Sep 2, 2008
มาร์จอเน่ ซาทราพิ
มาร์จอเน่ “มาร์จี้” ซาทราพิ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1969 ที่เมืองรัสต์ในอิหร่าน ใกล้ทะเลแคสเปียน เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวชนชั้นกลางที่มีความคิดเห็นค่อนไปทางเอียงซ้าย มีพ่อซึ่งเป็นวิศวกร แม่ซึ่งเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า และยายซึ่งสืบเชื้อสายจากพระเจ้าชาห์ที่ถูกโค่นบัลลังก์ เป็นแบบอย่างที่ช่วยหล่อหลอมตัวตน ความคิด และทัศนคติ แต่ความตรงไปตรงมากับการกล้าแสดงออกทำให้เธอประสบปัญหาในการดำรงชีวิต ภายใต้การปกครองอันเข้มงวดและจำกัดสิทธิเสรีภาพของระบอบรัฐอิสลามอิหร่าน
ครอบครัวส่งเธอไปเรียนต่อที่ออสเตรียเมื่ออายุสิบสี่ และเธอก็เผชิญความยากลำบากในการปรับตัวและลองผิดลองถูกเพื่อที่จะทำตัวให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมและสังคมเสรีโดยพยายามรักษาตัวตนเอาไว้ เธอเรียนจบมัธยม ติดยา ออกไปร่อนเร่นอนข้างถนนจนล้มป่วย ในที่สุด เธอก็ซมซานกลับบ้านเกิดอย่างคนอกหักเพื่อจะพบว่าตัวเธอและแผ่นดินเกิดเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันไปคนละทางแล้ว
เธอเข้ามหาวิทยาลัยในอิหร่านเพื่อเรียนศิลปะและแต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ก่อนจะหย่าในอีก 3 ปีต่อมา ในที่สุด เมื่อจบปริญญาตรี มาร์จอเน่ก็ตัดสินใจไปฝรั่งเศส เธอจบปริญญาโทที่สตราสบูร์ก ก่อนจะย้ายเข้าปารีสมาทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบนิตยสารต่างๆและนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน ปัจจุบันแต่งงานกับสามีชาวสวีเดนและพำนักอยู่ในย่านมาเรส์ กรุงปารีส มาร์จอเน่เขียน แพร์ซโพลิส เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี 1999 และแล้วเสร็จในปี 2000 นับตั้งแต่นั้น เธอไม่ได้กลับอิหร่านที่ซึ่งพ่อกับแม่ของเธอยังใช้ชีวิตอยู่อีกเลย
ตอนที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรก มาร์จอเน่คิดว่าจะมีคนซื้อสัก 300 คน แต่ถึงตอนนี้ หนังสือเล่มนี้มียอดขายกว่าหนึ่งล้านเล่มและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ราว 25 ภาษา (ตัวเธอเองพูดภาษาต่างๆได้หกภาษา ฟาร์ซี ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ สวีเดน และอิตาเลียน) สิ่งที่ทำให้เธอดีใจก็คือหนังสือเล่มนี้มีความเป็นสากล มันไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะชาวอิหร่าน และเป็นเรื่องของการเติบโตในที่ใดๆก็ตามที่มีปัญหา
จากคำบอกเล่าของมาร์จอเน่ ซาทราพิ
ทำไมถึงเขียน แพร์ซโพลิส
นับตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศสในปี 1994 ฉันก็เล่าชีวิตในอิหร่านให้เพื่อนฟังตลอด เราเห็นบางเสี้ยวส่วนของอิหร่านในทีวี แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ฉันประสบ ฉันต้องคอยบอกว่า ‘ไม่จริง มันไม่ใช่แบบนั้น’ ฉันพยายามบอกตัวเองมาเกือบยี่สิบว่าฉันไม่ผิดที่เกิดเป็นคนอิหร่าน มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ฉันทำหรือเลือกที่จะเป็นมากกว่า
หลังจากเรียนจบ พวกเราเก้าคนซึ่งเป็นเพื่อนๆ ศิลปินทำงานในสตูดิโอด้วยกันบอกให้ฉัน ทำอะไรสักอย่างกับเรื่องของเธอสิ พวกเขาแนะนำให้ฉันรู้จักนิยายภาพ ฉันได้อ่านงานของสปีเกลแมนเป็นคนแรก และนึกในใจว่า ‘พระเจ้าช่วย มันเป็นไปได้นี่ที่ฉันจะเล่าเรื่องได้ด้วยวิธีนี้’ มันอัศจรรย์มาก
เขียนนิยายภาพก็เหมือนการทำภาพยนตร์
คนชอบถามว่า ‘ทำไมไม่เขียนหนังสือ’ สำหรับฉัน แพร์ซโพลิส ก็คือหนังสือ หน้ากระดาษที่พูดเกี่ยวกับอะไรสักอย่างและมีหน้าปกก็คือหนังสือ นิยายภาพอาจไม่ใช่วรรณกรรมตามขนบนิยม แต่ไม่ได้แปลว่ามันเป็นรอง ภาพคือวิธีเขียนแบบหนึ่ง ถ้าคุณทำได้ทั้งเขียนทั้งวาด แล้วทำไมต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง ฉันก็เลยทำทั้งคู่
เรารู้จักโลกผ่านภาพต่างๆอยู่ตลอดเวลา เช่น ภาพยนตร์เป็นต้น แต่การทำภาพยนตร์ต้องมีนายทุนและเงินและมีคนมากมายทำงานให้ แต่การเขียนนิยายภาพเราต้องการแค่ตัวเราเองกับบรรณาธิการเท่านั้นเอง
ฉันต้องการบอกอะไร
ฉันเป็นพวกสันตินิยม ฉันเชื่อว่ามีวิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหาของโลก แทนที่จะใช้เงินสร้างอาวุธ ประเทศต่างๆ น่าจะให้ทุนเด็กๆ ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ให้พวกเขากลับมาเป็นอาจารย์ที่เก่งและดี คุณต้องใช้เวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น ฉันถูกเลี้ยงมาอย่างเปิดกว้าง ถ้าฉันไม่รู้จักคนจากต่างประเทศ ฉันก็คงจะคิดว่าคนชาติอื่นเป็นคนเลวจากข่าวสารที่ได้รับ แต่ฉันรู้จักคนมาก และรู้ว่าไม่มีอะไรที่ดีหรือเลวอย่างสมบูรณ์ เป็นไปได้ว่าจะมีความเลวเท่าๆ กันกระจายอยู่ทั่วไป แต่ถ้าคนมีโอกาสใช้ชิวิตในประเทศอื่นๆ พวกเขาจะเกลียดน้อยลง มันไม่ใช่ยาวิเศษ แต่จะทำให้เราค่อยๆ แก้ปัญหาจากชั้นใต้ดินขึ้นมา ไม่ใช่แก้ที่ผิว ฉันอยากให้คนอ่านหนังสือ แพร์ซโพลิส จะได้เห็นว่าฉันเติบโตมาเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ
และเวลาไปแจกลายเซ็น ฉันดีใจที่ได้เจอคนเข้ามาบอกว่า ชอบหนังสือของฉันเพราะมันช่วยเปิดหูเปิดตาไม่ให้เชื่อในสิ่งที่ตนได้ยิน ฉันรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ
คุณต้องคิดให้เป็นอิสระจึงจะรู้ว่าจะเขียนอะไร
พ่อแม่ของฉันภูมิใจมากเมื่อได้อ่าน แพร์ซโพลิส ถ้าหากฉันวิพากษ์วิจารณ์พวกท่านอยู่บ้าง นั่นก็เป็นเพราะมันคือความจริง และพวกท่านก็หัวเราะ พ่อของฉันพูดเสมอว่า ‘มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ไม่เคยเปลี่ยนใจ’ พ่อกับแม่ยอมรับว่าเวลาเปลี่ยนและท่านก็ไม่ได้ถูกเสมอไป ท่านสอนให้ฉันรู้ว่าคนเราทำความผิดพลาดได้
พวกท่านเปิดกว้างมากๆ และยอมรับสิ่งที่ฉันพูดและยังเรียกร้องให้ฉันพูดด้วย ฉันรู้สึกอ่อนโยนเพราะพวกท่านเป็นพ่อกับแม่ที่วิเศษมากๆ ท่านมอบสิ่งที่สำคัญที่สุดให้ฉัน นั่นคืออิสรภาพในการคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราพึงได้รับซึ่งไม่ถูกล้างสมองเพราะโลกหรือเพราะศาสนา
รู้จักมาร์จอเน่ ซาทราพิ จากบทสัมภาษณ์บางตอน
หนังสือเล่มแรกเล่าจากมุมมองของเด็กหญิงที่พยายามเข้าใจสังคมรอบตัว ขณะที่เล่มสองพูดถึงการเติบโตเป็นวัยรุ่นโดยเน้นการทำความเข้าใจตัวเองเป็นหลัก การเขียนเล่มสองยากกว่าเล่มแรกหรือไม่
ในหนังสือเล่มแรก ฉันใช้ข้อดีของการเป็นเด็กน่ารัก ฉันเป็นแค่เด็กเล็กๆ ไม่มีหน้าที่ตัดสินใจหรือทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อโลกรอบตัวเปลี่ยนแปลง ฉันก็เป็นแค่พยานของเหตุการณ์เหล่านั้น สงครามเกิดขึ้น แล้วสักพักสถานการณ์นี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติ มนุษย์มีความสามารถที่จะยอมรับเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด ส่วนความรู้สึกในหนังสือเล่มสองจะเป็นการเผชิญปัญหาที่เราประสบเมื่อเดินทางเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่ เราต้องปรับตัวและอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ แต่การจะทำเช่นนั้นให้ได้ เราต้องลืมวัฒนธรรมเดิมให้หมดก่อน เพราะวัฒนธรรมเดิมกินพื้นที่ทั้งหมดในตัวเรา ถ้าเราอยากเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ เราต้องเอาวัฒนธรรมแรกออก จากนั้นจึงค่อยเลือกว่าจะรับอะไรจากวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่เข้าไปในตัวอีกครั้ง แต่มันจะเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าตัวเราไร้อัตลักษณ์ เราไม่รู้ว่าเราคือใครอีกต่อไป เราอยากเป็นส่วนใหญ่ของสังคมใหม่ แต่ก็มีสังคมเดิมอยู่ในใจ ปัญหาเดียวกันเกิดเมื่อเราจากบ้านไปและกลับคืนมา เรากลายเป็นคนแปลกหน้าทั้งสองที่ ฉันกลายเป็นคนแปลกหน้าในอิหร่านและไม่เสี่ยงกลับไปอีกแล้ว ความแปลกหน้านี้ให้ความรู้สึกดีและความรู้สึกที่แย่ ถ้าฉันบอกว่าฉันเป็นห่วงสถานการณ์ในอิหร่านตลอดเวลา ฉันก็โกหก พวกเราที่ออกจากอิหร่านซึ่งหลายคนไม่มีพ่อแม่มาด้วย ต่างปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมใหม่จนยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ที่ตลกก็คือ เพื่อนชาวอิหร่านทั้งหมดที่ฉันมีตอนนี้ ที่ออกจากประเทศตอนอายุ 12, 13, 14 กลับกลายเป็นพวกชาตินิยมอย่างรุนแรง
คุณอยู่ฝรั่งเศสมานานแล้ว (12 ปี) คุณเรียกที่นี่ว่าบ้านได้หรือเปล่า
ฉันอาจจะอยู่ฝรั่งเศสห้าสิบปีแต่ยังรักอิหร่านมากกว่า ฉันพูดเสมอว่าถ้าเป็นผู้ชาย ฉันคงตอบว่าอิหร่านคือแม่และฝรั่งเศสคือเมีย แม่นั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นอย่างไร แต่ฉันก็ยินดีตายเพื่อนท่าน ไม่ว่าอย่างไรท่านก็เป็นแม่ ส่วนเมีย ฉันอาจนอกใจหรือทิ้งเธอ ฉันอาจรักและมีลูกกับเธอ หรืออาจทำทุกอย่าง แต่เมียไม่มีวันเหมือนแม่ แต่ตอนนี้ ฉันไม่มีบ้านแล้วและจะไม่มีวันมีบ้านอีก การใช้ชีวิตอย่างที่ฉันใช้ ไม่มีอนาคต มันมีความแตกต่างใหญ่หลวงเมื่อเราต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมา
ฉันรู้ว่าคนเราสามารถเป็นอะไรสองอย่างที่แตกต่างกันได้ และมันก็ไม่สะดวกนักที่จะนั่งเก้าอี้สองตัวพร้อมกัน แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเรามีเก้าอี้สองตัวแทนที่จะมีตัวเดียว ถ้ามองในแง่ดีก็คือฉันสามารถล้มตัวลงนอนได้เพราะฉันมีเก้าอี้สองตัว คนอื่นมีเก้าอี้ตัวเดียว พวกเขานั่งสบายก็จริง แต่นอนไม่ได้
ตอนจบของหนังสือเล่มนี้ คุณออกจากอิหร่านไปฝรั่งเศสเพื่อที่จะมีอิสระในการทำงาน ในฐานะที่เป็นผู้หญิงและเป็นศิลปิน คุณคิดว่าคุณได้รับอิสรภาพในฝรั่งเศสหรือไม่
ได้ค่ะ ปัญหาพื้นฐานของประเทศอย่างอิหร่านก็คือ นอกจากระบอบปกครองและรัฐบาล เรายังมีวัฒนธรรมเป็นตัวนำพาประเทศ นั่นคือสิ่งที่แย่ที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลยังอยู่ ไม่ว่าวัฒนธรรมแตะต้องอะไร มันก็จะกำหนดนิยามให้สิ่งนั้น ถ้าแตะจิตวิทยา มันก็จะบอกว่าผู้หญิงอ่อนไหวกว่าผู้ชาย ถ้าแตะแพทยศาสตร์ มันก็จะบอกว่าสมองของผู้หญิงมีน้ำหนักน้อยกว่าสมองผู้ชาย คอยให้คำนิยามของตัวเองกับสิ่งต่างๆ ทั้งการเมือง ศาสนา สถานการณ์เป็นเช่นนั้น นั่นละคะ พวกสิทธิสตรีพากันโกรธที่ฉันปฏิเสธว่าฉันไม่ใช่พวกเรียกร้องสิทธิสตรี ฉันเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ฉันเชื่อในมนุษย์ หลังจากได้พบเจอสิ่งต่างๆในโลก ฉันไม่คิดว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย ดูพวกทหารหญิงทำในอิรักสิคะ ไม่ได้ดีไปกว่าทหารชายเลย
แสดงว่าคุณคิดว่าสิทธิสตรีคือการนิยามว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย อย่างนั้นหรือ
นั่นคือสิ่งที่ฉันรู้สึกค่ะ เวลาพวกเขาพูดว่า ‘พวกผู้ชายทำลายนี่ พวกผู้ชายทำเรื่องนั้น’ จริงๆ คนที่ทำก็คือคนและเพศก็มาทีหลังการกระทำ ฉันคิดว่าการแบ่งแยกว่า ‘เราคือผู้หญิง’ ‘เราคือผู้ชาย’ มันละเอียดเกินไป เราควรพูดว่า ‘เราคือมนุษย์’ มากกว่า มีมนุษย์อยู่สองแบบเท่านั้น คือมนุษย์ที่รักสิ่งแวดล้อม ต้องการสังคมยุติธรรม กับมนุษย์ที่หิวกระหายและชอบสงคราม นี่จึงไม่ใช่เรื่องของตะวันออกกับตะวันตก อเมริกันกับอิหร่าน หรือหญิงกับชาย
คุณตั้งใจแสดงให้เห็นสองแง่มุมของปัญหาและมนุษย์ไว้ในหนังสือทั้งสองเล่ม ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเอง ยายของคุณ หรือตัวละครประกอบอื่นๆ
โลกนี้ซับซ้อนมาก ในหนังสือฉันเขียนถึงมูลลาห์ที่ดี คนที่ให้ฉันผ่านการสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย เขารับฉันเข้าเรียน ฉันจึงไม่อาจเขียนว่า มูลลาห์ทั้งหมดไม่ดี เพราะมีคนที่เชื่อในความซื่อสัตย์อยู่ มันง่ายกว่าถ้าจะบอกว่าพวกเขาทั้งหมดเลวร้าย ชีวิตฉันก็คงง่ายขึ้น แต่ทุกอย่างซับซ้อนกว่านั้น มีความดีมากเหลือเกินในความชั่ว และมีความชั่วมากเหลือเกินในความดี
การค้นหาตัวตนในเรื่อง คุณเล่าเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ ในการแสดงให้เห็นว่าคุณพยายามลองผิดลองถูกมากมายแค่ไหน โดยไม่รู้สึกว่าใช่สักที ยากไหมกับการย้อนนึกถึงเรื่องราวเหล่านั้นและเขียนถึงมัน
ยากกว่าเขียนเล่มแรก เพราะเล่มที่สองฉันไม่ไร้เดียงสาอีกต่อไปแล้ว และไม่มีอะไรเป็นแบบอย่างในการตัดสินการกระทำของตัวเอง เรื่องต่างๆ เกิดขึ้น และฉันก็เติบโตเป็นตัวละครที่เล่นตามการตัดสินใจของตัวเอง เล่นละครชีวิตของตัวเอง สิ่งที่ยากคือการพยายามซื่อสัตย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉันเล่าเรื่องที่ตัวเองแจ้งความให้องครักษ์ปฏิวัติจับผู้ชายคนหนึ่งเพื่อที่ตัวเองจะไม่โดนจับ เรื่องแบบนี้ไม่น่าภูมิใจเท่าไรนัก แต่นั่นคือการบอกว่า คนเราจะทำอย่างไรเมื่อรู้สึกกลัว เราสามารถทำตัวได้แย่มากๆ
ยายของคุณเป็นศูนย์กลางศีลธรรมในหนังสือทั้งสองเล่ม คุณจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับท่านอีกหรือเปล่า
วันที่ฉันตาย ถ้าคุณเอาหนังสือของฉันทั้งหมดมารวมกัน คุณจะเห็นมหากาพย์ครอบครัว หนังสือเรื่อง Embroidery จะพูดถึงคุณยายเป็นตัวละครหลัก ทุกอย่างจะดำเนินไปรอบๆ เธอ ฉันมีหนังสืออีกเล่มจะออกในฝรั่งเศสในเดือนตุลาคมชื่อ Chicken with Plums เกี่ยวกับลุงของแม่ ฉันปรากฏตัวแค่สองหน้าเท่านั้นแล้วก็หายไป ทำตัวเหมือนฮิตช์ค็อกในภาพยนตร์ของเขาเลย
คุณจบหนังสือเล่มที่สองแบบสั้นๆ ห้วนๆ เหมือนเล่มแรก โดยบรรทัดสุดท้ายพูดถึงครั้งสุดท้ายที่ได้พบยาย และเรื่องก็จบที่สนามบินเหมือนกัน
ฉันเกลียดสนามบิน การกล่าวอำลาเป็นคำที่แย่ที่สุดสำหรับฉัน มันหมายถึงว่าพวกเขาอาจตายจากและฉันจะไม่ได้พบพวกเขาอีก ไม่ว่าใครก็ตาม แม้กระทั่งคนที่ฉันพบแค่หนึ่งชั่วโมง ฉันชอบคำว่าตลอดไปมากกว่า เราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป ฉันจะได้เจอคุณตลอดไป
คุณรู้สึกว่าคุณมีความรับผิดชอบต่อคนอิหร่านหรือไม่ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้น
ใช่ค่ะ ปีที่แล้วมีคนจากแอลเอเสนอว่าอยากทำเรื่องนี้เป็นละครซีรีส์ เหมือนเบเวอร์ลีฮิลล์ แต่เกิดขึ้นในอิหร่าน โดยใช้หนังสือของฉันเป็นพื้นฐาน มีคนหนุ่มสาวมากมาย แล้วก็มีระเบิด ฉันไม่รู้ว่าแนวคิดของการทำแบบนี้คืออะไร แต่พอนึกภาพว่าพวกเขาจะให้เจนนิเฟอร์ โลเปซ มาเล่นเป็นพ่อ มันก็คงวุ่นวายพิลึก ต่อให้พวกเขาจ่ายสองล้านเหรียญ ฉันก็คงไม่รับ เวลาคุณเขียนหนังสือแบบนี้ คุณมีความรับผิดชอบบางอย่าง คุณไม่อาจปล่อยให้ใครต่อใครเอามันไปเปลี่ยนไปพลิกเป็นอย่างอื่นได้
