เนื่องในโอกาสได้ฤกษ์งามยามดี ฤกษ์สะดวกออกเมื่อพิมพ์เสร็จ ของหนังสือลำดับที่ ๑๑ ของสำนักพิมพ์ “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” รวมเรื่องสั้นชุด “แฟนมูราคามิรวมหัว” อันดับ ๑/๓ ชาวกำมะหยี่จึงนำบทความที่เขียนโดยคุณสตีเฟน อาร์มสตรอง ในเว็บไซต์ ไทม์ ออนไลน์มาแปลฝากทั้งผู้อ่านและไม่อ่านมูราคามิค่ะ
ข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับนักเขียนที่เจ๋งที่สุดในโลกปัจจุบัน
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ฮารูกิ มูราคามิ เป็นนักเขียนยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลสูงสุดในโลกปัจจุบัน ชายวัย ๖๐ ผู้นี้มียอดขายหนังสือเป็นล้านๆ เล่มในญี่ปุ่น นิยายเล่มที่ ๕ นอร์วีเจียน วูด (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) ขายได้มากกว่า ๓ ล้าน ๕ แสนเล่มในปีแรกที่วางแผง และผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ๔๐ ภาษา และขายดิบขายดีเช่นเดียวกัน อาฟเตอร์ ดาร์ก (ราตรีมหัศจรรย์) นิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ขายได้ ๑ แสนเล่มในช่วงสามเดือนแรก
หนังสือของเขาเป็นเหมือนอาหารญี่ปุ่น คือมีส่วนผสมของความละเอียดอ่อน สุขุมนุ่มละมุน พร้อมกับความแปลกตาน่าพิศวง ความฝันกับความจริงสลับที่ทาง ทุกสิ่งอันหมักบ่มด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้าย อาจารย์เจย์ รูบิน ผู้แปลงานของมูราคามิกล่าวว่า การอ่านหนังสือของมูราคามิเปลี่ยนสมองผู้อ่าน วิธีการมองโลกของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ โซเฟีย คอปโปลา ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียน เดวิด มิทเชลล์ และวงดนตรีอเมริกันมากมาย เช่น เฟลมิง ลิปส์
เขาได้รับรางวัล ฟรานซ์ คาฟกา รางวัลเยรูซาเล็ม และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
๑. มูราคามิสร้างความแตกแยก
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๐ คณะกรรมการในรายการโทรทัศน์ด้านการวิจารณ์วรรณกรรมของเยอรมันรายการหนึ่ง มีความเห็นแตกคอกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ จนสมาชิกคนหนึ่งถึงกับลาออกหลังจากทำงานกับรายการนี้มานาน ๑๒ ปี ในญี่ปุ่นเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ขณะที่นักอ่านหนุ่มสาวชื่นชอบเขาและถึงกับเลือกไปเรียนที่เดียวกับเขา คือ มหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยหวังว่าจะได้พักอยู่ในหอพักที่เขาบรรยายไว้ในเรื่องนอร์วีเจียน วูด หากบรรดาคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นกลับมองว่างานของเขาเป็นงานตลาด งานขยะ และมีความเป็นตะวันตกมากเกินไป โดยคนเหล่านี้จะชอบงานเขียนแบบตามขนบของมิชิมา ทานิซากิ หรือคาวาบาตะมากกว่า
มูราคามิเกิดที่เมืองเกียวโต ในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ เรียนด้านศิลปะการละครที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ กระนั้นเขาก็ไม่ได้สนใจวิชาที่เรียนมากนัก และใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านบทภาพยนตร์ในห้องสมุด เขาได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากการลุกฮือของนักศึกษาในปี ค.ศ.๑๙๖๘ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียน สรุปแล้วก็คือ เขาเป็นคนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” (เด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ของแท้ ผู้วิจารณ์ความหมกมุ่นในระบบทุนนิยมของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เขาเห็นว่าประเพณีของญี่ปุ่นน่าเบื่อ อันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับด้วยดีเท่าใดนัก
๒. มูราคามิมีอิทธิพลไปทั่ว
เช่นเดียวกับงานของนักเขียนญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน โครงเรื่องและสไตล์ของภาพยนตร์เรื่อง ลอสต์ อิน ทรานสเลชัน ของโซเฟีย คอปโฟลา ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายของมูราคามิ เดวิด มิทเชลล์ นักเขียนผู้ได้รับการเสนอผลงานเข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์สองครั้ง ก็ได้อิทธิพลของมูราคามิหลังจากอ่านงานของเขาตอนที่สอนหนังสืออยู่ในญี่ปุ่น ดังนี้ ชื่อหนังสือนิยายของมิทเชลล์เล่มที่สอง “นัมเบอร์ นายน์ ดรีม” จึงเป็นการให้เกียรติกับนอร์วีเจียน วูด เพราะเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีคณะละครคอมพลิซิตดัดแปลง เรื่องสั้นชื่อ “เดอะ เอเลเฟน วานิชส์” เป็นละครเวที ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ส่วนโรเบิร์ต วัตต์ นักดนตรีชาวอังกฤษ อ่านหนังสือของมูราคามิบันทึกลงในอัลบั้ม ซองส์ ฟรอม บีฟอร์ ของ แม็กซ์ ริชเตอร์ ที่ออกในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ และ ซาวด์ ไทร์บ เซ็คเตอร์ นายน์ วงดนตรีแจมแบนด์แบบวง เกรตฟุล เดด ก็ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมูราคามิเรื่อง ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ ใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๗
๓. หนังสือของมูราคามินำไปทำหนังสูตรสำเร็จจ๋าขายง่ายๆ ไม่ได้
ลองนึกภาพ เจดี ซาลิงเจอร์ (ผู้เขียนเดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร หนังสือดังสำหรับเยาวชนอเมริกัน) กับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (ผู้เขียน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. ๑๙๘๒) ร่วมมือกันทำหนังสือการ์ตูนจากหนังสือสืบสวนสอบสวนเรื่องมัลเตส ฟัลกอน ก็แล้วกัน นอร์วีเจียน วูด เป็นหนังสือญี่ปุ่นที่เทียบได้กับ เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร ที่วัยรุ่นผู้ว้าวุ่นทุกคนควรจะอ่าน แต่ก็แปลกที่มูราคามิซึ่งแปล เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร เป็นภาษาญี่ปุ่น เห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีแต่ไม่สมบูรณ์ “เรื่องราวดำมืดขึ้นเรื่อยๆ และโฮเดน โคฟิลด์ หาทางออกจากโลกมืดนั้นไม่ได้” เขาว่า “ผมคิดว่าตัวซาลิงเจอร์เองก็คงหาทางออกไม่เจอเหมือนกัน” มูราคามิจัดความสมดุลระหว่างชีวิตสามัญกับโลกประหลาดในจินตนาการ มีการบรรยายวิธีการเตรียมและกินอาหารง่ายๆ ปรากฏในงานของเขาอย่างสม่ำเสมอ
ตัวละครเอกของเขามักจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่พยายามเอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ จนกระทั่งมีคนนำทางจากสวรรค์ชี้เส้นทางใหม่ให้ และบางครั้งนำทางให้เดินตามกันจริงๆ ตามความหมายตรงๆ เช่น ในเรื่องสั้นชื่อ ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ โยชิยะ ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์ ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเมาค้างปวดตัวแทบแตก แล้วออกจากบ้านไปที่ทำงานสายกว่าปกติหลายชั่วโมง บนรถไฟที่เขาขึ้นกลับบ้านคืนนั้น เขาเจอชายแก่คนหนึ่งที่ดูเหมือนพ่อที่หายสาบสูญไปของตน โยชิยะตามชายผู้นั้นตั้งแต่บนรถไฟ ต่อด้วยถนนเปลี่ยวมืด ก่อนจะไปอยู่ในสนามเบสบอลว่างเปล่ายามราตรี ชายแก่ผู้นั้นหายตัวไป และโยชิยะยืนอยู่บนจุดขว้างในสายลมหนาวและเต้นกันดื้อๆ ตรงนั้นนั่นเอง
๔.มูราคามิสับสน ไม่รู้จะเอายังไงกับบ้านเกิดของตน
ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นครูสอนวรรณคดีญี่ปุ่น แต่เขากลับชอบอ่านหนังสือนิยายราคาถูกมือสองที่หาได้ที่ท่าเรือประจำเมืองโกเบมากกว่า เขาเป็นแฟนตัวจริงของดนตรีตะวันตกและเกลียดวิธีการเขียนตามขนบของมิชิมา ในปี ค.ศ.๑๙๘๗ ความสำเร็จครั้งใหญ่ของนอร์วีเจียน วูด ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาในชั่วข้ามคืน ทำให้เขาตกใจและรำคาญ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๘๘ เขาออกจากประเทศ ไปเป็นผู้บรรยายด้านการเขียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งรายงานการออกจากประเทศของเขา โดยพาดหัวว่า “ฮารูกิ มูราคามิ หนีออกจากญี่ปุ่นแล้ว”
เดอะ ไวนด์-อัพ เบิร์ด โครนิเคิล (บันทึกนกไขลาน) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ วิเคราะห์เจาะลึกวัฒนธรรมพวกมากลากไปที่นำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นแก่นเรื่องที่เขาพูดถึงอีกครั้งในหนังสือความเรียงเล่มแรกชื่อ อันเดอร์กราวน์ด์ (ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗) เกี่ยวกับการโจมตีรถไฟใต้ดินของลัทธิโอม ชินริเกียว เขาเป็นห่วงที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะลืมความโหดร้ายในช่วงเวลาสงคราม กระนั้น เขาก็กล่าวว่า “เมื่อก่อน ผมอยากเป็นนักเขียนที่อยู่ต่างประเทศ แต่ผมเป็นนักเขียนญี่ปุ่น ที่นี่เป็นพื้นดินของผมและเหล่านั้นเป็นรากของผม ยังไงคุณก็หนีจากประเทศของตนเองไม่พ้นหรอก
๕.มูราคามิเคยเปิดแจ๊ซคลับ
เขาเป็นเจ้าของคลับแจ๊ซแห่งนั้นหลังจากจบมหาวิทยาลัยจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือ เและอาจจะป็นประสบการณ์ที่ทำให้การดื่มเหล้าเป็นเรื่องลบในหนังสือของเขา เขาใช้เหล้าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความชั่วร้าย เรื่องไม่ดีและปีศาจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลิกดื่มอย่างเด็ดขาด เขาชอบดื่มเบียร์ โดยใช้เบียร์เย็นๆ เป็นรางวัลให้ตัวเองเวลาที่เขียนหรือออกแรงเล่นกีฬาได้สำเร็จ บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการถูกบีบคั้น การเข้าสังคมที่มีเหล้าและผู้คนทำให้มูราคามิอึดอัด ครั้งหนึ่่งเขาเคยพูดว่า “ตอนที่ผมเปิดคลับ ผมยืนอยู่หลังบาร์ และงานของผมคือการชวนคุย ผมทำอย่างนั้นมาเจ็ดปี แต่ผมไม่ใช่คนช่างคุย ผมสัญญากับตัวเองว่า เมื่อผมเลิกทำบาร์ ผมจะพูดเฉพาะกับคนที่ผมอยากคุยด้วยจริงๆและเพราะเหตุนั้น เขาจึงปฏิเสธไม่ไปออกวิทยุและโทรทัศน์
๖. มูราคามิได้ดีมีทุกวันนี้เพราะเบสบอล
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศง ๑๙๗๘ วันที่อากาศอบอุ่น แดดจ้าตามประสาหน้าร้อน ขณะชมการแข่งขันเบสบอลระหว่างทีมยาคูลต์สวอลโลว์กับฮิโรชิมาคาร์ปที่สนามจิงงุในกรุงโตเกียว ในวินาทีที่เดฟ ฮิลตัน นักเล่นชาวอเมริกันของทีมสวอลโลว์ออกมาตีลูกโฮมรัน มูราคามิก็รู้ทันทีว่าเขาจะต้องเขียนนวนิยาย “เป็นความรู้สึกอบอุ่น ผมยังจดจำความรู้สึกนั้นได้อยู่ในใจ” เขาบอก เดอร์ ชปีเกลในการสัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว มูราคามิลงมือเขียน “ สดับลมขับขาน” (Hear the Wind Sing) นวนิยายเรื่องแรกในคืนนั้น นิยายเรื่องนี้แนวความคิดหลักของมูราคามิปรากฏให้เห็นหลายประการ ได้แก่ มีสัตว์ มีตัวเอกเป็นหนุ่มน้อยมัธยมปลายที่ค่อนข้างปลีกวิเวก พูดน้อย ล่องลอยและไม่มีงานทำ แฟนสาวของเขามีฝาแฝด (มูราคามิชอบการให้มี “ร่างเงาคู่ขนาน” ในงานของตน) มีฉากการทำอาหาร กิน ดื่ม และฟังเพลงตะวันตกบ่อยครั้งอย่างละเอียด และโครงเรื่องก็มีทั้งเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อและซับซ้อนวกวนจนสับสน
หากการเขียนหนังสือขณะทำบาร์แจ๊ซไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังทำให้เรื่องไม่ปะติดปะต่อและกระโดดไปมา ต้นฉบับที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ได้รางวัลที่หนึ่งในการประกวดของนิตยสารวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลอย่าง กุนโซ แต่มูราคามิไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไรและไม่อยากให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ
๗. มูราคามิชอบแมว
บาร์แจ๊ซของเขาชื่อปีเตอร์แคต และมีแมวปรากฏอยู่ในเรื่องราวของเขาหลายเรื่อง โดยปกติแล้ว การปรากฏตัวของแมวมักเป็นลางบอกว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์ประหลาดเหลือแสนขึ้น เช่น เหตุการณ์แมวหายเป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่ของสารพัดเหตุการณ์เหนือจริงใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ขณะที่เรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) พูดถึงชายชราผู้สับสนและอาจมีสติฟั่นเฟือนชื่อนาคาตะ ซึ่งหลังเกิดเหตุลึกลับบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวัตถุลึกลับสีเงินกลางท้องฟ้าช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เขามีอาการโคม่าและตื่นขึ้นมาพบว่าตนสามารถพูดกับแมวรู้เรื่อง และนั่นก็กลับกลายเป็นโชคดีไป เพราะบทสนทนากับแมวที่ฉลาดเฉลียวผิดปกติตัวหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหลบหนีคนจับแมวที่ชื่อจอ์นนี วอล์กเกอร์ ทำให้นาคาตะหยุดยั้งปีศาจที่ซ่อนในร่างของเขาไม่ให้หลุดออกมาทำลายโลกนี้ได้
เป็นเรื่องพิลึกกึกกือมาก อย่างที่ผมบอกใช่มั้ยล่ะครับ
๘. มูราคามิชอบดนตรีเอามากๆ
ชื่อหนังสือหลายเล่มของเขาโยงใยกับดนตรี เรื่อง Norwegian Wood (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) มาจากเพลงของเดอะบีตเทิลส์ เรื่อง South of the Border, West of the Sun (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) มาจากเพลงของแน็ต คิง โคล และเรื่อง Dance, Dance, Dance (เริงระบำแดนสนทยา) มาจากเพลงของบีชบอยส์
หนังสือสามเล่มใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle ) ตั้งชื่อตามเพลงโหมโรงของรอสซินี เพลงดนตรีของชูมานน์ และตัวละครตัวหนึ่งในโอเปร่าเรื่องแมจิกฟลู้ตของโมซาร์ต ตามลำดับ
ใน คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore)การพยายามติดต่อกับวิญญาณของหญิงที่ตายไปแล้วคนหนึ่งที่ตัวเอกพยายามมาตลอดเรื่องทำได้สำเร็จเมื่อเขาพบลังใส่แผ่นเสียงในห้องสมุดที่ถูกทิ้งร้างในชานเมือง และเล่นเพลง อาร์คดุ๊กทรีโอ ของบีโธเฟน
ในเรื่อง พินบอล (Pinball, 1973) นักศึกษาที่ก่อการประท้วงยึดอาคารมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1973 ไปพบห้องสมุดเพลงคลาสสิกเข้า และใช้เวลาทุกเย็นฟังดนตรีที่เจอ และในบ่ายที่ฟ้ากระจ่างในเดือนพฤศจิกายน ตำรวจปราบจลาจลก็บุกเข้าไปในตึกขณะที่เพลงเอสโตรอาร์โมนิโกของวิวาลดีดังกึกก้อง
นักสัมภาษณ์คนหนึ่งไปพบมูราคามิที่ห้องพักและพบว่าห้องของเขาเรียงรายไปด้วยแผ่นเสียงกว่า ๗ พันแผ่น
9. มูราคามิชอบวิ่งสุดๆ
หนังสือเล่มล่าสุดของเขา What I Talk About When I Talk About Running (อันมีชื่อเล่นย่อๆ ในหมูพลพรรคกำมะหยี่ว่า เรื่องวิ่ง หรือ วิ่งไปบ่นไป ซึ่งเรากำลังดำเนินการจัดแปลอย่างขะมักเขม้นเพื่อออกวางแผงให้สำเร็จภายในปีนี้) ถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงอัตชีวประวัติที่สุดที่เขาเคยเขียน (แม้ว่าสาวกบางคนจะแอบคิดว่า ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย มีโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของเขามากกว่าก็ตามที) ในบทรำพึงขนาดยาวเล่มนี้ มูราคามิหวนรำลึกถึงชีวิตของเขาเหมือนดังมองผ่านแง่มุมต่างๆ ของกีฬาชนิดนี้
มูราคามิเริ่มต้นวิ่งเมื่ออายุ ๓๓ เพื่อลดน้ำหนักหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ภายในหนึ่งปีเขาก็เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรก นอกจากนั้นยังเคยวิ่งมาราธอนของแท้ (อันได้แก่การวิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อและระยะทางในการวิ่งไกลประเภทนี้) เพื่อนำประสบการณ์ไปเขียนบทความ ถึงแม้เขาจะวิ่งสลับต้นทางกับปลายทาง โดยเริ่มว่ิงจากเอเธนส์ไปมาราธอนจุดหมายปลายทาง เพราะไม่อยากไปถึงเอเธนส์ในชั่วโมงเร่งด่วน
สถิติการวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดของเขาคือ ๓ ชั่วโมง ๒๗ นาทีในนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๑ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เขาวิ่งอัลตรามาราธอนระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร และใช้วิ่งเวลากว่า 11 ชั่วโมง เหน็ดเหนื่อยถึงกับเกือบเป็นลมล้มพับเมื่อไปได้ครึ่งทาง เขาบรรยายว่าแรงฮึดของเขาเเป็นสมือนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ แต่ตัดสินใจว่าจะไม่วิ่งระยะยาวเหยียดอย่างนี้อีก มูราคามิเชื่อว่า “นักเขียนที่โชคดีอาจเขียนนวนิยายได้สักสิบสองเรื่องในชีวิต ผมไม่รู้ว่าผมยังเหลือเรื่องดีๆ อยู่ในตัวอีกกี่เรื่อง ผมหวังว่าจะมีอีกสักสี่หรือห้าเรื่อง แต่ตอนวิ่ง ผมไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดนั้น ผมพิมพ์นวนิยายเล่มหนาหนึ่งเล่มทุกสี่ปี แต่ผมวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอนทุกปี” เขาตื่นนอนตีสี่ เขียนหนังสือสี่ชั่วโมง จากนั้นวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร
บนหลุมศพของเขา เขาอยากให้เขียนว่า “อย่างน้อยเขาก็ไม่เคยเดิน”
๑๐. มูราคามิเป็นคนโรแมนติก
ตัวเอกของเขามักเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากมีสัมพันธภาพอันอ่อนโยนอย่างประหลาดกับหญิงสาวสวย พิลึกพิลั่น ผู้มักจะสับสนหรือไม่ก็ลึกลับ เขาบรรยายความรักอย่างละเอียดอ่อนน่าอัศจรรย์ใจ ตัวเอกของเขามักจะขับเคลื่อนด้วยความเสน่หาที่เคยได้รับจากผู้หญิงในชีวิตของตน “ผมต้องคุยกับคุณ” โทรุ วาตานาเบ จาก ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย บอกนาโอโกะ สาวผู้มีจิตใจสับสน “ผมมีเรื่องราวเป็นล้านเรื่องที่อยากคุยกับคุณ ทั้งหมดที่ผมต้องการในโลกนี้คือคุณ ผมอยากพบคุณและพูดคุยกัน ผมอยากให้เราสองคนเริ่มต้นทุกอย่างจากจุดเริ่มต้น”
กระนั้น มันก็มักไม่ได้ผล ผู้หญิงของมูราคามิมักจะหลุดโลกหรือไม่ก็บอบบางอย่างที่สุด พวกเธอจะเขียนจดหมายพร่ำรำพันยืดยาวถึงพระเอกส่งมาจากแดนไกล และถ้าไม่พยายามฆ่าตัวตายก็มักฆ่าตัวตายได้สำเร็จในเรื่อง ในเรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ความรักของพระเอกกลับกลายเป็นวิญญาณของแม่ที่ถูกจับตอนเธอเป็นวัยรุ่น
ตัวมูราคามิเองแต่งานกับโยโกะตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๑ หากเขาเองก็นึกสงสัยออกมาดังๆในบทสัมภาษณ์ว่า ตนเองทำถูกหรือเปล่าที่แต่งงาน “ผมไม่เหมือนภรรยาครับ ผมไม่ชอบมีเพื่อน ผมแต่งงานมา ๓๗ ปีแล้ว และบ่อยครั้งมันเหมือนการสู้รบ” เขาบอกเดอร์ ชปีเกล “ผมเคยชินกับการอยู่คนเดียว และชอบอยู่คนเดียว”
ขอขอบคุณคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ที่ช่วยแนะนำการออกเสียงชื่อในภาษาญี่ปุ่นและเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยตรวจทานเรื่องราวของหนังสือเล่มต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างบนให้ถูกต้อง เพื่อพวกเราชาวกำมะหยี่จะได้ไม่ปล่อยไก่ให้แฟนๆ พี่มุต้องลำบากจับมาส่งคืนค่ะ
Mar 24, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Merci de traduire l'intitulé de l'article en français...
Bien à vous Madame Aticha
Post a Comment