Jun 22, 2010

เปิดใจ มาร์จอเน่ ซาทราพิ "เจ้าหญิงแห่งความมืด" ถึงที่มาที่ไปของ "ไก่ใส่พลัม"

จากผลงานนิยายภาพที่ สนพ.กำมะหยี่ภูมิใจเสนอ จาก "แพร์ซโพลิส" สู่ "เย็บถากปากร้าย" ตอนนี้นักอ่านชาวไทยไม่น้อยคงจะรู้จักและบางคนแอบหลงรัก มาร์จอเน่ ซาทราพิ นักเขียน-นักวาดสาวเชื้อสายอิหร่านผู้นี้ เนื่องในโอกาสที่เราจะออกผลงานเล่มต่อไปของเธอ คือ Poulet aux Prunes หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Chicken with Plum ส่วนในชื่อไทย พวกเราวางเอาไว้เบื้องต้นว่า "ไก่ใส่พลัม" โดยมีกำหนดวางแผงคร่าวๆ ประมาณเดือนกรกฎาคมค่ะ วันนี้พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ขอเสนอบทสัมภาษณ์ของเธอเกี่ยวกับนิยายภาพเล่มนี้

บทสัมภาษณ์นี้แปลจาก www.bookslut.com โดยน้องกุ๋งกิ๋ง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่มาฝึกงานกับเราในช่วงปิดเทอม ใครสนใจอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ -- > คลิกที่นี่ค่ะ

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนต์ ของลอนดอนยกย่องให้เธอเป็น “เจ้าหญิงแห่งความมืด” ในขณะที่หลายคนกล่าวว่าเธอเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงอิหร่าน แต่ที่แน่ๆ มาร์จอเน่ ซาทราพิเป็นนักเขียนและศิลปิน หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเธอ “ไก่ใส่พลัม (Chicken with Plum)” มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่เธอเคยใช้ใน “แพร์ซโพลิส (Persepolis)” หนังสือเล่มก่อนของเธอ


“ไก่ใส่พลัม” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลาแปดวันสุดท้ายของชีวิตลุงของซาทราพิ หลังจากที่มีคนทำ “ทาร์” เครื่องดนตรีอิหร่านสุดที่รักของเขาพัง เขาก็ตัดสินใจที่จะตายและรอคอยยมทูตมารับตัว แม้ว่าซาทราพิเองจะปรากฏตัวอยู่ในหนังสือเล่มนี้เพียงสามหน้า แต่เธอก็ได้สร้างบันทึกความทรงจำชิ้นเยี่ยมในรูปของการ์ตูนไว้ในประวัติศาสตร์ของการ์ตูนเชิงชีวประวัติเทียบได้กับ “เชสเตอร์ บราวน์ (Chester Brown)” ผู้วาด หลุยส์ รีเอล (Louis Riel)** เลยทีเดียว
ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซาทราพิซึ่งพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน ได้เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การเขียนหนังสือของเธอ รวมไปถึงเรื่องที่เธอเคยฝันอยากเป็นดาร์ธ เวเดอร์ ในวัยเด็ก

- ที่งานอ่านหนังสือที่นิวยอร์ก คุณบอกว่า จริงๆแล้ว “ไก่ใส่พลัม” เป็นส่วนหนึ่งของไตรภาค ตอนนี้คุณกำลังเขียนไตรภาคที่ว่านั้นอยู่หรือเปล่า

ฉันเขียนดราฟท์แรกของหนังสือเล่มต่อไปไว้แล้ว แต่ตอนนี้ฉันทุ่มเวลาส่วนมากให้กับภาพยนตร์ เวลาที่ฉันทำงาน ฉันสามารถทำงานเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่กันไปได้ เช่น วาดการ์ตูนหนึ่งหน้าแล้วทำโปสเตอร์สำหรับหนัง แต่ฉันไม่สามารถทำงานชิ้นใหญ่ๆ ระยะยาวสองชิ้นในเวลาเดียวกัน แพร์ซโพลิสเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอิหร่านระหว่างช่วงยุค 70-90 และไก่ใส่พลัมพูดถึงอิหร่านตั้งแต่ยุค 50 จนถึงยุค 70 ฉันอยากเขียนหนังสือที่พูดถึงอิหร่านตอนช่วงยุค 20 ถึง 60 บ้าง จริงๆ แล้วมันคล้ายๆกับไตรภาคที่เล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง เป็นมหากาพย์เกี่ยวกับครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรู้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอิหร่านนะ แต่จะพอนึกออกคร่าวๆ ว่าบรรยากาศในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในไก่ใส่พลัม เพราะว่ามันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก มันจึงไม่ได้พูดถึงการเมืองหรือสภาพสังคม แต่คุณก็ยังจะได้เรียนรู้อยู่ดีว่า ในยุค 70 มีรัฐประหารเกิดขึ้น รู้ว่าในปี 1935 ผ้าคลุมหน้าถูกแบนและคุณก็จะรู้อีกด้วยว่า นั่นเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติทางเพศของอิหร่าน ที่แม้ว่าผู้ชายจะรักผู้หญิงคนหนึ่งแต่เขากลับไม่สามารถแต่งงานกับเธอได้ ในหนังสือจะมีปูมหลังบางอย่างที่คุณสามารถปะติดปะต่อได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดได้เสมอ คุณจะพอรู้คร่าวๆ ว่าในช่วงศตวรรษนั้นมันเป็นอย่างไร


- ฉันสังเกตว่าโครงเรื่องของไก่ใส่พลัมซับซ้อนกว่าแพร์ซโพลิสและเย็บถากปาก ร้าย คุณพุ่งความสนใจไปยังแปดวันสุดท้ายในชีวิตของนาสซี อาลี คาห์น อะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณเลือกสไตล์การเขียนแบบนั้น แทนที่จะเขียนเป็นการ์ตูนช่องเหมือนในแพร์ซโพลิส


- จริงๆแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าแพร์ซโพลิสเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ที่แสดงให้คนทั่วไปเห็น ประเทศอิหร่านในอีกมุมมองหนึ่ง เรื่องราวดำเนินไปเป็นเส้นตรง เย็บถากปากร้ายเป็นเหมือนกับบทสนทนา และสำหรับฉันแล้วหนังสือเล่มนี้จำเป็นต้องมีรูปลักษณ์เช่นนั้น การพูดคุยเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ปราศจากกรอบใดๆ คุณสามารถเข้าและออกจากบทสนทนาเมื่อใดก็ได้ตามใจคุณ มันไม่ใช่การพูดอะไรใหญ่โต ต่อมาในไก่ใส่พลัม ฉันเขียนเป็นการ์ตูนแบบหน้าละสี่แถวซึ่งไม่เคยมีใครทำรูปแบบนี้มาก่อน ฉันต้องการให้หนังสือเป็นเหมือนแปดวันในชีวิต ซึ่งนับว่าสั้นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้มข้นเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ฉันสามารถทำให้ภาพมันใหญ่ขึ้นและทำให้หนังสือขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการ ฉันต้องการให้หนังสือของฉันดูเหมือนสิ่งที่ฉันกำลังพูดถึง ตอนแรกมีรูปภาพ แต่หลังจากนั้นมีเลย์เอาท์ทั้งหมด มีวิธีสร้างหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในแพร์ซโพลิสฉันไม่สามารถใช้โครงสร้างซับซ้อนได้เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของฉัน มันเป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้มากเกินกว่าจะทำอย่างนั้นได้ ส่วนเย็บถากปากร้ายฉันต้องการอะไรเบาๆ

แต่กับไก่ใส่พลัม ฉันมีโอกาสทำแบบนั้นได้ และที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ ฉันได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในไก่ใส่พลัม และเขาบอกกับฉันว่า “นี่มันสคริปต์หนังชัดๆ เธอทำเป็นหนังสือการ์ตูนไม่ได้หรอก” และฉันก็บอกกับเขาว่า “ฉันจะทำเป็นหนังสือการ์ตูน” เพราะสำหรับฉันแล้ว มันเป็นความท้าทายทางสติปัญญา สิ่งที่สำคัญกับฉันมากที่สุดคือ ความท้าทายทางศิลปะและสติปัญญาจากการทำสิ่งที่ฉันทำไม่เป็น เพราะเหตุนี้ฉันถึงทำงาน วันไหนที่ฉันเริ่มทำอะไรซ้ำๆ วันนั้นฉันจะเลิกทำงานแล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน ฉันว่าฉันจะไปเป็นนักสืบเอกชน (หัวเราะ)

คุณหัวเราะ แต่ ณ จุดหนึ่ง เมื่อภาพประกอบของฉันขายไม่ออก ไม่มีใครอยากอ่านหนังสือของฉันอีกแล้ว ฉันตัดสินใจแล้วว่าฉันจะไปเป็นนักสืบ แต่มีอย่างหนึ่งในฝรั่งเศส คือ งานของนักสืบเอกชนมีแค่จับผิดคนที่นอกใจสามีหรือภรรยา เมื่อดูในเชิงจรรยาบรรณแล้ว ฉันคงทำแค่ออกไปเที่ยวถ่ายรูปคนเขาจูบกันไม่ได้หรอก ฉันว่ามันไม่ใช่ธุระกงการอะไรของ ฉัน


- ทำไมคุณถึงเขียนแพร์ซโพลิสเป็นการ์ตูนแทนที่จะเขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดา

ฉันไม่มีทางเลือกอื่น สมองฉันทำงานด้วยภาพ แค่ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่พอ ฉันเคยพยายามเขียนหนังสือหนักๆ และอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายมาแล้ว และฉันกลายเป็นคนน่าสมเพช อารมณ์ขันของฉันหายไปหมดและฉันเขียนได้แย่มาก ฉันนั่งลงและบอกกับตัวเองว่า “เอาล่ะ เธอต้องสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงของตัวเองให้ได”้ แน่ละ งานที่ออกมามันห่วยมาก วินาทีที่คุณบอกกับตัวเองว่าคุณควรจะสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างผลงานชิ้นที่แย่ที่สุดในชีวิต แต่เวลาที่ฉันวาดภาพ ฉันไม่เจอปัญหานี้เลย ฉันจดจ่อกับงานมากและมีความสุขมากที่ได้ทำมัน ฉันแทบไม่ต้องพยายามอะไรเลย จริงๆ แล้วฉันไม่มีทางอื่นนอกจากวาดรูป

- นักประพันธ์นวนิยายภาพทุกคนมีคำตอบที่แตกต่างกันไปสำหรับคำถามข้อนี้ คุณทำอย่างไหนก่อน ระหว่างเขียนหรือวาด หรือทำไปพร้อมๆ กัน

ฉันคิดว่ามันมาพร้อมๆ กัน จริงอยู่ที่ตอนแรกฉันมีเรื่องราวคร่าวๆ ฉันรู้แทบจะชัดเจนว่าฉันจะเริ่มและจบอย่างไร และพอรู้ว่าจะพูดอะไรตอนกลางเรื่อง แต่เมื่อฉันเริ่มทำงานแล้ว มันก็มาพร้อมๆกัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือมันเหมือนกับการที่เด็กทารกเติบโตในท้อง พวกเขาไม่ได้เริ่มมีจมูกก่อนแล้วค่อยมีขาข้างหนึ่ง ต่อด้วยขาอีกข้าง ตามด้วยดวงตาแล้วก็หัว ทุกอย่างเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน



- คุณเคยบอกว่า การกลับไปอิหร่านไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก คุณเคยถูกข่มขู่เรื่องงานบ้างมั้ย


จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงเป็นคำขู่หรอก ไม่มีใครเขียนจดหมายมาหาฉันแล้วบอกว่า “เราจะตัดหัวคุณ” แต่ยกตัวอย่างนะ สองปีก่อน มีงานเทศกาลภาพยนตร์อิหร่านในปารีส ผู้จัดงานติดต่อฉันมา ฉันเลยบอกพวกเขาว่าเขาน่าจะฉายภาพยนตร์ของช่วงก่อนการปฏิวัติอิสลามด้วย ยังไงก็แล้วแต่ ฉันก็ได้รับมอบหมายให้ไปแนะนำภาพยนตร์เรื่องนั้น สองสัปดาห์ก่อนเทศกาล สถานทูตอิหร่านโทร.หาพวกเขาและบอกว่า ถ้าฉันไปร่วมงาน พวกเขาจะไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่องนั้นออกจากประเทศอิหร่าน ทางฝรั่งเศสเลยบอกว่า “เดี๋ยวพวกเราจะคุยกับกระทรวงต่างประเทศเอง...” ฉันก็เลยตอบไปว่า “อย่าทำให้มันเป็นเรื่องการเมืองเลยค่ะ ฉันขอร้อง พ่อแม่ของฉันยังอยู่ที่อิหร่าน” แล้วฉันก็ถอนตัวเรื่องประมาณนี้แหละที่ฉันโดน

อิหร่านไม่ได้เป็นรัฐที่ถือกฎหมายเป็นหลัก ก็เหมือนเรือนจำกัวตานาโมนั่นล่ะ คุณไม่รู้แน่หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่นบ้าง คุณจำเรื่องนักข่าว-ช่างภาพเชื้อสายอิหร่าน-แคนาดาเมื่อหลายปีก่อนได้ไหม เธอถ่ายรูปเรือนจำไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จริงๆ พวกเขาแค่ยึดกล้องถ่ายรูปของเธอก็จบแล้ว แต่พวกเขากลับจับเธอและฆ่าเธอ แถมผู้ชายคนที่ฆ่าเธอยังได้เลื่อนตำแหน่งด้วย ทนายความของครอบครัวเธอคือ ชิริน ฮีบาดี เจ้าของรางวัลโนเบล และแม้ว่าจะมีชื่อเธอและรางวัลโนเบลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การดำเนินคดีก็ไม่ได้ส่งผลลัพธ์อะไรออกมา มันไม่ใช่ที่ที่คุณคาดหวังให้อะไรเกิดขึ้นได้ ฉันจึงไม่กลับไปที่นั่น


และรู้ไหม ถ้าพวกเขาบอกฉันว่า ถ้าฉันกลับไปอิหร่านและพวกเขาจะฆ่าหรือแขวนคอฉันหรืออะไรก็ตาม แล้วอิหร่านจะเป็นสถานที่สุดวิเศษและเป็นประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ฉันจะกลับไปวันนี้เลย ฉันพูดจริงๆ ฉันจะทำ แต่ความจริงก็คือ ถ้าการตายสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้ได้ ตอนนี้โลกคงกลายเป็นสวรรค์ไปแล้ว ผู้คนตั้งมากมายตายเพื่ออุดมการณ์ แต่จนบัดนี้ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ตอนนี้ฉันตัดสินใจแล้วว่าฉันจะตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ขอค่อยๆ ตายดีกว่า



- ที่นิวยอร์ก คุณพูดไว้ว่า รูมิ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีอิทธิพลกับคุณมากที่สุดในไก่ใส่พลัม นาสซี อาลี คาห์นต้องพบกับ อาซเรล ยมทูต งานเขียนชิ้นนี้ของคุณได้รับอิทธิพลงจากงานของรูมิ**มากแค่ไหน

คุณต้องเข้าใจว่าในอิหร่าน ผู้คนนับถือฮาฟิซ**และรูมิมากกว่าคัมภีร์อัลกุรอ่านเสียอีก วัฒนธรรมอิหร่านมีพื้นฐานผูกอยู่กับบทกวีมาก แม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือเขียนหนังสือไม่ได้ก็ยังสามารถท่องจำบทกลอนเหล่านั้นได้ขึ้นใจ เพราะท่องต่อกันมาเป็นประเพณี ฉันโตขึ้นมากับงานของรูมิ คุณยายของฉันท่องให้ฟังเสมอๆ รูมิและคัยยัม** เป็นกวีสองคนที่ฉันชอบมากที่สุด ฉันชอบคัยยัมตรงความรู้สึกว่างเปล่าในงานของเขาที่คุณไม่รู้แน่ว่าคุณมาจากที่ไหนและจะไปที่ไหนต่อ ดังนั้นก็แค่ดื่มเหล้าและใช้ชีวิตให้คุ้ม ส่วนรูมิ ฉันชื่นชมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขาในการมองโลก ฉันก็มองโลกแบบนั้นเช่นกัน และแน่นอนว่าฉันว่าฉันไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากใส่ความคิดดังกล่าวลงไปในงานของฉัน