คุณเขียนเป็นภาษาเปอร์เซียบ้างไหม
ก็ไม่ค่อยนะ เพราะว่าอย่างหนังสือ แพร์ซโพลิส ฉันเขียนให้คนอื่นอ่าน ไม่ใช่ให้คนอิหร่าน ถ้าเป็นคนอิหร่านอ่าน ฉันก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย และฉันพูดภาษาฝรั่งเศส ตอนนี้ก็ดีกว่าที่จะเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่เปอร์เซีย ฉันคิดว่าถ้าเป็นภาษาเปอร์เซีย น่าจะมีคนอื่นเขียนได้ดีกว่าฉัน
ทัศนะของมาร์จี้
“สำหรับฉัน การสูบบุหรี่ก็เหมือนการมองดูจิตวิญญาณของตัวเอง มีอะไรบางอย่างที่เป็นกวีเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ จากท่าทางการคีบบุหรี่ จุดบุหรี่ สูบบุหรี่ กลิ่นรสของมัน ฉันชอบทุกอย่างเกี่ยวกับการสูบบุหรี่” เธอไม่เห็นด้วยกับการเลิกความสุขทุกอย่างเพื่อแลกกับการมีชีวิตยืนยาว “เราปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสุข การกิน จากคอเลสเตอรอล การมีเพศสัมพันธ์ จากเอดส์ การสูบบุหรี่ และมะเร็ง สังคมป่วยไข้เท่านั้นที่ปฏิเสธความสุข ทำไมเราต้องมีชีวิตอย่างคนป่วยเพื่อฝังร่างลงในดิน ฉันหวังว่าเลือดเนื้อของฉันจะเน่าเปื่อยจนโลกไม่ต้องการ ทำไมต้องกลัวในเมื่อทุกวันที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็ใกล้ความตายเข้าไปหนึ่งวัน”
“ฉันโง่มากตอนอายุยี่สิบ ฉันคิดเลขเก่งมากจนคิดว่าตัวเองฉลาดเป็นกรด แต่ฉันไม่ฉลาดในการใช้ชีวิต ฉันก้าวร้าวเกินไป ตัดสินใจผิดตลอดเวลา เชื่อว่าตัวเองเป็นคนดีทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ คิดว่าตัวเองเป็นคนร้ายกาจทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ ทุกอย่างที่ฉันคิดผิดไปหมด แต่พออายุมากขึ้น อะไรๆ ก็ดีขึ้น”
“ฉันไม่เคยสนใจว่าคนคิดอะไรหรือพูดอะไร นั่นคือจุดเริ่มต้นของอิสรภาพ สิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันเคยทำในชีวิตก็คือการถามตัวเองว่า ฉันชอบทุกคนหรือ และคำตอบก็คือไม่ ฉะนั้น ทำไมทุกคนต้องชอบฉันด้วย ถ้ามีคนไม่ชอบฉัน แล้วจะทำไม ฉันก็ไม่ชอบพวกเขาเหมือนกัน”
“ฉันคิดว่าคนที่มองหนังสือของฉันเป็นเรื่องการเมืองต้องไปหาคำตอบเอาเอง พวกเขาจะให้ฉันรับผิดชอบสิ่งที่ฉันไม่ได้ทำได้ยังไง ฉันไม่ได้อยากให้มันเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ การเมือง หรือสังคม ฉันไม่ใช่นักสังคมวิทยา ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ฉันก็เป็นแค่คนคนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อคุณเริ่มต้นด้วยคนคนหนึ่ง คนคนนี้จะเป็นสากล ถ้าคุณอยากทำบทเรียนประวัติศาสตร์ หรือการเมือง ก็ไม่มีอะไรที่เป็นสากลน้อยกว่านั้นอีกแล้ว ตอลสตอยเคยบอกว่า ‘ถ้าอยากพูดกับโลกนี้ ให้เขียนเรื่องหมู่บ้านของตัวเอง’”
Labels:
แพร์ซโพลิส,
หนังสือจากสำนักพิมพ์กำมะหยี่
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ใจจ้า
Post a Comment