Aug 27, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : เซ็กซ์ของผู้หญิง เซ็กซ์ในหนังสือ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)



--- พูดถึงเรื่องของระบบ ยุคปี 80, 90 มีการบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมด้านโอกาสในการจ้างงานของชายและหญิง เกิดคำว่า งานก้าวหน้า (งานที่มีโอกาสเลื่อนขั้นถึงระดับสูง-ผู้แปล) เป็นขั้นตอนการขจัดความเหลื่อมล้ำของชายหญิง แต่อีกทางหนึ่ง ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสได้สิ่งที่เหมือนกับผู้ชาย พวกเธอก็ต้องเก็บกดบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ คิดว่าใน ‘1Q84’  ได้เขียนถึงความไม่สบายใจที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่สามารถตระหนักได้ด้วยตนเองไว้ได้ดีทีเดียว

มุราคามิ คิดว่ามีความเก็บกดที่ว่านั้นแน่ๆ  แต่ความโดดเด่นสะดุดตาในเรื่องการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสินค้าทางเพศที่เคยมีมากมายไม่รู้เท่าไหร่ค่อยๆ ลดไปแล้ว  พูดอีกอย่างได้ว่าเซ็กซ์ของผู้หญิงไม่ได้พุ่งออกมาในด้านการเป็นสินค้า แต่กลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น  ดังนั้นใน ‘1Q84’ จึงเขียนถึงเซ็กซ์ของผู้หญิงได้ง่ายขึ้น ที่ไม่มีเสียงคัดค้านก็คงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ไปตามกาลเวลาอย่างที่ว่าด้วย


--- ตอน ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (Norwegian Wood) มีคนพูดถึงฉากเซ็กซ์มากทีเดียว

มุราคามิ  ตอนนี้เรื่องแบบนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา ถึงจะอ่านฉากเซ็กซ์ใน ‘Norwegian Wood’ ก็คงไม่มีใครตื่นเต้นตกใจ  แต่ตอนนั้นผมถูกตำหนิแม้แต่จากคนใกล้ตัวอย่างรุนแรง มีคนที่อ่านเล่มนี้แล้วโกรธอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะโกรธได้ขนาดนั้น เขาบอกว่า “อย่าเขียนนิยายที่ให้เด็กอ่านไม่ได้” ตอนนี้ผมเขียนความเรียงลงในนิตยสาร “an an” (นิตยสารสำหรับผู้หญิง-ผู้แปล) เห็นมีรูปนู้ดผู้ชายลงทุกอาทิตย์ (หัวเราะ) คิดว่าเป็นกึ่งของแถม โลกที่เอาเซ็กซ์ของผู้หญิงออกมาขายเพียงด้านเดียวได้เปลี่ยนไปมากแล้ว


 --- ที่มองข้ามไม่ได้อีกอย่าง คือการข่มเหงทางเพศที่อายูมิประสบเมื่อยังเด็ก ตัวเธอในปัจจุบันไม่สามารถแยกออกจากสิ่งนั้นได้ นี่ก็สอดประสานกับหัวข้อเรื่องการสูญเสียในวัยเด็ก

มุราคามิ  ซึ่งก็คือประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เรื่องอย่างนี้คิดว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อน เหมือนกับ “การล่วงละเมิด (harassment)” สมัยยังไม่มีคำบัญญัติ ที่ถูกเก็บกดลงไปในที่มืดอย่างคลุมเครือทั้งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ พอมีการบัญญัติคำเฉพาะขึ้น มันก็โผล่ออกมาให้เห็นเบื้องหน้า เรื่องแบบนี้มีแน่นอน

อีกประเด็นหนึ่ง ทำไมเรื่องความรุนแรงในครอบครัวถึงมีคนหยิบยกขึ้นมามากขนาดนี้ ผมคิดว่านี่เป็นอุปมาเปรียบเทียบชนิดหนึ่ง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม อย่างเช่นลองคิดถึงอินเตอร์เน็ต บล็อก อีเมล์ พวกนั้น จะเข้าใจง่าย เกิดมีเจตนาร้ายหรือการกลั่นแกล้งที่แพร่กระจายไปได้ทั่วทั้งสังคม ไม่รู้ว่าตนเองจะถูกใครทำร้ายเอาเมื่อไร หรือว่าตนเองจะไปทำร้ายใครเข้าเมื่อไร กระแสตรงหน้าในตอนนี้จะเอนเอียงหรือพลิกคว่ำไปอย่างไรเมื่อไร ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดน่าจะลอยขึ้นมาในฐานะอุปมาของความกลัวและความเครียดในบรรยากาศที่ความมืดมัวไม่สงบสุขลอยค้างกลางอากาศ ผมคิดอย่างนั้น ถ้าคำว่าอุปมาฟังดูไม่เหมาะ จะเรียกว่าการสอดประสานกันของความรุนแรงเชิงสังคมที่มัวๆ กว้างๆ มองเห็นลำบาก กับความรุนแรงเล็กๆ อย่างจำกัดที่ยืนยันได้ด้วยสายตา ก็น่าจะได้

--- นิยายของคุณมีผู้อ่านทั่วโลก คิดว่ามีฉากที่ในบริบทของสังคมที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการบังคับให้ระงับการเขียนถึงเซ็กซ์และความรุนแรง  เป็นหลักศีลธรรมชนิดหนึ่ง ตอนที่เรื่องสั้นของคุณลงใน “New Yorker” เคยมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขสำนวนบรรยายเรื่องเซ็กซ์และความรุนแรง  แต่พออ่าน ‘1Q84’ แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าคุณไม่ได้ปรับสำนวนเขียนเพื่อระวังหลักทางศีลธรรมอย่างที่ว่านั้นเลย  ในตอนนี้คุณคิดเรื่องความแตกต่างของแนวยึดถือปฏิบัติในวัฒนธรรมต่างๆ อย่างไร

มุราคามิ  ช่วงประมาณสิบปีมานี้ ความแตกต่างที่ว่าน่าจะหายไปแทบจะหมดแล้ว  ในโลกอิสลามไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่การที่อินเตอร์เน็ตแพร่หลาย เรื่องเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับความรุนแรง ก็แพร่กระจายในวงกว้างไปทั่วโลก ก่อนหน้าความมากมายท่วมท้นที่ว่า เซ็กซ์และความรุนแรงที่เขียนไว้ในนิยาย แม้จะไม่ถึงกับเป็นการชำระล้างบาป แต่ก็คิดว่าเป็นการปลุกให้เกิดพลังในการรับมือกับมันชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงแทบไม่กังวลในประเด็นที่ว่าเลย  ผมคิดว่าไม่มีแรงกดดันแบบที่ว่า อย่างน้อยสำหรับนิยายที่เป็นเรื่องแต่ง







No comments: