Mar 19, 2013

"ผมใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มแรกนานสี่สิบปี" แซม เซเวจ ผู้เขียน เฟอร์มิน หนู/รัก/หนังสือ



“เฟอร์มิน” (Firmin: Adventures of a Metropolitan Lowlife)เป็นหนังสือที่ Sam Savage ผู้เขียนเขียนไว้เมื่อตอนช่วงวัยหนุ่ม หลังจากนั้นต่อมาอีกสี่สิบปี เมื่อผู้เขียนอายุ 67 ปี จึงได้รับการตีพิมพ์  เป็นหนังสือที่ได้ความชื่นชมมากมายทั้งในอเมริกา อังกฤษ และยุโรป 

ในโอกาสที่หนังสือเล่มนี้ในภาคภาษาไทยในชื่อ "เฟอร์มิน หนู/รัก/หนังสือ" จะออกวางแผงในอีกไม่กี่วันนี้  เราจึงได้แปลบทสัมภาษณ์นักเขียนหนุ่มใหญ่ผู้มากประสบการณ์ท่านนี้มาฝาก 



LG:  คุณตัดสินใจว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนเมื่อไหร่ และอะไรเป็นแรงบันดาลใจ

SS:  ผมเติบโตในบ้านที่นักเขียนได้รับการยกย่องนับถือ ตอนแรกผมอยากเป็นนักข่าว ผมเขียนบทกวีตั้งแต่หนุ่มๆ และตอนนี้ยังเขียนอยู่ ตอนเป็นหนุ่ม ผมมีความคิดสวยหรูเกี่ยวกับการเขียนว่าทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจ และผมใช้เวลานานมากในการทำใจยอมรับงานหนักอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเขียน 

LG: คุณชื่นชมนักเขียนคนไหนบ้าง คุณเป็นนักอ่านตัวยงหรือเปล่า

SS:  ในบรรดานักเขียนในอดีตที่ไม่ห่างไกลนัก ผมรัก Nabokov, Sorrentino, Gaddis, Vonnegut , ชอบเล่ม Far Tortuga  ของ Peter Matthiessen ผมมักจะหยิบ A Farewell to Arms มาอ่านเป็นระยะๆ เพียงเพื่อความสุขใจกับรูปประโยค  แล้วก็มีพวกกวีต่างๆ โดยเฉพาะ  Yeats, W. C. Williams, และ Berryma  ผมอ่านหนังสือช้าลงเมื่อแก่ตัวขึ้น แต่ผมอ่านหนังสือทุกวัน ผมอยากจะเลิกเขียนหนังสือ และอ่านหนังสือเท่านั้น 

LG:  คุณมีตารางเวลาการเขียนที่เคร่งครัดหรือเปล่าคะ มีธรรมเนียมปฏิบัติ หรือนิสัยในการเขียน ที่จะช่วยให้คุณมีสมาธิในการเขียนไหม

SS: ผมเขียนหรือแสร้งว่าเขียน (ยังไงก็นั่งอยู่ที่โต๊ะนะ) ประมาณวันละสี่ชั่วโมง  ผมทำเช่นนั้นในห้องใต้ดินเล็กๆ ไม่เปิดเพลง  อย่างไรก็ตาม สิ่งดีๆ ที่ผมได้เจอจะเข้ามาตอนที่นอนไม่หลับกลางดึก 

LG:  อะไรบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับหนูที่รักหนังสือ เคยมีเรื่องเกี่ยวกับหนูอะไรที่ฝังจิตฝังใจคุณเป็นพิเศษหรือ

SS: ตอนที่ผมเริ่มเขียนนิยายเล่มนี้ เขียนได้สองสามหน้าแรก ก็มีความรู้สึกชัดเจนถึงตัวละครที่กำลังพูดอยู่ โดยไม่รู้ว่าที่พูดอยู่นี่เป็นหนู แต่เมื่อผมเห็นว่าเขาเป็นหนู ผมก็รู้ว่ารูปร่างหน้าตาแบบนี้ล่ะที่เป็นพาหนะที่สมบูรณ์แบบสำหรับแนวคิดหลักต่างๆ ในเล่ม  ความเบื้อใบ้ การถูกตัดจากสังคม และความปรารถนาที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ 

LG: คุณต้องค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการเขียนหนังสืีอมากแค่ไหน

SS: แทบจะไม่ต้องเลย ผมจำจตุรัสสโคลลีย์และร้านหนังสือแบรทเทิลที่เคยตั้งอยู่ที่นั่นได้ ผมอ่านหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับประวัติของพื้นที่นั้น ผมอ่านบทความเกี่ยวกับหนูในสารานุกรม แค่นั้น 

LG: ต่อจากเฟอร์มินแล้ว จะมีอะไรต่อไป คุณกำลังเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งอยู่ใช่ไหมคะ

SS: ผมเพิ่งเขียนหนังสืออีกเล่มนึงเสร็จ ยังไม่แน่ใจนักว่าผมจะชอบมันหรือเปล่า เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะผมรู้จากประสบการณ์อันยาวนานว่าเมื่อผมเขียนอะไรเสร็จ ผมจะอยากขว้างมันทิ้งลงถังขยะ เฟอร์มินเองก็รอดพ้นชะตากรรมแบบนั้นมาอย่างเฉียดฉิว 

LG: มีคำแนะนำอะไรที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียน คำแนะนำอะไรที่ช่วยคุณในการงานอาชีพ


SS: “อาชีพ” ของผมไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับใคร เพราะผมใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มแรกนานสี่สิบปี คำแนะนำเดียวจากผมคือ จงลืมเรื่อง “อาชีพ” และพยายามไม่เขียน และเมื่อไม่ว่าคุณจะพยายามเพียงไหน คุณก็ยังเขียนอยู่ แสดงว่าคุณเจอทางของตัวเองแล้ว ผมไม่เคยมีคำแนะนำที่ช่วยเหลือผม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะผมเจอทางตันหลายครั้งมาก ในทางกลับกัน นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น 


LG:  ในฐานะลูกจ้างห้องสมุดสาธารณะ ดิฉันขอถามว่าห้องสมุดมีบทบาทในความรักหนังสือและความรักการอ่านของคุณอย่างไรบ้าง 

SS: ตอนผมเด็กๆ ผมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ตรงข้ามมีห้องสมุดเล็กๆ ก่อนที่ผมจะมีห้องส่วนตัวสำหรับเขียนหนังสือ ผมเขียนในห้องสมุด ผมเขียนใน Bibliothèque nationale (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส) ในปารีส ใน British Museum, Widener Library ที่ ม.Harvard, Sterling Library ที่ ม.Yale. บ้านที่ผมอยู่ตอนนี้อยู่ไม่ไกลจากห้องสมุดสาขาเล็กๆ แห่งหนึ่ง และผมไปที่นั่นเสมอ ผมหวังอยากจะไปที่นั่นบ่อยกว่านี้ 




เกี่ยวกับ แซม เซเวจ
เขาเป็นชาวอเมริกันจากรัฐเซาท์แคโรไลนา ได้รับปริญญาตรีและเอก สาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเขาเคยสอนช่วงสั้นๆ เขาทํางานเป็นช่างซ่อมจักรยาน ช่างไม้ ชาวประมงพาณิชย์ และช่างพิมพ์ระบบเลตเทอร์เพรส เฟอร์มินคือ นวนิยายเรื่องแรกของเขา

ข้อมูลเพิ่มเติมเดี่ยวกับหนังสือ : http://www.gammemagie.com/content/view/187/211/lang,thai/

ภาพจาก : www.telegraph.co.uk  และ www.rollinga.cl