- คุณพูดถึงมาเกอริต ดูราส์**ด้วย

ฉันอ่านงานของมาเกอริต ดูราส์เกือบครบทุกเล่ม และที่ฉันพูดถึงเธอเสมอๆ เพราะฉันเบื่อพวกนักเรียกร้องสิทธิสตรีที่พูดถึงวรรณกรรมสำหรับผู้หญิงและสำหรับผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ชื่นชอบดูราส์ด้วย ทั้งๆ ที่ดูราส์เป็นคนที่กล่าวไว้ว่าวรรณกรรมไม่มีการแบ่งแยกเพศ

คนมักบอกกับฉันว่า “คุณเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ชาย” มันก็จริงแต่โฟลแบรต์**ก็เขียนเรื่อง
เกี่ยวกับผู้หญิงเหมือนกัน มาดามโบวารี** คือใครกัน ฉันว่าเธอเหมือนฉันมากกว่าที่เธอเหมือนผู้หญิงคนที่เป็นตัวเธอในเรื่องเสียอีก ผู้หญิงคนที่เธอบรรยายไม่ใช่ฉันเลยสักนิด โฟลแบรต์พูดถึงแต่ในด้านที่น่าสงสารของมาดามโบวารีทุกด้าน มันเป็นการบรรยายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้ฉันนึกถึงตัวเองมากๆ

ฉันดีใจมากตอนเขียนไก่ใส่พลัมเสร็จ เพื่อนส่วนใหญ่ของฉันเป็นผู้ชายและคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่มีใครพูดว่า “ผู้ชายคนนี้ถูกบรรยายโดยผู้หญิง” ฉันไม่เคยรู้สึกอิสระมากเท่าตอนที่เขียนหนังสือเลย และด้วยเหตุว่าตัวละครหลักเป็นผู้ชาย ฉันก็เลยซ่อนตัวอยู่ด้านหลังของเขาได้อย่างง่ายดาย



- ฉันเห็นบทสัมภาษณ์ของคุณกับ ดิ อินดีเพนเดนต์ ที่ลอนดอนและ…

(หัวเราะ) ที่ฉันพูด “เหี้ย” “ห่า” อะไรไปสารพัด ใช่ๆ



- บทสัมภาษณ์นั้นชื่อว่า “มาร์จอเน่ ซาทราพิ: เจ้าหญิงแห่งความมืด” คุณว่าเป็นการบรรยายที่เหมาะไหม

เอ่อ.. ฉันเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ “เจ้าหญิง” และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ “ความมืด” ด้วย เท่าที่ฉันรู้ก็คือครั้งแรกที่ฉันดูสตาร์ วอร์สกับลูกพี่ลูกน้องของฉัน พวกเขาทุกคนอยากเป็นลุคสกาย วอล์คเกอร์และเจ้าหญิงเลอา แต่ฉันชอบดาร์ธ เวดอร์ -- และอยากเป็นอย่างเขา แต่ถ้าคุณย้อนไปดูความทรงจำวัยเด็กของฉัน ก็ไม่น่าแปลกนักหรอกที่ฉันอยากเป็นดาร์ธเวเดอร์ ฉันชอบหัวเราะและใช้ชีวิตแบบสนุกสนานมาก ฉันรู้ว่าต้นตอสาเหตุของอะไรต่างๆ จะผิดเพี้ยน ฉันรู้ว่าทุกอย่างจะตกนรกหมกไหม้ ฉันรู้อยู่แล้วล่ะว่าการตายของฉันเป็นเรื่องใหญ่ การตายของคุณด้วย เรื่องนั้นแน่ล่ะ แต่คุณรู้ไหม ในขณะที่เรายังมีเวลาเหลืออยู่ฉันพอใจจะหัวเราะทุกวัน ฉันอยากจะมีความสุขให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วฉันคงไม่ได้ใช้ชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว


------- รู้ไว้ใช่ว่า ...

∗∗ Louis Riel: A Comic-Strip Biography เขียนโดยเชสเตอร์ บราวน์ นักวาดการ์ตูนชาวแคนาดา หนังสือเล่าชีวประวัติของหลุยส์ รีเอลผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลชาวเมทิส (ชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของแคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา เป็นลูกผสมระหว่างชาวยุโรปและชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ) และเน้นเรื่องราวการต่อต้านรัฐบาลแคนาดาของในปีค.ศ.1869-1870 และ 1885 นิตยสารไทม์สได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ดีที่สุดของปี 2003 (http://en.wikipedia.org/wiki/Louis_Riel:_A_Comic-Strip_Biography, http://www.wisegeek.com/who-are-the-metis-people.htm)



** รูมิ (Rumi) กวี นักกฎหมายและนักเทววิทยาชาวเปอร์เซีย มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่ที่เมืองคอนยา (Konya) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมทั่วไปในประเทศที่ใช้ภาษาเปอร์เซีย และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเปอร์เซียเป็นอย่างมาก (http://en.wikipedia.org/wiki/Rumi)

** ฮาฟิซ (Hafez) กวีชาวเปอร์เซีย ชาวอิหร่านส่วนใหญ่ท่องจำบทกวีของเขาได้ขึ้นใจและหลายบทยังได้กลายมาเป็นสุภาษิตในยุคปัจจุบันอีกด้วย บทกวีของเขามีอิทธิพลต่องานเขียนของเปอร์เซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาเป็นอย่างมาก (http://en.wikipedia.org/wiki/Hafez)

**คัยยัม (Khayyam) กวี ปราชญ์ แพทย์ นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวเปอร์เชีย เขาเขียนตำราคณิตศาสตร์ที่สำคัญหลายเล่ม และบทกวีของเขายังเป็นที่รู้จักและท่องจำทั่วไปในเปอร์เซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกเมื่อเอ็ดเวิร์ด ฟิซเจอราลด์แปลบทกวีของเขาในปี 1859 (http://en.wikipedia.org/wiki/Omar_Khayy%C3%A1m)

** มาเกอริต ดูราส์ (Maguerite Duras) นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เธอเขียนนวนิยาย บทละคร เรื่องสั้นและเรียงความหลายชิ้น รวมถึงอัตชีวประวัติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก งานของเธอในช่วงแรกส่วนมากเป็นไปตามธรรมเนียมนิยม แต่ช่วงหลังๆเธอสร้างงานในแนวทดลองมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของเธอคนไทยน่าจะรู้จักที่สุดคือเรื่อง The Lover (http://en.wikipedia.org/wiki/Marguerite_Duras)

** กุสตาฟ โฟลแบร์ต (Gustave Flaubert) นักเขียนชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ นวนิยายเรื่องมาดามโบวารี (Madam Bovary) สไตล์การเขียนของโฟลแบร์ตมักจะหลีกเลี่ยงการเขียนที่คลุมเครือ และมีชื่อเสียงในการใช้คำตรง (http://en.wikipedia.org/wiki/Gustave_Flaubert)

** มาดามโบวารี (Madam Bovary) ตัวละครเอกในนวนิยายชื่อเดียวกันของโฟลแบร์ต ที่เล่าถึงเอมม่า โบวารี ภรรยาของแพทย์คนหนึ่งที่ลักลอบมีชู้ และใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อหลีกหนีความธรรมดาสามัญและความว่างเปล่าของชีวิต (http://en.wikipedia.org/wiki/Madame_Bovary)

1 comment:

Peter Yokoyama said...

You seem to know the books I really love. "Norwegian Wood" a few years ago and now Satrapi cartoons! Please email me at petewong2004@yahoo.com.hk so that I can find out more about what you can offer me!