May 21, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : จากชื่อเรื่อง สู่ตัวละคร สู่ "ซาคิงาเขะ" โครงสร้างฉากหลัง


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ

วงจรที่ปิดตาย


--- ในช่วงแรกไม่มีเศษเสี้ยวของ สิ่งที่เป็นคล้ายๆ “ซาคิงาเขะ”  หรือตัวตนของท่านผู้นำบ้างเลยหรือ

มุราคามิ ผมไปฟังการพิจารณาคดีโอมชินริเคียว (คลิกเพื่อดูรายละเอียด) ในศาล ไปทั้งศาลจังหวัดโตเกียวและศาลสูง จดบันทึกการพิจารณาในสมุดโน้ตไว้หลายเล่ม รู้สึกว่าน่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นไม่อยากเขียนเรื่องบนความจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีโอมชินริเคียวอีก แล้วก็ไม่อยากทำเป็นเรื่องแต่งด้วย ส่วนมากผมจะไปฟังการพิจารณาแบบที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าฟังได้ในคดีของนายยาสุโอะ ฮายาชิ พอได้เห็นคนตัวเป็นๆอยู่ต่อหน้าตลอดเวลา ก็รู้สึกว่าความเป็นจริงนั้นหนักหน่วงเหลือเกิน ไม่ใช่เรื่องที่จะโยกเอาไปเป็นวัตถุดิบของเรื่องแต่งง่ายๆ ได้ 

แล้วถ้าอย่างนั้นจะเขียนอะไร คิดว่าต้องเอาความรู้สึก ภาพที่ประทับอยู่ในใจ ความสับสน เหล่านี้ที่ได้รู้สึกได้สัมผัสมาด้วยตัวเองในตอนนั้น มาแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง คดีโอมชินริเคียวที่เกี่ยวข้องกับคดีปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดิน การพิจารณาของศาล สิ่งเหล่านี้สะสมอยู่ในตัวผม อยากเก็บเอาไว้ในรูปแบบใดสักอย่างที่ต่างออกไป นั่นคงเป็นแรงจูงใจสำคัญในตอนนั้น 

ใน ‘After Dark’ ก็มีความรู้สึกและความเห็นที่มัวหม่นของผมแทรกซึมกระจัดกระจายอยู่ มันออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่จะเสนอสิ่งนั้นออกมาในเรื่องราวขนาดยาวและใหญ่อย่าง ‘1Q84’ อย่างไร เป็นปัญหาที่ยาก เรื่องขนาดกลางกับเรื่องขนาดยาว น้ำหนักของวัตถุดิบก็จะต่างกันอยู่แล้ว แต่ในกรณี ‘1Q84’ คิดว่าสาระสำคัญถูกนำเข้าไปไว้ในตัวโครงสร้างของเรื่อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง

คนที่รับคำสั่งจากนายอะซาฮาระให้ปล่อยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดินจนถูกพิพากษาประหารชีวิต พวกเขาคงยังไม่รับรู้คำพิพากษาในฐานะความเป็นจริง พวกเขาเข้าไปใกล้โอมฯด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น ไปเรียนโยคะอยู่ดีๆ ก็ก้าวเข้าไปในขอบข่ายเรื่องทางศาสนา ถูกดึงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งทั้งที่ยังไม่เข้าใจ น่าจะรู้สึกแบบนั้นอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่พวกเขาทำในความเป็นจริงบนโลกใบนี้ ตามน้ำหนักของความผิดก็ต้องรับโทษประหารชีวิตสถานเดียว สำหรับพวกเขาแล้วจะรู้สึกกับเรื่องนี้ในฐานะความเป็นจริงเสมือนหรือเปล่า มีคนพูดกันมากว่าหากไม่มีเรื่องเช่นนั้น พวกเขาส่วนมากคงมีชีวิตอยู่ไปได้อย่างธรรมดาๆในฐานะหนุ่มสาวที่เอาการเอางาน แม้อาจจะเอาการเอางานมากเกินไปสักหน่อย

--- หลังจากที่คุณสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ก็ไปเก็บข้อมูลทางฝ่ายโอมฯมาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นจริงจากทั้งสองด้านไม่ทำสร้างความรู้สึกขัดแย้งบ้างหรือ

มุราคามิ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหาย ที่คิดว่าตัดสินประหารชีวิตผู้ลงมือกระทำผิดเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้ว ผมได้ไปนั่งอยู่ตรงหน้าพวกเขา ไม่สามารถแย้งความรู้สึกที่ว่านั้น และก็ไม่คิดจะพูดด้วย แต่ถ้าถูกวางอยู่ในสถานะของฝ่ายผู้กระทำ ก็เข้าใจได้ว่า คงไม่สามารถรับรู้ถึงโลกที่ตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในตอนนี้ในฐานะความเป็นจริงได้

สภาวะที่แค่ลงบันไดฉุกเฉินแล้วกลายเป็นหลงเข้าไปในอีกโลกหนึ่งอย่างใน “1Q84” ซ้อนทับอย่างมีนัยสำคัญกับการรับรู้ที่ว่านั้น แต่ไม่เหมือนโลกคู่ขนานที่สร้างขึ้นมาเล่นๆ หรืออยู่ในนิยาย ที่นั่นมีความน่ากลัวอย่างน่าขนลุกของความเป็นจริง เทียบ “ซาคิงาเขะ” กับโอมฯแล้ว ความคล้ายคลึงในด้านข้อเท็จจริงเป็นเพียงระดับผิวเผิน ผมคิดว่าความน่ากลัวในตัวโครงสร้างสิที่เป็นจริงกว่า จริงจังกว่า

(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ)
(ภาพประกอบสัมภาษณ์ในนิตยสาร Thinker)

No comments: