ว่านี้ไปแค่จอกเล็กๆ เลือดจะพุ่งขึ้นหัว  เสียงของประชาชนจะดังขึ้นและกระทำสิ่งต่างๆ อย่างรุนแรง” เขาเขียน  “แต่หลังจากได้ก่อเหตุวุ่นวายในเรื่องนี้ไปแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น สิ่งที่เหลือทิ้งไว้คืออาการปวดหัว”  เขาแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังให้ดี เพราะเรื่องนี้มีนักการเมืองและพวกนักปั่นหัวเป็นผู้ชักนำ 


ขณะที่กระแสการต่อต้านนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นหัวข้อทางการเมืองที่มีการโต้แย้งกันอยู่อีกเรื่องหนึ่ง มีการสนับสนุนจากเสียงผู้ทรงอำนาจระดับนักเขียนรางวัลโนเบล เคนซาบุโร โอเอะ ความขัดแย้งเรื่องดินแดนยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการแตะต้องในวงกว้าง เหตุจากการเชื่อมโยงกับความภาคภูมิใจในชาติ ไม่มีใครลุกขึ้นมากล่าวถึงปัญหาที่เต็มไปด้วยขวากหนามนี้  บทความของมูราคามิและการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันระดับประเทศแบบเห็นเด่นชัดกินพื้นที่หน้าหนึ่งและมีต่อด้านในฉบับ เป็นก้าวที่สำคัญในการเคลื่อนย้ายการโต้เถียงจากคำสั่งสอนจากกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาสู่ผู้อ่านในวงกว้างขึ้น  ในบทความของเขา มูราคามิได้กล่าวถึงนิยายเรื่อง “The Wind-Up Bird Chronicle.” (บันทึกนกไขลาน) ที่มีเนื้อเรื่องที่เจาะเน้นเรื่องสงครามนองเลือดระหว่างทหารญี่ปุ่นกับกองทัพมองโกเลียและรัสเซียเพื่อแย่งชิงพื้นที่แห้งแล้งในทะเลทรายของมองโกเลีย  เขากล่าวว่าเขาได้เดินทางไปดูพื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบหลังจากเขียนนิยายเรื่องนี้จบ “ตอนที่ผมยืนอยู่กลางพื้นที่ว่างเปล่าแห้งแล้งที่ยังมีเศษซากระเบิดและอุปกรณ์การทำสงครามกระจายไปทั่ว ผมรู้สึกอย่างหดหู่ว่าทำไมหลายต่อหลายชีวิตต้องมาสูญสิ้นเพื่อผืนดินที่ว่างเปล่าผืนนี้ด้วย” 



ที่ผ่านมา มูราคามิผู้ที่มักจะได้การกล่าวถึงว่าเป็นว่าที่นักเขียนรางวัลโนเบล ได้วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ หลายๆ เรื่อง  เขาไม่ได้พูดเจาะถึงเรื่องที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วอย่างละเอียด กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเหตุที่เกิดกับโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ฟุกุุชิมาเมื่อปีที่แล้วเป็นเรื่องของการหาเรื่องเอง โดยเรียกว่ามันเป็น “ความผิดพลาดที่ก่อด้วยมือของเราเอง” ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรับรางวัลที่กรุงบาร์เซโลนาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว  หนังสือเล่มต่างๆ ของเขาไม่ได้ปิดบังเรื่องราวที่ญี่ปุ่นกระทำระหว่างสงครามในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๒๐  ในหนังสือเรื่อง “The Wind-Up Bird Chronicle”  มีฉากที่น่าสะเทือนใจจากการครอบครองมันจูเรียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นจุดระเบิดทางประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น 

ความเห็นเรื่องความขัดแย้งในเกาะดังกล่าวออกมาไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะมีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม รางวัลเกียรติยศที่มูราคามิมักจะได้รับการเอ่ยชื่อในฐานะผู้น่าจะได้รับรางวัล  ในปีนี้ก็เช่นกัน  นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้นี้ได้เข้าเป็นนักเขียนอันดับต้นๆ ที่น่าได้รับรางวัลนี้  เขาได้รับการวางเดิมพันในอัตรา 5 ต่อ 1 ในการจัดอันดับของลอร์ดโบรก บริษัทรับพนันที่สหภาพอังกฤษ 

-----


อ่านบทความต้นทางที่เฮียเขียนยาวเหยียดในหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน แปลเป็นภาษาไทยอยู่ในลิงก์นี้ http://gammemagie.blogspot.hk/2012/10/blog-post_6.html