May 23, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ผิด ถูก ดี ชั่ว ประเด็นลึกๆ ที่ต้องการสื่อ


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้านี้ได้  >> ที่นี่ค่ะ


วงจรที่ปิดตาย (ต่อ) 

--- มีบางคนมองว่า ‘1Q84’  ประสบความสำเร็จบนพื้นฐานของ ‘underground’ และ ‘ณ สถานที่นัดพบ’ (1998)  ซึ่งเป็นงานของคุณ คุณคิดอย่างไร


มุราคามิ “ซาคิงาเขะ” ซึ่งเป็นลัทธิศาสนาใหม่ เป็นแกนกลางในฉากของเรื่องในระดับหนึ่ง จึงช่วยไม่ได้ที่ทางสื่อจะนำไปเปรียบว่าเขียนโดยมีโอมฯเป็นแบบ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญนักในนิยาย

สิ่งที่ผมหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเป็นเรื่องภายในมากกว่านั้น เรื่องของสภาพทางจิตใจที่คดีโอมฯทำให้เกิดขึ้น หรือที่คดีโอมฯเป็นตัวนำพามา สภาพจิตใจแบบ pre-โอม post-โอม สิ่งที่เป็นเหมือนความมืดมัวที่หลบซ่อนอยู่ในพวกเราแต่ละคน สิ่งที่ผมอยากหยิบยกเป็นประเด็นคือสิ่งนี้

--- หากมองคดีโอมฯในโลกของสื่อ มีการวาดแผนภาพเพียงว่าโอมฯเป็นสิ่งชั่วร้าย คนดีๆถูกฆ่าตายโดยไร้เหตุผล คิดว่าบทบาทของสื่อก็เป็นอย่างนั้น แต่พอลงลึกเข้าไปในความชั่วร้าย ก็จะมองเห็นว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นใช่ไหม

มุราคามิ นั่นสิ ความดีเลวไม่ใช่มโนคติแบบสัมบูรณ์ เป็นแค่มโนคติแบบสัมพัทธ์ บางกรณีสลับสับเปลี่ยนกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็มี เพราะฉะนั้นแทนที่จะมายืนยันกันว่าอะไรคือความดีอะไรคือความเลว ปัจเจกแต่ละคนต้องยืนยันให้ได้ว่าในแต่ละกรณี สิ่งที่ “บังคับควบคุม” พวกเราอยู่ในตอนนี้ เป็นสิ่งที่ดีหรือเลวกันแน่ การทำอย่างนั้นจะโดดเดี่ยวมาก และบีบคั้นจิตใจมากทีเดียว ก่อนอื่นต้องรู้ให้ได้ว่าตนกำลังถูกบังคับควบคุมในเรื่องอะไร

อีกประเด็นหนึ่ง ระบบนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน แทบทุกกรณีจะไม่ยอมรับการตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจกโดยปัจเจก ตัวอย่างกรณีนายอะซาฮาระ (เจ้าลัทธิโอมชินริเคียว) เวลาเขาจะบังคับควบคุมคนในองค์การสักอย่าง ก่อนอื่นจะต้องฝึกให้ปัจเจกแต่ละคนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าความศรัทธาอย่างสมบูรณ์  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “closed circuit”  ปิด circuit เสียไม่ให้ออกไป แล้วให้วิ่งไปตามการตัดสินจากเบื้องบนเหมือนกับหนู พอเจอแบบนั้นคนเราก็จะสูญเสียความรู้สึกเรื่องทิศทาง ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในสภาพที่ตัดสินไม่ได้แม้กระทั่งว่า พลังที่บังคับควบคุมตนอยู่เป็นสิ่งดีหรือเลวกันแน่

ถ้าเป็น open circuit การตัดสินโดยปัจเจกจะสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าปิดไปเสียครั้งหนึ่งแล้วก็จะไม่สามารถทำได้อีก มีคนพูดว่า ตอนที่ถูกสั่งให้ปล่อยแก๊สพิษซารินตอบว่า ไม่ เสียก็สิ้นเรื่อง หรือหอบถุงใส่สารซารินหนีไปก็ได้ แต่ถ้าเข้าไปใน closed circuit เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทำอะไรอย่างนั้นไม่ได้ แต่ในทางกฎหมายเรื่องก็ต้องพิจารณาไปตามตรงในฐานะอาชญากรรม และเมื่อพิจารณาแล้วก็มีความผิด เมื่อมีความผิดตามน้ำหนักของความผิดก็หนีการพิพากษาโทษประหารชีวิตไปไม่ได้ ความน่ากลัวที่ว่านี้ ผมสัมผัสได้อย่างรุนแรงในศาล

นายอะซาฮาระไปเรียนรู้เรื่องระบบอย่างนั้นมาจากไหน เขาเรียนรู้จากอำนาจรัฐ นาซีใช้การศึกษาทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ทำให้ circuit กลายเป็นระบบปิด แล้วยัดเยียดคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวลงมาจากเบื้องบน 

คนที่ชื่อไอชมันน์(คลิกไปดูรายละเอียด)คงไม่ได้ดีและไม่ได้เลว เพียงแต่เขาเป็นข้าราชการที่มีความสามารถ ทำงานที่ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียบร้อย สำหรับเขา เขาไม่มีมาตรฐานในการตัดสินว่าเนื้อหาของคำสั่งเป็นสิ่งดีหรือเลว และไม่คิดจะทำเช่นนั้นด้วย ดังนั้น หลังสงคราม เมื่อเขาถูกจับและถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตที่อิสราเอล เขาจึงไม่สามารถทำความเข้าใจความหมายนั้นได้เลย ผมดูภาพยนตร์ที่บันทึกเรื่องราวนี้ไว้หลายเรื่อง ตัวเขาเองไม่เข้าใจเลยว่าทำไมตนจึงต้องรับโทษประหารชีวิต

การปิดกั้นทางความคิดเช่นนี้ ลองคิดดูแล้วน่ากลัวจริงๆ โดยเฉพาะในสังคมอินเตอร์เน็ตที่ข้อมูลมีมากจนล้นอย่างในปัจจุบัน เรายิ่งไม่รู้มากขึ้นเรื่อยๆว่าตอนนี้เรากำลังถูกบังคับควบคุมโดยอะไร แม้กระทั่งเรื่องที่เราคิดว่าเราทำด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่ที่จริงแล้วอาจถูกบังคับควบคุมโดยข้อมูลบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น) 

No comments: