มาแล้วค่ะ ตอนต่อของบทสัมภาษณ์เฮียมู เกี่ยวกับ 1Q84
ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก >> คลิกไปอ่านได้ที่นี่
บทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์ The Yomiuri Shimbun/Asia News Network (Thu, Jun 25, 2009)
ภาพประกอบจาก www.japanmarkt.de และ www.guardian.co.uk
Q : ใน "1Q84" กลุ่มที่มาจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาแตกเป็นกลุ่มที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองกับกลุ่มที่แสวงหาชีวิตแบบพอเพียง กลุ่มหลังกลายเป็นองค์กรทางศาสนา อ่านแล้วนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้
HM : ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ถึงเส้นทางที่คนรุ่นเราได้เดินตามมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีทศวรรษที่ 1960 ไม่ว่าจะอย่างไร คนรุ่นเราได้สร้างเรื่องราวใหม่ในยุคที่แนวความคิดแบบมาร์กซิสต์ได้สูญสิ้นพลังอำนาจและผ่านช่วงรุ่งเรืองกลายเป็นสิ่งที่ต้านกระแส (ของทุนนิยม)
อะไรจะสามารถเข้ามาเป็นหลักความคิดแทนที่แนวคิดแบบมาร์กซิสได้ ระหว่างการค้นหาคำตอบ พวกเขาเริ่มสนใจในลัทธิทางศาสนาที่ล้วนออกแนวไปทางนิว-เอจ “ลิตเทิลพีเพิล” เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากตรงนั้น
Q : ใครคือ “ลิตเทิลพีเพิล” ที่ผู้นำองค์การศาสนนิกายเห็นในป่าที่ยามะนะชิ นี่อาจจะเป็นปริศนาที่ชวนฉงนสงสัยที่สุดของผู้ที่อ่านวนิยายของคุณ
HM : ลิตเลิทพีเพิลมีอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณในฐานะสัญลักษณ์ของความลึกลับที่ไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำได้ อาจมองได้ว่าพวกเขาเป็นเหมือนสิ่งที่มีอยู่ในจินตนาการ มีการสร้างตำนานต่างๆ ขึ้นผ่านประวัติศาสตร์หรือในความทรงจำที่ผู้คนมีร่วมกัน และพวกเขาได้ปลดปล่อยพลังของพวกมันออกมาในทันทีที่มีสถานการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ตำนานที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากสภาพผิดธรรมชาติ เช่น การระบาดของไข้หวัดนก เป็นปัจจัยที่มองไม่เห็นอย่างหนึ่ง คงเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราเอง
นอกจากนั้น มันยังเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความคิดแนวนิยมจารีต เมื่อโลกวุ่นวายยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ ลัทธิเแนวนิยมจารีตที่ได้รับการปรับให้ง่ายลงเริ่มดึงดูดผู้คนให้เข้าไปหาเรื่อยๆ การคิดด้วยตัวเองในสภาพการณ์ที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้องใช้พลังมหาศาล เพราะเหตุนี้ คนส่วนใหญ่จึงหยิบยืมคำพูดสำเร็จรูปพร้อมใช้ของคนอื่นๆ มากล่าวทำราวกับตัวเองเป็นคนคิดขึ้นมา วิธีการคิดเช่นนี้มีแนวโน้มจะเชื่อมโยงกับความคิดแนวนิยมจารีต ยิ่งตอนนี้แนวคิดพวกนี้ถูกทำให้ง่ายลงยิ่งไปกันใหญ่ แนวความคิดเช่นนี้ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพนัก -- มันเหมือนอาหารขยะที่ให้พลังงานชั่ววูบหนึ่งแต่ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย ในช่วงหลังๆ นี้ การกระตุ้นคนให้สนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณของตนด้วยตัวเองทำได้ยาก
Q : การเข้ามาของลัทธินิยมจารีตและโลกาภิวัฒน์ได้คืบหน้าไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีสารสนเทศ เรามีช่องทางเข้าสู่ข้อมูลมากมายบนอินเตอร์เน็ต และมันเปิดช่องโหว่ให้เราถูกจูงจมูกจากข้อมูลเหล่านี้
HM : จริง โลกทุกวันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกในปี 1984 ตอนนั้นมีเครื่องเวิร์ดโพรเซสเซอร์แล้ว แต่ไม่มีใครมีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เราต้องไปห้องสมุดเพื่อหาข้อมูลที่ต้องการ โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีใช้ทั่วไป เราเลยต้องรอคิวเข้าใช้โทรศัพท์สาธารณะ ตอนนั้นเราฟังแผ่นเสียงที่เล่น 33=1/3 รอบต่อนาที สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ ทุกวันนี้ ใครๆ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตน - ไม่ว่าจะผิดศีลธรรมแค่ไหน - บนบล็อกและข้อความเลวร้ายของผู้ไม่ประสงค์ออกนามก็ถูกโพสต์ไปทั่วอินเตอร์เน็ต ข้อความและความคิดเห็นถูกคัดลอกตัดแปะและกล่าวซ้ำครึ่งๆ กลางๆ แล้วเล่า ความเร็วและความง่ายดายเป็นสิ่งที่ได้รับการเชิดชูสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด
ตอนที่ผมได้รับรางวัลเยรูซาเล็มในเดือนกุมภาพันธ์ (2009) ดูเหมือนว่าจะมีพายุโหมกระหน่ำในอินเตอร์เน็ต เพราะผู้คนถกเถียงกันว่าผมควรจะปฏิเสธไม่รับรางวัลนี้หรือไม่ โชคไม่ค่อยดี การถกเถียงหยุดลงโดยไม่ได้ขุดลึกลงไปว่าผมควรทำอย่างไรในตอนไปร่วมงานมอบรางวัล
Q : ในสุนทรพจน์ของคุณในงานมอบรางวัลนั้น คุณได้ใช้การอุปมาเกี่ยวกับ “ไข่กับกำแพง” คุณกล่าวว่าคุณเขียนนวนิยายเพื่อ “ดึงศักดิ์ศรีของจิตวิญญาณเหล่าปัจเจกชนขึ้นมาสู่พื้นผิวและส่องแสงลงไป”
HM : ผมเชื่อว่าหน้าที่ของนักเขียนควรจะเป็นการแต่งเรื่องที่สามารถต่อต้านความคิดนิยมจารีตและพลังลึกลับประเภทต่างๆ เรื่องจะคงอยู่ตลอดกาล -- หากเป็นเรื่องที่ดีและพบพื้นที่ในใจของคนที่ใช่
ไม่ว่าการอุปมา “ไข่กับกำแพง” ของผมจะได้รับการสรรเสริญขนาดไหน สารที่ดิบขนาดนั้นจะค่อยๆ ลดแรงกระแทกใจเมื่อมันถูกส่งกระจายไปทั่ว แต่เรื่องที่นักเขียนแต่งจะเข้าไปในจิตใจของคนจนเต็ม แม้จะไม่สามารถสร้างผลกระทบแบบทันด่วนได้ แต่มันสามารถคงอยู่ได้อีกยาวนาน ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อไปพร้อมกับเวลาที่ผ่านผันอีกด้วย เรื่องเรื่องหนึ่งจำเป็นต้องมีพลังเพิ่มพูนยิ่งขึ้น แม้จะเป็นตอนที่อินเตอร์เน็ตท่วมท้นไปด้วย “ความคิดเห็น”
ข้อสะกิดใจหรือข้อความต่างๆ พยายามใส่ความรู้สึกที่พูดยากเกี่ยวกับจิตวิิญญาณของคนในรูปของคำที่เรียบง่าย มันจึงโดนใจคนได้ในทันที นักเขียนนวนิยายไม่ได้เป็นอย่างนั้น นักเขียนแต่งเรื่องเรื่องหนึ่งขึ้นมาผ่านถ้อยคำที่ใกล้เคียงกับแก่นของแนวคิดมากที่สุด และดึงสารที่ยากจะบอกออกมาด้วยการใส่รายละเอียด ผมคิดว่านี่คือความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้
นักเขียนนวนิยายได้รับความสุขใหญ่หลวงเมื่อผู้อ่านคนหนึ่งได้ค้นพบความจริงที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในถ้อยคำในนวนิยาย สิ่งที่สำคัญไม่ใช่จำนวนเล่มที่ขายได้ แต่เป็นวิธีการที่นักเขียนนวนิยายใช้ในการเข้าถึงผู้อ่าน
----
ป.ล. เพิ่งเห็นว่าเฮียเพิ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Guardian เมื่อไม่นานมานี้ เดี๋ยวพอได้ลิขสิทธิ์เล่ม ๓ มาแล้วจะแปลมาฝากนะคะ ใครใจร้อนอยากอ่านก่อนเชิญได้ >> ที่นี่
ป.ล. ๒ ตามไปอ่านสุนทรพจน์ "ไข่กับกำแพง" ได้ >> ที่นี่
Oct 15, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment