Sep 30, 2008

สนพ.กำมะหยี่จัดให้ : เข้าใจประเทศอิหร่าน เพื่อการอ่านแพร์ซโพลิสให้อิน

แพร์ซโพลิส – เบื้องลึก เบื้องหลัง

ถ้าพูดถึงอิหร่าน สิ่งที่คนในแดนไกลอย่างเราจะพอนึกออกก็คงเป็นอินทผาลัม ศาสนาอิสลาม สงครามอิรัก-อิหร่าน อยาโตเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคไมนี หรือบางคนอาจหูกว้างตากว้างขนาดรู้จักโอมาร์ คัยยัม กวีเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักและรู้จริงอิหร่าน ทั้งในเบื้องลึก เบื้องหน้า และเบื้องหลัง

ด้วยเหตุที่ แพร์ซโพลิส เป็นนิยายภาพ หน้ากระดาษแต่ละหน้าจึงมีภาพไม่กี่ภาพและตัวหนังสือไม่กี่คำ เรื่องราวแต่หนหลังต่อไปนี้จึงน่าจะช่วยให้ผู้ที่สนใจเข้าใจที่มาของถ้อยคำบางถ้อยคำที่กล่าวถึงในเรื่อง เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ของมาร์จี้กับครอบครัว และ “อิน” กับเรื่องของเธอมากยิ่งขึ้น


อารยธรรมเก่าแก่
อิหร่านมีแหล่งโบราณคดีมากมายหลายพันแห่งที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (เพราะประเทศมีปัญหาอื่นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนกว่า) แต่โครงการขุดสำรวจทางโบราณคดีที่เมืองจีรอฟต์ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากน้ำท่วมฉับพลันที่เอ่อท้นแม่น้ำฮาลิลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ เผยให้เห็นหลุมศพหลายร้อยหลุมเมื่อปี 2000 ก็สร้างความฮือฮาเมื่อนักวิชาการคาดว่า ที่นี่อาจเป็นศูนย์กลางอารยธรรมเก่าแก่ร่วมสมัยกับเมโสโปเตเมียเลยทีเดียว

2,500 ปีอันเกรียงไกร
ก่อนที่อิหร่านจะเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (1979) อย่างทุกวันนี้ ย้อนหลังไปราว 2,500 ปีก่อน เปอร์เซียคืออาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งโลกโบราณ โดดเด่นทั้งการขยายอำนาจและอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ หรือจะเรียกว่าเป็นมหาอำนาจแห่งแรกของโลกก็คงไม่ผิด เพราะในยุคที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด เปอร์เซียเคยมีอาณาเขตกว้างไกลจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจรดแม่น้ำสินธุในอินเดีย หรือพอๆกับสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน และยังครองอำนาจอย่างมั่นคงได้นับพันปีด้วย

พระเจ้าไซรัสมหาราช
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อคีเมนิดผู้สถาปนาอาณาจักรเปอร์เซียเมื่อศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงมอบอิสรภาพแก่ทาสชาวยิวแห่งบาบิลอน ส่งพวกเขากลับเยรูซาเลมพร้อมให้เงินสร้างวิหาร และจารึกทรงกระบอกของไซรัส (Cyrus Cylinder) ก็คือจารึกอักษรลิ่มซึ่งถือเป็นหลักสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลกที่ตราขึ้นก่อนกฎบัตรแมกนาคาร์ตาของชาวกรีกเกือบสองพันปี จารึกดังกล่าวรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ห้ามการค้าทาสและการกดขี่ใด การยึดทรัพย์สินด้วยกำลังหรือปราศจากสิ่งชดเชย และยังให้สิทธิแก่ดินแดนในอาณัติที่จะเลือกว่าต้องการอยู่ใต้การปกครองของไซรัสหรือไม่ ปัจจุบัน จารึกทรงกระบอกอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ ณ กรุงลอนดอน โดยมีจารึกจำลองอยู่ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในนิวยอร์ก


แพร์ซโพลิส
แพร์ซโพลิส หรือเปอร์เซโพลิส คือเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเปอร์เซียซึ่งอยู่ทางใต้ของอิหร่านในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในซากเมืองโบราณแห่งนี้ก็คือ ภาพสลักของเมืองไม่มีภาพที่สื่อความรุนแรงเลย ถึงแม้จะมีทหาร แต่ก็ไม่ได้มีการรบพุ่ง มีแต่ภาพของผู้คนหลากเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่โลกแสวงหาอำนาจด้วยการทำสงครามและใช้กำลัง

การรุกรานจากต่างชาติ
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของอิหร่านเต็มไปด้วยสงคราม การรุกรานของต่างชาติ และการพลีชีพเพื่อศาสนา เหตุผลหลักเบื้องหลังการต่อสู้เหล่านี้ก็คือทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อิหร่านตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก อันเป็นสถานที่ซึ่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เส้นทางการค้า การผสมผสานและความขัดแย้งต่างๆระหว่างโลกทั้งสองเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น อาณาจักรเปอร์เซียจึงรุ่งเรือง ล่มสลาย และเฟื่องฟูขึ้นใหม่นับครั้งไม่ถ้วน มีการรุกรานของชนเผ่าต่างๆ ทั้งเติร์ก มองโกล และที่สำคัญที่สุดก็คือการรุกรานของชนเผ่าจากอาระเบีย หรืออาหรับ ซึ่งมาพร้อมกับศาสนาอิสลามในศตวรรษที่เจ็ด

ศาสนาอิสลาม
การรุกรานของชาวอาหรับยังเป็นความขมขื่นของชาวอิหร่านหลายคน แม้ชาวอิหร่านจะยอมรับศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่ศาสนาโซโรอัสเตอร์ แต่พวกเขาก็ประกาศชัดเจนว่าตนไม่ใช่อาหรับ (หรือผู้ก่อการร้าย) แม้กระทั่งในนัยของศาสนา ชาวอิหร่านก็ยังบอกว่า พวกเขานับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ ซึ่งแตกต่างจากชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี

ภาษาฟาร์ซี
ชาวอิหร่านในปัจจุบันยังคงพูดภาษาฟาร์ซี อันเป็นภาษาประจำชาติมาแต่โบราณ แม้ว่าในอดีตช่วงหนึ่งจะมีกฎหมายห้ามพูดภาษาฟาร์ซีในที่สาธารณะ (นาน 300 ปี) และถึงแม้ภาษาฟาร์ซีในปัจจุบันจะถูกปรับให้เป็นอาหรับไปบ้าง แต่รากฐานส่วนใหญ่ก็ยังมาจากภาษาเปอร์เซียโบราณ

กวีเปอร์เซีย
กวีของอิหร่านเช่น รูมี, ซาอิด, โอมาร์ คัยยัม, ฮาเฟซ และเฟร์เดาซี ช่วยอนุรักษ์ภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเปอร์เซียเอาไว้ และชาวอิหร่านก็ยกย่องเชิดชูกวีของตน โดยเฉพาะกวีเอกอย่างเฟร์เดาซี ผู้ประพันธ์มหากาพย์ประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ชาห์นอเมะห์ อันเป็นพงศาวดารแห่งการผจญภัยและความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งของกษัตริย์ 50 รัชกาล บันทึกการขึ้นครองราชย์ การสิ้นพระชนม์ การสละราชสมบัติ หรือการช่วงชิงบัลลังก์ ก่อนจะจบลงด้วยชัยชนะของอาหรับ ซึ่งเขาเรียกว่าหายนะ

ศาสนาโซโรอัสเตอร์
อดีตศาสนาประจำชาติของเปอร์เซีย คำสอนซึ่งพูดถึงความดี ความชั่ว เจตจำนงเสรี การพิพากษาโลก สวรรค์และนรก และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมหฤทธิองค์เดียว ส่งอิทธิพลต่อศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาสำคัญของโลกอย่างศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม

มรดกวัฒนธรรม
ชาวอิหร่านพยายามปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง เช่น การฉลองเทศกาลปีใหม่ หรือ โนว์รุซ อันเป็นการเฉลิมฉลองยาวนาน 13 วันที่จัดขึ้นในช่วงกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน (วสันตวิษุวัต) โนว์รุซมีที่มาจากวันหยุดสำคัญของศาสนาโซโรอัสเตอร์ โดยในช่วงเทศกาล ทุกอย่างจะปิดทำการ ผู้คนพากันดื่มกิน เต้นรำ อ่านบทกวี และก่อกองไฟ แม้ว่าผู้นำทางศาสนาหัวอนุรักษนิยมซึ่งไม่สนใจจิตวิญญาณแห่งเปอร์เซีย จะพยายามเปลี่ยนแปลงวันปีใหม่เป็นวันอื่น แต่ก็ไม่สำเร็จ

การรุกรานยุคใหม่ – ที่มาของปัญหา
ในยุคปัจจุบัน แม้ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จะไม่สำคัญอีกต่อไป แต่ทรัพยากรน้ำมันจำนวนมหาศาลของอิหร่าน (อันดับสองของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย) คือสิ่งที่ทำให้ต่างชาติต้องการแทรกแซง และน้ำมันก็คือสาเหตุที่ทำให้อังกฤษและสหรัฐอเมริการ่วมกันโค่นล้มอำนาจของนายโมฮัมมัด โมซาเดกห์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและได้รับความนิยมในอิหร่าน ในปี 1953 เนื่องจากโมซาเดกห์ตัดสินใจยึดอุตสาหกรรมน้ำมันที่บริษัทแองโกล-อิหร่าน (หรือบีพีในปัจจุบัน) เคยดูแลไปเป็นของรัฐ ทำให้อังกฤษไม่พอใจและตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจ และเนื่องจากในตอนนั้น สงครามเย็นยังคุกรุ่น ทำเลที่ตั้งของอิหร่านซึ่งอยู่ไม่ไกลจากยุโรปตะวันออกทำให้สหรัฐอเมริกาเกรงว่าพลพรรคคอมมิวนิสต์ในอิหร่านที่สหภาพโซเวียตหนุนหลังอาจฉวยโอกาสสั่นคลอนผลประโยชน์ของตะวันตกในภูมิภาคนี้และพลิกสมดุลอำนาจของโลกใหม่ สองมหาอำนาจตะวันตกร่วมกันสนับสนุนการก่อรัฐประหารและหนุนพระเจ้าชาห์ หรือโมฮัมมัด เรซา ปาห์ลาวี คืนสู่อำนาจ

พระเจ้าชาห์ (โมฮัมมัด เรซา ปาห์ลาวี)
พระเจ้าชาห์ทรงเปิดประตูรับวัฒนธรรม ดนตรี การแต่งกาย ค่านิยม และผลประโยชน์ทางธุรกิจของตะวันตกให้ไหลบ่าเข้ามา แม้ว่าจะทรงพยายามประชาสัมพันธ์แพร์ซโพลิสและเชิดชูพระเจ้าไซรัสมหาราชโดยจัดงานฉลองครบรอบ 2,500 ปีของราชวงศ์เปอร์เซียในปี 1971 แต่การเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่อย่างหักโหมและรวดเร็วทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจเพราะมองว่านั่นคือการคุกคามทางวัฒนธรรม จึงพากันต่อต้านทั้งในสื่อและการเดินขบวนประท้วง จนทำให้เกิดการปราบปรามอย่างเด็ดขาดของซาวัก หรือหน่วยตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ที่ตั้งขึ้นในปี 1957 โดยความช่วยเหลือของที่ปรึกษาชาวอเมริกันและอิสราเอล เชื่อกันว่ามีชายอิหร่านอย่างน้อยหลายร้อยคนต้องเสียชีวิตด้วยน้ำมือของซาวัก และอีกไม่น้อยต้องถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน และเนรเทศ

การปฏิวัติอิสลาม
ปลายทศวรรษ 1970 เมื่ออยาโตเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคไมนี ออกมาพูดถึงการปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระจากการกดขี่ครั้งล่าสุด ประชาชนจึงเลื่อมใสศรัทธาและสนับสนุน ยอมรับแนวคิดให้ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่ไม่มีใครคิดว่าศาสนาจะเข้ามาบังคับชีวิตอย่างเข้มงวดเช่นนั้น ไม่มีใครคิดว่าผู้นำศาสนาจะเข้ามาควบคุมการค้า การบริหารประเทศ ศาล และชีวิตประจำวัน และนำบทลงโทษแบบจารีตโบราณมาใช้ เช่น การขว้างปาด้วยหินในที่สาธารณะ การแขวนคอ การตัดนิ้วหรือแขนขา เพราะอันที่จริง ชาวอิหร่านจำนวนมากก็ไม่ได้เคร่งศาสนานัก สังคมมีแนวโน้มที่จะดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอดีตที่ถือว่าการเดินทางทางจิตวิญญาณควรจะเป็นการแสวงหาภายในของแต่ละบุคคล แทนที่จะผ่านคนกลางอย่างครูสอนศาสนา

สงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988)
หลังจากมีปัญหาเรื่องแนวชายแดนมายาวนาน อิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ก็รุกรานอิหร่านในเดือนกันยายน ปี 1980 โดยตั้งใจฉวยโอกาสช่วงที่อิหร่านมีการปฏิวัติอิสลามและลงมือบุกโดยไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ไม่สามารถรุกคืบไปได้มากนักและอิหร่านก็ยึดพื้นที่ทั้งหมดคืนได้ในปี 1982 การต่อสู้ในอีกหกปีต่อมา อิหร่านเป็นฝ่ายบุก แม้ว่าสหประชาชาติจะเรียกร้องให้หยุดยิงหลายครั้ง จนกระทั่งปี 1988 สงครามจึงยุติ และมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกชุดสุดท้ายเมื่อปี 2003 โดยอิรักมีการใช้อาวุธเคมี (เช่น แก๊สมัสตาร์ด) ในสงครามครั้งนี้ ทหารและพลเรือนอิหร่านบาดเจ็บและเสียชีวิตราว 500,000-1,000,000 คน ทั้งจากอาวุธเคมีและขีปนาวุธที่อิรักยิงใส่แหล่งชุมชนต่างๆในอิหร่าน

การต่อสู้ของผู้คน
หลังจากผู้คนยินดีปรีดาที่การปฏิวัติอิสลามขจัดสิ่งมอมเมาทางวัฒนธรรมจากตะวันตกออกไปได้ ไม่ช้า พวกเขาก็ตระหนักว่าตัวตนที่รัฐบาลยัดเยียดให้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเป็นอีกเช่นกัน สิบปีหลังปฏิวัติ อิหร่านปิดประตูรับโลกตะวันตก ผู้นำศาสนาหัวอนุรักษนิยมที่บริหารประเทศพยายามขจัดตัวตนทางวัฒนธรรมใดๆที่มีมาก่อนหน้าศาสนาอิสลาม มีการแก้ไขเอกสารราชการ แทนที่สัญลักษณ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ มีการเปลี่ยนชื่อถนน และลบการอ้างถึงอาณาจักรเปอร์เซียออกจากตำรา เมื่อนั้นเองที่องค์ประกอบของวัฒนธรรมโบราณอย่างดนตรีพื้นบ้าน ภาพเขียนเปอร์เซีย และการอ่านบทกวีโบราณได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ๆก็อพยพโยกย้ายไปยุโรปหรือที่อื่นๆ บางคนสนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลกมุสลิมอย่างเต็มที่ บางคนมีจิตสำนึกแรงกล้าต่อวัฒนธรรมเปอร์เซีย บางคนรู้สึกว่าต้องเลือกระหว่างมุสลิมกับเปอร์เซีย ขณะที่บางคนหันหลังให้ทุกอย่างและเสพวัฒนธรรมตะวันตกกับรายการโทรทัศน์จากจานดาวเทียมเถื่อน

กลายเป็นว่า การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งชาวอิหร่านบางคนเรียกว่า การรุกรานครั้งที่สองของอาหรับ ซึ่งมุ่งจะขัดขวางทำลายอดีต กลับเสริมส่งให้สายใยที่เชื่อมโยงจากอดีตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การปฏิวัติกระตุ้นตัวตนทางวัฒนธรรมของคนในชาติซึ่งยังฝังแน่นอยู่ตามซากปรักหักพังของเมืองเก่าๆ เช่น แพร์ซโพลิส ทำให้พวกเขาตระหนักถึงความเป็นชาวอิหร่าน ทายาทของชนโบราณที่สืบเชื้อสายอย่างต่อเนื่องกลุ่มหนึ่งของโลก


ปัจจุบัน

อิหร่านตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเซนทรัลยูเรเชีย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวเปอร์เซีย มีพรมแดนทางเหนือติดอาร์เมเนีย อาร์เซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน คาซักสถาน และรัสเซีย ทางตะวันออกติดอัฟกานิสถานและปากีสถาน ทางใต้ติดอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ส่วนทางตะวันตกติดตุรกีและอิรัก เมืองหลวงคือกรุงเตหะราน มีประชากรราว 67 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นชาวเปอร์เซีย (51%) ที่เหลือเป็นอาร์เซอร์ไบจาน (24%) เคิร์ด (7%) เติร์ก อาหรับ อาร์เมเนีย อัสซีเรีย และอื่นๆ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณสามเท่า แบ่งการปกครองออกเป็น 27 อุสตาน (น่าจะเทียบได้กับจังหวัด หรือแคว้น)

ชื่อประเทศอิหร่านมาจากชาวอารยัน ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเปอร์เซียราว 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีความหมายว่า ดินแดนของชาวอารยัน

Photobucket


ประวัติความเป็นมาเป็นไปของประเทศอิหร่านอย่างย่นย่อ
2,500 ปีก่อน ค.ศ. อารยธรรมโกนาร์ซันดัล
2,400 ปีก่อน ค.ศ. อาณาจักรอีลาม (ชาวอีลาไมต์)
625 ปีก่อน ค.ศ. อาณาจักรเมเดส
550-330 ปีก่อน ค.ศ. อาณาจักรของราชวงศ์อคีเมนิด ราชวงศ์แห่งแรกของเปอร์เซีย แผ่ขยายจนกลายเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในโลก
330-129 ปีก่อน ค.ศ. อะเล็กซานเดอร์มหาราชทรงพิชิตเปอร์เซียได้และอภิเษกกับสตรีเปอร์เซีย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็สิ้นพระชนม์ ซีลูคัส นายพลของพระองค์ รวบอำนาจไว้ได้ แต่ต่อมาก็เสียอำนาจให้ราชวงศ์พาร์เทียน
247 ปีก่อน ค.ศ.–ค.ศ.224 พวกพาร์เทียนจากตะวันออกเฉียงเหนือสร้างอาณาจักรเปอร์เซียแห่งที่สอง และท้าทายอำนาจของจักรวรรดิโรมัน
ค.ศ. 224 - 641 ราชวงศ์ซัสซานิดก่อตั้งอาณาจักรเปอร์เซียแห่งที่สาม ซึ่งเป็นยุคทองของการสร้างเมืองและศิลปกรรมอันอลังการ
ค.ศ. 641 – 642 กองทัพอาหรับเข้ามาเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ทำให้เปอร์เซียตกอยู่ใต้การปกครองของอาหรับ แต่วัฒนธรรมเปอร์เซียยังปรากฏอิทธิพลในโลกมุสลิม
ค.ศ. 1551 ราชวงศ์ซาฟาวิดได้รวบรวมอิหร่านให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และนำศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์เข้ามา
ค.ศ. 1953 หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก่อรัฐประหารถอดถอนนายกรัฐมนตรีโมฮัมมัด มุสซาเดกห์ ออกจากอำนาจ และหนุนให้พระเจ้าชาห์ขึ้นครองบัลลังก์ โดยเป็นเพียงหุ่นเชิด ในระหว่างที่พระเจ้าชาห์ขึ้นครองอำนาจ อยาโตเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคไมนี ถูกเนรเทศ
ค.ศ. 1957 หน่วยตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ หรือซาวัก ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ทำการปราบปรามประชาชนอย่างเข้มงวดและรุนแรง ว่ากันว่ามีชาวอิหร่านจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน สังหาร และเนรเทศด้วยฝีมือของซาวัก
ค.ศ. 1971 พระเจ้าชาห์จัดงานฉลอง 2,500 ปีของราชวงศ์เปอร์เซีย เป็นการจัดงานที่หรูหรา มีการตั้งกระโจม สั่งอาหารจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงแขกเหรื่อซึ่งเชิญมาจากทั่วโลก (แต่มีชาวอิหร่านเข้าร่วมงานเพียงหยิบมือ)
ค.ศ. 1976 พระเจ้าชาห์ที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังถูกบีบบังคับให้ออกนอกประเทศหลังการประท้วงและการก่อจลาจลในประเทศ
ค.ศ. 1979 อยาโตเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำศาสนาอิสลามกลับจากการถูกเนรเทศและเข้าปกครองประเทศหลังจากถูกเนรเทศนาน 15 ปี มีการสถาปนาอิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
นักศึกษาอิหร่านบุกเข้าจับกุมตัวประกัน 63 คนในสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิหร่าน ทำให้เกิดวิกฤติทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามกับประชาชนอย่างเข้มงวดกวดขัน
ค.ศ. 1980 กรกฎาคม พระเจ้าชาห์ที่ถูกขับออกจากประเทศสิ้นพระชนม์ในอิหร่าน
พฤศจิกายน อิรักบุก เกิดสงครามอิรัก-อิหร่านที่ยาวนานตลอดทศวรรษ
ค.ศ. 1988 ยุติสงครามอิรัก-อิหร่านที่กินเวลาแปดปี
ค.ศ. 1989 มิถุนายน อยาโตเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคไมนี เสียชีวิต
สิงหาคม ฮาเชมิ รัฟซันจานี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ค.ศ. 1990-91 อิหร่านวางตัวเป็นกลางในการที่สหรัฐฯแทรกแซงคูเวต
ค.ศ. 1997 มูฮัมมัด คาตามี ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิหร่าน
ค.ศ. 2002 อิหร่านเริ่มสร้างโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งแรกแม้ว่าสหรัฐฯจะคัดค้านอย่างหนักและกล่าวหาว่าอิหร่านสร้างอาวุธนิวเคลียร์
ค.ศ. 2005 มาห์มุด อะห์มาดิเนจัด นายกเทศมนตรีหัวอนุรักษนิยมของเตหะรานได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เอาชนะอดีตประธานาธิบดี ฮาเชมี รัฟซันจานี
ค.ศ. 2007 ความพยายามในการเจรจาสันติภาพระหว่างอิรักและอิหร่านโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการ
ค.ศ. 2008 สหรัฐอเมริกามีแผนการจะส่งเจ้าหน้าที่การทูตไปประจำ ณ กรุงเตหะราน ซึ่งจะเป็นครังแรกในรอบสามสิบปี

ที่มา: นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (ภาษาไทย) ฉบับสิงหาคม 2551; www.wikipedia.com;



+++

2 comments:

Anonymous said...

เจ๋งมากจ้า

Anonymous said...

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูล