Sep 14, 2011

1Q84 บทสัมภาษณ์ Haruki Murakami: ในการตามหาสัจนิยมใหม่


ทราบหรือไม่ ในกอง บ.ก. เล่ม 1Q84 ภาษาไทย มีความเห็นต่อหนังสือที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่สองทาง แต่สองทางนี้มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เฮียมูเปลี่ยนไป


ทางแรกบอกว่า เปลี่ยนไปในทางดีนะ ไม่ซับซ้อนเหนือจริงจนตามไม่ทัน เนื้อเรื่องอ่านง่าย มีเรื่องรัก เรื่องลุ้น เป็นแกนหลักแทรกสาระที่ต้องการสื่อทีละนิดละหน่อย ไม่โหมใส่จนคนอ่านหน้าใหม่หวาดผวา รู้สึกว่า “เข้าหาประชาชนทั่วไป” มากขึ้น

ทางที่สองเป็นทางของแฟนฮาร์ดคอร์ที่บ่นอุบอิบ มีบางอย่างหายไป มันอ่านง่ายไป ลื่นไป มันกลายเป็นเรื่องรักหวานๆ เอางานซับซ้อนอ่านยากๆ แต่อ่านสนุกอย่าง “แกะรอย แกะดาว” ของเค้าคืนมานะ

เลยไปลองหาความเห็นและที่มาของ “การเปลี่ยนไป” ในครั้งนี้ และถึงบางอ้อเมื่อไปเจอสัมภาษณ์ที่ฮารูกิ มูราคามิ ตอบคำถามของมาริโกะ โอซากิ แห่งหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน ที่แปลมาฝากด้านล่างค่ะ


บทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์ The Yomiuri Shimbun/Asia News Network (Thu, Jun 25, 2009)
ภาพประกอบจาก www.latimes.com



Haruki Murakami: ในการตามหาสัจนิยมใหม่

Q:ใน 1Q84 (หนึ่งคิวแปดสี่) นวนิยายขนาดยาวที่เป็นผลงานชิ้นเอกของอาชีพนักเขียนตลอดสามสิบปี มีการบรรยายภาพโลกอีกใบหนึ่งที่หลุดจากความจริงที่เรารู้จักเล็กน้อย คุณคิดพล็อตเรื่องนี้ได้อย่างไร และแก่นเรื่องของนิยายเรื่องเป็นอย่างไร

Haruki Murakami: ผมต้องการจะเขียนนิยายที่ย้อนกลับไปยังอดีตอันใกล้คล้ายๆ กับนิยายโลกอนาคต “หนึ่งเก้าแปดสี่” ของจอร์จ ออร์เวลล์ มานานแล้ว แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งของหนังสือนี้คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกลัทธิสัจสูงสุดโอม (โอม ชินริเคียว) ผมเขียน “อันเดอร์กราวน์” (ใต้ดิน - ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1997) หลังจากสัมภาษณ์เหยื่อมากกว่า 60 คนจากการโจมตีด้วยแก๊ซซาริน (ในปี ค.ศ.1995) ในรถไฟใต้ดินที่โตเกียว และเขียน “เดอะเพลซเธทวอสโพรมิส” (ดินแดนพันธสัญญา- ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2001) หลังจากสัมภาษณ์สาวกลัทธิโอมแปดคน และแม้หลังจากนั้น ผมเข้าฟังการตัดสินคดีที่ศาลสูงเขตโตเกียวบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความขุ่นเคืองของผมต่อเหตุการณ์นี้ยังคงติดตรึงไม่อาจบรรเทาลงได้ แต่ความสนใจของผมถูกกระตุ้นจากกรณีของยาสุโอ ยาฮาชิ ที่อยู่ระหว่างการรอประหารชีวิต เขาหลบหนีไปหลังจากสังหารคนแปดคน จำนวนที่มากที่สุดในการโจมตีรถไฟใต้ดินโตเกียว ฮาราชิเข้าร่วมลัทธิโอมโดยไม่รู้แน่ชัดว่าเขากำลังเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร และก่อเหตุอาชญากรรมหลังจากถูกล้างสมอง


ผมคิดว่าการตัดสินประหารชีวิตเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล เมื่อเราพิจารณาระบบการลงทัณฑ์ของญี่ปุ่นและความโกรธขึ้งและความเสียใจของครอบครัวผู้สูญเสีย แต่ลึกๆ แล้วผมไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต และรู้สึกสลดหดหู่อย่างยิ่งเมื่อคำตัดสินประหารชีวิตออกมา


ในตอนนั้น ผมนึกภาพความน่ากลัวของการถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยวอยู่อีกด้านหนึ่งของพระจันทร์ที่ซึ่งคนธรรมดาๆ คนหนึ่งได้ก่ออาชญากรรมโหดร้ายอย่างโง่เขลาและจบลงด้วยการถูกตัดสินรอการประหารชีวิต ผมครุ่นคิดถึงความหมายของเรื่องนี้มาหลายปี และเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ผมเขียน


Q: นวนิยายเรื่องนี้ทำให้คนอ่านได้เห็นความสูงสง่าและความน่าเกลียดชังของมนุษย์ ด้วยระบบการตัดสินแบบผู้พิพากษาสมทบเพิ่งจะเริ่มขึ้น ผู้คนกลับมาพิจารณาอีกครั้งถึงความหมายของการไต่สวนคนอื่นๆ ในศาล

Haruki Murakami: เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาวกของโอมที่เกิดขึ้นหลายครั้งทำให้เราตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับคำจำกัดความของคำว่า “จริยธรรม” ที่ควรจะมีในสังคมร่วมสมัย ผมเริ่มติดตามเรื่องของลัทธิโอมมาก่อน ผมเลยสามารถกลับมาประเมินใตร่ตรองสถานการณ์ในปัจจุบันอีกครั้งในมุมที่ดีและไม่ดี

เราอยู่ในโลกที่การใช้จริยธรรมทางสังคมด้านเดียวตัดสินว่าความเห็นหรือการกระทำใดถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ทำได้ยากยิ่ง กำแพงที่กั้นผู้คนที่อาจจะประกอบอาชญากรรมและคนที่จะไม่ทำนั้นบางกว่าที่คุณคาดคิด ความจริงมีอยู่ในข้อสมมติฐานและสลับกัน มีการต่อต้านสถาบันภายในสถาบันเองและสลับกัน


ผมต้องการเขียนนิยายที่โอบล้อมระบบสังคมร่วมสมัยเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างของมัน ดังนั้นผมถึงตั้งชื่อเสียงเรียงนามให้กับตัวละครแทบทุกตัวในเรื่อง และให้รายละเอียดต่างๆ ละเอียดยิบ เพื่อที่จะใครๆ ก็ตามในหมู่พวกเราสามารถเป็นหนึ่งในตัวละครเหล่านั้นได้อย่างไม่ยากเย็น


Q: ตัวละครทุกตัวมีบาดแผลในจิตใจและมีผ่านชีวิตมืดมน แต่พวกเขาก็มีเสน่ห์ของตัวเอง พระจันทร์สองดวงกับตัวละครเหนือจริงสองคน ลิตเทิลพีเพิลและดักแด้อากาศในนิยาย แต่ผู้คนสมัยนี้ที่เคยชินกับภาพวาดด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านภาพยนตร์และเกมคอมพิวเตอร์จะสามารถดื่มดำ่ได้อย่างง่ายดายหรือ

Haruki Murakami: สภาพจิตใจที่มีร่วมกันอย่างหนึ่งในหมู่ผู้คนในโลกร่วมสมัย คือ พวกเขาเริ่มไม่แน่ใจว่าโลกที่เห็นอยู่เป็นความจริงหรือไม่ ตึกแฝดเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ถูกถล่มราบในวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ผู้ก่อการร้ายโจมตีนครนิวยอร์กในภาพที่ดูเหมือนไม่ใช่ความจริง

ภาพตึกทั้งสองพังทลายถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนอาจจะขาดสติชั่ววูบรู้สึกไปว่าในโลกที่เคยมีตึกสูงนั้นที่ตนเคยอยู่เป็นโลกประหลาด พวกเขาอาจจะคิดก็ได้ว่าพวกเขาอาจจะอยู่ในโลกที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไม่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง และสงครามอิรักไม่เคยระเบิดขึ้น


ผมคิดว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบในปี ค.ศ. 1995 และการโจมตีด้วยแก๊ซซารินในรถไฟใต้ดินที่โตเกียวในเดือนมีนาคมปีเดียวกันทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากมีประสบการณ์ในความรู้สึกหลุดจากความจริงก่อนคนในประเทศอื่นๆ

พวกเขาถามตัวเองว่า “พวกเราอยู่ที่นี่เพื่ออะไร” นิยายของผม ยกเว้นเรื่อง “นอร์วีเจียนวูด” (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) ไม่ได้นำเสนอสิ่งที่เราเรียกว่าสัจนิยม แต่ดูเหมือนจะมีการเริ่มยอมรับทั่วโลกว่าเป็นงานเขียนที่นำเสนอสัจนิยมใหม่ -- โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 9/11

ในเวลาเดียวกัน ผมชอบนิยายทางโลกย์อย่างที่ออนอเร เดอ บัลซัค (ค.ศ.1799-1850) เขียน ผมอยากเขียน “นิยายที่อ่านแล้วเข้าใจได้ในวงกว้าง” ในสไตล์ของผมเอง ด้วยการบรรยายสภาพสังคมในปัจจุบันจากจุดยืนที่มีทั้งด้านกว่้าง ด้านยาว และด้านลึก

ผมพยายามจะแทรกฝังชีวิตมนุษย์ในบรรยากาศสังคมร่วมสมัยด้วยการก้าวข้ามการแบ่งประเภทของวรรณกรรมบริสุทธิ์ และด้วยการลองใช้วิธีการต่างๆ และแต่ละวิธีได้นำสิ่งที่แตกต่างมาให้

(ยังมีต่อ)

คำถามที่เหลือป็นเรื่องที่ลงลึกเข้าไปในเนื้อเรื่อง ความหมายต่างๆ ของสิ่งต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งอ่านตอนนี้ก่อนอ่านหนังสือก็คงไม่ค่อยรู้เรื่อง (ผสมกับความขี้เกียจของคนแปล) จึงขอผัดว่าจะแปลมาแบ่งปันกันอ่านต่อเมื่อหนังสือวางแผงเรียบร้อยแล้วนะคะ

------
อัพเดทล่าสุด : ตอนต่อของสัมภาษณ์นี้ จัดให้เรียบร้อยแล้วนะคะ ตามไปอ่านได้ >> ที่นี่

2 comments:

HAPPIE RUNEZU said...

ยิ่งพูดยิ่งงง T_T

Artast said...

อ่านจบสองเล่มแล้วครับ
เป็นหนังสือดีจริงๆ รอเล่มสามนะ