Dec 8, 2010

บทสัมภาษณ์มาร์จอเน่ ซาทราพิ ต้อนรับ "ไก่ใส่พลัม" ภาคภาษาไทย

สวัสดีค่ะ

เนื่องในโอกาสที่ "ไก่ใส่พลัม" พิมพ์เสร็จจากแท่นเรียบร้อยแล้ว วันนี้พลพรรคกำมะหยี่เลยนำบทสัมภาษณ์มาร์จอเน่ ซาทราพิ
ผู้เขียนมานำเสนอกับแฟนๆ เพื่อเตรียมต้อนรับผลงานเล่มนี้ค่ะ

+++

ความรักคือทะเลทรายอันว่างเปล่า

นักเขียนการ์ตูนหญิงชาวอิหร่านผู้นี้รู้ว่าสิ่งที่ไม่ดีนั้นดีกับคุณ

มาร์จอเน่ ซาทราพิ เป็นนักเขียนการ์ตูนชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่กรุงปารีส นอกจากนั้นเธอยังเป็นโต้โผสนับสนุนการสูบบุหรี่และชื่นชอบหน้าอกของโซเฟีย ลอเรน

หนังสือเล่มก่อนๆ ของเธอประกอบไปด้วย แพร์ซโพลิส (Persepolis) บันทึกความทรงจำในช่วงวัยรุ่นของเธอ หลังจากต้องออกจากประเทศไปอยู่ที่ยุโรปหลังจากการปฏิวัติอิสลาม และ เย็บถากปากร้าย (ฺBroderies) ซึ่งเป็นเรื่องของญาติๆ ผู้หญิงที่มานั่งจิบน้ำชาและพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ สำหรับผลงานล่าสุด ไก่ใส่พลัม (Chicken With Plums) เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ กรุงเตหะราน ย้อนไปในปี ค.ศ. 1958 จัดเป็นเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ มีตัวละครหลักคือ นัสเซอร์ อาลี ข่าน อิงมาจากชีวิตของลุงของแม่ ผู้ซึ่งเป็นนักดนตรีที่โด่งดัง

นัสเซอร์ อาลี ผู้ทุ่มเทรักรสนิยมชั้นสูงและมีอุดมคติเรื่องศิลปะอันสูงส่งรู้สึกว่าชีวิตตัวเองล้มเหลว เมื่อทาร์ (เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่งของอิหร่าน) ตัวโปรดของเขาพังลง เขาจึงมองหาตัวใหม่ทดแทน แต่ก็ต้องมาพบว่าทาร์ตัวอื่นๆ เสียงไม่ดีพอ เขาจมอยู่ในห้วงของความหดหู่ เขาจึงตัดสินใจที่จะตายและนอนรอความตายอยู่บนเตียง หนังสือเล่มนี้เล่าถึงแปดวันสุดท้ายในชีวิตของนัสเซอร์ อาลี ตอนที่เขาครุ่นคิดถึงชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุขและความรักที่ไม่สมหวังในวัยหนุ่ม เนื่องจากเขาไม่สามารถหาความสุขทางโลกได้อีก เขาจึงใช้เวลาในแต่ละวันพูดคุยกับยมทูตและจินตนาการว่าได้เสพสุขกับหญิงงาม

ไก่ใส่พลัม เป็นหนังสือตลกร้ายและไม่ได้เคร่งเครียดเหมือนนัสเซอร์ อาลี หนังสือเล่มนี้เป็นภาพการ์ตูนขาวดำเหมือนเล่มแพร์ซโพลิส ขณะที่รูปแบบการเล่าเรื่องแบ่งเป็นห้วงๆ เหมือนยืมมาจากงานของผู้กำกับฮิทช์ค็อก และภาพยนตร์เรื่อง มิสซิสดัลโลเวย์

ซาทราพิได้พูดคุยกับ เนิร์ฟ (Nerve) เกี่ยวกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต และการเสพความสุขเหล่านั้นสามารถแก้ปัญหาได้มากมายเกินกว่าที่เราจินตนาการได้อย่างไร

รายงานโดย ซาราห์ ซันด์เบิร์ก
แปลโดย พิรดา สิทธิถาวร



- ไก่ใส่พลัม ดูเหมือนจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการพลาดโอกาส มีส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่ามีการปฏิวัติเรื่องเพศแบบครึ่งทาง นัสเซอร์ อาลี พบผู้หญิงคนหนึ่งชื่ออิเรน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับเธอ นอกจากนี้ยังมีการปฏิวัติทางการเมืองที่ล้มเหลว นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ความหวังถูกทำลายป่นปี้

ซาทราพิ : ใช่แล้วค่ะ เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านในช่วงปีห้าศูนย์ มอสซาเด็กห์ถูกโค่นอำนาจ ในทางหนึ่งถือเป็นจุดจบของประชาธิปไตยทั่วทั้งภูมิภาค และความฝันของผู้คนทั้งโลกถูกทำลาย เช่นเดียวกับฝันของนัสเซอร์ อาลี เรื่องที่เกี่ยวกับอิเรนเกิดขึ้นเพราะตอนนั้นเธอไม่ใส่ผ้าคลุมหน้าเพราะเรซา ชาห์สั่งห้ามไม่ให้ใช้ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเรื่องเพศซึ่งไม่เคยได้เกิดขึ้นจริง

- นัสเซอร์ อาลี แสดงภาพของมนุษย์ผู้รู้สึกว่าตนเองนั้นมีสิทธิพิเศษในการเป็นคนที่เห็นแก่ความพอใจของตนได้เต็มที่

ซาทราพิ : สำหรับฉัน นั่นถือเป็นคำอธิบายภาพของศิลปินอย่างชัดแจ้ง ฉันคิดว่าคุณต้องเป็นคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและหลงตัวเองเป็นอย่างมากถึงจะเป็นศิลปินได้ ฉันพูดอย่างนั้นในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ฉันคิดว่าฉันเป็นคนที่มีเสน่ห์คนหนึ่ง แต่ฉันก็รู้ว่าฉันเป็นคนที่เหลือทนเหมือนกัน

-นัสเซอร์ อาลี ผูกพันอยู่กับอุดมการณ์ในทางศิลปะ แต่เขาก็ค่อนข้างขวางโลกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ

ซาทราพิ : บอกตรงๆ นะคะ ฉันไม่เคยรู้สึกมีอิสระมากเท่าตอนที่เขียนเรื่องไก่ใส่พลัมมาก่อน เวลาฉันเขียนเกี่ยวกับผู้หญิง หรือที่เห็นชัดๆ ก็คือตอนที่เขียนเกี่ยวกับตัวเองอย่างเช่นในเล่มแพร์ซโพลิส ผู้คนมักจะโยงเนื้อหาในเรื่องมาที่ตัวฉัน แต่สำหรับเรื่องนี้ ตัวละครหลักเป็นผู้ชาย ฉันสามารถซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังตัวละคร ในหลายๆ ทาง เขาคือฉัน ฉันสามารถเป็นคนขวางโลกสุดๆ แต่ฉันก็สามารถตายเพราะความรักได้

- การใช้ตัวเอกเป็นเพศที่แตกต่างกับตัวคุณดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการซ่อนตัวตนในนิยาย

ซาทราพิ : ใช่แล้วค่ะ ตอนที่โฟลแบรฺต์เขียนเรื่อง มาดามโบวารี เขากล่าวว่า "มาดามโบวารีคือผมเอง" ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง แม้กระทั่งกับด้านที่น่าสงสารของเธอ ทุกสิ่งที่เธออยากจะเป็นและไม่มีวันเป็นได้ ฉันสามารถโยงไปหาเธอได้ทุกเรื่อง ฉันไม่เชื่อในวรรณกรรมผู้หญิงกับวรรณกรรมผู้ชาย ฉันคิดว่า มาร์เกอริต ดูราส์ พูดถูกที่ว่า วรรณกรรมไม่มีเพศ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเพื่อเขียนเกี่ยวกับผู้หญิง หรือเป็นผู้ชายเพื่อเขียนเกี่ยวกับผู้ชาย ซึ่งถ้าสิ่งนั้นเป็นจริง นั่นก็คงเป็นจุดจบของวรรณกรรม

- ถึงอย่างนั้น ด้วยเหตุผลบางประการ ดูเหมือนผู้หญิงจะรู้สึกว่าพวกเธอจะต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงมากกว่าที่ผู้ชายจะรู้สึกว่าพวกเขาต้องเขียนเกี่ยวกับผู้ชาย

ซาทราพิ : ฉันรู้ แต่ฉันไม่ใช่หนึ่งในผู้หญิงพวกนั้น สำหรับผู้หญิงบางคน อะไรก็ตามที่น่ารังเกียจ ลามก หยาบคาย เป็นของสำหรับผู้ชาย แต่อะไรก็ตามที่ดีเป็นของผู้หญิง ฉันไม่คิดว่าการที่คนเราจะดีหรือเลวนั้นขึ้นอยู่กับเพศ ฉันเคยเจอทั้งผู้หญิงเลวร้าย และเคยเจอผู้ชายที่เลวร้าย และฉันก็เคยเจอทั้งผู้หญิงที่ดีมากและผู้ชายที่ดีมากเหมือนกัน ฉันว่ามันเป็นเรื่องของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งมากกว่าคำถามที่ว่าพวกเขามีนมสองเต้าหรือไข่หนึ่งคู่


- พูดถึงเรื่องนม ช่วยเล่าถึงหน้าอกของโซเฟีย ลอเรนให้ฟังหน่อยสิคะ มันมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ทำไมถึงมีเรื่องของมันอยู่ในหนังสือได้

ซาทราพิ : สำหรับฉัน โซเฟียลอเรนเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก เธอสวยเหลือเชื่อ ไม่มีอะไรในตัวเธอเลยที่ธรรมดา เธอมีจมูกที่ไม่ธรรมดา ปากที่ไม่ธรรมดา และตาที่ไม่ธรรมดา หน้าอกของเธอใหญ่จนคุณไม่สามารถจินตนาการได้ ฉันคิดว่าถ้าพระเจ้าสร้างฉันขึ้นมาภายในสองวินาที ท่านก็คงใช้เวลาสองปีในการสรรสร้างโซเฟีย ลอเรน สำหรับฉัน เธอคือสัญลักษณ์ของความงามและความสำราญ ทุกวันนี้ ในฮอลลีวู้ด คุณต้องดูเหมือนแท่งไม้ ไม่เห็นจะเหมือนผู้หญิงเลยสักนิด โซเฟีย ลอเรนเป็นผู้หญิงแท้ๆ และเป็นผู้หญิงแบบที่ฉันชื่นชอบ จริงๆ แล้ว สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเราพูดว่า “หยิบโซเฟีย ลอเรนมาให้ฉัน หยิบพลัมมาให้หน่อย” ทุกครั้งที่เราทำไก่ใส่พลัม

- ในหนังสือเล่มนี้คุณมีคำบรรยายที่เยี่ยมยอดและกระตุ้นความรู้สึกในการสูบบุหรี่ ตัวละครตัวหนึ่งเรียกบุหรี่ว่า “อาหารสำหรับจิตวิญญาณ”

ซาทราพิ : บุหรี่เป็นอาหารสำหรับจิตวิญญาณ เมื่อคุณสูบบุหรี่ คุณสามารถมองดูตัวเองหายใจ ดูวิญญาณของคุณออกจากร่างและกลับเข้าร่าง เมื่อสองวันก่อน ฉันได้ไปพูดที่ร้านหนังสือบาร์นส์แอนด์โนเบิลในเชลซี ฉันบอกว่าฉันเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงของการสูบบุหรี่ ผู้ฟังหยุดหัวเราะ ผู้คนเต็มใจที่จะกินของห่วยๆ และดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มลพิษต่างๆ ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา แต่ทันทีที่คุณหยิบบุหรี่ออกมา พวกเขาก็จะทำท่าราวกับคุณกำลังจะฆ่าพวกเขา มันไม่จริงหรอก ของแย่ๆ ที่พวกเขาใส่ลงไปในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนต่างๆ หรือยาฆ่าแมลง รวมทั้งความเครียด สภาพความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่กำลังฆ่าคุณ

- อะไรทำให้คุณอยากเขียนหนังสือเล่มนี้

ซาทราพิ : โดยทั่วไปแล้วฉันชอบพวกเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และฉันก็ชอบเรื่องความตายด้วยเพราะฉันคิดว่าการที่พวกเราต้องตายเป็นความจริงที่น่าอดสู เราตายด้วยเหตุผลเดียวกันกับหนอนที่หนอนต้องตาย หรือแมวต้องตาย แต่แตกต่างกันตรงที่เรารู้อยู่แก่ใจ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังพูดถึงเรื่องความสุขเช่นกัน ตั้งแต่เรื่องโซเฟีย ลอเรน เรื่องการสูบบุหรี่ จนถึงเรื่องความรัก ทุกอย่างพรรณนั้น ทุกวันนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่ความคิดเรื่องความสุขถูกปฏิเสธ ทันทีที่คุณพูดว่าสูบบุหรี่ พวกเขาจะพูดว่ามะเร็ง คุณพูดว่ากิน พวกเขาจะพูดว่าคลอเรสเตอรอล คุณพูดถึงเซ็กซ์ พวกเขาจะพูดว่าเอดส์ แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะเป็นเอดส์ มะเร็ง หรือมีคลอเรสเตอรอล คุณมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น ฉันคิดว่าการไม่ยอมรับความสุขเป็นจุดเริ่มต้นของความบ้าคลั่งที่เราเห็นในปัจจุบัน ผู้คนท้อใจเพราะขาดความสุข ถ้าพวกเขามีความสุข ทำไมเขาถึงต้องฆ่าแกงผู้อื่นด้วยล่ะ เขาต้องไม่ทำสิ


- คุณคิดว่ามันมีความเกี่ยวข้องระหว่างลัทธิเพียวริแทนของคนอเมริกันกับความบ้าคลั่งที่มีอยู่ในส่วนอื่นๆ บนโลกมั้ย

ซาทราพิ : แน่นอน ทุกรัฐที่นี่มีปัญหากับเซ็กซ์ พวกเขาไม่สอนเรื่องเซ็กซ์ในโรงเรียน เซ็กซ์ชอปเป็นสิ่งต้องห้าม แต่พวกเขากลับมีร้านค้าอาวุธแทน ทุกคนรู้ว่าอาวุธนั้นเป็นของต่อเนื่องมาจากจู๋ จู๋น่ะทำงานได้ดีมากด้วยตัวของมันเอง คุณไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธใดๆ ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความท้อแท้ ทุกศาสนามีพื้นฐานมาจากความท้อแท้ มันเป็นวิธีที่ดีที่จะควบคุมผู้คน คนที่มีความสนุกสนานจะมีวิญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่า จิตใจที่เปิดกว้างกว่า และพวกเขาจะถูกควบคุมได้ยากกว่าคนที่ท้อแท้มากเสียจนต้องคอยทำตามลัทธิหนึ่งหรืออุดมการณ์หนึ่งเพื่ออยู่รอด

+++

สัมภาษณ์อื่นๆ


สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเปิดดูตัวอย่างในหนังสือได้ที่ "เว็บไซต์สำนักพิมพ์กำมะหยี่"


Dec 1, 2010

อ่านคำคนอ่าน คั่นเวลาระหว่างรอ


ระหว่างที่รออ่านหนังสือของคนเขียน เรามาอ่านถ้อยคำของคนอ่านคั่นเวลากันนะคะ ลิงก์ข้างล่างนี้เป็นบทความที่เขียนโดยคุณทัศนัย และ คุณอุรุดา ในคอลัมน์ "เนื้อใน" นิตยสารสกุลไทย ค่ะ


- กำลังใจจาก "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" บันทึกของฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนและนักวิ่ง

คลิกตามไปอ่าน -->> อย่างน้อยที่สุด ฉันก็เคยสู้ << --

- บทความที่เขียนถึงวิธีการอ่านงานของเฮียมู และ "ราตรีมหัศจรรย์" ค่ะ

คลิกตามไปอ่าน --> ทุกราตรีมีความมหัศจรรย์ <<--

Oct 6, 2010

ร่วมลุ้น... ฮารูกิ มูราคามิ อาจได้รับโนเบลวรรณกรรม 2010

ฮารูกิ มูราคามิ อาจจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมล่ะเธอ!!!

คุณ Mariko Sanchanta รายงานไว้ที่เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เมื่อวานนี้ ข่าวใหญ่อย่างนี้ ชาวกำมะหยี่พลาดไม่ได้ ขอกระจายด่วน

ผู้ที่สนใจอ่านข่าวในภาษาอังกฤษ คลิกหัวข้อข้างล่างตามไปดูได้ค่ะ

And the Nobel Prize Winner is… Haruki Murakami?


ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีความตึงเครียดกระจายอยู่ในอากาศ เปล่า หามิได้ ไม่เกี่ยวกับประเทศจีนแต่อย่างใด หากเป็นเพราะนักเขียนที่มีชีวิตอยู่ชื่อดังที่สุดของญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีโอกาสสูงที่สุดที่จะได้รับรางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติที่สุด นั่นคือรางวัลโนเบลประจำปีนี้ ซึ่งมีกำหนดการประกาศผลวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.53) นี้

ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นกำลังโหยหาวีรบุรุษประจำชาติ หลังจากสูญความภาคภูมิใจในชาติไปหลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนแย่งตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรืองอันดับสองของโลกไปในไตรมาศที่สองของปี มาโอะ อะซาดะ นักสเก็ตน้ำแข็งขวัญใจของประเทศเสียเหรียญทองให้กับคิม ยู-นะ คู่แข่งชาวเกาหลีในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อน ทีมญี่ปุ่นปลุกกำลังใจให้ประเทศด้วยการเล่นอย่างแข็งแกร่งเข้ารอบแรกในการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่ก็เข้าไปถูกปารัควัยเขี่ยตกรอบสอง และผู้ที่ครองตำแหน่งแชมเปียนซูโม่อยู่ในขณะนี้ คือ ฮาคูโฮ ซึ่งเป็น ... คนมองโกเลีย


เพราะเหตุนี้ สายตาทุกคู่จึงหันมาจับจ้องคุณมูราคามิ ผู้ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์อย่างไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักที่จะได้เป็นวีรบุรุษของชาติเมื่อมีอายุได้ 61 ปี แต่ความเป็นไปได้ในการชนะรางวัลโนเบลอันเลื่องชื่อในวันพฤหัสบดีนี้ก็มีสูงกว่าที่เคยปรากฎในอดีต ตามที่แลดโบรคส์ โต๊ะพนันที่อังกฤษให้ข่าว มูราคามิอยู่อันดับที่สามในกลุ่มผู้ที่อาจจะได้รับรางวัล ด้วยอัตราต่อรอง 7/1 ส่วนผู้มีสิทธิ์อันดับที่หนึ่งคือ งูกิ วา ธิออง โอ นักเขียนชาวเคนยาผู้เคยติดคุกในปี ค.ศ. 1977 เพราะไปวิจารณ์รัฐบาลในละครเวทีที่เขาเขียน และทำให้ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา (อัตรา 3/1) ส่วนอันดับสองคือ คอร์แม็ค แม็คคาธี นักเขียนอเมริกันผู้เขียน “No Country for Old Men” ด้วยอัตราต่อรองใกล้เคียงกับมูราคามิแบบเฉียดฉิว (ที่6/1)

ฮารูกิ มูราคามิ เป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นวนิยายของเขามีแฟนๆติดตามในระดับนานาชาติ หลังจากออก นอร์วีเจียน วูด ที่ทำเป็นภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่ 1Q84 นวนิยายล่าสุดที่วางขายสามเล่มในญี่ปุ่น ขายดิบขายดีเป็นหนังสือปกแข็งที่ขายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น คือ มากกว่าสามล้านแปดแสนเล่ม

สมมติว่าเขาได้รางวัลโนเบล เขาก็จะเข้าอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ เพราะมีนักเขียนญี่ปุ่นแค่สองคนเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม คือ เคนซาบุโร โอเอ ในปี 1994 และ ยาซุนาริ คาวาบาตะ ในปี 1968

หลายต่อหลายปี มีเสียงวิพากย์วิจารณ์มากมายโจมตีงานของมูราคามิว่าเป็นงานตลาดบ้างล่ะ เป็นหนังสือเริงรมย์บ้างล่ะ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้คือ ความนิยมชมชอบ และเป็นนักเขียนญี่ปุ่นเพียงคนเดียวที่มีหนังสือติดอันดับขายดีข้ามประเทศอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลที่กรุงสต็อคโฮล์มจะรับเอาเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วยหรือไม่ แต่ญี่ปุ่นก็ยังเชียร์เขาอย่างเงียบงันหากแข็งขันต่อไป


--- หมายเหตุ---

- นอร์วีเจียน วูด หรือในชื่อไทยว่า ด้วยรัก ความตายและหัวใจสลาย สำนวนแปลของคุณ นพดล เวชสวัสดิ์ ยังมีจำหน่ายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไป ข้างล่างนี้เป็นหนังโฆษณาภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือเล่มนี้




- สนพ.กำมะหยี่กำลังจัดแปล 1Q84 สองเล่มแรกเป็นภาษาไทยอยู่



- ใครชอบงานนักเขียนโนเบล รอติดตาม The Golden Notebook ของดอริส เลสซิ่ง นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2007 แปลโดย คุณนพมาศ แววหงษ์ ได้ อีกไม่นานนักจ้ะ

Jun 22, 2010

เปิดใจ มาร์จอเน่ ซาทราพิ "เจ้าหญิงแห่งความมืด" ถึงที่มาที่ไปของ "ไก่ใส่พลัม"

จากผลงานนิยายภาพที่ สนพ.กำมะหยี่ภูมิใจเสนอ จาก "แพร์ซโพลิส" สู่ "เย็บถากปากร้าย" ตอนนี้นักอ่านชาวไทยไม่น้อยคงจะรู้จักและบางคนแอบหลงรัก มาร์จอเน่ ซาทราพิ นักเขียน-นักวาดสาวเชื้อสายอิหร่านผู้นี้ เนื่องในโอกาสที่เราจะออกผลงานเล่มต่อไปของเธอ คือ Poulet aux Prunes หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Chicken with Plum ส่วนในชื่อไทย พวกเราวางเอาไว้เบื้องต้นว่า "ไก่ใส่พลัม" โดยมีกำหนดวางแผงคร่าวๆ ประมาณเดือนกรกฎาคมค่ะ วันนี้พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ขอเสนอบทสัมภาษณ์ของเธอเกี่ยวกับนิยายภาพเล่มนี้

บทสัมภาษณ์นี้แปลจาก www.bookslut.com โดยน้องกุ๋งกิ๋ง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่มาฝึกงานกับเราในช่วงปิดเทอม ใครสนใจอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ -- > คลิกที่นี่ค่ะ

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนต์ ของลอนดอนยกย่องให้เธอเป็น “เจ้าหญิงแห่งความมืด” ในขณะที่หลายคนกล่าวว่าเธอเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงอิหร่าน แต่ที่แน่ๆ มาร์จอเน่ ซาทราพิเป็นนักเขียนและศิลปิน หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเธอ “ไก่ใส่พลัม (Chicken with Plum)” มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่เธอเคยใช้ใน “แพร์ซโพลิส (Persepolis)” หนังสือเล่มก่อนของเธอ


“ไก่ใส่พลัม” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลาแปดวันสุดท้ายของชีวิตลุงของซาทราพิ หลังจากที่มีคนทำ “ทาร์” เครื่องดนตรีอิหร่านสุดที่รักของเขาพัง เขาก็ตัดสินใจที่จะตายและรอคอยยมทูตมารับตัว แม้ว่าซาทราพิเองจะปรากฏตัวอยู่ในหนังสือเล่มนี้เพียงสามหน้า แต่เธอก็ได้สร้างบันทึกความทรงจำชิ้นเยี่ยมในรูปของการ์ตูนไว้ในประวัติศาสตร์ของการ์ตูนเชิงชีวประวัติเทียบได้กับ “เชสเตอร์ บราวน์ (Chester Brown)” ผู้วาด หลุยส์ รีเอล (Louis Riel)** เลยทีเดียว
ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซาทราพิซึ่งพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน ได้เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การเขียนหนังสือของเธอ รวมไปถึงเรื่องที่เธอเคยฝันอยากเป็นดาร์ธ เวเดอร์ ในวัยเด็ก

- ที่งานอ่านหนังสือที่นิวยอร์ก คุณบอกว่า จริงๆแล้ว “ไก่ใส่พลัม” เป็นส่วนหนึ่งของไตรภาค ตอนนี้คุณกำลังเขียนไตรภาคที่ว่านั้นอยู่หรือเปล่า

ฉันเขียนดราฟท์แรกของหนังสือเล่มต่อไปไว้แล้ว แต่ตอนนี้ฉันทุ่มเวลาส่วนมากให้กับภาพยนตร์ เวลาที่ฉันทำงาน ฉันสามารถทำงานเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่กันไปได้ เช่น วาดการ์ตูนหนึ่งหน้าแล้วทำโปสเตอร์สำหรับหนัง แต่ฉันไม่สามารถทำงานชิ้นใหญ่ๆ ระยะยาวสองชิ้นในเวลาเดียวกัน แพร์ซโพลิสเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอิหร่านระหว่างช่วงยุค 70-90 และไก่ใส่พลัมพูดถึงอิหร่านตั้งแต่ยุค 50 จนถึงยุค 70 ฉันอยากเขียนหนังสือที่พูดถึงอิหร่านตอนช่วงยุค 20 ถึง 60 บ้าง จริงๆ แล้วมันคล้ายๆกับไตรภาคที่เล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง เป็นมหากาพย์เกี่ยวกับครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรู้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอิหร่านนะ แต่จะพอนึกออกคร่าวๆ ว่าบรรยากาศในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในไก่ใส่พลัม เพราะว่ามันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก มันจึงไม่ได้พูดถึงการเมืองหรือสภาพสังคม แต่คุณก็ยังจะได้เรียนรู้อยู่ดีว่า ในยุค 70 มีรัฐประหารเกิดขึ้น รู้ว่าในปี 1935 ผ้าคลุมหน้าถูกแบนและคุณก็จะรู้อีกด้วยว่า นั่นเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติทางเพศของอิหร่าน ที่แม้ว่าผู้ชายจะรักผู้หญิงคนหนึ่งแต่เขากลับไม่สามารถแต่งงานกับเธอได้ ในหนังสือจะมีปูมหลังบางอย่างที่คุณสามารถปะติดปะต่อได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดได้เสมอ คุณจะพอรู้คร่าวๆ ว่าในช่วงศตวรรษนั้นมันเป็นอย่างไร


- ฉันสังเกตว่าโครงเรื่องของไก่ใส่พลัมซับซ้อนกว่าแพร์ซโพลิสและเย็บถากปาก ร้าย คุณพุ่งความสนใจไปยังแปดวันสุดท้ายในชีวิตของนาสซี อาลี คาห์น อะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณเลือกสไตล์การเขียนแบบนั้น แทนที่จะเขียนเป็นการ์ตูนช่องเหมือนในแพร์ซโพลิส


- จริงๆแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าแพร์ซโพลิสเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ที่แสดงให้คนทั่วไปเห็น ประเทศอิหร่านในอีกมุมมองหนึ่ง เรื่องราวดำเนินไปเป็นเส้นตรง เย็บถากปากร้ายเป็นเหมือนกับบทสนทนา และสำหรับฉันแล้วหนังสือเล่มนี้จำเป็นต้องมีรูปลักษณ์เช่นนั้น การพูดคุยเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ปราศจากกรอบใดๆ คุณสามารถเข้าและออกจากบทสนทนาเมื่อใดก็ได้ตามใจคุณ มันไม่ใช่การพูดอะไรใหญ่โต ต่อมาในไก่ใส่พลัม ฉันเขียนเป็นการ์ตูนแบบหน้าละสี่แถวซึ่งไม่เคยมีใครทำรูปแบบนี้มาก่อน ฉันต้องการให้หนังสือเป็นเหมือนแปดวันในชีวิต ซึ่งนับว่าสั้นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้มข้นเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ฉันสามารถทำให้ภาพมันใหญ่ขึ้นและทำให้หนังสือขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการ ฉันต้องการให้หนังสือของฉันดูเหมือนสิ่งที่ฉันกำลังพูดถึง ตอนแรกมีรูปภาพ แต่หลังจากนั้นมีเลย์เอาท์ทั้งหมด มีวิธีสร้างหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในแพร์ซโพลิสฉันไม่สามารถใช้โครงสร้างซับซ้อนได้เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของฉัน มันเป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้มากเกินกว่าจะทำอย่างนั้นได้ ส่วนเย็บถากปากร้ายฉันต้องการอะไรเบาๆ

แต่กับไก่ใส่พลัม ฉันมีโอกาสทำแบบนั้นได้ และที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ ฉันได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในไก่ใส่พลัม และเขาบอกกับฉันว่า “นี่มันสคริปต์หนังชัดๆ เธอทำเป็นหนังสือการ์ตูนไม่ได้หรอก” และฉันก็บอกกับเขาว่า “ฉันจะทำเป็นหนังสือการ์ตูน” เพราะสำหรับฉันแล้ว มันเป็นความท้าทายทางสติปัญญา สิ่งที่สำคัญกับฉันมากที่สุดคือ ความท้าทายทางศิลปะและสติปัญญาจากการทำสิ่งที่ฉันทำไม่เป็น เพราะเหตุนี้ฉันถึงทำงาน วันไหนที่ฉันเริ่มทำอะไรซ้ำๆ วันนั้นฉันจะเลิกทำงานแล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน ฉันว่าฉันจะไปเป็นนักสืบเอกชน (หัวเราะ)

คุณหัวเราะ แต่ ณ จุดหนึ่ง เมื่อภาพประกอบของฉันขายไม่ออก ไม่มีใครอยากอ่านหนังสือของฉันอีกแล้ว ฉันตัดสินใจแล้วว่าฉันจะไปเป็นนักสืบ แต่มีอย่างหนึ่งในฝรั่งเศส คือ งานของนักสืบเอกชนมีแค่จับผิดคนที่นอกใจสามีหรือภรรยา เมื่อดูในเชิงจรรยาบรรณแล้ว ฉันคงทำแค่ออกไปเที่ยวถ่ายรูปคนเขาจูบกันไม่ได้หรอก ฉันว่ามันไม่ใช่ธุระกงการอะไรของ ฉัน


- ทำไมคุณถึงเขียนแพร์ซโพลิสเป็นการ์ตูนแทนที่จะเขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดา

ฉันไม่มีทางเลือกอื่น สมองฉันทำงานด้วยภาพ แค่ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่พอ ฉันเคยพยายามเขียนหนังสือหนักๆ และอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายมาแล้ว และฉันกลายเป็นคนน่าสมเพช อารมณ์ขันของฉันหายไปหมดและฉันเขียนได้แย่มาก ฉันนั่งลงและบอกกับตัวเองว่า “เอาล่ะ เธอต้องสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงของตัวเองให้ได”้ แน่ละ งานที่ออกมามันห่วยมาก วินาทีที่คุณบอกกับตัวเองว่าคุณควรจะสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างผลงานชิ้นที่แย่ที่สุดในชีวิต แต่เวลาที่ฉันวาดภาพ ฉันไม่เจอปัญหานี้เลย ฉันจดจ่อกับงานมากและมีความสุขมากที่ได้ทำมัน ฉันแทบไม่ต้องพยายามอะไรเลย จริงๆ แล้วฉันไม่มีทางอื่นนอกจากวาดรูป

- นักประพันธ์นวนิยายภาพทุกคนมีคำตอบที่แตกต่างกันไปสำหรับคำถามข้อนี้ คุณทำอย่างไหนก่อน ระหว่างเขียนหรือวาด หรือทำไปพร้อมๆ กัน

ฉันคิดว่ามันมาพร้อมๆ กัน จริงอยู่ที่ตอนแรกฉันมีเรื่องราวคร่าวๆ ฉันรู้แทบจะชัดเจนว่าฉันจะเริ่มและจบอย่างไร และพอรู้ว่าจะพูดอะไรตอนกลางเรื่อง แต่เมื่อฉันเริ่มทำงานแล้ว มันก็มาพร้อมๆกัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือมันเหมือนกับการที่เด็กทารกเติบโตในท้อง พวกเขาไม่ได้เริ่มมีจมูกก่อนแล้วค่อยมีขาข้างหนึ่ง ต่อด้วยขาอีกข้าง ตามด้วยดวงตาแล้วก็หัว ทุกอย่างเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน



- คุณเคยบอกว่า การกลับไปอิหร่านไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก คุณเคยถูกข่มขู่เรื่องงานบ้างมั้ย


จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงเป็นคำขู่หรอก ไม่มีใครเขียนจดหมายมาหาฉันแล้วบอกว่า “เราจะตัดหัวคุณ” แต่ยกตัวอย่างนะ สองปีก่อน มีงานเทศกาลภาพยนตร์อิหร่านในปารีส ผู้จัดงานติดต่อฉันมา ฉันเลยบอกพวกเขาว่าเขาน่าจะฉายภาพยนตร์ของช่วงก่อนการปฏิวัติอิสลามด้วย ยังไงก็แล้วแต่ ฉันก็ได้รับมอบหมายให้ไปแนะนำภาพยนตร์เรื่องนั้น สองสัปดาห์ก่อนเทศกาล สถานทูตอิหร่านโทร.หาพวกเขาและบอกว่า ถ้าฉันไปร่วมงาน พวกเขาจะไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่องนั้นออกจากประเทศอิหร่าน ทางฝรั่งเศสเลยบอกว่า “เดี๋ยวพวกเราจะคุยกับกระทรวงต่างประเทศเอง...” ฉันก็เลยตอบไปว่า “อย่าทำให้มันเป็นเรื่องการเมืองเลยค่ะ ฉันขอร้อง พ่อแม่ของฉันยังอยู่ที่อิหร่าน” แล้วฉันก็ถอนตัวเรื่องประมาณนี้แหละที่ฉันโดน

อิหร่านไม่ได้เป็นรัฐที่ถือกฎหมายเป็นหลัก ก็เหมือนเรือนจำกัวตานาโมนั่นล่ะ คุณไม่รู้แน่หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่นบ้าง คุณจำเรื่องนักข่าว-ช่างภาพเชื้อสายอิหร่าน-แคนาดาเมื่อหลายปีก่อนได้ไหม เธอถ่ายรูปเรือนจำไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จริงๆ พวกเขาแค่ยึดกล้องถ่ายรูปของเธอก็จบแล้ว แต่พวกเขากลับจับเธอและฆ่าเธอ แถมผู้ชายคนที่ฆ่าเธอยังได้เลื่อนตำแหน่งด้วย ทนายความของครอบครัวเธอคือ ชิริน ฮีบาดี เจ้าของรางวัลโนเบล และแม้ว่าจะมีชื่อเธอและรางวัลโนเบลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การดำเนินคดีก็ไม่ได้ส่งผลลัพธ์อะไรออกมา มันไม่ใช่ที่ที่คุณคาดหวังให้อะไรเกิดขึ้นได้ ฉันจึงไม่กลับไปที่นั่น


และรู้ไหม ถ้าพวกเขาบอกฉันว่า ถ้าฉันกลับไปอิหร่านและพวกเขาจะฆ่าหรือแขวนคอฉันหรืออะไรก็ตาม แล้วอิหร่านจะเป็นสถานที่สุดวิเศษและเป็นประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ฉันจะกลับไปวันนี้เลย ฉันพูดจริงๆ ฉันจะทำ แต่ความจริงก็คือ ถ้าการตายสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้ได้ ตอนนี้โลกคงกลายเป็นสวรรค์ไปแล้ว ผู้คนตั้งมากมายตายเพื่ออุดมการณ์ แต่จนบัดนี้ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ตอนนี้ฉันตัดสินใจแล้วว่าฉันจะตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ขอค่อยๆ ตายดีกว่า



- ที่นิวยอร์ก คุณพูดไว้ว่า รูมิ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีอิทธิพลกับคุณมากที่สุดในไก่ใส่พลัม นาสซี อาลี คาห์นต้องพบกับ อาซเรล ยมทูต งานเขียนชิ้นนี้ของคุณได้รับอิทธิพลงจากงานของรูมิ**มากแค่ไหน

คุณต้องเข้าใจว่าในอิหร่าน ผู้คนนับถือฮาฟิซ**และรูมิมากกว่าคัมภีร์อัลกุรอ่านเสียอีก วัฒนธรรมอิหร่านมีพื้นฐานผูกอยู่กับบทกวีมาก แม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือเขียนหนังสือไม่ได้ก็ยังสามารถท่องจำบทกลอนเหล่านั้นได้ขึ้นใจ เพราะท่องต่อกันมาเป็นประเพณี ฉันโตขึ้นมากับงานของรูมิ คุณยายของฉันท่องให้ฟังเสมอๆ รูมิและคัยยัม** เป็นกวีสองคนที่ฉันชอบมากที่สุด ฉันชอบคัยยัมตรงความรู้สึกว่างเปล่าในงานของเขาที่คุณไม่รู้แน่ว่าคุณมาจากที่ไหนและจะไปที่ไหนต่อ ดังนั้นก็แค่ดื่มเหล้าและใช้ชีวิตให้คุ้ม ส่วนรูมิ ฉันชื่นชมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขาในการมองโลก ฉันก็มองโลกแบบนั้นเช่นกัน และแน่นอนว่าฉันว่าฉันไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากใส่ความคิดดังกล่าวลงไปในงานของฉัน


- คุณพูดถึงมาเกอริต ดูราส์**ด้วย

ฉันอ่านงานของมาเกอริต ดูราส์เกือบครบทุกเล่ม และที่ฉันพูดถึงเธอเสมอๆ เพราะฉันเบื่อพวกนักเรียกร้องสิทธิสตรีที่พูดถึงวรรณกรรมสำหรับผู้หญิงและสำหรับผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ชื่นชอบดูราส์ด้วย ทั้งๆ ที่ดูราส์เป็นคนที่กล่าวไว้ว่าวรรณกรรมไม่มีการแบ่งแยกเพศ

คนมักบอกกับฉันว่า “คุณเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ชาย” มันก็จริงแต่โฟลแบรต์**ก็เขียนเรื่อง
เกี่ยวกับผู้หญิงเหมือนกัน มาดามโบวารี** คือใครกัน ฉันว่าเธอเหมือนฉันมากกว่าที่เธอเหมือนผู้หญิงคนที่เป็นตัวเธอในเรื่องเสียอีก ผู้หญิงคนที่เธอบรรยายไม่ใช่ฉันเลยสักนิด โฟลแบรต์พูดถึงแต่ในด้านที่น่าสงสารของมาดามโบวารีทุกด้าน มันเป็นการบรรยายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้ฉันนึกถึงตัวเองมากๆ

ฉันดีใจมากตอนเขียนไก่ใส่พลัมเสร็จ เพื่อนส่วนใหญ่ของฉันเป็นผู้ชายและคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่มีใครพูดว่า “ผู้ชายคนนี้ถูกบรรยายโดยผู้หญิง” ฉันไม่เคยรู้สึกอิสระมากเท่าตอนที่เขียนหนังสือเลย และด้วยเหตุว่าตัวละครหลักเป็นผู้ชาย ฉันก็เลยซ่อนตัวอยู่ด้านหลังของเขาได้อย่างง่ายดาย



- ฉันเห็นบทสัมภาษณ์ของคุณกับ ดิ อินดีเพนเดนต์ ที่ลอนดอนและ…

(หัวเราะ) ที่ฉันพูด “เหี้ย” “ห่า” อะไรไปสารพัด ใช่ๆ



- บทสัมภาษณ์นั้นชื่อว่า “มาร์จอเน่ ซาทราพิ: เจ้าหญิงแห่งความมืด” คุณว่าเป็นการบรรยายที่เหมาะไหม

เอ่อ.. ฉันเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ “เจ้าหญิง” และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ “ความมืด” ด้วย เท่าที่ฉันรู้ก็คือครั้งแรกที่ฉันดูสตาร์ วอร์สกับลูกพี่ลูกน้องของฉัน พวกเขาทุกคนอยากเป็นลุคสกาย วอล์คเกอร์และเจ้าหญิงเลอา แต่ฉันชอบดาร์ธ เวดอร์ -- และอยากเป็นอย่างเขา แต่ถ้าคุณย้อนไปดูความทรงจำวัยเด็กของฉัน ก็ไม่น่าแปลกนักหรอกที่ฉันอยากเป็นดาร์ธเวเดอร์ ฉันชอบหัวเราะและใช้ชีวิตแบบสนุกสนานมาก ฉันรู้ว่าต้นตอสาเหตุของอะไรต่างๆ จะผิดเพี้ยน ฉันรู้ว่าทุกอย่างจะตกนรกหมกไหม้ ฉันรู้อยู่แล้วล่ะว่าการตายของฉันเป็นเรื่องใหญ่ การตายของคุณด้วย เรื่องนั้นแน่ล่ะ แต่คุณรู้ไหม ในขณะที่เรายังมีเวลาเหลืออยู่ฉันพอใจจะหัวเราะทุกวัน ฉันอยากจะมีความสุขให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วฉันคงไม่ได้ใช้ชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว


------- รู้ไว้ใช่ว่า ...

∗∗ Louis Riel: A Comic-Strip Biography เขียนโดยเชสเตอร์ บราวน์ นักวาดการ์ตูนชาวแคนาดา หนังสือเล่าชีวประวัติของหลุยส์ รีเอลผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลชาวเมทิส (ชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของแคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา เป็นลูกผสมระหว่างชาวยุโรปและชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ) และเน้นเรื่องราวการต่อต้านรัฐบาลแคนาดาของในปีค.ศ.1869-1870 และ 1885 นิตยสารไทม์สได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ดีที่สุดของปี 2003 (http://en.wikipedia.org/wiki/Louis_Riel:_A_Comic-Strip_Biography, http://www.wisegeek.com/who-are-the-metis-people.htm)



** รูมิ (Rumi) กวี นักกฎหมายและนักเทววิทยาชาวเปอร์เซีย มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่ที่เมืองคอนยา (Konya) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมทั่วไปในประเทศที่ใช้ภาษาเปอร์เซีย และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเปอร์เซียเป็นอย่างมาก (http://en.wikipedia.org/wiki/Rumi)

** ฮาฟิซ (Hafez) กวีชาวเปอร์เซีย ชาวอิหร่านส่วนใหญ่ท่องจำบทกวีของเขาได้ขึ้นใจและหลายบทยังได้กลายมาเป็นสุภาษิตในยุคปัจจุบันอีกด้วย บทกวีของเขามีอิทธิพลต่องานเขียนของเปอร์เซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาเป็นอย่างมาก (http://en.wikipedia.org/wiki/Hafez)

**คัยยัม (Khayyam) กวี ปราชญ์ แพทย์ นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวเปอร์เชีย เขาเขียนตำราคณิตศาสตร์ที่สำคัญหลายเล่ม และบทกวีของเขายังเป็นที่รู้จักและท่องจำทั่วไปในเปอร์เซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกเมื่อเอ็ดเวิร์ด ฟิซเจอราลด์แปลบทกวีของเขาในปี 1859 (http://en.wikipedia.org/wiki/Omar_Khayy%C3%A1m)

** มาเกอริต ดูราส์ (Maguerite Duras) นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เธอเขียนนวนิยาย บทละคร เรื่องสั้นและเรียงความหลายชิ้น รวมถึงอัตชีวประวัติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก งานของเธอในช่วงแรกส่วนมากเป็นไปตามธรรมเนียมนิยม แต่ช่วงหลังๆเธอสร้างงานในแนวทดลองมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของเธอคนไทยน่าจะรู้จักที่สุดคือเรื่อง The Lover (http://en.wikipedia.org/wiki/Marguerite_Duras)

** กุสตาฟ โฟลแบร์ต (Gustave Flaubert) นักเขียนชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ นวนิยายเรื่องมาดามโบวารี (Madam Bovary) สไตล์การเขียนของโฟลแบร์ตมักจะหลีกเลี่ยงการเขียนที่คลุมเครือ และมีชื่อเสียงในการใช้คำตรง (http://en.wikipedia.org/wiki/Gustave_Flaubert)

** มาดามโบวารี (Madam Bovary) ตัวละครเอกในนวนิยายชื่อเดียวกันของโฟลแบร์ต ที่เล่าถึงเอมม่า โบวารี ภรรยาของแพทย์คนหนึ่งที่ลักลอบมีชู้ และใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อหลีกหนีความธรรมดาสามัญและความว่างเปล่าของชีวิต (http://en.wikipedia.org/wiki/Madame_Bovary)