Mar 24, 2009

๑๐ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ

เนื่องในโอกาสได้ฤกษ์งามยามดี ฤกษ์สะดวกออกเมื่อพิมพ์เสร็จ ของหนังสือลำดับที่ ๑๑ ของสำนักพิมพ์  “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” รวมเรื่องสั้นชุด “แฟนมูราคามิรวมหัว” อันดับ ๑/๓ ชาวกำมะหยี่จึงนำบทความที่เขียนโดยคุณสตีเฟน อาร์มสตรอง ในเว็บไซต์ ไทม์ ออนไลน์มาแปลฝากทั้งผู้อ่านและไม่อ่านมูราคามิค่ะ

ข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับนักเขียนที่เจ๋งที่สุดในโลกปัจจุบัน

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ฮารูกิ มูราคามิ เป็นนักเขียนยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลสูงสุดในโลกปัจจุบัน ชายวัย ๖๐ ผู้นี้มียอดขายหนังสือเป็นล้านๆ เล่มในญี่ปุ่น นิยายเล่มที่ ๕ นอร์วีเจียน วูด (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) ขายได้มากกว่า ๓ ล้าน ๕ แสนเล่มในปีแรกที่วางแผง และผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ๔๐ ภาษา และขายดิบขายดีเช่นเดียวกัน  อาฟเตอร์ ดาร์ก (ราตรีมหัศจรรย์) นิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ขายได้ ๑ แสนเล่มในช่วงสามเดือนแรก

หนังสือของเขาเป็นเหมือนอาหารญี่ปุ่น คือมีส่วนผสมของความละเอียดอ่อน สุขุมนุ่มละมุน พร้อมกับความแปลกตาน่าพิศวง ความฝันกับความจริงสลับที่ทาง ทุกสิ่งอันหมักบ่มด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้าย อาจารย์เจย์ รูบิน ผู้แปลงานของมูราคามิกล่าวว่า การอ่านหนังสือของมูราคามิเปลี่ยนสมองผู้อ่าน วิธีการมองโลกของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ โซเฟีย คอปโปลา ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียน เดวิด มิทเชลล์ และวงดนตรีอเมริกันมากมาย เช่น เฟลมิง ลิปส์

เขาได้รับรางวัล ฟรานซ์ คาฟกา รางวัลเยรูซาเล็ม และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม


๑. มูราคามิสร้างความแตกแยก
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๐ คณะกรรมการในรายการโทรทัศน์ด้านการวิจารณ์วรรณกรรมของเยอรมันรายการหนึ่ง มีความเห็นแตกคอกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ จนสมาชิกคนหนึ่งถึงกับลาออกหลังจากทำงานกับรายการนี้มานาน ๑๒ ปี ในญี่ปุ่นเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ขณะที่นักอ่านหนุ่มสาวชื่นชอบเขาและถึงกับเลือกไปเรียนที่เดียวกับเขา คือ มหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยหวังว่าจะได้พักอยู่ในหอพักที่เขาบรรยายไว้ในเรื่องนอร์วีเจียน วูด  หากบรรดาคนในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นกลับมองว่างานของเขาเป็นงานตลาด งานขยะ และมีความเป็นตะวันตกมากเกินไป โดยคนเหล่านี้จะชอบงานเขียนแบบตามขนบของมิชิมา ทานิซากิ หรือคาวาบาตะมากกว่า

มูราคามิเกิดที่เมืองเกียวโต ในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ เรียนด้านศิลปะการละครที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ กระนั้นเขาก็ไม่ได้สนใจวิชาที่เรียนมากนัก และใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านบทภาพยนตร์ในห้องสมุด เขาได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากการลุกฮือของนักศึกษาในปี ค.ศ.๑๙๖๘ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียน สรุปแล้วก็คือ เขาเป็นคนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” (เด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ของแท้ ผู้วิจารณ์ความหมกมุ่นในระบบทุนนิยมของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เขาเห็นว่าประเพณีของญี่ปุ่นน่าเบื่อ อันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับด้วยดีเท่าใดนัก

๒. มูราคามิมีอิทธิพลไปทั่ว
เช่นเดียวกับงานของนักเขียนญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน โครงเรื่องและสไตล์ของภาพยนตร์เรื่อง ลอสต์ อิน ทรานสเลชัน ของโซเฟีย คอปโฟลา ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายของมูราคามิ เดวิด มิทเชลล์ นักเขียนผู้ได้รับการเสนอผลงานเข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์สองครั้ง ก็ได้อิทธิพลของมูราคามิหลังจากอ่านงานของเขาตอนที่สอนหนังสืออยู่ในญี่ปุ่น ดังนี้ ชื่อหนังสือนิยายของมิทเชลล์เล่มที่สอง “นัมเบอร์ นายน์ ดรีม” จึงเป็นการให้เกียรติกับนอร์วีเจียน วูด เพราะเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีคณะละครคอมพลิซิตดัดแปลง เรื่องสั้นชื่อ “เดอะ เอเลเฟน วานิชส์” เป็นละครเวที ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓  ส่วนโรเบิร์ต วัตต์ นักดนตรีชาวอังกฤษ อ่านหนังสือของมูราคามิบันทึกลงในอัลบั้ม ซองส์ ฟรอม บีฟอร์ ของ แม็กซ์ ริชเตอร์ ที่ออกในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ และ ซาวด์ ไทร์บ เซ็คเตอร์ นายน์ วงดนตรีแจมแบนด์แบบวง เกรตฟุล เดด ก็ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมูราคามิเรื่อง ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ ใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๗

๓. หนังสือของมูราคามินำไปทำหนังสูตรสำเร็จจ๋าขายง่ายๆ ไม่ได้
ลองนึกภาพ เจดี ซาลิงเจอร์ (ผู้เขียนเดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร หนังสือดังสำหรับเยาวชนอเมริกัน) กับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (ผู้เขียน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. ๑๙๘๒) ร่วมมือกันทำหนังสือการ์ตูนจากหนังสือสืบสวนสอบสวนเรื่องมัลเตส ฟัลกอน ก็แล้วกัน นอร์วีเจียน วูด เป็นหนังสือญี่ปุ่นที่เทียบได้กับ เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร ที่วัยรุ่นผู้ว้าวุ่นทุกคนควรจะอ่าน แต่ก็แปลกที่มูราคามิซึ่งแปล เดอะ แคทเชอร์ อิน เดอ ไร เป็นภาษาญี่ปุ่น เห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีแต่ไม่สมบูรณ์ “เรื่องราวดำมืดขึ้นเรื่อยๆ และโฮเดน โคฟิลด์ หาทางออกจากโลกมืดนั้นไม่ได้” เขาว่า “ผมคิดว่าตัวซาลิงเจอร์เองก็คงหาทางออกไม่เจอเหมือนกัน”  มูราคามิจัดความสมดุลระหว่างชีวิตสามัญกับโลกประหลาดในจินตนาการ มีการบรรยายวิธีการเตรียมและกินอาหารง่ายๆ ปรากฏในงานของเขาอย่างสม่ำเสมอ

ตัวละครเอกของเขามักจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่พยายามเอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ จนกระทั่งมีคนนำทางจากสวรรค์ชี้เส้นทางใหม่ให้ และบางครั้งนำทางให้เดินตามกันจริงๆ ตามความหมายตรงๆ เช่น ในเรื่องสั้นชื่อ ออล กอด’ส ชิลเดร็น แคน แดนซ์ โยชิยะ ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์ ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเมาค้างปวดตัวแทบแตก แล้วออกจากบ้านไปที่ทำงานสายกว่าปกติหลายชั่วโมง บนรถไฟที่เขาขึ้นกลับบ้านคืนนั้น เขาเจอชายแก่คนหนึ่งที่ดูเหมือนพ่อที่หายสาบสูญไปของตน โยชิยะตามชายผู้นั้นตั้งแต่บนรถไฟ ต่อด้วยถนนเปลี่ยวมืด ก่อนจะไปอยู่ในสนามเบสบอลว่างเปล่ายามราตรี ชายแก่ผู้นั้นหายตัวไป และโยชิยะยืนอยู่บนจุดขว้างในสายลมหนาวและเต้นกันดื้อๆ ตรงนั้นนั่นเอง

๔.มูราคามิสับสน ไม่รู้จะเอายังไงกับบ้านเกิดของตน
ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นครูสอนวรรณคดีญี่ปุ่น แต่เขากลับชอบอ่านหนังสือนิยายราคาถูกมือสองที่หาได้ที่ท่าเรือประจำเมืองโกเบมากกว่า เขาเป็นแฟนตัวจริงของดนตรีตะวันตกและเกลียดวิธีการเขียนตามขนบของมิชิมา ในปี ค.ศ.๑๙๘๗ ความสำเร็จครั้งใหญ่ของนอร์วีเจียน วูด ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาในชั่วข้ามคืน ทำให้เขาตกใจและรำคาญ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๘๘ เขาออกจากประเทศ ไปเป็นผู้บรรยายด้านการเขียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งรายงานการออกจากประเทศของเขา โดยพาดหัวว่า “ฮารูกิ มูราคามิ หนีออกจากญี่ปุ่นแล้ว”

เดอะ ไวนด์-อัพ เบิร์ด โครนิเคิล (บันทึกนกไขลาน) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ วิเคราะห์เจาะลึกวัฒนธรรมพวกมากลากไปที่นำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นแก่นเรื่องที่เขาพูดถึงอีกครั้งในหนังสือความเรียงเล่มแรกชื่อ อันเดอร์กราวน์ด์ (ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗) เกี่ยวกับการโจมตีรถไฟใต้ดินของลัทธิโอม ชินริเกียว เขาเป็นห่วงที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะลืมความโหดร้ายในช่วงเวลาสงคราม กระนั้น เขาก็กล่าวว่า “เมื่อก่อน ผมอยากเป็นนักเขียนที่อยู่ต่างประเทศ แต่ผมเป็นนักเขียนญี่ปุ่น ที่นี่เป็นพื้นดินของผมและเหล่านั้นเป็นรากของผม ยังไงคุณก็หนีจากประเทศของตนเองไม่พ้นหรอก

๕.มูราคามิเคยเปิดแจ๊ซคลับ
เขาเป็นเจ้าของคลับแจ๊ซแห่งนั้นหลังจากจบมหาวิทยาลัยจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือ เและอาจจะป็นประสบการณ์ที่ทำให้การดื่มเหล้าเป็นเรื่องลบในหนังสือของเขา เขาใช้เหล้าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความชั่วร้าย เรื่องไม่ดีและปีศาจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลิกดื่มอย่างเด็ดขาด เขาชอบดื่มเบียร์ โดยใช้เบียร์เย็นๆ เป็นรางวัลให้ตัวเองเวลาที่เขียนหรือออกแรงเล่นกีฬาได้สำเร็จ  บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการถูกบีบคั้น การเข้าสังคมที่มีเหล้าและผู้คนทำให้มูราคามิอึดอัด ครั้งหนึ่่งเขาเคยพูดว่า “ตอนที่ผมเปิดคลับ ผมยืนอยู่หลังบาร์ และงานของผมคือการชวนคุย ผมทำอย่างนั้นมาเจ็ดปี แต่ผมไม่ใช่คนช่างคุย ผมสัญญากับตัวเองว่า เมื่อผมเลิกทำบาร์ ผมจะพูดเฉพาะกับคนที่ผมอยากคุยด้วยจริงๆและเพราะเหตุนั้น เขาจึงปฏิเสธไม่ไปออกวิทยุและโทรทัศน์

๖. มูราคามิได้ดีมีทุกวันนี้เพราะเบสบอล
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศง ๑๙๗๘ วันที่อากาศอบอุ่น แดดจ้าตามประสาหน้าร้อน ขณะชมการแข่งขันเบสบอลระหว่างทีมยาคูลต์สวอลโลว์กับฮิโรชิมาคาร์ปที่สนามจิงงุในกรุงโตเกียว ในวินาทีที่เดฟ ฮิลตัน นักเล่นชาวอเมริกันของทีมสวอลโลว์ออกมาตีลูกโฮมรัน มูราคามิก็รู้ทันทีว่าเขาจะต้องเขียนนวนิยาย “เป็นความรู้สึกอบอุ่น ผมยังจดจำความรู้สึกนั้นได้อยู่ในใจ” เขาบอก เดอร์ ชปีเกลในการสัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว มูราคามิลงมือเขียน “ สดับลมขับขาน” (Hear the Wind Sing) นวนิยายเรื่องแรกในคืนนั้น นิยายเรื่องนี้แนวความคิดหลักของมูราคามิปรากฏให้เห็นหลายประการ ได้แก่ มีสัตว์ มีตัวเอกเป็นหนุ่มน้อยมัธยมปลายที่ค่อนข้างปลีกวิเวก พูดน้อย ล่องลอยและไม่มีงานทำ แฟนสาวของเขามีฝาแฝด (มูราคามิชอบการให้มี “ร่างเงาคู่ขนาน” ในงานของตน) มีฉากการทำอาหาร กิน ดื่ม และฟังเพลงตะวันตกบ่อยครั้งอย่างละเอียด และโครงเรื่องก็มีทั้งเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อและซับซ้อนวกวนจนสับสน

หากการเขียนหนังสือขณะทำบาร์แจ๊ซไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังทำให้เรื่องไม่ปะติดปะต่อและกระโดดไปมา ต้นฉบับที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ได้รางวัลที่หนึ่งในการประกวดของนิตยสารวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลอย่าง กุนโซ แต่มูราคามิไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไรและไม่อยากให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

๗. มูราคามิชอบแมว
บาร์แจ๊ซของเขาชื่อปีเตอร์แคต และมีแมวปรากฏอยู่ในเรื่องราวของเขาหลายเรื่อง โดยปกติแล้ว การปรากฏตัวของแมวมักเป็นลางบอกว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์ประหลาดเหลือแสนขึ้น เช่น เหตุการณ์แมวหายเป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่ของสารพัดเหตุการณ์เหนือจริงใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ขณะที่เรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) พูดถึงชายชราผู้สับสนและอาจมีสติฟั่นเฟือนชื่อนาคาตะ ซึ่งหลังเกิดเหตุลึกลับบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวัตถุลึกลับสีเงินกลางท้องฟ้าช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เขามีอาการโคม่าและตื่นขึ้นมาพบว่าตนสามารถพูดกับแมวรู้เรื่อง และนั่นก็กลับกลายเป็นโชคดีไป เพราะบทสนทนากับแมวที่ฉลาดเฉลียวผิดปกติตัวหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหลบหนีคนจับแมวที่ชื่อจอ์นนี วอล์กเกอร์ ทำให้นาคาตะหยุดยั้งปีศาจที่ซ่อนในร่างของเขาไม่ให้หลุดออกมาทำลายโลกนี้ได้

เป็นเรื่องพิลึกกึกกือมาก อย่างที่ผมบอกใช่มั้ยล่ะครับ

๘. มูราคามิชอบดนตรีเอามากๆ
ชื่อหนังสือหลายเล่มของเขาโยงใยกับดนตรี เรื่อง Norwegian Wood (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) มาจากเพลงของเดอะบีตเทิลส์ เรื่อง South of the Border, West of the Sun (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) มาจากเพลงของแน็ต คิง โคล และเรื่อง Dance, Dance, Dance (เริงระบำแดนสนทยา) มาจากเพลงของบีชบอยส์

หนังสือสามเล่มใน บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle ) ตั้งชื่อตามเพลงโหมโรงของรอสซินี เพลงดนตรีของชูมานน์ และตัวละครตัวหนึ่งในโอเปร่าเรื่องแมจิกฟลู้ตของโมซาร์ต ตามลำดับ

ใน คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore)การพยายามติดต่อกับวิญญาณของหญิงที่ตายไปแล้วคนหนึ่งที่ตัวเอกพยายามมาตลอดเรื่องทำได้สำเร็จเมื่อเขาพบลังใส่แผ่นเสียงในห้องสมุดที่ถูกทิ้งร้างในชานเมือง และเล่นเพลง อาร์คดุ๊กทรีโอ ของบีโธเฟน

ในเรื่อง พินบอล (Pinball, 1973) นักศึกษาที่ก่อการประท้วงยึดอาคารมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1973 ไปพบห้องสมุดเพลงคลาสสิกเข้า และใช้เวลาทุกเย็นฟังดนตรีที่เจอ และในบ่ายที่ฟ้ากระจ่างในเดือนพฤศจิกายน ตำรวจปราบจลาจลก็บุกเข้าไปในตึกขณะที่เพลงเอสโตรอาร์โมนิโกของวิวาลดีดังกึกก้อง

นักสัมภาษณ์คนหนึ่งไปพบมูราคามิที่ห้องพักและพบว่าห้องของเขาเรียงรายไปด้วยแผ่นเสียงกว่า ๗ พันแผ่น

9. มูราคามิชอบวิ่งสุดๆ
หนังสือเล่มล่าสุดของเขา What I Talk About When I Talk About Running (อันมีชื่อเล่นย่อๆ ในหมูพลพรรคกำมะหยี่ว่า เรื่องวิ่ง หรือ วิ่งไปบ่นไป ซึ่งเรากำลังดำเนินการจัดแปลอย่างขะมักเขม้นเพื่อออกวางแผงให้สำเร็จภายในปีนี้) ถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงอัตชีวประวัติที่สุดที่เขาเคยเขียน (แม้ว่าสาวกบางคนจะแอบคิดว่า ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย มีโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของเขามากกว่าก็ตามที) ในบทรำพึงขนาดยาวเล่มนี้ มูราคามิหวนรำลึกถึงชีวิตของเขาเหมือนดังมองผ่านแง่มุมต่างๆ ของกีฬาชนิดนี้

มูราคามิเริ่มต้นวิ่งเมื่ออายุ ๓๓ เพื่อลดน้ำหนักหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ภายในหนึ่งปีเขาก็เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรก นอกจากนั้นยังเคยวิ่งมาราธอนของแท้ (อันได้แก่การวิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อและระยะทางในการวิ่งไกลประเภทนี้) เพื่อนำประสบการณ์ไปเขียนบทความ ถึงแม้เขาจะวิ่งสลับต้นทางกับปลายทาง โดยเริ่มว่ิงจากเอเธนส์ไปมาราธอนจุดหมายปลายทาง เพราะไม่อยากไปถึงเอเธนส์ในชั่วโมงเร่งด่วน

สถิติการวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดของเขาคือ ๓ ชั่วโมง ๒๗ นาทีในนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๑ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เขาวิ่งอัลตรามาราธอนระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร และใช้วิ่งเวลากว่า 11 ชั่วโมง เหน็ดเหนื่อยถึงกับเกือบเป็นลมล้มพับเมื่อไปได้ครึ่งทาง เขาบรรยายว่าแรงฮึดของเขาเเป็นสมือนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ แต่ตัดสินใจว่าจะไม่วิ่งระยะยาวเหยียดอย่างนี้อีก มูราคามิเชื่อว่า “นักเขียนที่โชคดีอาจเขียนนวนิยายได้สักสิบสองเรื่องในชีวิต ผมไม่รู้ว่าผมยังเหลือเรื่องดีๆ อยู่ในตัวอีกกี่เรื่อง ผมหวังว่าจะมีอีกสักสี่หรือห้าเรื่อง แต่ตอนวิ่ง ผมไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดนั้น ผมพิมพ์นวนิยายเล่มหนาหนึ่งเล่มทุกสี่ปี แต่ผมวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอนทุกปี” เขาตื่นนอนตีสี่ เขียนหนังสือสี่ชั่วโมง จากนั้นวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร

บนหลุมศพของเขา เขาอยากให้เขียนว่า “อย่างน้อยเขาก็ไม่เคยเดิน”

๑๐. มูราคามิเป็นคนโรแมนติก
ตัวเอกของเขามักเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากมีสัมพันธภาพอันอ่อนโยนอย่างประหลาดกับหญิงสาวสวย พิลึกพิลั่น ผู้มักจะสับสนหรือไม่ก็ลึกลับ เขาบรรยายความรักอย่างละเอียดอ่อนน่าอัศจรรย์ใจ ตัวเอกของเขามักจะขับเคลื่อนด้วยความเสน่หาที่เคยได้รับจากผู้หญิงในชีวิตของตน “ผมต้องคุยกับคุณ” โทรุ วาตานาเบ จาก ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย บอกนาโอโกะ สาวผู้มีจิตใจสับสน “ผมมีเรื่องราวเป็นล้านเรื่องที่อยากคุยกับคุณ ทั้งหมดที่ผมต้องการในโลกนี้คือคุณ ผมอยากพบคุณและพูดคุยกัน ผมอยากให้เราสองคนเริ่มต้นทุกอย่างจากจุดเริ่มต้น”

กระนั้น มันก็มักไม่ได้ผล ผู้หญิงของมูราคามิมักจะหลุดโลกหรือไม่ก็บอบบางอย่างที่สุด พวกเธอจะเขียนจดหมายพร่ำรำพันยืดยาวถึงพระเอกส่งมาจากแดนไกล และถ้าไม่พยายามฆ่าตัวตายก็มักฆ่าตัวตายได้สำเร็จในเรื่อง ในเรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ความรักของพระเอกกลับกลายเป็นวิญญาณของแม่ที่ถูกจับตอนเธอเป็นวัยรุ่น

ตัวมูราคามิเองแต่งานกับโยโกะตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๑ หากเขาเองก็นึกสงสัยออกมาดังๆในบทสัมภาษณ์ว่า ตนเองทำถูกหรือเปล่าที่แต่งงาน “ผมไม่เหมือนภรรยาครับ ผมไม่ชอบมีเพื่อน ผมแต่งงานมา ๓๗ ปีแล้ว และบ่อยครั้งมันเหมือนการสู้รบ” เขาบอกเดอร์ ชปีเกล “ผมเคยชินกับการอยู่คนเดียว และชอบอยู่คนเดียว”


ขอขอบคุณคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ที่ช่วยแนะนำการออกเสียงชื่อในภาษาญี่ปุ่นและเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยตรวจทานเรื่องราวของหนังสือเล่มต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างบนให้ถูกต้อง เพื่อพวกเราชาวกำมะหยี่จะได้ไม่ปล่อยไก่ให้แฟนๆ พี่มุต้องลำบากจับมาส่งคืนค่ะ



ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง


แฟนฮารูกิ มูราคามิ ตัวยง - พี่แป๊ดให้เกียรติร่วมงานกับกำมะหยี่ในฐานะแม่งานและบรรณาธิการของหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “แฟนมูราคามิรวมหัว”

เธอทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือมาตลอด นับตั้งแต่เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการนิตยสาร กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ เคยดำรงตำแหน่งฝ่ายวิชาการของนิตยสารสารคดีและกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดีในยุคก่อตั้งสำนักพิมพ์ เป็นประสบการณ์ที่ให้ความเข้มข้นทั้งการทำงานนิตยสารและทำงานสำนักพิมพ์ ทำงานบรรณาธิการสำนักพิมพ์ครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ Gender Press

ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อระหว่างบรรทัด สำนักพิมพ์เล็กๆนี้ดำเนินการสู่ปีที่เก้าแล้ว

เหตุผลที่เราได้บรรณาธิการมืออาชีพผู้นี้มาร่วมงาน เป็นเพราะความรักในผลงานของฮารูกิ มูราคามิอย่างแท้จริง พี่แป๊ดกล่าวถึงนักเขียนในดวงใจของเธอไว้ว่า “หลงรักตัวหนังสือของมูราคามิอย่างถอนตัวไม่ขึ้น มานับตั้งแต่ได้อ่าน “รักเร้นในโลกคู่ขนาน” ตั้งแต่นั้นมาก็ตาม หาหนังสือของมูราคามิทุกเล่มที่มีวางขายในประเทศไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถามตัวเองหลายครั้งถึงสาเหตุของการถอนตัวไม่ขึ้นจากตัวหนังสือของเขา ได้คำตอบว่ามูราคามิอธิบายถึงสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ที่ตกค้างในใจมาเนิ่นน่าน นับตั้งแต่การรำลึกถึงอดีตที่ไม่สามารถกลับไปได้ มูราคามิสั่นคลอนสิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นในปัจจุบัน รวมไปถึงการตั้งคำถามต่ออนาคตที่ไม่สามารถมองเห็นได้ คุณูปการอันสำคัญยิ่งของมูราคามิคือการบอกว่าเราจะยืนอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางซากปรักหักพังเหล่านี้”

แฟนมูราคามิรวมหัว ลำดับ ๑/๓

เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน (Firefly, Barn Burning and other stories)


ปาลิดา พิมพะกร 


จบการศึกษาจากคณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นทำงานตำแหน่งกองบรรณาธิการที่นิตยสาร mars จากนั้นออกมาร่วมก่อตั้งสำนักหนังสือไต้ฝุ่น (www.typhoonbooks.com) เพราะสนใจใน วัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2545 ทำงานไปเรียนไปจนถึงปัจจุบัน เขียนหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นออกมาสองเล่มคือ “เกียวโต ไดอารี่” และ “คิวชู ยู แอนด์ มี”


>> ติดตามเรื่องราวของเธอต่อ




วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา


 หรือชื่อที่เป็นที่รู้จักของบรรดาบล็อกเกอร์คือ FILMSICK จบการศึกษาเภสัชศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบัน รับราชการ / บล็อกเกอร์ คอลัมน์นิสต์ นิตยสาร BIOSCOPE / FUSE / VOTE เคยมีหนังสือมาแล้ว 3 เล่มคือ มองโลกในแง่เหงา (นามปากกา เจ้าชายน้อย) นักเปลี่ยนแปลงโลกกับกาแฟ (นามปากกา เจ้าชายน้อย) และคิโยชิคุโรซาวะ : หนังผีไซไฟ และเมืองใหญ่ชื่อโตเกียวเคยร่วมเขียน ในหนังสือ FILMVIRUS มาแล้วหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นฉบับ 3 อีสาวกายสิทธิ์ สางสำแดง THE 8 MASTER และ สัตว์วิกาล


>> สนทนากับ FILMSICK





ธนรรถวร จตุรงควาณิช


อดีตเคยทำงานหนังสือพิมพ์ แปลตั้งแต่เอกสารราชการยันนิยายนักสืบ เขียนหนังสือนำเที่ยว


ปัจจุบันสอนวรรณคดีอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


>>เยือน  Facebook ของเธอ






นฆ ปักษนาวิน


มีบทกวีตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี 2539 ขณะเป็นนักศึกษา


ต่อมา เริ่มเขียนเรื่องสั้นอย่างจริงจังเมื่อเรียนจบ ร่วมกับเพื่อนๆ เปิดร้านหนังสือชื่อ หนัง(สือ)๒๕๒๑ ที่ภูเก็ต


>> Blog ของเขา





โตมร ศุขปรีชา


ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร GM และเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารชั้นนำอีกหลายฉบับ เขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า “กาแฟ ชา หมา แมว”ชอบการเดินทาง ทำอาหาร เล่นเปียโน ฯลฯ เคยแปลนวนิยายของมูราคามิมีชื่อภาษาไทยว่า “การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก” เป็นนวนิยายของมูราคามิเล่มหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาคนอ่านชาวไทย

++ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน


ผู้แต่ง: ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล: ปาลิดา พิมพะกร, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา,ธนรรถวร จตุรงควาณิช, นฆ ปักษนาวิน, โตมร ศุขปรีชา
จัดพิมพ์ครั้งที่: 1 (มีนาคม 52)
จำนวนหน้า: 176 หน้า
ราคา: 175 บาท

รวมเรื่องสั้น “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน " เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า มูราคามิยังคงสั่นสะเทือนคนอ่านให้สั่นไหว เยียบเย็น และนิ่งอึ้ง รวมทั้งทิ้งปริศนาท้าทายให้คนอ่านขบคิดได้อย่างไม่รู้จบ ตัวหนังสือของเขายังคงคว้านหลุมอันเว้าแหว่งในจิตใจของเราให้ลึกลงไป ลึกลงไป เพื่อที่จะพบว่าความมืดมิดในก้นบึ้งของจิตใจเรานั้น ปลอบโยนและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเราเสมอมา


จากใจกำมะหยี่

เรื่องสั้นเป็นเรื่องสนุก

หลังจากถอนใจเฮือกด้วยความโล่งอกออกหนังสือนิยายแปลของฮารูกิ มูราคามิ สามเล่มรวดเสร็จไป พลพรรคสำนักพิมพ์กำมะหยี่ก็ชักติดใจ อาจหาญสอดส่ายสายตาหาหนังสือเล่มใหม่ของนักเขียนใหญ่ผู้นี้ต่อในทันทีโดยไม่มีรีรอขอเวลาเช็คยอดขายเล่มเดิมๆ ก่อน และแล้วความคิดเรื่องการจัดแปล-จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น 3 เล่มเล็กๆ ที่ยังไม่มีภาคภาษาไทยวาบเข้ามา

แค่เริ่มต้นคิดดังๆ ก็มีคำเตือนที่เรามักจะถือเป็นเสมือนคำท้าทายเข้ามาว่า งานเรื่องสั้นขายไม่ได้ ถึงจะเป็นเรื่องสั้นของนักเขียนดังแค่ไหน แต่มูราคามิเขียนเรื่องยาวสนุกกว่า

ถ้าไม่ใช่ความดื้อรั้นก็คงจะเป็นความดื้อด้าน จากนั้น เราก็เริ่มอุตริคิดหาวิธีการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกด้วยการกวาดต้อนแฟนๆ ของมูราคามิมารวมหัว จัดสรรแบ่งงานกันเพื่อรวบรวมทยอยออกเป็น 3 เล่ม คือ Firefly, Barn Burning and other stories หรือในชื่อภาษาไทยที่ตั้งได้เหงาเจียนจะขาดใจว่า “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” เล่มนี้ ต่อด้วย The Second Bakery Attack และ Lexington Ghosts โดยได้พี่แป๊ด - ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด พี่สาวคนดีมาช่วยเป็นแม่งาน ติดต่อล่อหลอกนักแปลมาร่วมลงเรือลำเดียวกัน และนอกจากต้องคอยออกแรงจับปูใส่กระด้งติดตามต้นฉบับแล้ว ยังกรุณานั่งแท่นบรรณาธิการให้ด้วย

กำมะหยี่ขอขอบคุณนักแปลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่มาช่วยกันทำความคิดสนุกๆ ของสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเราให้เป็นความจริงอย่างสวยงามจับเหมาะมือเช่นนี้ หวังว่าเราจะได้มีโอกาสสร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือไทยร่วมกันอีกครั้งในวันข้างหน้า และหวังว่าผู้อ่านจะสนุกไปกับเรื่องสนุกๆ ของเราด้วยเช่นกัน



แม่งานแถลงไข

มูราคามิเคยบอกว่า การเขียนนวนิยายสร้างความท้าทายกับเขา แต่การเขียนเรื่องสั้นให้ความสนุกสนาน ถ้าจะเปรียบไปแล้ว นวนิยายเป็นความพยายามในการปลูกป่าแต่เรื่องสั้นเหมือนการเพาะปลูกสวนอันรื่นรมย์ เรื่องสั้นบางเรื่องก็เป็นต้นเรื่องของนวนิยายของเขาด้วย ตัวอย่างอันดีคือ “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” คือต้นเรื่องนวนิยาย “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย”(ซึ่งตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทยมาแล้วสองครั้ง) นักอ่านที่ต้องการศึกษาพัฒนาการงานเขียนของมูราคามิสามารถศึกษาการขยายงานเขียนของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษนี้ได้เป็นอย่างดี

การมาเป็นแม่งานและบรรณาธิการของหนังสือชุดเรื่องสั้นมูราคามิ นำทั้งความสุขและความทุกข์มาให้ดิฉัน(แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว ความสุขย่อมมีมากกว่าแน่นอน) สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคือการรวบรวมผู้ที่หลงใหลในงานมูราคามิ บางท่านก็เคยแปลงานของมูราคามิมาแล้ว บางท่านก็เป็นแฟนคลับตัวยงของมูราคามิ สิ่งหนึ่งที่ดิฉันพบคือการได้พูดคุยกับผู้ที่หลงรักมูราคามิด้วยกัน นั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
บรรณาธิการเล่ม
http://a-wild-sheep-chase.bloggang.com

>> ลองอ่านตัวอย่าง

>> คลิกไปติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือชุด "แฟนมูราคามิรวมหัว"

Mar 6, 2009

อยู่ข้าง "ไข่" เสมอมาและเสมอไป (Always on the side of the egg)


โดย ฮารูกิ มูราคามิ

ผมมาที่กรุงเยรูซาเล็มวันนี้ในฐานะนักประพันธ์ หรือจะเรียกว่านักปั้นน้ำเป็นตัวมืออาชีพก็ว่าได้

จริงอยู่ที่ว่านักประพันธ์ไม่ได้เป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่แต่งเรื่องต่างๆ นักการเมืองก็ทำอย่างนั้นเช่นกันอย่างที่เรารู้ๆ กันนั่นแหละครับ นักการทูตและนายทหารต่างก็สร้างเรื่องในบางโอกาสเหมือนๆ กับเซลล์แมนขายรถยนต์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดและผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่การโกหกของนักประพันธ์แตกต่างจากการโกหกของคนกลุ่มอื่นๆ เพราะไม่มีใครค่อนแคะว่านักประพันธ์ทำผิดศีลธรรมที่สร้างเรื่องเหล่านั้น อันที่จริงแล้ว ยิ่งเขาแต่งเรื่องโกหกได้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ไร้สาระและแนบเนียนเพียงใด เขาก็ยิ่งได้รับคำชมจากประชาชนและนักวิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น แล้วทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ

คำตอบของผมก็คือ ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่าการโกหกอย่างมีทักษะ –หรือจะเรียกว่าการแต่งนวนิยายที่สมจริงนั้น- นักประพันธ์ต้องสามารถดึงความจริงมาจำลองในสถานการณ์ใหม่และส่องแสงไป ณ จุดนั้น ในหลายๆ กรณี มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดึงความจริงออกมาและโยงไปยังต้นเรื่องเดิมได้อย่างถูกต้อง นั่นคือสาเหตุที่เราพยายามดึงบางส่วนโดยอำพรางความจริงที่ซ่อนอยู่ แปรเรื่องจริงไปยังสถานการณ์สมมุติ และแทนที่ด้วยรูปแบบในจินตนาการ แต่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องรู้กระจ่างในความจริงนั้นซะก่อน และนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการสร้างเรื่องโกหกชั้นดี

แต่วันนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะแต่งเรื่องนะครับ ผมพยายามจะซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีไม่กี่วันในหนึ่งปีที่ผมไม่ต้องเล่าเรื่องโกหก และวันนี้ก็เป็นหนึ่งในวันเหล่านั้น

งั้นก็ให้ผมเล่าความจริงเถอะครับ คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่แนะนำไม่ให้ผมมารับรางวัลเยรูซาเล็ม บางคนถึงกับเตือนผมว่าอาจมีคนจุดชนวนให้มีการต่อต้านหนังสือของผมถ้าผมมาที่นี่

แน่นอนว่าเหตุของเรื่องนี้ก็คือสงครามดุเดือดที่ทวีความรุนแรงในกาซ่า องค์การสหประชาชาติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่าพันคนที่ฉนวนกาซ่า คนจำนวนมากที่เสียชีวิตเป็นคนที่ไร้อาวุธ –เด็กและคนแก่

ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่ผมได้รับแจ้งเกี่ยวกับรางวัลนี้ ผมถามตัวเองว่าการเดินทางมาอิสราเอลในช่วงเวลาเช่นนี้และการมารับรางวัลด้านวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ว่ามันจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ว่าผมสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ ว่าผมยอมรับนโยบายของประเทศที่ใช้กำลังอันเหลือล้นทางการทหาร และนี่เป็นภาพที่ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม ผมไม่สนับสนุนชาติใดๆ และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่าผมไม่ต้องการพบว่ามีการต่อต้านหนังสือของผม

อย่างไรก็ดีหลังจากที่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจมาที่นี่ เหตุผลหนึ่งของการตัดสินใจนี้ก็เพราะมีคนมากเหลือเกินแนะนำไม่ให้ผมมา บางทีอาจเป็นเพราะผมซึ่งก็เหมือนกับนักประพันธ์คนอื่นๆ ที่จะทำอะไรตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนบอกให้ทำ ถ้ามีคนบอกผม –และยิ่งถ้าเตือนผม – “อย่าไปที่นั่น”, “อย่างทำอย่างนั้น” ผมก็จะ “ไปที่นั่น”, “ทำอย่างนั้น” นั่นคือตัวตนของผมหรือคุณจะพูดว่าในฐานะของนักประพันธ์ก็ได้ นักประพันธ์เป็นคนสายพันธุ์พิเศษ พวกเขาไม่สามารถเชื่ออะไรจริงๆ ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองหรือได้สัมผัสด้วยมือทั้งสองข้าง

และนั่นคือเหตุผลที่ผมอยู่ที่นี่ ผมเลือกมาที่นี่แทนที่จะอยู่ที่อื่น ผมเลือกที่จะมาดูเพื่อตัวผมเองแทนที่จะไม่ดู ผมเลือกที่จะพูดกับท่านทั้งหลายแทนที่จะไม่พูดอะไรเลย

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าผมอยู่ตรงนี้เพื่อนำเสนอสารทางการเมืองนะครับ การตัดสินความถูกผิดเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของนักประพันธ์อยู่แล้ว

มันแล้วแต่วิธีการของนักเขียนแต่ละคนที่จะใช้รูปแบบใดในการส่งผ่านการตัดสินเหล่านั้นให้คนอื่นๆ ตัวผมเองพอใจที่จะปรับแปลงมันเป็นเรื่องราว –เรื่องที่ค่อนไปทางเรื่องกึ่งฝันแปลกพิสดาร และนี่ก็เป็นเหตุที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะเสนอสารทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ดี ได้โปรดอนุญาตให้ผมได้ส่งสารที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ข้อความหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผมเก็บไว้ในใจตลอดเวลาที่กำลังเขียนนวนิยาย ผมไม่เคยไปไกลขนาดเขียนลงกระดาษและติดที่กำแพง แต่กลับสลักไว้ที่กำแพงในใจผม ข้อความอะไรทำนองนี้นะครับ

“ระหว่างกำแพงสูงแกร่งกับไข่ที่แตกเมื่อตกกระทบ ผมจะขอยืนหยัดอยู่ข้างเดียวกับไข่ใบนั้นเสมอมาและเสมอไป”

ถูกต้องแล้วครับ ไม่ว่ากำแพงจะถูกและไข่จะผิดอย่างไร ผมจะอยู่ข้างเดียวกับไข่ บางคนอาจจะต้องตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด บางครั้งเวลาหรือประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้ามีนักประพันธ์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเขียนงานที่อยู่ข้างเดียวกันกับกำแพง งานเหล่านั้นจะมีคุณค่ารึ

ถ้อยความเปรียบเทียบนี้หมายถึงอะไร บางกรณีมันก็ง่ายและชัดเจนจนเกินไปด้วยซ้ำ คนวางระเบิด รถถัง จรวด ระเบิดฟอสฟอรัสขาว*คือ กำแพงสูง แกร่ง ไข่ คือ พลเรือนไร้อาวุธที่พวกนั้นบดขยี้ เผาและยิงทิ้ง นี่เป็นความหมายหนึ่งของคำเปรียบเทียบนี้

แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้นนะครับ มันมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่ว่าไว้ ลองคิดในแง่นี้ดู พวกเราแต่ละคนก็คือไข่ดีๆ นี่เอง เรามีลักษณะเฉพาะตัว มีจิตวิญญาณที่ไม่สามารถแทนที่ได้ใต้เปลือกอันบอบบาง มันเป็นเรื่องจริงสำหรับผมและท่านทั้งหลาย และเราก็กำลังเผชิญหน้ากับกำแพงสูงแกร่งไม่มากก็น้อย กำแพงนี้มีชื่อว่า “ระบบ” “ระบบ” ควรจะปกป้องพวกเรา แต่บางครั้งมันก็มีชีวิตของมันเองและเริ่มสังหารพวกเราและทำให้เราสังหารคนอื่นๆ อย่างเยือกเย็น อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นระบบ

ผมมีเหตุผลข้อเดียวที่เขียนนวนิยาย และนั่นคือการยกศักดิ์ศรีของแต่ละจิตวิญญาณขึ้นมาและส่องแสงไปยังจิตเหล่านั้น จุดมุ่งหมายของนวนิยายเรื่องหนึ่งก็เพื่อปลุก เพื่อฉายแสงไปที่ “ระบบ” เพื่อป้องกันเครือข่ายของมันมาบิดเบือนจิตวิญญาณของพวกเราและทำให้จิตเหล่านั้นต่ำลง ผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า หน้าที่ของนักประพันธ์คือต้องพยายามอธิบายความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละดวงจิตโดยการแต่งเรื่อง –เรื่องความเป็นความตาย เรื่องรักใคร่ เรื่องที่ทำให้คนร้องไห้ สั่นสะท้านด้วยความกลัวและสั่นโยกด้วยเสียงหัวเราะ นี่คือเหตุที่พวกเราปรุงแต่งนิยายวันแล้ววันเล่าด้วยความจริงจังเต็มเปี่ยม

พ่อของผมเสียชีวิตตอนอายุ 90 เมื่อปีที่แล้ว พ่อเคยเป็นครูและเป็นนักเทศน์ของศาสนาพุทธแบบไม่เต็มเวลา เขาโดนเกณฑ์ทหารและถูกส่งไปรบที่เมืองจีนช่วงที่เรียนปริญญาโท การที่ผมเป็นลูกที่เกิดหลังสงครามทำให้ผมเห็นภาพพ่อสวดมนต์ยืดยาวหลังอาหารทุกเช้าด้วยศรัทธาอย่างลึกซึ้งที่โต๊ะหมู่บูชาในบ้าน ผมเคยถามพ่อครั้งนึงว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น พ่อตอบผมว่าพ่อสวดให้คนที่ตายในสงคราม

พ่อบอกว่าสวดให้ทุกๆ ชีวิตที่เสียไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายศัตรู เวลาที่จ้องหลังพ่อขณะสวดมนต์หน้าพระพุทธรูป ผมรู้สึกถึงเงามรณะที่ลอยละล่องรอบๆ ตัวพ่อของผม

พ่อของผมตายและเขาก็นำพาความทรงจำเหล่านั้นไปด้วย ความทรงจำที่ผมไม่เคยล่วงรู้ แต่บรรยากาศของความตายที่หลอนหลอกเกี่ยวกับพ่อยังคงตราตรึงในความทรงจำของผม นั่นเป็นสิ่งเดียวในไม่กี่สิ่งที่ผมได้รับจากพ่อและมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผมมีเพียงสิ่งเดียวที่อยากจะส่งผ่านให้ท่านทั้งหลายในวันนี้ พวกเราเป็นมนุษย์ เป็นปัจเจกบุคคลข้ามผ่านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และศาสนา เป็นไข่อันบอบบางที่กำลังเผชิญกับกำแพงแกร่งที่ชื่อว่า “ระบบ” อย่างที่ปรากฎอยู่นี้เราไม่มีความหวังใดๆ เลยสำหรับชัยชนะ กำแพงทั้งสูง แข็งแกร่ง – และเยือกเย็นจนเกินไป ถ้าเราจะมีความหวังใดๆ สำหรับชัยชนะ มันคงต้องมาจากความเชื่อของพวกเราในจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถทดแทนได้อย่างที่สุดของเราและจิตวิญญาณดวงอื่นๆ รวมไปถึงจากอุ่นไอที่เราได้รับจากการเชื่อมประสานจิตวิญญาณหลายๆ ดวงเข้าด้วยกัน

ลองใช้เวลาสักนิดพิจารณาเรื่องนี้เถอะครับ พวกเราแต่ละคนมีจิตที่มีชีวิตและสัมผัสได้ “ระบบ” ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราต้องไม่ยอมให้ “ระบบ” หลอกใช้เรา เราต้องไม่ยอมให้ “ระบบ” มีชีวิตของมันเอง “ระบบ” ไม่ได้สร้างเราขึ้นมา เราต่างหากที่เป็นผู้สร้างมัน

นี่คือทั้งหมดที่ผมต้องการพูดกับทุกท่าน

ผมยินดีที่ได้รับรางวัลเยรูซาเล็ม ผมยินดีที่หนังสือของผมได้รับการอ่านโดยคนจากแหล่งต่างๆ มากมายทั่วโลก และผมดีใจที่มีโอกาสได้พูดกับทุกท่านที่นี่ วันนี้

+++
*white phosphorus shells กองทัพอิสราเอลเรียกว่า ควันระเบิด exploding smoke เป็นอาวุธใหม่ล่าสุดที่คิดค้นขึ้นโดยชาวอิสราเอล
+++
** แปลจากสุนทรพจน์ของฮารูกิ มูราคามิ ตอนที่รับรางวัลเยรูซาเล็ม ดังปรากฏใน http://www.haaretz.com/hasen/spages/1064909.html (17/02/2009)

** รูปฮารูกิ มูราคามิและประธานาธิบดีอิสราเอล จาก http://www.guardian.co.uk/books/2009/feb/16/haruki-murakami-jerusalem-prize

Mar 3, 2009

สัมภาษณ์มาร์จอเน่ ซาทราพิ ผู้เขียน "เย็บถากปากร้าย"

การ์ตูนเรื่อง "Broderies" (Embroideries ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และ "เย็บถากปากร้าย" ในภาคภาษาไทย)ผลงานของมาร์จอเน่ ซาทราพิ เป็นจดหมายรักที่ตลกลามก เป็นงานที่มีขอบข่ายเล็กกว่า เป็นส่วนตัวมากกว่า แพร์ซโพลิส ๑ และ ๒

ย้อนกลับสู่ประเทศอิหร่านบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เรื่องราวเกิดขึ้นในยามบ่ายอันยาวนานวันหนึ่ง ซึ่งญาติๆ ฝ่ายหญิงของเธอกับเพื่อนๆ มาล้อมวงดื่มชาและพูดคุยกันในหัวข้อโปรด - เซ็กซ์

"เย็บถากปากร้าย" เป็นหนังสือการ์ตูนติดเรทที่มีคุณยาย คุณแม่และหลานๆ มาพูดคุยกันเกี่ยวกับการทำสาว ข้อดีของการเป็นเมียน้อยและคำถามเรื่องคุณค่าด้านความงามของอวัยวะเพศชาย ซาทราพิเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการตอบโต้ของบรรดาหญิงผู้มีจิตใจมุ่งมั่น ทั้งที่แอบกระทำอยู่ลับๆ และทั้งการขบถอย่างเปิดเผย เพื่อต้านประเพณีและชายกักฬละ

Noy Thrupkaew สัมภาษณ์ผู้เขียนผ่านโทรศัพท์ และถอดความไว้ที่เว็บ www.nerve.com เนื่องในโอกาสที่เราเพิ่งออกหนังสือเล่มนี้มาสดๆ ร้อนๆ กำมะหยี่จึงนำแปลมาฝากแฟนๆ นักอ่านชาวไทย เพื่อจะได้รู้จักกับความรู้สึกของผู้เขียนเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ และเรื่องพรรณนั้นในความคิดของเธอมากขึ้นค่ะ

ที่มาที่ไปของ "เย็บถากปากร้าย" เป็นอย่างไร

เย็บถากปากร้าย ออกวางแผงที่อเมริกา (และที่เมืองไทย) หลัง แพร์ซโพลิส ๑ และ ๒ แต่ฉันออกการ์ตูนเล่มนี้ที่ฝรั่งเศสคั่นระหว่างสองเล่มนั้น แพร์ซโพลิส เป็นเรื่องราวหนักๆ ฉันต้องทบทวนความทรงจำที่ไม่ค่อยจะน่าพิสมัยต่างๆ และมีความตั้งใจจะเล่าถึงประเทศของฉัน เพราะมีความเข้าใจผิดมากมาย ดังนั้นฉันจึงต้องการช่วงเวลาสำราญ เพื่อความสำราญล้วนๆ เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับยามบ่ายที่ฉันเคยใช้ร่วมกับผู้หญิงต่างรุ่นออกมา ฉันชอบเรื่องที่ผู้หญิงเหล่านั้นเล่าให้ฟังมาก ไม่รู้หรอกว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ได้สำคัญอะไร พวกเธอทำให้ฉันหัวเราะสนุกสนานเสียจนอยากจะเล่าต่อ

การที่ผู้หญิงใช้ประโยชน์จากการกีดกันทางเพศในอิหร่าน ซึ่งจริงๆ แล้วมักจะกดขี่ผู้หญิง ในการสร้างพื้นที่ที่ทรงอำนาจและเป็นส่วนตัวสำหรับตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

มันเป็นอย่างนั้นมาตลอดล่ะค่ะ แม้แต่ก่อนการปฏิวัติอิสลาม เราเป็นประเทศที่อนุรักษ์นิยมมากมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาที่มีประเพณีที่เคร่งครัดขนาดนั้น การมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างสุดขั้นเป็นเรื่องธรรมดา ในสังคมแบบนั้น การพูดคุยระหว่างผู้หญิงเป็นพื้นที่แห่งอิสระเสรีภาพ เรื่องราวที่คุยกันไม่ได้นำเสนอมุมที่ใครๆ ชอบคิดกับเกี่ยวกับผู้หญิง เช่นว่า โอพระเจ้าช่วย พวกเธอต้องทนทรมานกันเหลือเกิน พวกเธอไม่ได้เป็นเหยื่อหรอกค่ะ และฉันคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ฉันเกลียดภาพแบบนั้น แม้แต่ในวันที่เลวร้ายที่สุดในช่วงปฏิวัติอิสลาม ฉันไม่เคยมองตัวเองเป็นเหยื่อ เรามีืทางเลือกที่จะทำอย่างอื่น สามารถทำอะไรอย่างอื่นในชีวิตควบคู่กันไปได้เสมอ

ชีวิตคู่ขนานที่ว่าดูเหมือนจะเป็นการพูดคุยช่วงเวลาน้ำชาเช่นนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลก ผู้หญิงจะจับกลุ่มกันคุยเรื่องเซ็กซ์

ถูกต้องค่ะ ผู้ชายก็เหมือนกัน แต่ผู้หญิงจะลงลึกถึงรายละเอียดมากกว่า ผู้หญิงจะเล่าในทุกแง่ทุกมุม ทุกกระเบียดนิ้ว

จริงด้วย อย่างในหนังสือของคุณ พวกเธอพูดกันกระทั่งว่าอวัยวะเพศชายนั้นน่าเกลียด แล้วคุณล่ะคิดยังไงเกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย ในฐานะที่เป็นศิลปิน

มันก็ไม่เห็นจะพิเศษตรงไหน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายน่าวาดมากกว่า อวัยวะเพศชายไม่ขึ้นกล้อง ฉันว่า (หัวเราะ)

แล้วส่วนไหนของร่างกายที่ขึ้นกล้องกว่า

ฉันชอบหน้าอก ไหล่ คอ ส่วนที่ต่อขึ้นไปถึงหัว จริงๆ แล้วก้นสวยๆ ก็ไม่เลว แล้วก็ความต่อเนื่องของขา ความต่อเนื่องของลูกอัณฑะก็ไม่เท่าไหร่ หลังจากนั้นมีรูๆ นึง แล้วก็ไอ้ส่วนที่ห้อยๆ นั่น (หัวเราะ)

คุณเคยวาดก้นสวยๆ ที่โรงเรียนมั้ย

เคยสิคะ ที่โรงเรียนมีก้นเยอะเลย แต่ไม่ใช่โรงเรียนในอิหร่านหรอก ตอนที่ฉันไปโรงเรียนที่ฝรั่งเศส เราได้วาดรูปเปลือย แต่เวลาวาดรูป เราจะกลายเป็นเหมือนกับหมอ เรื่องพวกนี้ไม่มีนัยยะทางเพศหลงเหลืออีกต่อไป สิ่งที่อยู่ในหัวคือเรื่องของรูปร่างและอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย

ถ้าคุณมีความรู้สึกเหมือนการตัดขาดแบบนั้น แล้วคุณจะวาดรูปที่มีความเย้ายวนเร้าอารมณ์ทางเพศได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว ฉันไม่เคยวาดอะไรที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ยกเว้นรูปๆ หนึ่งที่ฉันวาดในหนังสือเล่มล่าสุด ฉันออกจะเป็นคนขี้อายในเรื่องแบบนี้ สำหรับฉัน คำพูดก็เหมือนกับอากาศธาตุ ฉันพูด จู๋จู๋จู๋ ได้โดยไม่กระดากปาก แต่เวลาวาดรูป มันจะเกิดเป็นตัวตนจับต้องได้มากกว่า การพูดเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฉันเติบโตมากับการเลี้ยงดูของยายที่คำพวกนี้เป็นคำธรรมดาสามัญเหมือนสวัสดี - ลาก่อน ถึงแม้ท่านจะไม่เคยอ่านทฤษฎีของฟรอยด์ แต่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เพราะอย่างนี้ ยายของฉันจึงเป็นตัวละครศูนย์กลางของเรื่อง ท่านเป็นคนที่ชอบเรื่องพรรณนี้ที่สุด ตอนนั้นท่านอายุประมาณเจ็ดสิบแปด และเป็นคนที่หัวเราะมากที่สุด ฉันต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงทุกวัยสนใจเรื่องเซ็กซ์ ต่างจากในยุโรปที่ผู้คนสนใจเรื่องเพศแค่เพียงถึงอายุสี่สิบห้า หลังจากนั้นการพูดเรื่องเพศกับคนแก่แทบจะเป็นเหมือนการทำบาป

ทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น

ในสังคมตะวันตก ผู้คนไม่ต้องการเผชิญหน้ากับเรื่องการตาย สังคมนั้นไฮเทคมาก - เราจึงไม่ควรตาย แต่เราก็ยังตายกัน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องการเห็นกระบวนการที่นำไปสู่การตายและความเจ็บปวดก่อนจะถึงจุดนั้น พวกเขาส่งคนแก่ไปอยู่บ้านคนชรา พอเข้าไปแล้วก็หายสาบสูญไปเลย ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมตะวันตก ไหนจะเรื่องการผ่าตัดเสริมความงามทั้งหลายแหล่ ทุกคนอยากจะดูหนุ่มสาว ฉันล่ะสะอิดสะเอียนจริงๆ การไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังแก่เป็นการไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังจะตาย ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมนุษย์

ส่วนพวกคนหนุ่มสาว ตามรายงานข่าวต่างๆ มักจะพูดถึงวัยรุ่นที่ก่ออาชญากรรม สังคมที่กลัววัยรุ่นและทอดทิ้งคนแก่เป็นสังคมที่ไม่ต้องการมองย้อนกลับไปดูอดีตและกลัวอนาคต ทุกๆ สองวินาที เราจะได้ยินว่า ถ้าเราไม่ร่วมรักกับสามีหรือแฟนห้าครั้งต่ออาทิตย์ ถือว่าจบเห่ แต่พออายุมากในระดับหนึ่ง มันกลายเป็นเรื่องวิตถาร คนเรามีความต้องการทางเพศกันทั้งนั้นล่ะ แน่ล่ะว่าคุณไม่สามารถร่วมรักได้เหมือนเมื่อก่อนเวลาที่คุณอายุหกสิบหรือเจ็ดสิบ แต่คุณก็ยังไม่ได้ตายเสียหน่อย


การร่วมเพศในหมู่คนแก่เป็นที่่ยอมรับมากกว่าในอิหร่านอย่างนั้นหรือ

ในอิหร่าน เซ็กซ์ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเลวร้าย ผู้หญิงสามารถบ่นได้ถ้าผู้ชายไม่ทำให้เธอมีความสุข ถ้าคุณได้อ่านพันหนึ่งราตรีฉบับดั้งเดิม คุณจะเห็นว่ามีการเอากันทั้งเล่ม ฉันหมายถึงมันก็ยังมีหัวขโมยกับพรมเหาะและอะไรอื่นๆ อยู่นั่นแหละ แต่โดยพื้นฐานแล้วมันมีเซ็กซ์อยู่เต็มไปหมด

ผู้คนคงแปลกใจที่ได้ยินว่าอิหร่านอาจจะเป็นประเทศที่มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ในอิหร่าน คุณไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์เพื่อซื้อยาคุม และมันราคาถูกมาก ความคิดเรื่องการทำแท้งไม่ได้เป็นความรู้สึกผิดเสียเท่าไหร่ แม้ว่ากฎหมายจะไม่อนุญาตให้ทำ เพื่อนของแม่ฉันทุกคนเคยทำแท้ง เพื่อนฉันหลายคนก็เคยทำ

จะอย่างไรก็เห็นได้ชัดในหนังสือของคุณว่าทางเลือกและความสุขสมของผู้หญิงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการควบคุมเรื่องเพศของรัฐบาล

ใช่แล้วค่ะ วันที่เราพูดได้ว่าเราเป็นชาติศิวิไลคือวันที่ผู้หญิงสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศเหมือนพวกพวกผู้ชาย หากคนเราสามารถได้รับความพึงพอใจดุจเดียวกัน เราจะสามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดในระดับเดียวกันได้เช่นกัน

หนังสือของคุณมีลักษณะเป็นสากล แต่ก็มีการผสานพื้นฐานสังคมของอิหร่านกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศในประเทศเอาไว้ด้วย ไม่ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในอุดมคติของอิหร่านเป็นอย่างไร

มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วค่ะ เมื่อยี่สิบปีก่อน ไม่เคยมีใครคิดว่าหญิงสาวจะอยู่ตัวคนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่หรือแฟนได้ แต่ตอนนี้ ฉันรู้จักคนที่ทำอย่างนั้น สองในสามของนักศึกษาอิหร่านเป็นผู้หญิง นั่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อก่อนผู้หญิงจะไม่ได้รับการศึกษา ผู้หญิงมีสิทธิทุกอย่าง แต่คุณจะใช้สิทธิได้ยังไงถ้าคุณต้องอยู่กับผู้ชายคนเดิมสิบห้าปีและไม่มีการศึกษา ไม่มีงานทำ ต้องอยู่กับคนที่ไม่อยากอยู่ด้วยเพราะต้องใช้เงินของเขา แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงมีการศึกษาและมีงานทำ และภายในยี่สิบปี เมื่อกฎหมายเปลี่ยน ไม่เพียงแต่เราจะมีกฎหมายใหม่แต่เราจะสามารถใช้มันได้ เพราะเรามีทุกอย่างที่เราต้องมีไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพหรือการศึกษา สำหรับฉันการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญทั้งในเรื่องเซ็กซ์ เรื่องความคิดความอ่านและด้านอาชีพการงาน

แต่ดูเหมือนผู้หญิงในหนังสือของคุณก็ให้ความสำคัญเรื่องความสวยความงามเพื่อดึงดูดใจเหมือนกัน

แน่ล่ะค่ะ ฉันก็ด้วย พระเจ้ามอบหน้าอกสวยๆ ให้ฉันโชว์ ฉันจึงเด่นสะดุดตา ไม่อย่างนั้นพระเจ้าจะให้ฉันมาทำไม ผู้ชายทุกคนชอบมอง และส่วนตัวฉันเอง ฉันก็ชอบมองก้นสวยๆ ขอผู้ชาย ก้นงามๆ ดูแล้วน่ารักดีจะตายไม่ใช่เหรอ พระเจ้าสร้างมันขึ้นมา และพระเจ้ามอบดวงตาให้ฉัน ฉันก็มองสิ (หัวเราะ) ดีออก


เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขอบคุณนะมาร์จอเน่

ขอบคุณเช่นกันค่ะ รู้มั้ย การพูดคุยเกี่ยวกับเซ็กซ์และน้องจิ๋มน่ะเป็นความสำราญของฉันเสมอ

เย็บถากปากร้าย


ผู้แต่ง: มาร์จอเน่ ซาทราพิ
ผู้แปล: ณัฐพัดชา
จัดพิมพ์ครั้งที่: 1 (กุมภาพันธ์ 52)
จำนวนหน้า: 136 หน้า
ราคา: 155 บาท

มาร์จอเน่ ซาทราพิ เจ้าของผลงานการ์ตูนเลื่องชื่อ "แพร์ซโพลิส" ถ่ายทอดเรื่องราวความหลังของคนคุ้นเคยที่มาคลายความอัดอั้นตันใจต่อความ สัมพันธ์กับผู้ชายในชีวิต ทั้งเรื่องเร้นลับ ขำทะลึ่ง จนถึงสลดเศร้า

จากบทสนทนายามบ่ายของสาวต่างวัยชาวอิหร่านผู้ ล้อมวงนั่งจิบชา "พูดคุย" กัน อันเป็นความสุขแสนหฤหรรย์ดั่งที่คุณยายของเธอกล่าวไว้ว่า "การพูดคุยลับหลังคนอื่นเป็นการระบายอากาศให้หัวใจ"



จากใจกำมะหยี่ :


เหตุผลที่พลพรรคสำนักพิมพ์ กำมะหยี่ตัดสินใจตีพิมพ์ “เย็บถากปากร้าย” สานต่อผลงานของมาร์จอเน่ ซาทราพิ หลังจากออก แพร์ซโพลิส การ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกให้กับเธอ คือ ความแตกต่าง

เหตุผลข้อนี้เคยใช้มาแล้วในแพร์ซโพลิส ๑ ใครที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่สามารถหยิบมาเปิดดูได้เลย

แต่ความแตกต่างของหนังสือเล่มนี้ไม่ เหมือนกับความแตกต่างของสังคมไทยกับสังคมอิหร่าน หรือความแตกต่างของสาวน้อยมาร์จี้ผู้ไม่เหมือนใคร ที่เราชื่นชอบและภูมิใจนำเสนอในแพร์ซโพลิส ความแตกต่างของ “เย็บถากปากร้าย” เป็นความแตกต่างที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่านั้น เป็นความแตกต่างที่ดูเผินๆ คล้ายจะแตกต่าง แต่พิจารณาดีๆ แล้วกลับคลับคล้ายอย่างแยบยล


เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่อง ชีวิตครอบครัว เรื่องรัก-ใคร่ เรื่องเล่าลับหลัง เรื่องสารภาพ ในวง “สนทนินทา” ของผู้หญิงอิหร่านกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ นิสัยและบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่ออ่านจบและทบทวนสักนิด ท่านจะเห็นได้ว่าชีวิตลูกผู้หญิงชาวอิหร่านที่ต้องสวมฮิญาบออกจากบ้านและถูก ห้ามวิ่งบนถนนเนื่องจากบั้นท้ายจะส่ายเป็นการยั่วยุทางเพศนั้น ถึงแม้จะมีการถ่ายทอดอย่างชาญฉลาด เฉียบคม แสบสันต์ สนุกสนาน เคลือบอยู่บนผิวหน้า แต่เนื้อหาลึกๆ ลงไปเป็นชีวิตที่ไม่ห่างไกลจากชะตากรรมของผู้หญิงไทยในบ้านเราสักเท่าไหร่ เลย


เขาว่ากันว่า:

"ตลกและลามก . . . ภาพชวนหัวของกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ชีวิตมุ่งไปข้างหน้า —เดอะ วิลเลจ วอยซ์

"สนุก ดื้อด้าน ดันดึงและน่าทึ่ง อย่างเช่นการ์ตูนที่เดินเรื่องด้วยบทสนทนาดีๆ ควรจะเป็น — ไทม์.คอม

>>> ลองอ่านตัวอย่าง