Aug 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : โลกที่เรียกว่า 1Q84 อุปมาและความจริงในนิยาย


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

โลกที่เรียกว่า “1Q84”


--- ฉากบรรยายเรื่องเซ็กซ์ที่อยากถามอีกฉากหนึ่ง คือเซ็กซ์ในกรอบที่เรียกว่าศาสนา มีฉากเซ็กซ์เชิงพิธีกรรมชนิดหนึ่งบรรยายไว้ ซึ่งอาจมีความหมายลึกลงไปถึงด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ( cultural anthropology) และอาจเชื่อมไปถึงการที่อาโอมาเมะตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศโดยตรงกับเท็งโกะ คุณคิดว่าถ้าไม่จ้องมองไปถึงการนำเอาเรื่องทางเพศแบบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง จะไม่สามารถบรรยายภาพศาสนาได้อย่างนั้นหรือ

มุราคามิ  ไม่ใช่  เป็นในทางตรงข้ามกันเลย   โลก “1Q84” ที่อาโอมาเมะมุดเข้ามา เป็นโลกที่มีสิ่งดึกดำบรรพ์บางอย่างซึมขึ้นมาจากพื้นดิน เมืองโตเกียวในปี 1984 พื้นเป็นคอนกรีตแข็ง เป็นโลกที่ไม่มีอะไรซึมขึ้นมา แต่สถานที่ที่อาโอมาเมะลงบันไดฉุกเฉินไปเป็นโลกที่มีสิ่งที่ว่าค่อยๆ ซึมออกมา เพราะฉะนั้นศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความดึกดำบรรพ์นั้น

โลกของ  “1Q84” เรียกได้ว่าเป็นโลกที่ลิตเทิลพีเพิลคืบคลานออกมาจากใต้ดิน ส่วนลิตเทิลพีเพิลคืออะไร ผมเองก็อธิบายไม่ถูก ถ้าคิดแบบคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ส่งสารจากโลกใต้ดินก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้น

--- ผมรู้สึกว่าลิตเทิลพีเพิลไม่เกี่ยวกับทั้งศาสนาคริสต์ และก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เป็นอะไรที่คล้ายจะเป็นรากเหง้ากว่านั้น ในงานชิ้นก่อนๆ ของคุณว่าไปแล้วจะว่าไม่เคยมีก็ไม่ใช่ อย่างเช่น “ยามิคุโร” ใน แดนฝันปลายขอบฟ้า (Hardboiled Wonderland)

มุราคามิ  ใช่แล้ว  “ยามิคุโร” เป็นอย่างนั้นจริงๆ  ยังมี “ปีศาจเขียว” ที่อยู่ในเล่ม ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน (Lexington Ghosts)  ด้วย สิ่งที่คืบคลานออกมาจากใต้ดินพวกนี้  พอผมขุดหลุมเพื่อสร้างเรื่องราว มันก็ออกมาเองตามธรรมชาติ 

--- ใน ‘1Q84’ มีอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่ชื่อเอบิสุโนะ และมีการกล่าวถึงหนังสือเรื่อง “The Golden Bough” ของ Frazer รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งในอะไรต่อมิอะไรที่คุณโยนเข้าไปหลังเปิดปากทางเรื่องราวให้กว้างขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

มุราคามิ  งานของ Frazer เล่มนั้นผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว ที่จริงจำไม่ค่อยได้ แต่อ่าน “Myths to Live By” ของ Joseph Campbell บ่อย ไม่เกี่ยวกับว่ามีประโยชน์กับการเขียนนิยายหรือไม่ อ่านเพราะน่าสนใจดีแค่นั้น

สำหรับผม ที่ว่าน่าสนใจก็คือ สิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือพวกนี้เป็นสิ่งที่เอื้อมมือไปจับต้องได้ ถ้าใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ tangible  ทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมจัดสิ่งเหล่านั้นเป็นการเปรียบเทียบ (analogy) สัญลักษณ์ หรืออุปมาอุปไมย (metaphor) ชนิดหนึ่ง แต่สำหรับนักเขียนนิยาย มันไม่ใช่สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย หรือการเปรียบเทียบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  หากโยนสิ่งนั้นลงไปในเรื่องราว มันก็จะเกิดขึ้นจริงในฐานะความเป็นจริง มันจะนำไปสู่ผลอย่างไร ผลที่ถูกนำพาให้เกิดขึ้นก็เป็นความเป็นจริง หน้าที่ของนักเขียนนิยายคือส่งสายตามองตามไป เพราะฉะนั้นถ้าแค่อ่าน “The Golden Bough” ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ต้องจับมันโยนลงหลุมให้ทำงาน สิ่งที่ผมว่าสนุกที่สุดในการเป็นนักเขียนนิยายก็คือการที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โยนการเปรียบเทียบ สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย พวกนี้ลงหลุมไปเรื่อยๆ ทำให้มันเป็นความจริงเสียเลย

--- ไม่ใช่จากเหตุไปสู่ผล เป็นตรงข้ามสินะครับ ผลทำให้เกิดเหตุ

มุราคามิ  ใช่ นี่เป็นการทำงานที่เป็นส่วนตัวอย่างที่สุด ทำแล้วก่อให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่าง พอนำไปสู่ผลอย่างหนึ่ง vector (ทิศทางการเคลื่อนที่) ตรงนี้ต้องเป็นสากล ถ้าเขียนเรื่องตามใจชอบแบบตามใจชอบมันก็ไม่เป็นนิยาย ต้องมี vector ที่เป็นสากลจึงจะกลายเป็นผลงานที่มีความหมายได้ แน่นอนว่าการไปถึงตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเขียนได้ดีขนาดไหน หรือเขียนได้สนุกขนาดไหน ถ้า vector ยังตอบไม่ตรงใจ ก็แสดงว่ามันยังไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะเรื่องราวที่ดี นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ได้มาแต่กำเนิดในระดับหนึ่ง

--- อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากการเพียรฝึกฝน

มุราคามิ  แน่นอนว่าอาจมีบ้างที่ได้จากการเพียรฝึกฝน แต่การกำหนดแกนหลักสำหรับประเมิน vector นั้นยากมาก สุดท้ายแล้วก็ต้องใช้ความรู้สึกวัด หลายครั้งที่เป็นอย่างนั้น นั่นเป็น vector ที่มีแก่นหรือเปล่า หรือว่าแค่ถากผิวๆ อาจพูดอีกอย่างได้ว่าเรื่องราวนั้นมีชีวิตหรือไม่ เป็นเรื่องที่อธิบายเป็นคำพูดได้ไม่ง่าย แต่คนอ่านเขารู้ 

รู้ได้ยังไง หนังสือที่คนนี้เขียน ถ้าออกมาอีกก็อยากซื้ออ่านอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าเรื่องนั้น – อย่างน้อยก็ในความหมายหนึ่ง – มีชีวิต นั่นอาจเป็นแกนประเมินอย่างหนึ่ง แต่การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อยู่บนบริบทแบบมีผลประโยชน์จริงอย่างการยอมควักเนื้อ  นักวิจารณ์ที่มั่นคงซื่อตรงก็มีบ้าง วิจารณ์ได้เยี่ยมยอดก็มี แต่ถ้าพูดกันตามหลักการ สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่สามารถเอ่ยออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ อธิบายกันไม่ได้ เพราะอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ พวกผมถึงได้เขียนเป็นเรื่องราวออกมา

เพราะฉะนั้นผมจึงยึดเอาการที่ผู้อ่านซื้อผลงานชิ้นถัดไปเป็นหลัก ผู้อ่านเฝ้ารองานของผมออกมา แล้วซื้อต่อไปเรื่อยๆ คิดว่านี่เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้ามีหลักฐานอย่างนั้น ไม่ว่าหนังสือกระดาษจะคงอยู่ต่อไปหรือหนังสืออิเลคทรอนิคส์จะเข้ามาเป็นหลักแทนก็คงไม่เกี่ยวเท่าไหร่ เรื่องเล่าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นและอยู่มาหลายพันปี มีลมหายใจยาวนานและพลังแข็งแกร่ง ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเพียงเพราะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเปลี่ยนหรอก

Somerset Maugham เขียนไว้ว่า “ผมไม่เคยเจอนักเขียนคนไหนพูดว่าหนังสือของตัวเองขายไม่ออกเพราะมันไม่น่าสนใจ” (หัวเราะ) เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกี่ยวกับตัวอุปกรณ์

ลินคอร์นบอกว่า “คุณอาจหลอกคนทั้งหมดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ คุณอาจหลอกคนไม่กี่คนไปตลอดกาลก็ได้ แต่จะหลอกคนทุกคนไปตลอดกาลไม่ได้” ซึ่งคิดว่าจริงสำหรับหนังสือเหมือนกัน ผมเขียนหนังสือต่อเนื่องมาสามสิบปี ซึ่งก็เป็นเวลาที่นานพอดู มีช่วงหนึ่งถึงกับโดนว่า “ทำเป็นจะแต่งงานด้วยเพื่อหลอกเอาเงิน” ยังถูกหลอกกันอยู่หรือเปล่า คนอ่านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ชื่นชมผลงานด้วย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่แพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่แทบจะเหลือเชื่อ






Aug 27, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : เซ็กซ์ของผู้หญิง เซ็กซ์ในหนังสือ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)



--- พูดถึงเรื่องของระบบ ยุคปี 80, 90 มีการบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมด้านโอกาสในการจ้างงานของชายและหญิง เกิดคำว่า งานก้าวหน้า (งานที่มีโอกาสเลื่อนขั้นถึงระดับสูง-ผู้แปล) เป็นขั้นตอนการขจัดความเหลื่อมล้ำของชายหญิง แต่อีกทางหนึ่ง ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสได้สิ่งที่เหมือนกับผู้ชาย พวกเธอก็ต้องเก็บกดบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ คิดว่าใน ‘1Q84’  ได้เขียนถึงความไม่สบายใจที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่สามารถตระหนักได้ด้วยตนเองไว้ได้ดีทีเดียว

มุราคามิ คิดว่ามีความเก็บกดที่ว่านั้นแน่ๆ  แต่ความโดดเด่นสะดุดตาในเรื่องการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสินค้าทางเพศที่เคยมีมากมายไม่รู้เท่าไหร่ค่อยๆ ลดไปแล้ว  พูดอีกอย่างได้ว่าเซ็กซ์ของผู้หญิงไม่ได้พุ่งออกมาในด้านการเป็นสินค้า แต่กลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น  ดังนั้นใน ‘1Q84’ จึงเขียนถึงเซ็กซ์ของผู้หญิงได้ง่ายขึ้น ที่ไม่มีเสียงคัดค้านก็คงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ไปตามกาลเวลาอย่างที่ว่าด้วย


--- ตอน ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (Norwegian Wood) มีคนพูดถึงฉากเซ็กซ์มากทีเดียว

มุราคามิ  ตอนนี้เรื่องแบบนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา ถึงจะอ่านฉากเซ็กซ์ใน ‘Norwegian Wood’ ก็คงไม่มีใครตื่นเต้นตกใจ  แต่ตอนนั้นผมถูกตำหนิแม้แต่จากคนใกล้ตัวอย่างรุนแรง มีคนที่อ่านเล่มนี้แล้วโกรธอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะโกรธได้ขนาดนั้น เขาบอกว่า “อย่าเขียนนิยายที่ให้เด็กอ่านไม่ได้” ตอนนี้ผมเขียนความเรียงลงในนิตยสาร “an an” (นิตยสารสำหรับผู้หญิง-ผู้แปล) เห็นมีรูปนู้ดผู้ชายลงทุกอาทิตย์ (หัวเราะ) คิดว่าเป็นกึ่งของแถม โลกที่เอาเซ็กซ์ของผู้หญิงออกมาขายเพียงด้านเดียวได้เปลี่ยนไปมากแล้ว


 --- ที่มองข้ามไม่ได้อีกอย่าง คือการข่มเหงทางเพศที่อายูมิประสบเมื่อยังเด็ก ตัวเธอในปัจจุบันไม่สามารถแยกออกจากสิ่งนั้นได้ นี่ก็สอดประสานกับหัวข้อเรื่องการสูญเสียในวัยเด็ก

มุราคามิ  ซึ่งก็คือประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เรื่องอย่างนี้คิดว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อน เหมือนกับ “การล่วงละเมิด (harassment)” สมัยยังไม่มีคำบัญญัติ ที่ถูกเก็บกดลงไปในที่มืดอย่างคลุมเครือทั้งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ พอมีการบัญญัติคำเฉพาะขึ้น มันก็โผล่ออกมาให้เห็นเบื้องหน้า เรื่องแบบนี้มีแน่นอน

อีกประเด็นหนึ่ง ทำไมเรื่องความรุนแรงในครอบครัวถึงมีคนหยิบยกขึ้นมามากขนาดนี้ ผมคิดว่านี่เป็นอุปมาเปรียบเทียบชนิดหนึ่ง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม อย่างเช่นลองคิดถึงอินเตอร์เน็ต บล็อก อีเมล์ พวกนั้น จะเข้าใจง่าย เกิดมีเจตนาร้ายหรือการกลั่นแกล้งที่แพร่กระจายไปได้ทั่วทั้งสังคม ไม่รู้ว่าตนเองจะถูกใครทำร้ายเอาเมื่อไร หรือว่าตนเองจะไปทำร้ายใครเข้าเมื่อไร กระแสตรงหน้าในตอนนี้จะเอนเอียงหรือพลิกคว่ำไปอย่างไรเมื่อไร ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดน่าจะลอยขึ้นมาในฐานะอุปมาของความกลัวและความเครียดในบรรยากาศที่ความมืดมัวไม่สงบสุขลอยค้างกลางอากาศ ผมคิดอย่างนั้น ถ้าคำว่าอุปมาฟังดูไม่เหมาะ จะเรียกว่าการสอดประสานกันของความรุนแรงเชิงสังคมที่มัวๆ กว้างๆ มองเห็นลำบาก กับความรุนแรงเล็กๆ อย่างจำกัดที่ยืนยันได้ด้วยสายตา ก็น่าจะได้

--- นิยายของคุณมีผู้อ่านทั่วโลก คิดว่ามีฉากที่ในบริบทของสังคมที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการบังคับให้ระงับการเขียนถึงเซ็กซ์และความรุนแรง  เป็นหลักศีลธรรมชนิดหนึ่ง ตอนที่เรื่องสั้นของคุณลงใน “New Yorker” เคยมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขสำนวนบรรยายเรื่องเซ็กซ์และความรุนแรง  แต่พออ่าน ‘1Q84’ แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าคุณไม่ได้ปรับสำนวนเขียนเพื่อระวังหลักทางศีลธรรมอย่างที่ว่านั้นเลย  ในตอนนี้คุณคิดเรื่องความแตกต่างของแนวยึดถือปฏิบัติในวัฒนธรรมต่างๆ อย่างไร

มุราคามิ  ช่วงประมาณสิบปีมานี้ ความแตกต่างที่ว่าน่าจะหายไปแทบจะหมดแล้ว  ในโลกอิสลามไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่การที่อินเตอร์เน็ตแพร่หลาย เรื่องเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับความรุนแรง ก็แพร่กระจายในวงกว้างไปทั่วโลก ก่อนหน้าความมากมายท่วมท้นที่ว่า เซ็กซ์และความรุนแรงที่เขียนไว้ในนิยาย แม้จะไม่ถึงกับเป็นการชำระล้างบาป แต่ก็คิดว่าเป็นการปลุกให้เกิดพลังในการรับมือกับมันชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงแทบไม่กังวลในประเด็นที่ว่าเลย  ผมคิดว่าไม่มีแรงกดดันแบบที่ว่า อย่างน้อยสำหรับนิยายที่เป็นเรื่องแต่ง







Aug 4, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ความเป็นหญิงในนิยาย และความเป็นหญิงในผู้เขียน


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ผู้หญิงกับเซ็กซ์


--- ในผลงานของคุณ ตั้งแต่ “Norwegian Wood” จนถึงปัจจุบัน ตัวตนของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คิดว่าคุณได้ขุดลึกลงไปในคำถามที่ว่าความเป็นหญิงในเรื่องเล่าคืออะไร แต่เท่าที่ผ่านมา ‘1Q84’ แทบจะเป็นเรื่องแรกที่ตัวตนของผู้หญิงออกมายืนอยู่ด้านหน้าอย่างแท้จริง

พลังขับเคลื่อนเรื่องราวของ ‘1Q84’ ก็มีความรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ที่ความเป็นชาย แต่อยู่ที่ความเป็นหญิง ทำไมคุณจึงคิดนำเอาผู้หญิงออกมาด้านหน้า พยายามวาดภาพ “หญิงผู้มุ่งมั่น”  

มุราคามิ อย่างแรก เป็นเพราะผมค่อยๆ เข้าใจเรื่องของผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าสั่งสมประสบการณ์มา แต่เข้าใจในเรื่องที่สมัยก่อนไม่เข้าใจ อย่างเช่นผู้หญิงจะคิดเรื่องอะไรอย่างไร รู้สึกอย่างไร สมัยเป็นหนุ่มยังเข้าใจไม่มากพอ แต่ตอนนี้ลองมาหวนคิดดูก็เข้าใจว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ตอนนั้นคนนั้นเขารู้สึกอย่างนี้ ตอนนั้นคนนั้นเขาต้องการอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ในตอนนั้นก็จะดี คิดไปอย่างนั้น แต่ถึงคิดได้ก็สายไปแล้ว (หัวเราะ)

สิ่งที่ตอนหนุ่มๆ ไม่เข้าใจ อย่างเช่นความต้องการทางเพศของผู้หญิง พอรู้บ้างว่าผู้หญิงมีความต้องการทางเพศ แต่มันเป็นยังไง รุนแรงแค่ไหน ปลดปล่อยออกมายังไง ชายหนุ่มไม่มีทางรู้ ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วถึงเข้าใจ แต่พออายุมากขึ้นก็จะเข้าใจเรื่องแบบนั้นมากขึ้นเอง สามารถจำลองภาพในขอบเขตของจินตนาการได้หลากหลาย เวลาเขียนนิยาย การมีลิ้นชักแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

--- ใน ‘1Q84’ คุณเขียนถึงอะไรบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในก้นบึ้งของสิ่งที่เรียกว่าเซ็กซ์อย่างถึงแก่นทีเดียว เหนือไปกว่าการที่อาโอมาเมะอยากมีเซ็กซ์อย่างเหลือล้นในบางครั้ง หรืออายูมิที่ถูกฆาตกรรม มองในแง่หนึ่งก็ต้องการผู้ชายเพื่อความสำราญ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราถึงจะมองก็ไม่สะดุดใจ หรือไม่ได้พยายามมอง ได้ถูกเขียนไว้อย่างสมจริงมาก


มุราคามิ ก่อนอื่น คนเราจะมี anima กับ animus ใช่ไหม ในจิตใต้สำนึกของผู้ชายมีความเป็นหญิงที่เรียกว่า anima และในผู้หญิงก็มีความเป็นชายที่เรียกว่า animus ถึงจะบอกอย่างนี้แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอเขียนนิยายก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น  คิดว่าความเป็นหญิงในตัวเองเป็น “อย่างนี้มั้ง” แล้วลองตามหาลึกลงไป ก็มีอะไรๆ ที่น่าสนใจโผล่ออกมา นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเขียนผู้หญิงออกมาได้มีชีวิตชีวากว่าเมื่อก่อน พอขุดเรื่องราวลึกลงไป สิ่งเหล่านั้นก็โผล่ออกมาเองตามธรรมชาติ เริ่มเคลื่อนไหว ความรู้สึกคล้ายๆ ตั้งใจแยกตัวเองออกเป็นหลายส่วน


สมัยก่อน ผู้หญิงที่ออกมาในนิยายของผม นอกจากข้อยกเว้นพิเศษแล้ว ไม่สูญสลายไปก็จะเป็นผู้นำทางในเชิงหญิงรับใช้พระเจ้า ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น  ใน  ‘1Q84’ เอง ฟุคาเอริ หรือคุมิ อาดาจิ ก็มีบทบาทเชิง “ผู้นำทาง” ค่อนข้างมาก เพื่อนสาวอายุมากกว่าสาบสูญไป วิธีเขียนอย่างนี้คิดว่าซับซ้อนหลายชั้นกว่าเมื่อก่อนเล็กน้อย ตัวละครอย่างนี้ก่อนหน้าก็เคยมีออกมาพอสมควร ในเชิงนิยายมีหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงอย่างอาโอมาเมะก็ออกมาด้านหน้า เธอมีความมุ่งมั่นแจ่มชัด เป็นผู้หญิงที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระบนลำแข้งของตัวเอง ผมคิดว่าทำได้เป็นครั้งแรกหลังจากใช้การเขียนแบบบุคคลที่สาม ตัวผมเองสนุกที่ได้เขียนภาพอิมเมจผู้หญิงแบบนี้ รู้สึกสดใหม่ด้วย ถ้าผู้อ่านหญิงมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครที่ชื่ออาโอมาเมะ ผมก็จะยินดีมาก


แล้วก็แน่นนอนว่า สมัยนี้เขียนผู้หญิงง่ายกว่าผู้ชาย ตอนเขียนก็สนุกน่าสนใจ นึกถึงสภาพเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ความแตกต่างทางสถานภาพของผู้หญิงมีมากกว่านี้มาก