มาแล้วค่ะ
บทสัมภาษณ์ฮารูกิ มูราคามิ ที่พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่จัดแปลมาฝากแฟนๆ ในโอกาสที่เพิ่งออกหนังสือ "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" ที่คุณนพดล เวชสวัสดิ์ แปลจาก What I talk about when I talk about running จาก เว็บไซต์ www.spiegel.de บทสัมภาษณ์มีทั้งหมดสองตอน
ถ้าใครสนใจอ่านบทสัมภาษณ์ในภาษาอังกฤษ คลิกไปได้เลยนะคะ >> ที่นี่
ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ ๑
'เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ'
คลิกกลับไปอ่านก่อนได้ >> ที่นี่
“ผมรู้ว่าผมจะเขียนนิยาย”
- แล้วคุณสังเกตเห็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่หมดตอนไหนครับ
ในเดือนเมษายน 1978 ตอนที่ผมกำลังดูการแข่งเบสบอลที่สนามจิงกุในโตเกียว แสงแดดส่องจ้า ผมดื่มเบียร์อยู่ และตอนที่เดฟ ฮิลตัน จากทีมยาคุลต์ สวอลโลวส์ตีลูกได้อย่างเยี่ยมยอด ตอนนั้นเองผมก็รู้ว่าผมจะเขียนนิยาย เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นดี ผมยังรู้สึกได้ในใจถึงปัจจุบัน ตอนนี้ผมชดเชยชีวิตเดิมๆ ที่เปิดตัว ด้วยชีวิตใหม่ที่ปิดตัว ผมไม่เคยออกโทรทัศน์ ไม่เคยออกอากาศรายการวิทยุ ไม่ค่อยจะไปงานกิจกรรมอ่านหนังสือของตัวเองให้ใครฟัง ผมไม่ค่อยเต็มใจอยากให้ใครถ่ายรูป ผมให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมาก ผมเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยอยากเจอใคร
- คุณรู้จักนิยายเรื่อง “ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งทางไกล” (The Loneliness of the Long Distance Runner) ของ อลัน ซิลลีโท หรือเปล่าครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : ผมไม่ค่อยประทับใจหนังสือเล่มนี้สักเท่าไหร่ เป็นหนังสือที่น่าเบื่อ บอกได้เลยว่าตัวซิลลิโทไม่ได้เเป็นนักวิ่ง แต่ผมคิดว่าความคิดของหนังสือเล่มนี้เข้าที คือ การวิ่งช่วยให้ตัวเอกสามารถเข้าถึงตัวตนของตัวเองได้ ขณะที่วิ่งเขาได้ค้นพบภาวะที่เขารู้สึกเป็นอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเช่นกัน
- แล้วการวิ่งสอนอะไรคุณบ้างครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : ความมั่นใจว่าผมจะวิ่งจนถึงเส้นชัย การวิ่งสอนให้ผมมีความเชื่อมั่นในทักษะความสามารถในการเป็นนักเขียนของผม ผมได้เรียนรู้ว่าผมเรียกร้องจากตัวเองมากขนาดไหน เวลาที่ผมอยากหยุดพัก และเมื่อการหยุดพักชักจะยาวนานเกินไป ผมรู้ว่าผมสามารถผลักดันตัวเองได้มากแค่ไหน
- คุณเป็นนักเขียนที่ดีกว่าเดิมเพราะคุณวิ่งอย่างนั้นหรือครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : ใช่แล้วครับ ยิ่งกล้ามเนื้อของผมแข็งแกร่ง จิตใจของผมก็ยิ่งปลอดโปร่ง ผมเชื่อว่าศิลปินที่ใช้ชีวิตแบบทำลายสุขภาพจะเผาผลาญชีวิตของตัวเองอย่างรวดเร็ว จีมี เฮนดริกซ์, จิม มอร์ริสัน, จานิส โจปลิน เป็นวีรบุรุษในดวงใจของผมตอนวัยรุ่น พวกเขาล้วนตายตั้งแต่ยังหนุ่ม ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ควรจะตายเร็วขนาดนั้น มีแต่พวกอัจฉริยะอย่างโมซาร์ทหรือพุชกินส์เท่านั้นที่สมควรจะตายเร็วก่อน การณ์ จีมี เฮนดริกซ์ เป็นคนเก่งแต่ไม่ค่อยฉลาดเพราะเขาเสพยา การทำงานศิลปะเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพ การวิ่งช่วยให้ผมหลีกเลี่ยงอันตรายนั้น
- ช่วยอธิบายหน่อยสิครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : เวลาที่นักเขียนพัฒนาเรื่องราวขึ้นมาสักเรื่อง เขาจะเจอยาพิษที่อยู่ในตัวเอง ถ้าคุณไม่มียาพิษนั่น เรื่องราวของคุณจะน่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ มันก็เหมือนกับปลาปักเป้า เนื้อของมันอร่อยมาก แต่ไข่ ตับและหัวใจอาจจะมีพิษถึงชีวิต เรื่องที่ผมเขียนเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกส่วนที่มืดมนและอันตราย ผมรู้สึกถึงยาพิษนั้นในจิตใจของตัวเอง แต่ผมสามารถเลี่ยงปริมาณพิษที่สูงได้เพราะผมมีร่างกายที่แข็งแรง เวลาที่คุณยังหนุ่มสาว คุณแข็งแรง ดังนั้นปกติแล้วคุณจะเอาชนะยาพิษได้แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านการฝึกกรำ แต่เมื่ออายุสี่สิบขึ้นไปแล้ว ความแข็งแรงจะลดน้อยถอยลง และไม่สามารถทานทนกับยาพิษนั้นเวลาที่คุณมีชีวิตที่ไมดีต่อสุขภาพ
- เจ. ดี. ซาลิงเจอร์เขียนนิยายเรื่องเดียวของเขาคือ “แคชเชอร์อินเดอะไรย์” (Catcher in the Rye) เขาเองก็อ่อนแอเกินกว่าจะทานรับยาพิษนั้นด้วยหรือครับ เขาเพิ่งอายุ 32 ปีเอง
ฮารูกิ มูราคามิ : ผมแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่ดีทีเดียวล่ะแต่ไม่สมบูรณ์ เรื่องราวเริ่มมืดดำขึ้นเรื่อยๆ และตัวละครเอก โฮลเดน โคลฟิลด์ หาทางออกจากโลกดำมืดนั่นไม่ได้ ผมคิดว่าซาลิงเจอร์เองก็หาทางออกนั่นไม่เจอเหมือนกัน กีฬาจะช่วยเขาเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกััน
- การวิ่งให้แรงบันดาลใจในเรื่องราวที่คุณเขียนหรือเปล่าครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : เปล่าครับ เพราะผมไม่ได้เป็นนักเขียนประเภทที่เข้าสู่แหล่งที่มาของเรื่องราวแบบสบายๆ ผมต้องขุดหาแหล่งที่มานั้น ผมต้องขุดลงไปลึกมากเพื่อจะได้เข้าถึงจุดดำมืดในจิตวิญญาณของผมที่มีเรื่องราวแอบซ่อนตัวอยู่ เรื่องนี้ก็เช่นกัน คุณต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่ง ผมต้องมีใจจดจ่อยาวนานขึ้น และผมต้องจดจ่อเป็นเวลาหลายชั่วโมงในช่วงที่ผมมุ่งหน้าเข้าสู่ความมืดมน ในระหว่างทาง คูณจะเจอทุกอย่าง ภาพต่างๆ ตัวละครต่างๆ การเปรียบเทียบเปรียบเปรยต่างๆ ถ้าร่างกายของคุณอ่อนแอเกินไป คุณจะพลาดสิ่งเหล่านี้ คุณจะไม่มีกำลังพอที่จะจับและนำพวกมันกลับขึ้นสู่พื้นผิวของจิตสำนึก เวลาที่คุณเขียนงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การขุดลงไปหาแหล่งที่มา แต่เป็นเส้นทางการดึงมันออกมาจากความมืด มันก็เหมือนกับการวิ่ง มีเส้นชัยให้คุณวิ่งเข้า ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม
- ตอนที่คุณวิ่ง คุณอยู่ในสถานทีที่มืดดำแบบเดียวกันนั้นหรือเปล่าครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : มีบางสิ่งที่ผมคุ้นเคยมากเกี่ยวกับการวิ่ง เวลาวิ่ง ผมอยู่ในที่สงบ
- คุณอยู่สหรัฐอเมริกามาหลายปี มีความแตกต่างระหว่างนักวิ่งอเมริกันกับนักวิ่งญี่ปุ่นหรือไม่ครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : ไม่มีครับ แต่ตอนที่ผมอยู่ที่เคมบริดจ์ (ในฐานะนักเขียนพำนัก) ผมเริ่มเห็นชัดเจนว่าพวกคนที่เป็นหัวกะทิแตกต่างจากมนุษย์เดินดินคนอื่นๆ
- หมายความว่าอย่างไรครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : เส้นทางที่ผมวิ่งจะทอดเลียบไปข้างแม่น้ำชาร์ลส์ และผมมักจะเห็นเหล่านักศึกษาหญิง พวกเด็กปีหนึ่งของฮาร์วาร์ด พวกเธอวิ่งก้าวขายาวๆ เสียบหูฟังไอพ็อด เส้นผมที่รวบมัดเป็นพวงโบกไหวอยู่ที่หลัง ทั่วทั้งร่างสวยกระจ่างตา พวกเธอรู้ตัวว่าเป็นคนพิเศษไม่เหมือนคนอื่นๆ การรู้ตัวของพวกเธอประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นนักวิ่งที่ดีกว่า แต่มีบางอย่างในแง่บวกอยู่ในตัวพวกเธอแบบชวนสะท้านใจ พวกเธอช่างแตกต่างจากผม ผมไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นนำระดับหัวกะทิ
- คุณสามารถแยกระหว่างนักวิ่งมือใหม่กับนักวิ่งที่วิ่งมาอย่างโชกโชนแล้วหรือ เปล่าครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : นักวิ่งมือใหม่จะวิ่งเร็วเกินไป ลมหายใจของพวกเขาจะหอบกระชั้น ส่วนพวกที่วิ่งมานักต่อนักแล้วจะวิ่งไปเรื่อยๆ นักวิ่งรุ่นเก๋าจะรู้ว่าใครวิ่งมานานแล้ว เหมือนกับที่นักเขียนจะรู้จักสไตล์และภาษาของนักเขียนอีกคน
- หนังสือของคุณเขียนแบบเมจิคอลเรียลิสม์ ที่ความจริงปะปนกับความมหัศจรรย์ การวิ่งมีมิติที่เหนือจริงหรืออภิปรัชญา ที่ค่อนข้างจะแยกจากการประสบความสำเร็จทางร่ายกายภายนอกล้วนๆ หรือไม่
ฮารูกิ มูราคามิ : กิจกรรมทุกอย่างจะก่อให้บางอย่างที่ทำให้เกิดจินตปัญญา ถ้าคุณทำกิจกรรมนั้นนานพอ ในปี 1995 ผมเข้าร่วมการแข่งขันที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ผมใช้เวลา 11 ชั่วโมง 42 นาที และในตอนท้าย มันแทบจะเป็นประสบการณ์ทางศาสนาเลยล่ะ
- อย่างนั้นเชียว
ฮารูกิ มูราคามิ : หลังจากวิ่งไป 55 กิโลเมตร ผมก็หมดแรง ขาของผมไม่เชื่อฟังผมอีกต่อไป ผมรู้สึกเหมือนมีม้าสองตัวกำลังดึงฉีกร่างของผมออกเป็นชิ้นๆ หลังจากวิ่งไป 75 กิโลเมตร จู่ๆ ผมก็กลับมาวิ่งตามปกติได้อีก ความเจ็บปวดสลายหายไป ผมก้าวล่วงไปยังอีกฝากหนึ่งแล้ว ความสุขวิ่งพล่านทั่วร่าง ผมวิ่งเข้าเส้นชัยอย่างเต็มเปี่ยมด้วยความสุขสม จะให้วิ่งต่ออีกก็ยังได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผมจะไม่วิ่งอัลตรามาราธอนอีกแล้ว
- ทำไมล่ะ
ฮารูกิ มูราคามิ : หลังจากประสบการณ์สุดขั้วครั้งนั้น ผมเข้าสู่สภาวะที่ผมเรีกว่า “รันเนอร์ บลู” (ความรู้สึกตันของนักวิ่ง)
- เป็นยังไงครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : เป็นความรู้สึกเซ็งๆ ผมเหนื่อยหน่ายไม่อยากวิ่ง การวิ่ง 100 กิโลเมตรนั้นน่าเบื่อเป็นที่สุด คุณอยู่กับตัวเองตามลำพังนานกว่าสิบเอ็ดชั่วโมง และความเบื่อหน่ายนี้กัดกินผม ดูดกินแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของผม ทัศนคติในแง่บวกหายไป ผมเกลียดการวิ่งอยู่หลายสัปดาห์
- แล้วคุณฟื้นความสุขในการวิ่งกลับคืนมาอย่างไร
ฮารูกิ มูราคามิ : ผมพยายามฝืนวิ่ง แต่ไม่สำเร็จ มันหมดสนุกแล้ว ผมเลยตัดสินใจลองเล่นกีฬาอื่นๆ ผมอยากลองสิ่งที่เร้าใจอื่นๆ เลยเริ่มไตรกรีฑา มันช่วยได้ ไม่นานผมก็กลับมาอยากวิ่งอีก
- คุณอายุ 59 (ในปี 2008) คุณตั้งใจจะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนอีกนานแค่ไหน
ฮารูกิ มูราคามิ : ฮารูกิ มูราคามิ : ผมจะวิ่งตราบที่ผมยังเดินได้ รู้มั้ยว่าผมอยากเขียนอะไรบนหินปักหลุมศพของผม
- อะไรครับ
ฮารูกิ มูราคามิ : "At least he never walked." (อย่างน้อย เขาก็ไม่เคยเดิน)
- มิสเตอร์มูราคามิ ขอบคุณที่ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
ติดตามรายละเอียด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่ฮารูกิ มูราคามิ ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้ใน “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง” ( << คลิกไปดูรายละเอียดของหนังสือและตัวอย่าง) แล้วพบกันใหม่ เมื่อโอกาสอำนวยนะคะ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
สุดยอดมากครับเล่มนี้
ผมหลงรักเล่มนี้ ตาม นอร์วีเจี้ยน วู้ด ไปแล้วครับ
.
.
ฝากชื่นชม คุณนพดล ผ่านทางนี้อีกครั้งนะครับ
u r my hero จริงๆ both of u
Post a Comment