Aug 4, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ความเป็นหญิงในนิยาย และความเป็นหญิงในผู้เขียน


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ผู้หญิงกับเซ็กซ์


--- ในผลงานของคุณ ตั้งแต่ “Norwegian Wood” จนถึงปัจจุบัน ตัวตนของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คิดว่าคุณได้ขุดลึกลงไปในคำถามที่ว่าความเป็นหญิงในเรื่องเล่าคืออะไร แต่เท่าที่ผ่านมา ‘1Q84’ แทบจะเป็นเรื่องแรกที่ตัวตนของผู้หญิงออกมายืนอยู่ด้านหน้าอย่างแท้จริง

พลังขับเคลื่อนเรื่องราวของ ‘1Q84’ ก็มีความรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ที่ความเป็นชาย แต่อยู่ที่ความเป็นหญิง ทำไมคุณจึงคิดนำเอาผู้หญิงออกมาด้านหน้า พยายามวาดภาพ “หญิงผู้มุ่งมั่น”  

มุราคามิ อย่างแรก เป็นเพราะผมค่อยๆ เข้าใจเรื่องของผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าสั่งสมประสบการณ์มา แต่เข้าใจในเรื่องที่สมัยก่อนไม่เข้าใจ อย่างเช่นผู้หญิงจะคิดเรื่องอะไรอย่างไร รู้สึกอย่างไร สมัยเป็นหนุ่มยังเข้าใจไม่มากพอ แต่ตอนนี้ลองมาหวนคิดดูก็เข้าใจว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ตอนนั้นคนนั้นเขารู้สึกอย่างนี้ ตอนนั้นคนนั้นเขาต้องการอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ในตอนนั้นก็จะดี คิดไปอย่างนั้น แต่ถึงคิดได้ก็สายไปแล้ว (หัวเราะ)

สิ่งที่ตอนหนุ่มๆ ไม่เข้าใจ อย่างเช่นความต้องการทางเพศของผู้หญิง พอรู้บ้างว่าผู้หญิงมีความต้องการทางเพศ แต่มันเป็นยังไง รุนแรงแค่ไหน ปลดปล่อยออกมายังไง ชายหนุ่มไม่มีทางรู้ ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วถึงเข้าใจ แต่พออายุมากขึ้นก็จะเข้าใจเรื่องแบบนั้นมากขึ้นเอง สามารถจำลองภาพในขอบเขตของจินตนาการได้หลากหลาย เวลาเขียนนิยาย การมีลิ้นชักแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

--- ใน ‘1Q84’ คุณเขียนถึงอะไรบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในก้นบึ้งของสิ่งที่เรียกว่าเซ็กซ์อย่างถึงแก่นทีเดียว เหนือไปกว่าการที่อาโอมาเมะอยากมีเซ็กซ์อย่างเหลือล้นในบางครั้ง หรืออายูมิที่ถูกฆาตกรรม มองในแง่หนึ่งก็ต้องการผู้ชายเพื่อความสำราญ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราถึงจะมองก็ไม่สะดุดใจ หรือไม่ได้พยายามมอง ได้ถูกเขียนไว้อย่างสมจริงมาก


มุราคามิ ก่อนอื่น คนเราจะมี anima กับ animus ใช่ไหม ในจิตใต้สำนึกของผู้ชายมีความเป็นหญิงที่เรียกว่า anima และในผู้หญิงก็มีความเป็นชายที่เรียกว่า animus ถึงจะบอกอย่างนี้แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอเขียนนิยายก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น  คิดว่าความเป็นหญิงในตัวเองเป็น “อย่างนี้มั้ง” แล้วลองตามหาลึกลงไป ก็มีอะไรๆ ที่น่าสนใจโผล่ออกมา นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเขียนผู้หญิงออกมาได้มีชีวิตชีวากว่าเมื่อก่อน พอขุดเรื่องราวลึกลงไป สิ่งเหล่านั้นก็โผล่ออกมาเองตามธรรมชาติ เริ่มเคลื่อนไหว ความรู้สึกคล้ายๆ ตั้งใจแยกตัวเองออกเป็นหลายส่วน


สมัยก่อน ผู้หญิงที่ออกมาในนิยายของผม นอกจากข้อยกเว้นพิเศษแล้ว ไม่สูญสลายไปก็จะเป็นผู้นำทางในเชิงหญิงรับใช้พระเจ้า ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น  ใน  ‘1Q84’ เอง ฟุคาเอริ หรือคุมิ อาดาจิ ก็มีบทบาทเชิง “ผู้นำทาง” ค่อนข้างมาก เพื่อนสาวอายุมากกว่าสาบสูญไป วิธีเขียนอย่างนี้คิดว่าซับซ้อนหลายชั้นกว่าเมื่อก่อนเล็กน้อย ตัวละครอย่างนี้ก่อนหน้าก็เคยมีออกมาพอสมควร ในเชิงนิยายมีหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงอย่างอาโอมาเมะก็ออกมาด้านหน้า เธอมีความมุ่งมั่นแจ่มชัด เป็นผู้หญิงที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระบนลำแข้งของตัวเอง ผมคิดว่าทำได้เป็นครั้งแรกหลังจากใช้การเขียนแบบบุคคลที่สาม ตัวผมเองสนุกที่ได้เขียนภาพอิมเมจผู้หญิงแบบนี้ รู้สึกสดใหม่ด้วย ถ้าผู้อ่านหญิงมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครที่ชื่ออาโอมาเมะ ผมก็จะยินดีมาก


แล้วก็แน่นนอนว่า สมัยนี้เขียนผู้หญิงง่ายกว่าผู้ชาย ตอนเขียนก็สนุกน่าสนใจ นึกถึงสภาพเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ความแตกต่างทางสถานภาพของผู้หญิงมีมากกว่านี้มาก







No comments: